อิสราเอลโจมตีกงสุลอิหร่านและการตอบโต้

ฮามาสทำศึกกับอิสราเอลได้ครึ่งปี เกิดสงครามตัวแทนระหว่างอิสราเอลกับกองกำลังที่อิหร่านสนับสนุน คราวนี้ถึงรอบอิหร่านปะทะกับอิสราเอลโดยตรงแล้ว

            เหตุอิสราเอลโจมตีกงสุลอิหร่านในซีเรียเมื่อ 1 เมษายน นายทหารระดับสูงกับเจ้าหน้าที่หลายรายเสียชีวิต เป็นชนวนให้อิหร่านต้องปะทะอิสราเอลโดยตรง ทางการอิสราเอลรายงานถูกโจมตีทั้งจากอิหร่าน กองกำลังในอิรักและเยเมน ด้วยโดรนกับขีปนาวุธกว่า 300 แต่ส่วนใหญ่สกัดได้ด้วยความช่วยเหลือจากสหรัฐและอีกหลายประเทศ รวมทั้งบางประเทศในตะวันออกกลาง

            ไม่กี่วันต่อวันอิสราเอลโจมตีโต้กลับเล็กน้อย มีประเด็นน่าสนใจดังนี้

อิสราเอลกล้าลองของ:

            ผู้เชี่ยวชาญตะวันออกกลางคิดถึงสงครามระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านเสมอ คิดว่าช้าหรือเร็วต้องเกิดแน่ สงครามฮามาส-อิสราเอลนำสู่ความคิดนี้มากขึ้น เพราะรัฐบาลอิหร่านสนับสนุนฮามาสสุดตัว เมื่อสงครามดำเนินไป ฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน กองกำลังที่อิหร่านสนับสนุนในซีเรีย อิรัก ฮูตีในเยเมนต่างเข้าร่วมศึก หลายคนกังวลสถานการณ์บานปลายเป็นสงครามระหว่างอิหร่าน-อิสราเอลโดยตรง

            หลายทศวรรษที่ผ่านมาแม้ถูกกีดดันจากหลายประเทศ อิหร่านยังสามารถพัฒนาสร้างกองทัพที่น่าเกรงขาม พัฒนาโดรนกับขีปนาวุธน้อยใหญ่ต่อเนื่อง สามารถยิงถล่มอิสราเอลที่ห่างเป็นพันกิโลเมตร (กรุงเตหะรานอยู่ห่างจากกรุงเทลอาวีฟ 1,600 กิโลเมตร)

            การปะทะรอบนี้พิสูจน์แล้วว่าขีปนาวุธกับโดรนอิหร่านเข้าโจมตีอิสราเอลได้จริง เช่นเดียวกับที่อิสราเอลโจมตีไกลถึงใจกลางอิหร่านได้เช่นกัน

อิหร่านพร้อมสู้มานานแล้ว:

            รัฐบาลอิหร่านแสดงตัวพร้อมรบอิสราเอลมานานแล้ว ยกตัวอย่าง สิงหาคม 2006 ประธานาธิบดี นายมาห์มุด อาห์มาดิเนจาด (Mahmoud Ahmadinejad) กล่าวว่าภูมิภาคตะวันออกกลางจะดีกว่านี้ ถ้า ไม่มีระบอบอำนาจไซออนิสต์ อิสราเอล เป็นระบอบที่ไร้ความชอบธรรม การดำรงอยู่นั้นไร้ความชอบธรรมทางนิตินัย ในอีกวาระหนึ่งกล่าวว่า “ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ ระบอบไซออนิสต์จะต้องถูกทำลายราบในที่สุด”

มกราคม 2019 นายพลจัตวา Aziz Nasirzadeh ผู้บัญชาการกองทัพอากาศอิหร่าน กล่าวว่าอิหร่านจะ “ทำลายล้างอิสราเอลให้สูญสิ้นจากโลก” (eliminate Israel from the Earth)

            การทำลายอิสราเอลให้ราบหรือลบอิสราเอลออกจากแผนที่โลกเป็นประโยคที่ได้ยินจากฝ่ายอิหร่านเป็นระยะๆ ไม่แปลกถ้าอิหร่านจะทำสงครามกับอิสราเอล

            ไม่กี่วันหลังเหตุอิสราเอลโจมตีกงสุลอิหร่าน ฮัสซัน นัสรุลเลาะห์ (Hassan Nasrallah) ผู้นำฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนชี้ว่าอิหร่านจำต้องตอบโต้ไซออนิสต์แน่นอน นำภูมิภาคเข้าสู่เฟสใหม่ (อิหร่านเข้ารบกับอิสราเอลโดยตรง) ขอให้กองกำลังทั้งหลายเตรียมพร้อมหากต้องทำสงครามเบ็ดเสร็จ

สงครามที่ไตร่ตรอง:

            การที่กงสุลอิหร่านในซีเรียถูกโจมตีไม่น่าเป็นอุบัติเหตุหรือความผิดพลาด คงมีเหตุผลบางอย่างที่กระตุ้นให้อิสราเอลกล้าลงมือ รวมถึงตั้งใจสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรง ไม่หวั่นหากอิหร่านเล่นงานกลับ ยอมรับความเสี่ยงที่จะตามมา บางคนวิเคราะห์ว่าเกี่ยวข้องกับนายกฯ เนทันยาฮูโดยตรงในเรื่องคดีความของท่าน ข้อนี้นักวิเคราะห์หลายคนเอ่ยถึงเรื่อยมา

            อิหร่านโต้กลับอย่างไตร่ตรองเช่นกัน ตั้งแต่เป้าหมายโจมตี แผนการที่ยิงจากทั้งฮิซบอลเลาะห์ กองกำลังในอิรัก เยเมนและจากอิหร่านโดยตรง อาวุธที่ใช้ รวมถึงท่าทียุติการรบ ฝ่ายอิหร่านโจมตีเพียงชุดเดียว แล้วประกาศว่าจะไม่ยิงอีกเว้นแต่อิสราเอลโต้กลับ เปิดช่องให้การจบเพียงเท่านี้ มีข้อมูลวงในตั้งแต่ก่อนลงมือว่าอิหร่านไม่คิดเปิดสงครามใหญ่ เป็นเพียงการปะทะพอหอมปากหอมคอ ข้อมูลวงในชิ้นนี้พิสูจน์แล้วว่าถูกต้อง

            เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าทั้งอิสราเอลกับอิหร่านต่างไตร่ตรองรอบคอบ รู้ดีว่ากำลังทำอะไรอยู่ ไม่ปล่อยตามอารมณ์หรือเหตุผลส่วนตัว แรงกดดันจากนานาชาติมีผล สงครามใหญ่หรือสงครามนิวเคลียร์ล้างโลกจึงไม่เกิดขึ้นง่ายๆ

อนาคตปะทะโดยตรงมากขึ้น:

            ในอีกมุมประวัติศาสตร์ต้องบันทึกว่า 13 เมษายน 2024 อิหร่าน-อิสราเอลได้ปะทะกันโดยตรงเป็นครั้งแรกแล้ว ต่างจากที่ผ่านมาเป็นสงครามตัวแทน (proxy war) การโจมตีจากฮิซบอลเลาะห์ กองกำลังที่อิหร่านสนับสนุนในซีเรียกับอิรัก พวกฮูตีในเยเมน สงครามฮามาส-อิสราเอลเป็นหนึ่งในสงครามตัวแทน

            เมื่อมีครั้งแรกน่าเชื่อว่าจะมีครั้งถัดไปและอาจรุนแรงขึ้น ถ้าขีปนาวุธกับโดรน 300 ชุดถูกสกัดได้เกือบหมด อนาคตต้องใช้อาวุธที่ดีกว่าหรือเพิ่มจำนวนให้มากขึ้น เมื่ออิหร่านได้ยิงใส่แผ่นดินอิสราเอลหนึ่งครั้งแล้ว ย่อมต้องวางแผนเตรียมกำลังสำหรับครั้งต่อไป เช่นเดียวกับอิสราเอลที่ต้องเตรียมตัวรับมือหรือเป็นฝ่ายชิงลงมือก่อน และพิสูจน์แล้วเช่นกันว่าอิสราเอลกล้าโต้กลับ

ไม่ใช่แค่เรื่องของ 2 ประเทศ:

            การปะทะระหว่างอิหร่าน-อิสราเอลตีความได้หลายแบบ ถ้าตีความกรอบแคบว่าคือเรื่องกงสุล ลำพังข้อนี้สร้างผลกระทบที่นานาชาติต้องแบกรับ ทันทีที่ข่าวอิหร่าน-อิสราเอลส่อรุนแรง ราคาน้ำมันดิบพุ่งทันทีและขึ้นอีกรอบเมื่ออิสราเอลโจมตีโต้กลับ นักวิเคราะห์บางคนประเมินว่าน้ำมันดิบ WTI อาจสูงถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลหรือบวก 20% จากเดิม เพราะอิหร่านเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก

            น้ำมันคือเรื่องต้นๆ ที่หลายคนกังวล คนไทยจะโดน 2 เด้งจากราคาน้ำมันดิบพุ่ง เพราะต้องนำเข้าในราคาแพงในขณะเงินบาทอ่อน จากนั้นสินค้าบริการต่างๆ จะขึ้นราคาตามขั้นตอน เริ่มจากค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า ไม่ว่าคนไทยชอบหรือไม่คนไทยต้องรับกรรมจากเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับตน

สงครามล้างโลก?:

            ตามข้อมูลจากสื่อขีปนาวุธกับโดรนกว่า 300 ชุดที่ยิงใส่อิสราเอลแต่ถูกสกัดได้ 99% เพราะเพราะสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส ซาอุฯ จอร์แดนร่วมกันปกป้องอิสราเอล จะเห็นว่า นานาชาติไม่อยากให้สถานการณ์บานปลาย พวกตะวันตกด้านหนึ่งช่วยอิสราเอล อีกด้านขออิสราเอลไม่ตอบโต้ ชาติอาหรับด้านหนึ่งไม่ยอมให้สหรัฐใช้ฐานทัพกับน่านฟ้าของตนเพื่อต้านอิหร่าน อีกด้านช่วยอิสราเอลสกัดการโจมตีจากอิหร่าน อาจตีความว่าขอเป็นกลางและพยายามลดความรุนแรงซึ่งได้ผลดีทีเดียว

