ปลดปล่อยปาเลสไตน์เชิดชูอิหร่าน

การปลดปล่อยปาเลสไตน์เป็นประเด็นที่สัมพันธ์กับศาสนา เชิดชูอิหร่าน เป็นเหตุผลว่าทำไมอิหร่านจึงแสดงบทบาทเข้มแข็งโดดเด่นไม่หยุด


            นับจากปฏิรูปอิหร่านเมื่อ ค.ศ.1977-79 ต่อต้านไซออนิสต์คือหนึ่งในนโยบายหลัก มกราคม 2001 อยาตุลเลาะห์ โคไมนี (Ayatollah Khomeini) พูดชัดว่า “การลบอิสราเอลออกจากแผนที่ในภูมิภาคเป็นพันธกิจของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน”

            กุมภาพันธ์ 2006 ประธานาธิบดีมาห์มุด อาห์มาดิเนจาด (Mahmoud Ahmadinejad) กล่าวว่า “ตราบใดที่ระบอบไซออนิสต์ยังอยู่ ระบอบดังกล่าวจะคุกคามผู้เชื่อผู้ศรัทธาศาสนาอิสลาม”

            การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Free Palestine) คือหนึ่งในนโยบายสำคัญที่สัมพันธ์กับการต่อต้านไซออนิสต์ บทความนี้ตัดตอนประมวลภาพตั้งแต่เริ่มสงครามฮามาส-อิสราเอลเมื่อ 7 ตุลาคม 2023 หรือราว 7 เดือนดังนี้

            ไม่กี่วันหลังอิสราเอลโจมตีกงสุลอิหร่านในซีเรีย ฮัสซัน นัสรุลเลาะห์ (Hassan Nasrallah) ผู้นำฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนฟันธงว่าต้นเหตุเพราะไซออนิสต์กับอเมริกาต่อต้านอิหร่าน

            ไม่ว่าจะอธิบายอย่างไรปฏิเสธไม่ได้ว่าความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-อิหร่านมีมาเนิ่นนาน รัฐบาลอิสราเอลพยายามเป็นมิตรแต่ไม่สำเร็จ ด้วยหลักคิดเป็นศัตรูที่อยู่ร่วมโลกไม่ได้

เชิดชูอิหร่าน:

            ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าหลายประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับอิสราเอล อยากให้รัฐบาลเนทันยาฮูยุติการรบ หยุดเข่นฆ่าประชาชน พวกรัฐอาหรับแสดงบทบาทแข็งขันไม่น้อย สันนิบาตอาหรับ (Arab League) กับองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) มีมติคว่ำบาตรห้ามขายอาวุธกับกระสุนแก่อิสราเอล แม้ไม่ใช่การคว่ำบาตรน้ำมันกับอาหารตามที่อิหร่านเสนอ หลายครั้งพิสูจน์แล้วว่าแรงกดดันจากอาหรับได้ผลไม่น้อย เพียงแต่ไม่สามารถหยุดกองทัพอิสราเอลเข้ากวาดล้างพวกฮามาส

            เรื่องที่ช่วยให้อิหร่านโดดเด่นจริงๆ คือการที่อิหร่านกับกองกำลังที่อิหร่านหนุน อันได้แก่ ฮิซบอลเลาะห์ ฮูตี กองกำลังในอิรักกับซีเรียเปิดฉากรบกับอิสราเอล บางส่วนปะทะกับกองกำลังสหรัฐกับพวกในตะวันออกกลาง ในทะเลแดง

            การรบของกองกำลังที่อิหร่านหนุนหลัง (รวมทั้งฮามาส) จึงเชิดชูบทบาทอิหร่านตั้งแต่เริ่มสงครามฮามาส-อิสราเอลในรอบนี้

