ระบบโลกที่บิดเบี้ยว (2) สงครามยูเครน

เงื่อนไขสงบศึกของปูติน การใช้ทรัพย์รัสเซียที่ยึดได้เป็นหลักฐานชี้ว่าต่างฝ่ายต่างยืนยันรบต่อบ่งชี้ระเบียบโลกที่บิดเบี้ยว ต้องสู้กันต่อไป

            สงครามยูเครนมองได้หลายกรอบตั้งแต่ศึกระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ระหว่างฝ่ายเสรีประชาธิปไตยกับอำนาจนิยม การแข่งขันจัดระเบียบโลก เหล่านี้ชี้ว่าระเบียบโลกที่เป็นอยู่ไม่สมบูรณ์ สงครามยูเครนชัดเจนรุนแรง

สงครามอุดมการณ์ทางการเมือง?:

            ถ้ายึดกรอบอุดมการณ์สามารถตีความได้ 2 แบบ คือสงครามระหว่างฝ่ายเสรีประชาธิปไตยกับอำนาจนิยม กับไม่ใช่อุดมการณ์ทางการเมือง

          ประการแรก เสรีประชาธิปไตยกับอำนาจนิยม

            มีนาคม 2022 ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แสดงสุนทรพจน์ State of the Union ความตอนหนึ่งกล่าวว่าหน้าที่ของคนอเมริกันคือปลดปล่อยให้คนมีเสรีภาพจากทรราชย์ (tyranny) รัสเซียกำลังสะเทือนโลกเสรี สหรัฐจะยืนเคียงข้างยูเครน ตลอดประวัติศาสตร์ชี้ว่าเผด็จการ (dictator) จะต้องชดใช้สิ่งที่ตนกระทำ สหรัฐกับพันธมิตรจะร่วมกันต้านรัสเซีย ร่วมกันสนับสนุนยูเครน

            ในเวลาเดียวกัน Margrethe Vestager รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ชี้ว่าผลจากรัสเซียบุกยูเครนทำให้คิดว่าโลกเข้าสู่ยุคใหม่แล้ว รัฐบาลปูตินเป็นภัยต่อประชาธิปไตย ต่อเสรีภาพของคนยุโรป เป็นสงครามเย็นแห่งศตวรรษที่ 21 มีลักษณะแตกต่างจากสงครามเย็นในอดีต โลกาภิวัตน์ยังอยู่ โลกยังต้องร่วมมือกัน

            มิถุนายน 2023 ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskiy) กล่าวว่า “รัสเซียรุกรานยูเครนคือการรุกรานกลุ่มประเทศยุโรปเสรีทั้งหมด กลุ่มชาติประชาธิปไตยต้องร่วมมือหาทางออกว่าทำอย่างไรจึงจะรับมือการรุกรานจากพวกอำนาจนิยม

            แนวคิดความโหดร้ายของกองทัพรัสเซีย จะบุกประเทศอื่นยึดครองยุโรปสร้างจักรวรรดิของตน ปรากฏอยู่ในสื่อตะวันตกเป็นระยะ ทั้งหมดทั้งปวงส่งเสริมเสรีประชาธิปไตยต่อต้านอำนาจนิยมรัสเซีย

          ประการที่ 2 ไม่ใช่อุดมการณ์ทางการเมือง

            ย้อนหลังสงครามเย็นศตวรรษที่ 20 รัฐบาลโซเวียตรัสเซียเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ สร้างระบบสังคมนิยมโลก แต่การแผ่ขยายเกิดขึ้นในช่วงแรกของสงครามเย็นเท่านั้น และเมื่อเข้าสู่ปลายทศวรรษ 1980 ระบอบคอมมิวนิสต์เริ่มล่มสลายในยุโรปตะวันออก ในที่สุดสหภาพโซเวียตล่มสลายด้วย

            ปัจจุบันรัฐบาลรัสเซียมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย มีพรรคฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) มาจากการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลชาติตะวันตกตีตราว่าการเลือกตั้งไม่โปร่งใส ไม่เป็นประชาธิปไตยแต่เป็นอำนาจนิยม

            รวมความแล้วรัสเซียในปัจจุบันอยู่ในช่วงฟื้นฟู ไม่ยิ่งใหญ่ดังเช่นอดีต ไม่ต้องการเผยแผ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ รัสเซียในปัจจุบันมีระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออก เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก วิกฤตยูเครนพิสูจน์แล้วว่ากระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปกับเศรษฐกิจโลก ดันราคาพลังงานกับสินเกษตรบางตัวพุ่งสูง (ระยะหนึ่ง) จากมาตรการคว่ำบาตรของนาโต