            ความเป็นไปของโลกไม่ใช่เรื่องของ 2-3 ประเทศแต่มีผลต่อนานาชาติ ยิ่งส่งผลรุนแรงนานาชาติจะยิ่งเข้ามามีส่วนร่วม สงครามใหญ่ไม่อาจเกิดขึ้นง่ายๆ ทำไมนานาชาติต้องย่อยยับเพราะบางประเทศอยากใช้อาวุธนิวเคลียร์ ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้อง คำถามหนักกว่านี้คือทำไมประชาชนหลายพันล้านต้องรับผลจากการตัดสินใจของชนชั้นปกครองไม่กี่กลุ่มที่คิดถึงแต่เหตุผลของตัวเอง

            การปะทะระหว่างอิหร่าน-อิสราเอลรอบนี้พิสูจน์แล้วว่านานาชาติไม่ต้องการให้บานปลาย โลกมีความขัดแย้งอยู่เสมอแต่ไม่ควรปล่อยให้ความขัดแย้งนำสู่การทำลายล้างมนุษยชาติ

            ไม่ว่าจะสงครามเล็กหรือใหญ่ อันโตนิโอ กูเตเรส (Antonio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวไม่ว่าจะภูมิภาค (ตะวันออกกลาง) หรือโลกต่างรับสงครามใหม่ไม่ได้อีกแล้ว (สงครามมีผลกระทบร้ายแรง) ทุกฝ่ายต้องอดกลั้นไม่ก่อสงคราม

            แต่ชาติผู้ยั่วยุกับประเทศผู้ก่อสงครามจะฟังหรือไม่ ก่อนอิสราเอลโต้กลับ เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวเตือนระวังสงครามเต็มรูปแบบทั่วภูมิภาค ('full-scale regional conflict') เพราะต่างฝ่ายต่างยั่วยุ ไม่ลดราวาศอก หากตัดสินใจพลาดเพียงครั้งเดียวอาจกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ ทำลายล้างทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง ร้องขอให้ทุกฝ่ายหยุดยิงทันทีเพื่อมนุษยธรรม (ทั้งที่กาซาและอื่นๆ)

            ล่าสุดดูเหมือนว่าอิหร่านจะไม่โต้กลับ ปล่อยให้จบเพียงเท่านี้ (อาจมีการเจรจาในทางลับ และทุกฝ่ายขอให้จบเพียงเท่านี้) นำความยินดีแก่คนรักสันติ ไม่อยากเห็นสถานการณ์บานปลาย เข้าใจว่าทั้งรัฐบาลเนทันยาฮูกับอิหร่านไม่ต้องการให้บานปลาย ส่วนอนาคตค่อยว่ากันใหม่

21 เมษายน 2024
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 28 ฉบับที่ 10019 วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2567)

-------------------

บรรณานุกรม :

1. Hitchcock, Mark. 2006 Iran: The Coming Crisis: Radical Islam, Oil, and the Nuclear Threat. CO: Multnomah Books.

2. If Iran attacks Israel, Middle East turmoil could lift oil past $100 a barrel. (2024, April 12). Market Watch. Retrieved from https://www.marketwatch.com/story/if-iran-attacks-israel-middle-east-turmoil-could-lift-oil-past-100-a-barrel-fd76ea09?mod=futures

3. Iran air force chief threatens to make Israel ‘vanish from earth’. (2019, January 21). Al Arabiya. Retrieved from https://english.alarabiya.net/en/News/middle-east/2019/01/21/Iran-air-force-chief-threatens-to-make-Israel-vanish-from-earth-.html

4. Israel’s war on Gaza live: Iran launches retaliatory attack on Israel. (2024, April 15). Al Jazeera. Retrieved from https://www.aljazeera.com/news/liveblog/2024/4/14/israels-war-on-gaza-live-blasts-sirens-as-iranian-missiles-intercepted

5. Jordan says Israeli retaliation for Iran strikes risks wider regional war. (2024, April 18). Arab News. Retrieved from https://www.arabnews.com/node/2494956/middle-east

6. Middle East, world cannot 'afford more war', says UN chief Guterres. (2024, April 14). France24. Retrieved from https://www.france24.com/en/middle-east/20240414-

7. Nasrallah: Iran response to consulate attack “inevitable”. (2024, April 7). Tehran Times. Retrieved from https://www.tehrantimes.com/news/496824/Nasrallah-Iran-response-to-consulate-attack-inevitable

8. Oil prices bounce on continued Mideast tensions, but head for weekly decline. (2024, April 12). Market Watch. Retrieved from https://www.marketwatch.com/story/oil-prices-bounce-on-continued-mideast-tensions-but-head-for-weekly-decline-7c4e410a?mod=home-page

9. UN chief warns Mideast on brink of 'full-scale regional conflict'. (2024, April 19). Arab News. Retrieved from https://www.arabnews.com/node/2494956/middle-east

-----------------