รัฐบาลสหรัฐเสนอร่างมติให้กาซาหยุดยิง เป็นมิติใหม่ที่ใช้ UNSC กดดันอิสราเอล แต่เรื่องนี้มีความแหลมคมซ่อนอยู่ แท้จริงแล้วเป็นการช่วยอิสราเอลมากกว่า
นับตั้งแต่กระแสข่าวกองทัพอิสราเอลเตรียมบุกพื้นที่ Rafah ทางตอนใต้สุดของกาซาติดประเทศอียิปต์เป็นประเด็นที่นานาชาติสนใจ เป็นพื้นที่สุดท้ายที่กองทัพอิสราเอลยังไม่เข้ากวาดล้าง คาดว่าพวกฮามาสจำนวนมากหลบซ่อนอยู่ รัฐบาลไบเดนร้องขอให้อิสราเอลไม่บุกเข้าเขตดังกล่าว เตือนว่าได้ไม่คุ้มเสีย อิสราเอลจะพ่ายแพ้ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ แต่รัฐบาลเนทันยาฮูย้ำจุดยืนเดิมคือต้องกวาดล้างฮามาสให้สิ้นซาก เป็นที่มาของร่างข้อมติให้หยุดยิงที่รัฐบาลไบเดนเสนอต่อคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ เมื่อตรวจสอบไส้ในพบว่าเนื้อหามติแม้ดูดีคือให้ “หยุดยิงชั่วคราว” แต่มีข้ออื่นๆ ที่เอื้อประโยชน์อิสราเอลกับสหรัฐมากกว่าช่วยปาเลสไตน์
มติให้กาซาหยุดยิงทันที:
หลังสงครามฮามาส-อิสราเอลดำเนินแล้ว 171 วัน 25 มีนาคม คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติมีมติ S/RES/2728 (2024) ให้กาซาหยุดยิงทันที ตัวแทนสหรัฐลงมติของดออกเสียง มติจึงผ่านด้วยคะแนน 14 ต่อ 0 งดออกเสียง 1
หลายเดือนที่ผ่านมา UNSC ประชุมหลายรอบ พยายามออกมติหยุดยิงแต่ไม่เคยผ่าน แม้นานาชาติเรียกร้องให้หยุดยิง ประณามรัฐบาลเนทันยาฮูกับไบเดนอย่างต่อเนื่อง ชี้ว่าอิสราเอลกำลังฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยมีสหรัฐเป็นผู้สนับสนุนหลัก ปล่อยให้คนกาซาหิวตาย แต่ทั้งหมดไม่ได้ผลกองทัพอิสราเอลเดินหน้ารบตามแผน เช่นเดียวกับที่รัฐบาลไบเดนสนับสนุนด้วยอาวุธ การทูต
ก่อนหน้านั้นร่างมติที่รัสเซียเสนอให้หยุดยิงถาวรถูกแก้เป็นหยุดยิงชั่วคราวเพราะสหรัฐไม่ยอม อย่างไรก็ตามฮามาสกับรัฐบาลปาเลสไตน์ (Palestinian Authority: PA) เห็นชอบข้อมติ 2728 (2024)
หยุดยิงช่วงรอมฎอน:
ส่วนที่ชัดเจนสุดของข้อมติ 2728 คือหยุดยิงชั่วคราวระยะหนึ่ง (จำนวนจริงคือ 15 วันตามการสิ้นสุดรอมฎอน) นำการผ่อนคลายฟื้นฟูทั้งฝ่ายฮามาสกับอิสราเอล (ต้องมองว่ากองทัพอิสราเอลได้พักด้วย) แต่ในที่สุดสงครามน่าจะดำเนินต่อไป ดังนั้นถ้าบอกว่าข้อมติช่วยชีวิตต้องพูดต่อว่าทำให้ตายช้าลง 2 สัปดาห์ ทุกข์ช้าลง 2 สัปดาห์ หลังสิ้นฎอมรอนจะรบต่อ ทั้งปาเลสไตน์กับอิสราเอลต้องบาดเจ็บล้มตายต่อไป