            ส่วนที่เป็นอำนาจนิยมหรือไม่อยู่ที่การตีความ หลายคนตีความว่าสหรัฐไม่ใช่ประชาธิปไตยเช่นกัน เป็นที่พูดกันหนาหูว่าสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ความเป็นประชาธิปไตยถดถอยมาก

สงครามจัดระเบียบโลก:

เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ (Sergei Lavrov) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า หลายสิ่งหลายอย่างที่รัฐบาลชาติตะวันตกทำในขณะนี้คือรักษาความเป็นเจ้าที่กำลังอ่อนแอลง รัฐบาลชาติตะวันตกยังโหยหาที่จะรักษาระเบียบโลกขั้วเดียว (unipolar world order) ที่พวกตนเป็นเจ้า เป็นระเบียบโลกอาณานิคมแบบใหม่ (neocolonial order) กอบโกยผลประโยชน์มหาศาลจากระเบียบโลกดังกล่าว

            มิถุนายน 2024 Maximilian Krah แกนนำพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี (Alternative für Deutschland) ชื่อย่อ อาเอฟเด (AfD) ชี้ว่า สงครามยูเครนไม่ใช่แค่เรื่องของยูเครน แต่เป็นระเบียบโลก ถ้ารัสเซียไม่แพ้ราบคาบหรือสามารถคงสถานะเดิม (status quo) จะสะเทือนระเบียบโลกปัจจุบันที่ชาติตะวันเป็นแกนนำ มีผลต่ออำนาจของพวกตะวันตกโดยตรง ดังนั้นชาติตะวันตกจะไม่ยอมรับเงื่อนไขสงบศึกที่รัสเซียเสนอ และยังคงสนับสนุนให้เซเลนสกีทำสงครามต่อไป

            ต้องเข้าใจว่าระเบียบโลกที่ตะวันตกเป็นแกนนำหมายถึงที่รัฐบาลสหรัฐเป็นผู้นำกลุ่ม นโยบายของชาติยุโรปหลายเรื่องเดินตามรัฐบาลสหรัฐ การรักษาโลกที่ตะวันตกเป็นแกนนำจึงหมายถึงรักษาความเป็นผู้นำโลกของสหรัฐ

            ถ้ายึดกรอบระเบียบโลกจะพบว่าระเบียบโลกมีพลวัต เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มีผู้วิเคราะห์วิพากษ์เป็นประจำ Maximilian Krah เห็นด้วยกับแนวคิดระเบียบโลกที่สหรัฐเป็นแกนนำกำลังถดถอย ประเทศสหรัฐกำลังถดถอยแต่ไม่ใช่หายวับทันที เป็นกระบวนค่อยเป็นค่อยไป ในอนาคตจะเห็นบางช่วงที่สหรัฐโต้กลับ มีอำนาจมากขึ้นในช่วงสั้นๆ แต่ในระยะยาวมั่นใจว่าโลกจะกลายเป็นพหุภาคี

            ความจริงคือทั้งรัสเซีย สหรัฐ จีนต่างพยายามสร้างระบบโลกบนกติกาที่ตนกำหนด            พฤษภาคม 2022 Janet Yellen รัฐมนตรีกระทรวงการคลังประกาศระเบียบเศรษฐกิจใหม่ว่าสหรัฐจะสร้างระบบซับพลายเชนร่วมกับบรรดาประเทศที่วางใจได้ ประเทศที่วางใจได้หมายถึงมีบรรทัดฐานและค่านิยมต่อเศรษฐกิจโลกตรงกัน

            ส่วนจีนรัสเซียร่วมกับหลายประเทศกำลังสร้างระเบียบโลกผ่าน BRICS

            ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงประกาศ BRICS ยึดมั่นพหุภาคีนิยม ยึดมั่นกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ ปฏิบัติต่อทุกประเทศเท่าเทียม นำประเด็นต่างๆ เข้าสู่การปรึกษาหารือ ต่อต้านลัทธิความเป็นเจ้าและการเมืองแห่งอำนาจ (power politics) สนับสนุนความร่วมมือความมั่นคงรอบด้านและยั่งยืน เป็นคนกลางร่วมแก้ปัญหาในภูมิภาคต่างๆ

            ร่วมกันสร้างเศรษฐกิจโลกแบบเปิด ต่อต้านลัทธิกระทำฝ่ายเดียวและปกป้องการค้า สนับสนุนตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา กลุ่มจะติดตามเส้นทางประวัติศาสตร์อย่างใกล้ชิด ฉวยโอกาสการพัฒนา ร่วมเผชิญหน้าความท้าทาย แสดงบทบาทสร้างสรรค์ต่อการสร้างระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบใหม่ ประชาคมโลกที่ร่วมแบ่งปันอนาคตมนุษยชาติ

