ผู้นำไต้หวันหวังว่าจีนจะยอมรับการมีอยู่ของประเทศไต้หวัน เคารพการตัดสินใจของคนไต้หวัน อยู่ร่วมกันอย่างสันติ แต่เรื่องนี้จะสู่สงครามแทนสันติหรือไม่
20 พฤษภาคม 2024 ไล่ ชิงเต๋อ (Lai Ching-te) ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของไต้หวัน จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party) หรือ DPP พรรคแกนนำผู้บริหารประเทศสมัยที่ 3 ติดต่อกัน กล่าวสุนทรพจน์ในวันรับตำแหน่ง มีสาระสำคัญดังนี้
ผลประโยชน์ของประชาชนต้องมาก่อน:
ในฐานะสังคมประชาธิปไตยต้องคำนึงประชาชนก่อนเสมอ รัฐบาลจะตอบสนองความคิดเห็นประชาชน ดำเนินนโยบายที่ประชาชนให้ความสำคัญ ยึดมั่นประชาธิปไตยของเรา รักษาสันติภาพอินโด-แปซิฟิก ส่งเสริมโลกให้อยู่ดีมีสุข
ประชาธิปไตย สันติภาพและการอยู่ดีมีสุขของไต้หวันสัมพันธ์กับโลก นานาชาติได้ประจักษ์ว่าคนไต้หวันยึดถือประชาธิปไตยและเสรีภาพอย่างไร นำเกียรติยศสู่ชาวไต้หวันทั้งมวล รัฐบาลจะใช้ความเป็นประชาธิปไตยสนับสนุนการพัฒนา ร่วมมือกับนานาชาติลึกซึ้งยิ่งขึ้น ร่วมมือกับชาติประชาธิปไตยอื่นๆ สร้างสังคมประชาธิปไตยโลก
ไม่มีใครชนะในสงครามแต่สันติภาพต้องจ่ายราคา ไต้หวันตั้งอยู่ตรงแนวห่วงโซ่เกาะแรก (first island chain) ความเป็นไปของไต้หวันมีผลต่อโลก นานาชาติพูดว่าสันติภาพและเสถียรภาพช่องแคบไต้หวันแยกไม่ออกจากความมั่นคงและการอยู่ดีมีสุขของโลก สหรัฐดำเนินนโยบายรักษาความมั่นคงอินโด-แปซิฟิกอย่างแน่วแน่
รัฐบาลนี้เลือกสันติภาพ การอยู่ดีมีสุขมาจากสันติภาพและมีเสถียรภาพ เช่นเดียวกับที่คนไต้หวันเป็นคนรักสันติ ตนหวังว่าจีนจะยอมรับการมีอยู่ของสาธารณรัฐจีน (Republic of China) เคารพการตัดสินใจของคนไต้หวัน อยู่ร่วมกันอย่างสันติ
เนื่องด้วยจีนต้องการผนวกไต้หวัน เราจึงต้องเตรียมพร้อมป้องกันตัวเอง ด้วย 3 นโยบายหลัก ได้แก่ เสริมสร้างการป้องกันประเทศ พัฒนาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ รักษาความสัมพันธ์ 2 ฝั่งช่องแคบไต้หวัน และยึดมั่นหลักประชาธิปไตย
นอกจากนี้จะร่วมมือกับชาติประชาธิปไตยอื่นๆ สร้างสันติภาพด้วยการป้องปรามและป้องกันสงคราม (deterrence and prevent war) ให้เกิดสันติภาพด้วยมีกำลังเข้มแข็ง
อนาคตไต้หวันคืออนาคตโลก:
ไต้หวันต้องการโลกเช่นเดียวกับที่โลกต้องการไต้หวัน เรามีบทบาทสำคัญ ไต้หวันก้าวหน้าทางด้านเซมิคอนดักเตอร์กับ AI เป็นซับพลายเชนสำคัญของชาติประชาธิปไตย ไต้หวันจึงมีผลต่อเศรษฐกิจโลก มีผลต่อการอยู่ดีมีสุขของนานาชาติ อนาคตไต้หวันจึงเป็นอนาคตโลก
สร้างสันติภาพด้วยมีกำลังเข้มแข็ง ส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านเซมิคอนดักเตอร์ AI การทหาร ความมั่นคงและการเฝ้าระวัง (surveillance)
ด้านชีวิตความเป็นอยู่ นอกจากพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐบาลจะเพิ่มขยายการดูแลเด็กเล็ก ผู้สูงวัย บริการดูแลถึงบ้าน ดูแลราคาบ้านที่พักอาศัย