ไม่ต้องเอ่ยถึงสันติภาพถาวร สร้างรัฐปาเลสไตน์ตามแนวทางทวิรัฐ (Two-State Solution) ที่พูดกันเป็นประจำ แต่หลายสิบปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าเป็นแค่ความฝัน และเช่นเคยที่บางประเทศใช้โอกาสข้อมติ 2728 พูดแง่บวกว่าข้อมติล่าสุดคือก้าวย่างสู่รัฐปาเลสไตน์ เป็นการพูดซ้ำอีกครั้งในขณะที่พื้นที่ของปาเลสไตน์เหลือน้อยลงทุกทีและน่าจะน้อยลงอีกครั้งที่กาซา มีความเป็นไปได้ว่ากองทัพอิสราเอลจะเข้าควบคุมบางส่วนหรือทั้งหมด
ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย:
จุดสำคัญที่สุดคือมติ 2728 ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (nonbinding) ไม่มีบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตามเหมือนข้อมติอื่นๆ ของ UNSC ที่กำหนดบทลงโทษ เช่น คว่ำบาตร ห้ามนานาชาติต่อติดค้าขาย ไม่ขายอาวุธให้ น่าสงสัยว่ารัฐบาลอิสราเอลจะทำตามมติหรือไม่ อิสราเอลคงไม่หยุดยิงฝ่ายเดียวหรือไม่หยุดยิงจนกว่าจะปล่อยตัวประกัน จนบัดนี้ยังไม่มีสัญญาณว่าฮามาสจะปล่อยตัวประกัน
สุดท้ายแล้วหากฮามาสไม่ปล่อยตัวประกัน อิสราเอลอาจใช้เป็นข้ออ้างว่าไม่ต้องหยุดยิง ข้อมติจะล้มไปเองเมื่อสิ้นรอมฎอน ข้อเรียกร้องของมติ 2728 จึงเป็นแค่ความฝันลมๆ แล้งๆ
ท่าทีที่ดูเหมือนดี:
รัฐบาลไบเดนชี้แจงว่าการลงมติงดออกเสียงของตนไม่มีผลต่อความเป็นพันธมิตรกับอิสราเอล สหรัฐเห็นด้วยกับหลักการหยุดยิงชั่วคราวและปล่อยตัวประกัน เพียงแต่ไม่เห็นด้วยในรายละเอียดบางอย่าง ยืนยันเคียงข้างอิสราเอล สนับสนุนอาวุธต่อไป แต่การแก้ปัญหาปาเลสไตน์ไม่อาจใช้กำลังทหารอย่างเดียว จำต้องแก้ทางการเมืองและอื่นๆ ที่ไม่ใช้อาวุธทหาร ต้องให้สงบเท่านั้นจึงแก้ปัญหายั่งยืน ไม่เป็นที่ซ่องสุมของผู้ก่อการร้าย (สหรัฐตีตราว่าฮามาสคือผู้ก่อการร้าย)
ข่าวที่ปรากฎคือทั้งรัฐบาลสหรัฐกับอียูพยายามกดดันให้เนทันยาฮูยอมรับการหยุดยิง มีความเคลื่อนไหวทางการทูตคึกคัก ประธานาธิบดีไบเดนแสดงตัวถอยห่างจากอิสราเอลด้วยการยืนยันให้หยุดยิง แต่เมื่อเอาเข้าจริงมติ 2728 ไม่มีบทลงโทษ ดังนั้นแม้อิสราเอลไม่ทำตามก็ไม่รับโทษใดๆ เรื่องนี้อาจตีความเป็นผลเสียต่อคณะมนตรีความมั่นคงที่ข้อมติไม่ศักดิ์สิทธิ์ ตรงข้ามจากกรณีอิรักในสมัยซัดดัม ฮุสเซน เกาหลีเหนือที่กำหนดมาตรการลงโทษชัดเจน
อาจตั้งข้อสงสัยว่ารัฐสบาลสหรัฐกับอียูจริงใจแค่ไหนกับข้อมติ หรือแค่ต้องการสร้างภาพว่ามีมนุษยธรรม
รัฐบาลไบเดนย้ำว่าไม่จำต้องเข้ากวาดล้างฮามาสให้สิ้นซาก มีวิธีอื่นๆ ไม่ต้องใช้กำลังทหาร ที่สุดแล้วต้องแก้ไขด้วยการเจรจา ใช้วิถีการทูตการเมือง แนวทางนี้ทำได้ถ้าข้อมติมีบทลงโทษแรงพอจนบังคับให้อิสราเอลหยุดรบ แต่สุดท้ายทุกอย่างเหมือน อย่างช้าหลังเดือนรอมฎอนกองทัพอิสราเอลจะกวาดล้างพวกฮาสต่อไป