            ต่อมา 6 เดือนหลังสงครามตัวแทน (proxy war) ในที่สุดอิหร่านปะทะโดยตรงกับอิสราเอล อิหม่ามคาเมเนอีชี้ว่าสถานกงสุลของประเทศใดเป็นอาณาเขตของประเทศนั้น เมื่อถูกโจมตีเท่ากับประเทศถูกโจมตี อาลัยนายทหารอาวุโส 2 นาย (สังกัด Quds Force) พร้อมกับเจ้าหน้าที่ทั้งหมดรวม 13 คนที่เสียชีวิต ประกาศว่า “ระบอบชั่วช้า (evil regime) ทำพลาดแล้วและต้องได้รับโทษ” พร้อมกับประณามรัฐบาลตะวันตกที่สนับสนุนอิสราเอลสังหารชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ผู้บริสุทธิ์มากมายเสียชีวิต เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลตะวันตกแสดงความชั่วร้ายของพวกเขา อิสราเอลใช้วิธีสกัดกั้นน้ำ อาหาร ไฟฟ้า สร้างความทุกข์ยากแก่คนกาซา

            แต่การรบโดยตรงเป็นเพียงการปะทะเล็กน้อย อิหร่านแสดงตัวตั้งแต่ต้นว่าไม่ต้องการสงคราม ผู้เชี่ยวชาญตีความว่าเป็นการปะทะเชิงสัญลักษณ์ แต่ต้องบันทึกว่า 2 ประเทศนี้ได้รบกันโดยตรงแล้ว

            ที่น่าคิดคือเมื่อได้รบกันครั้งหนึ่งย่อมควรคิดว่าอาจมีครั้งต่อไปและรุนแรงขึ้น ข้อนี้เป็นอีกประเด็นที่ผู้เชี่ยวชาญกับนักการศาสนาให้ความสำคัญ รัฐบาลอิสราเอลมักเอ่ยถึงนิวเคลียร์อิหร่าน ชี้ว่าอิหร่านจะใช้นิวเคลียร์กับตน ไม่ว่าอิหร่านมีอาวุธทำลายล้างนี้แล้วหรือยัง (บางคนคิดว่ามี บางคนคิดว่ายังไม่มี บางคนคิดว่าไม่ต้องการเพราะผิดหลักศาสนา) ที่แน่นอนคือนานาชาติยอมรับว่าอิสราเอลมีนิวเคลียร์ 80-90 หัวรบและพัฒนาต่อเนื่อง

            จึงกังวลว่าสักวันหนึ่งคงได้รบกันด้วยนิวเคลียร์ นายกฯ เนทันยาฮูพูดซ้ำหลายรอบว่าจะไม่ยอมให้ประเทศที่ประกาศซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าจะลบอิสราเอลออกจากแผนที่มีอาวุธนิวเคลียร์ อิสราเอลมีทางเลือกเดียวคือต้องป้องกันตนเองและพร้อมดำเนินการด้วยตนเอง น่าคิดว่าอิสราเอลจะชิงลงมือโจมตีอิหร่านด้วยนิวเคลียร์หรือไม่ หลักคิดคือก่อนที่อิหร่านจะลงมือลบอิสราเอลออกจากแผนที่โลก อิสราเอลขอชิงลงมือก่อน

ผู้ยืนหยัดต่อต้านไซออนิสต์:

            ถ้าย้อนหลังตั้งแต่สถาปนารัฐอิสราเอลสมัยใหม่ ในตอนนั้นบรรดารัฐอาหรับ ชาติมุสลิมต่างพากันต่อต้านแข็งขัน อียิปต์ รัฐอาหรับทำสงครามใหญ่กับอิสราเอลหลายรอบ แต่ระยะหลังจุดยืนรัฐบาลประเทศเหล่านี้ทยอยเปลี่ยนไป ลดแรงต่อต้านอิสราเอล ซ้ำร้ายกว่านั้นคือญาติดีกับอิสราเอลอย่างเป็นทางการ