สุดท้ายนี้ถ้าคนไต้หวันชื่นชมประเทศตัวเอง ดูแลพัฒนาบ้านถิ่นฐานบ้านเกิด นานาชาติจะเห็นความรุ่งเรืองของประเทศและจะเคารพรักไต้หวัน ชื่นชมว่าเป็นประเทศที่เจริญแล้ว
สุนทรพจน์รับตำแหน่งนี้สะท้อนท่าทีหลักของผู้นำไต้หวันคนใหม่ นำสู่การวิพากษ์ การตอบโต้จากจีน
ใช้คำว่าสาธารณรัฐจีน:
Global Times สื่อจีนโจมตีสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีไล่ที่ใช้คำว่าสาธารณรัฐจีน (Republic of China) จีนกับไต้หวันต่างยอมรับซึ่งกันและกัน
ในมุมจีน ไต้หวันเป็นเพียงเกาะ เป็นมณฑลหนึ่งของจีน ไม่ใช่ประเทศ สหประชาชาติยืนยันเช่นนี้ว่าไต้หวันไม่ใช่ประเทศ
รัฐบาลจีนเปรียบรูปร่างประเทศเหมือนไก่ตัวหนึ่งที่ลำตัวหันหน้าไปทางขวามือ พื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือส่วนหัว ภาคกลางคือส่วนลำตัว พื้นที่ทางภาคตะวันตกคือส่วนท้าย เกาะไต้หวันกับเกาะไหหลำ คือขา 2 ขา
ในมุมมองจีน เกาะไต้หวันเป็นเพียงขาข้างหนึ่งของไก่ทั้งตัวเท่านั้น
ภายใต้มุมมองเช่นนี้การที่ฝ่ายไต้หวันจะพยายามเรียกร้องขอความ “เท่าเทียม” กับจีน จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลจีนไม่น่าจะยอมรับได้ เมื่อ “ขาไก่” พยายามทำตัวให้เทียบเท่ากับ “ตัวไก่”
สุนทรพจน์พยายามใช้คำว่าประชาธิปไตยเพื่อกลบเกลื่อนความเป็นไต้หวันที่เป็นไท ไม่อยู่ภายใต้จีน แตกต่างจากรัฐบาลจีน
รัฐบาลจีนยึดนโยบายจีนเดียว (one-China policy) ในเชิงอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดนของจีน โดยยึดขอบเขตดินแดนตั้งแต่ญี่ปุ่นประกาศแพ้สงครามเมื่อปี 1945 ไต้หวันซึ่งครั้งหนึ่งเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น บัดนี้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของจีนดังเดิมแล้ว แต่ประวัติศาสตร์ไม่หยุดเพียงเท่านี้ สงครามกลางเมืองจีนทำให้ไต้หวันตกอยู่ในมือของพวกชาตินิยมเจียงไคเช็ค ที่จีนถือว่าเป็นพวกแบ่งแยกดินแดน เป็นรัฐบาลเถื่อน สักวันจะต้องนำไต้หวันกลับมาอยู่ในอ้อมอกแผ่นดินแม่ ให้จีนเป็นจีนที่ครบบริบูรณ์
ไต้หวันจึงเป็น “ติ่ง” ของการปฏิวัติคอมมิวนิสต์จีนที่รอวันสำเร็จ
ควรย้ำว่านโยบายจีนเดียว (one-China policy) เริ่มต้นเมื่อปี 1972 เป็นข้อตกลงระหว่าง Richard Nixon กับ ประธานเหมาเจ๋อตง (Mao Tse-tung)
เนื่องจากทศวรรษ 1970 สหรัฐกับจีนร่วมมือกันต้านสหภาพโซเวียต (ผู้นำโลกเสรีร่วมมือกับคอมมิวนิสต์จีน) รัฐบาลนิกสันปรับเปลี่ยนนโยบายในปี 1972 สหรัฐอเมริกายอมรับว่า “ไม่ว่าจะฝั่งใดของช่องแคบไต้หวันเป็นจีนหนึ่งเดียว ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน สหรัฐจะไม่ท้าทายท่าทีดังกล่าว”
จนทุกวันนี้ ข้อตกลงดังกล่าวยังอยู่ รัฐบาลสหรัฐทุกชุดยอมรับ
ท่าทีของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าหรือ DPP แม้เห็นด้วยกับหลักการจีนเดียว แต่ต่างกันในรายละเอียด มีนาคม 2015 ไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) อดีตประธานาธิบดีไต้หวัน ผู้นำพรรค DPP เคยแสดงความเห็นว่า ไต้หวันยังต้องปกครองตามระบอบประชาธิปไตยต่อไป ความสัมพันธ์กับจีนต้องเกื้อหนุนความมั่นคงและเสถียรภาพภูมิภาค เป็นประโยชน์แก่ทั้ง 2 ฝ่ายจริงๆ