ตลกร้ายอีกข้อคือพวกตะวันตกเรียกร้องให้ฮามาสปล่อยตัวประกันทั้งหมดแลกกับการหยุดยิงชั่วคราว ชี้ว่าช่วยลดความโหดร้าย ส่งเสริมมนุษยธรรมในกาซา แต่หากคิดสักนิดการหยุดยิงที่ว่าเป็นการหยุดยิง “ชั่วคราว” กองทัพอิสราเอลสามารถเข้ากวาดหลังฮามาสหลังสิ้นกำหนดหยุดยิง เท่ากับว่าข้อเสนอที่รัฐบาลตะวันตกตั้งขึ้นมาเพื่อให้พวกฮามาสได้ยืดความตายออกไปอีกนิดเท่านั้น เห็นชัดว่าเป็นเงื่อนไขที่เสียเปรียบ ตรงตามความต้องการของรัฐบาลเนทันยาฮูโดยแท้ ไม่แปลกที่ฮามาส รัสเซีย จีนและพวกอาหรับไม่เห็นด้วย
เหล่านี้ถ้าฟังข่าวเผินๆ อาจเข้าใจผิดคิดว่าพวกตะวันตกเห็นแก่มนุษยธรรม ความจริงคือทำตามความต้องการของรัฐบาลเนทันยาฮู เป็นที่มาว่าทำไมสหรัฐไม่วีโตมติ 2728 (2024)
จากเหตุข้อมติหยุดยิงของ UNSC เนทันยาฮูยืนยันอิสราเอลจะทำตามวัตถุประสงค์เดิม คือทำลายกองกำลังและอำนาจปกครองกาซาของฮามาส จึงต้องติดตามต่อว่าอิสราเอลจะหยุดยิงหรือไม่แม้มีข้อมติดังกล่าว ที่แน่นอนคือหลังสิ้นรอมฎอนฮามาสรบต่อ อิสราเอลรบต่อ ไม่มีใครยอมแพ้ นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่าแม้เข้ากวาดล้าง Rafah ฮามาสยังคงอยู่ ด้านอิสราเอลตั้งใจแล้วว่ากองทัพอิสราเอลจะอยู่ในกาซายาวๆ นายกฯ เนทันยาฮูยังอยู่ในอำนาจตราบเท่าที่พวกไซออนิสต์สนับสนุน เนทันยาฮูไม่ได้ทำงานคนเดียว ควรพูดว่าถูกตั้งให้เป็นหัวเพื่อจัดการปาเลสไตน์โดยเฉพาะ
รวมความแล้วข้อมติ 2728 (2024) เป็นละครฉากใหญ่ที่หลายประเทศร่วมแสดง รัฐบาลไบเดนพยายามตีตัวออกห่างจากเนทันยาฮู แสดงตัวว่าไม่เห็นด้วยกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อียูร่วมเล่นบทนี้เช่นกัน โยนความผิดทั้งหมดให้รัฐบาลเนทันยาฮู แต่ต้องไม่ลืมว่าพวกรัฐบาลตะวันตกนี่แหละสนับสนุนให้อิสราเอลสามารถกวาดล้างฮามาส ล่าสุดยอดชาวกาซาเสียชีวิตเกิน 32,000 คน (ราว 40% เป็นเด็ก) 2 ล้านคนที่ยังมีชีวิตอยู่อย่างขมขื่นหวาดผวาไร้อนาคต พวกอาหรับแสดงจุดยืนเคียงข้างปาเลสไตน์แต่บางประเทศไม่ยอมตัดสัมพันธ์อิสราเอล (ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมารัฐอาหรับญาติดีกับอิสราเอลอย่างเปิดเผยตามลำดับ) พวกอาหรับน่าจะเป็นกลุ่มคว่ำบาตรโดดเดี่ยวอิสราเอลมากสุดแต่ไม่ทำ ส่วนอิหร่านแม้ไม่โดดเด่นในเรื่องนี้แต่รัฐบาลไบเดนผ่อนคลายการคว่ำบาตร ช่วยลดความร้อนแรงในภูมิภาคตะวันออกกลางและคงจะยาวไปจนถึงปีหน้า ดูเหมือนว่านานาชาติเห็นใจมุสลิมปาเลสไตน์เป็นพิเศษในช่วงเดือนรอมฎอนและคงทำได้เท่าที่เห็น ในที่สุดแล้วอาจพบว่าข้อมติ 2728 (2024) ช่วยลดความร้อนแรงได้แค่ครึ่งเดือนแล้วกลับสู่สภาพเดิม