สงครามฝ่ายสหรัฐกับฝ่ายรัสเซีย:

            ถ้ายึดกรอบตัวแสดงรัฐ สามารถแบ่งเป็นฝ่ายสหรัฐกับฝ่ายรัสเซีย ฝ่ายสหรัฐส่วนใหญ่คือสมาชิกนาโต การตีกรอบนาโตรบกับรัสเซียใช้ได้เหมือนกัน ส่วนฝ่ายรัสเซีย แม้จีนไม่ใช่พันธมิตร ไม่ได้ส่งอาวุธช่วยโดยตรงแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนช่วยในมิติอื่นๆ เช่น การทูต เศรษฐกิจ

            ล่าสุดต้นเดือนมิถุนายนที่ประชุม G-7 เห็นด้วยในหลักการใช้ทรัพย์สินรัสเซีย 50,000 ล้านดอลลาร์ที่ยึดได้เป็นค่าใช้จ่ายช่วยยูเครนทำสงคราม เงิน 50,000 ล้านดอลลาร์นี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของทรัพย์สินราว 300,000 ล้านดอลลาร์ของรัสเซียที่อยู่ในประเทศเหล่านี้ ส่วนใหญ่คือสินทรัพย์ที่ฝากในธนาคารกลางสหรัฐกับยุโรป เช่น ทองคำ บางส่วนเป็นดอกเบี้ยที่งอกเงยจากสินทรัพย์เหล่านี้ในช่วงทำสงคราม

            ด้านประธานาธิบดีปูตินย้ำเงื่อนไขสงบศึกคือยูเครนต้องไม่ร่วมนาโต รัสเซียได้ครอง 4 จังหวัดทางฝั่งตะวันออกกับทางตอนใต้ของยูเครน นาโตเลิกคว่ำบาตรรัสเซีย หากยูเครนต้องการเจรจาก็ขอให้ถอนทหารออกจากพื้นที่ดังกล่าวก่อน ด้านยูเครนปฏิเสธข้อเสนอทันที

            ปูตินยังใช้เงื่อนไขสงบศึกเดิม การเข้าร่วมนาโตเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่กองทัพรัสเซียบุกยูเครน เงื่อนไขที่นาโตรับไม่ได้เช่นนี้ตีความว่าสงครามยูเครนจะดำเนินต่อไปอีกนาน รัสเซียเตรียมใจแล้ว

            การใช้ทรัพย์รัสเซียที่ยึดได้เป็นหลักฐานชี้ว่าสงครามยูเครนยังไม่สิ้นสุด ต่างฝ่ายต่างยืนยันรบต่อ เป็นอีกหลักฐานบ่งชี้ระเบียบโลกที่บิดเบี้ยว ยังหาทางออกไม่ได้ ต้องสู้กันต่อไป

30 มิถุนายน 2024
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 28 ฉบับที่ 10089 วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2567)

------------------------------

บรรณานุกรม :

1. AfD’s Maximilian Krah on Europe’s political quake. (2024, June 14). Asia Times. Retrieved from https://asiatimes.com/2024/06/afds-maximilian-krah-on-europes-political-quake/

2. At G-7, Biden and European Leaders Agree to Finance Ukraine Using Russian Assets. (2024, June 8). WSJ. Retrieved from https://www.wsj.com/world/russia/at-g-7-biden-and-european-leaders-agree-to-finance-ukraine-using-russian-assets-42c6f540?mod=latest_headlines

3. Full text: Biden State of the Union 2022 transcript. (2022, March 2). Politico. Retrieved from https://www.politico.com/news/2022/03/01/biden-state-of-the-union-2022-transcript-full-text-00013009

4. Peace in Europe Must Now Be Defended Against Putin's Russia. (2022, April 4). Spiegel Online. Retrieved from https://www.spiegel.de/international/europe/opinion-peace-in-europe-must-now-be-defended-against-putin-s-russia-a-51e18953-7328-4bc3-b08f-0c18fcf61cfd

5. Putin demands more Ukrainian land to end war; Kyiv rejects 'ultimatum'. (2024, June 15). The Korea Times. Retrieved from https://www.koreatimes.co.kr/www/world/2024/06/501_376677.html

6. "This Is a Cold War for the 21st Century" (2022, March 1). Spiegel Online. Retrieved from https://www.spiegel.de/international/europe/european-commission-vice-president-vestager-on-ukraine-invasion-a-cold-war-for-the-21st-century-a-db73f70e-2669-46b4-b18e-3560b45558cd

7. What happens in Crimea will determine Taiwan’s fate. (2023, June 15). Asia Times. Retrieved from https://asiatimes.com/2023/06/what-happens-in-crimea-will-determine-taiwans-fate/

-----------------