ความจริงคือ ไต้หวันในวันนี้มีระบอบการปกครองของตนเอง คนไต้หวันเลือกรัฐบาลและดำเนินนโยบายอย่างอิสระ แต่ในทางกฎหมายระหว่างประเทศกับทางประวัติศาสตร์นั้นไต้หวันในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของจีนที่รอวันสิ้นสุดสงครามกลางเมือง
โทษจีนเป็นภัยคุกคาม:
ประโยค “จีนต้องการผนวกไต้หวัน” เราจึงต้องเตรียมพร้อมป้องกันตัวเอง Global Times วิพากษ์ส่วนนี้ว่าเป็นการโยนความผิดแก่จีนโดยตรง ถือความต้องการส่วนตนเป็นที่ตั้ง (ต้องการเอกราช)
ชาวไต้หวันที่ต้องการเอกราชสามารถวาดฝันได้ แต่เมื่อตื่นจากหลับต้องคิดต่อในโลกแห่งความจริงว่าหากประกาศเอกราชจะส่งผลเช่นไร (ไต้หวันสามารถประกาศเอกราชและต้องยอมรับสงครามที่เกิดขึ้น) หรือแม้กระทั่งดำเนินนโยบายที่สุ่มเสี่ยง คุกคามจีนในทางใดทางหนึ่ง รัฐบาลจีนตอบโต้แน่นอน
เรื่องนี้ชาวไต้หวันน่าจะเข้าใจดี
แต่ไหนแต่ไรจีนทำการซ้อมรบมุ่งเป้าไต้หวัน หลังแนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรและคณะเยือนไต้หวัน เข้าพบประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) เมื่อสิงหาคม 2002 ทางการจีนตีความว่าเป็นคณะบุคคลระดับสูงสุดในรอบ 25 ปีที่เยือนไต้หวัน รัฐบาลจีนพยายามคัดค้านการเยือนลักษณะดังกล่าว จึงตอบโต้ด้วยมาตรการสมน้ำสมเนื้อ ทำการซ้อมรบ 3 เหล่าทัพ 4 วันใน 6 เขตพื้นที่รอบไต้หวัน และนับจากนั้นเป็นต้นมาจีนส่งเครื่องบินเรือรบวนเวียนรอบไต้หวันแทบไม่เว้นวัน
นี่คือผลลัพธ์ที่รัฐบาลไต้หวันกับสหรัฐไม่ฟังคำเตือนจีนในครั้งนั้น
ส่วนรอบนี้จีนทำการซ้อมรบใหญ่อีกครั้งรอบเกาะไต้หวันด้วยกระสุนจริง ประกาศชัดว่าเพื่อตอบโต้สุนทรพจน์รับตำแหน่งของประธานาธิบดีไล่
บรรณานุกรม :
1. China's bottom line. (2015, March 17). The Economist. Retrieved from http://www.economist.com/news/china/21646571-chinese-leaders-send-warnings-taiwans-opposition-party-ahead-elections-next-year-chinas-bottom
2. Full text of President Lai Ching-te's inaugural address. (2024, May 20). Focus Taiwan. Retrieved from https://focustaiwan.tw/politics/202405200007
3. Goldstein, Steven M. (2016, December 12). Trump risks war by turning the One China question into a bargaining chip. The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/news/monkey-cage/wp/2016/12/12/trump-is-risking-war-by-turning-the-one-china-question-into-a-bargaining-chip/
4. 'Lai-style Taiwan independence' agenda is a dead-end: Global Times editorial. (2024, May 21). Global Times. Retrieved from https://www.globaltimes.cn/page/202405/1312690.shtml
5. Zhang, Qingmin. (2011). China’s Diplomacy. Singapore: Cengage Learning Asia.
-----------------