            ตัวอย่างที่โดดเด่นและเกิดขึ้นไม่นานนี้คือ Abraham Accords สิงหาคม 2020 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กับอิสราเอลประกาศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระดับปกติ แถลงการณ์ร่วมระบุว่าเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ ก้าวย่างสำคัญของสันติภาพตะวันออกกลาง เดือนถัดมา 11 กันยายน บาห์เรนประกาศสถาปนาการทูตกับอิสราเอลเช่นกัน

            เนื้อหาตอนหนึ่งใน Abraham Accord ระบุชัดว่าทั้งอาหรับกับยิวต่างเป็นลูกหลานของอับราฮัม (Abraham) ภูมิภาคตะวันออกกลางประกอบด้วยมุสลิม ยิว พวกนับถือคริสต์และศาสนาความเชื่ออื่นๆ แม้แตกต่างแต่ปรารถนาอยู่ร่วมกัน (spirit of coexistence) ด้วยความเข้าใจและเคารพซึ่งกันและกัน

            ซ้ำร้ายเมื่อไม่นานนี้มีกระแสข่าวรัฐบาลซาอุฯ จะญาติดีกับอิสราเอลอย่างเป็นทางการด้วย มิถุนายน 2023 Antony Blinken รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศกล่าวว่าสหรัฐหวังช่วยให้อิสราเอลมีความสัมพันธ์ระดับปกติกับซาอุฯ หวังว่าซาอุฯ จะเข้าร่วม Abraham Accords อันจะส่งเสริมให้ภูมิภาคมั่นคงยิ่งขึ้น

            ล่าสุดไม่กี่วันก่อนข่าวปรับสัมพันธ์ซาอุฯ-อิสราเอลมาอีกครั้ง เชื่อมโยงกับฮามาส การปลดปล่อยปาเลสไตน์

            ไม่แปลกที่อยาตุลเลาะห์ ซัยยิด อาลี คาเมเนอี (Ayatollah Seyyed Ali Khamenei) ผู้นำสูงสุดอิหร่านใช้โอกาสนี้กล่าวโทษชาติมุสลิมบางประเทศว่าน่าผิดหวังที่ชาติอิสลามบางประเทศช่วยอิสราเอล “ทรยศต่อชนชาติอิสลาม (Islamic Ummah) ทรยศตัวเอง เอื้อให้ไซออนิสต์เข้มแข็งขึ้น” ที่ควรทำคือตัดขาดความสัมพันธ์เศรษฐกิจการเมืองกับไซออนิสต์ แต่ที่เราเห็นตอนนี้คือชาติอิสลามบางประเทศระงับความสัมพันธ์กับอิสราเอลชั่วคราวเท่านั้น ในขณะที่พวกไม่ใช่มุสลิมในหลายประเทศทั้งสหรัฐ ยุโรป แอฟริกาออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนปาเลสไตน์มากมายอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน

            จากที่นำเสนอเป็นหลักฐานชี้ว่าในบรรดาชาติอิสลามที่ต่อต้านอิสราเอลอย่างแข็งขันต่อเนื่อง บัดนี้เหลือแต่ประเทศอิหร่านเท่านั้น อาจตีความเชิงศาสนาว่าคือนิกายชีอะห์ อิหร่านจึงโดดเด่นในเวทีนานาชาติด้วยเรื่องนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มมุสลิม อย่างไรก็ตามควรเข้าใจว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับหลักศาสนาที่มุสลิมบางคนบางกลุ่มเห็นต่างจากชีอะห์

            ในมุมมองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต้องตระหนักว่า การญาติดีกับอิสราเอลเป็นการตัดสินใจของรัฐบาล ประชาชนบางส่วนอาจไม่เห็นและอาจสนับสนุนอิหร่านแม้ต่างนิกาย (สนับสนุนเฉพาะประเด็นปลดปล่อยปาเลสไตน์)