บรรณานุกรม :
1. Blinken warns major Rafah op risks global isolation, long-term security harm for Israel. (2024, March 22). Times of Israel. Retrieved from https://www.timesofisrael.com/pm-tells-blinken-rafah-op-is-inevitable-secretary-warns-him-israel-risks-isolation/
2. Department Press Briefing – March 26, 2024. (2024, March 26). statedotgov. Retrieved from https://www.state.gov/briefings/department-press-briefing-march-26-2024/
3. EU and US pile on pressure for Gaza ceasefire. (2024, March 22). The Guardian. Retrieved from https://www.theguardian.com/world/2024/mar/21/eu-and-us-pile-on-pressure-for-gaza-ceasefire
4. Israel cancels Washington visit after US allows UN Gaza ceasefire resolution to pass. (2024, March 25). AP. Retrieved from https://edition.cnn.com/2024/03/25/middleeast/un-security-council-gaza-israel-ceasefire-intl/index.html
5. Israel says UN resolution damaged Gaza ceasefire talks. (2024, March 27). BBC. Retrieved from https://www.bbc.com/news/world-middle-east-68665247
6. Netanyahu spurns Biden plea to call off Rafah assault in Gaza. (2024, March 20). Channel News Asia. Retrieved from https://www.channelnewsasia.com/world/netanyahu-biden-plea-rafah-assault-gaza-israel-hamas-war-4206891
7. Security Council Demands Immediate Ceasefire in Gaza for Month of Ramadan, Adopting Resolution 2728 (2024) with 14 Members Voting in Favour, United States Abstaining. (2024, March 25). AP. Retrieved from https://press.un.org/en/2024/sc15641.doc.htm
8. U.S. submits U.N. resolution calling for immediate ceasefire in Gaza. Here’s why it matters. (2024, March 21). yahoodotcom. Retrieved from https://www.yahoo.com/news/us-submits-un-resolution-calling-for-immediate-ceasefire-in-gaza-heres-why-it-matters-230747565.html?guccounter=1&guce_referrer=aHR0cHM6Ly9uZXdzLmdvb2dsZS5jb20v&guce_referrer_sig=AQAAAF-UZEbOv1Ndz15xAT5rmgkPt7XNcr4uCc2ool2TxnrYR8CTfoc5ojL4QidNZBSJhOrhBTYbMDKVKLa1lduwS_I5xUrbD6KqieLSLbL_EbCFOn0eLmnUb-vDq5eLG_neJ_wU_1FwmqQq2cZeRPbj7nWVKvlPMJtyunmnWkeLCTQz
-----------------