            หลังสถานการณ์ปะทะอิสราเอลคลี่คลาย อิหม่ามคาเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่านกล่าวว่า นานาชาติได้เห็นเจตนาอันแน่วแน่ของประเทศอิหร่าน กองทัพอิหร่านจะพัฒนาต่อไป ขอให้ชาวอิหร่านทุกคนตระหนักศักยภาพกับทักษะของแต่ละคน เข้าใจคำสอนและยึดมั่นศรัทธาพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่

            ในฝั่งของอิหร่านตอกย้ำว่าเรื่องราวทั้งหมดสัมพันธ์กับศาสนาโดยตรง

            นับจากปฏิวัติอิหร่าน บทบาทอิหร่านในฐานะรัฐอิสลามชีอะห์โดดเด่นในเวทีโลก และยิ่งโดดเด่นในโลกมุสลิม ส่วนหนึ่งมาจากตัวผู้นำอยาตุลเลาะห์ โคไมนี (Ayatollah Khomeini) การปฏิวัติเปลี่ยนการปกครองจากระบอบกษัตริย์มาเป็นระบอบศาสนา หรือที่เรียกว่าปฏิวัติอิสลาม ผู้นำสูงสุด (Supreme Leader) คือผู้นำสูงสุดทั้งด้านศาสนากับการเมือง มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญบางเรื่อง ฝ่ายบริหารต้องดำเนินนโยบายที่สอดคล้องหรือไม่ขัดแย้งกับความเห็นของผู้นำสูงสุด

            การปลดปล่อยปาเลสไตน์เป็นประเด็นที่สัมพันธ์กับศาสนา เป็นเรื่องที่ดำเนินต่อเนื่องมาอย่างยาวนานและพิสูจน์แล้วว่าเชิดชูอิหร่านหรือการปฏิวัติอิสลาม เป็นเหตุผลว่าทำไมอิหร่านจึงแสดงบทบาทเข้มแข็งโดดเด่นไม่หยุด

5 พฤษภาคม 2024
ชาญชัย คุ้มปัญญา

(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 28 ฉบับที่ 10033 วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2567)

-------------------

บรรณานุกรม :

1. Abraham Accord signing: top quotes from the signing ceremony. (2020, September 16). The Jerusalem Post. Retrieved from https://www.jpost.com/middle-east/two-states-settlements-not-part-of-israel-deals-with-uae-bahrain-642424

2. Alexander, Yonah., & Hoenig, Milton. (2008). The New Iranian Leadership: Ahmadinejad, Terrorism, Nuclear Ambition, and the Middle East. USA: Greenwood Publishing Group.

3. Blinken takes aim at Israeli settlements; says US will press ahead with Israel-Saudi normalization. (2023, June 5). AP. Retrieved from https://apnews.com/article/us-israel-palestinians-saudi-arabia-ccc8da5992301d9a95a4be29f1860808

4. Israel and the Kingdom of Bahrain to establish 'full diplomatic relations,' Trump says. (2020, September 11). CNN. Retrieved from https://edition.cnn.com/2020/09/11/politics/israel-bahrain-trump/index.html

5. “Israel will be punished”. (2024, April 10). Tehran Times. Retrieved from https://www.tehrantimes.com/news/496954/Israel-will-be-punished

6. Nasrallah: Iran response to consulate attack “inevitable”. (2024, April 7). Tehran Times. Retrieved from https://www.tehrantimes.com/news/496824/Nasrallah-Iran-response-to-consulate-attack-inevitable

7. Naji, Kasra. (2008). Ahmadinejad: The Secret History of Iran's Radical Leader. CA: University of California Press.

8. Operation 'True Promise' manifested willpower of Iranian people in international arena. (2024, April 21). Tehran Times. Retrieved from https://www.tehrantimes.com/news/497458/Operation-True-Promise-manifested-willpower-of-Iranian-people

9. What President Ahmadinejad Actually Said About Israel and Iran's Nuclear Program. (2012, September 27). Information Clearing House. Retrieved from http://www.informationclearinghouse.info/article12758.htm

-----------------