ทรัมป์หาเสียงให้รัสเซียบุกชาตินาโต

ทรัมป์ยินดีให้รัสเซียทำอะไรก็ได้กับชาติสมาชิกนาโตที่ไม่ยอมตั้งงบกลาโหมตามข้อตกลง ทำให้นาโตปั่นป่วน แต่อาจเป็นแค่การหาเสียงกับคนอเมริกันเท่านั้น

            บนเวทีปราศรัยหาเสียงอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กล่าวว่าตนยินดีให้รัสเซียทำอะไรก็ได้กับชาติสมาชิกนาโตที่ไม่ยอมตั้งงบกลาโหมตามข้อตกลงนาโตรวมถึงเข้ารุกรานทำสงคราม และสหรัฐจะไม่ปกป้องประเทศนั้น พวกที่ตั้งงบกลาโหมต่ำเอารัดเอาเปรียบสหรัฐ

            ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดนคู่แข่งทางการเมืองกล่าวทันทีว่าทรัมป์ไฟเขียวให้ปูตินก่อสงครามอีก อาจรุกรานโปแลนด์กับประเทศในแถบบอลติก (เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย) การที่ทรัมป์สนับสนุนให้รัสเซียโจมตีชาตินาโตเป็นเรื่องที่ “โง่เขลา น่าละอายและไม่ใช่ความคิดอย่างอเมริกัน” ("dumb", "shameful" and "un-American") ตราบใดที่ตนเป็นประธานาธิบดีจะขอปกป้องสมาชิกนาโตอย่างถึงที่สุด

วิพากษ์เหตุผลของทรัมป์:

            ทรัมป์จะไม่ปกป้องสมาชิกนาโตเพราะประเทศนั้นไม่ตั้งงบกลาโหมอย่างน้อย 2% ของจีดีพีตามข้อตกลงนาโต เป็นการเอารัดเอาเปรียบสหรัฐที่แต่ละปีต้องใช้จ่ายด้านกลาโหมมหาศาล แต่เหตุผลของทรัมป์ฟังไม่ขึ้นเพราะการปกป้องสมาชิกเป็นไปตามสนธิสัญญาไม่ขึ้นกับการตั้งงบประมาณของแต่ละประเทศ อีกทั้งข้อตกลงที่ว่าให้ปฏิบัติตามความสมัครใจ กลายเป็นว่าทรัมป์ตั้งกฎใหม่ของตัวเอง ล้มล้างสนธิสัญญา ไม่สนใจว่าชาติสมาชิกอื่นๆ คิดเห็นอย่างไร

            หลังท่าทีของทรัมป์ เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก (Jens Stoltenberg) เลขาธิการนาโตรีบออกมาย้ำว่านาโตพร้อมปกป้องทุกประเทศที่เป็นสมาชิก (ไม่เกี่ยวข้องกับงบกลาโหมของแต่ละประเทศ) คำพูดใดๆ ที่บอกว่าพันธมิตรจะไม่ปกป้องพวกเดียวกันทำให้ทั้งทหารอเมริกันกับยุโรปเสี่ยงอันตรายมากขึ้น ตนหวังว่าไม่ว่าใครจะชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจะยังยึดมั่นความเป็นพันธมิตรนาโตอย่างเข้มแข็ง

            อันที่จริงแล้วหากนาโตยุโรปโดนโจมตี สหรัฐจะไม่ส่งกองทัพเข้าปกป้องก็ได้ เพราะนาโตไม่สามารถสั่งรัฐบาลสหรัฐแม้มีสนธิสัญญา นาโตจึงสั่นคลอนเพราะท่าทีของทรัมป์

            ในมุมมองที่กว้างขึ้น แต่ไหนแต่ไรชาติพันธมิตรที่มีข้อตกลงความมั่นคงกับสหรัฐต่างสงสัยอยู่เสมอว่ารัฐบาลสหรัฐจะยึดมั่นข้อตกลงหรือไม่ จะช่วยรบหรือไม่หากทำสงครามกับมหาอำนาจ ไต้หวัน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต่างกังวลเช่นกัน

            ท่าทีของทรัมป์ตอกย้ำความไม่น่าเชื่อของรัฐบาลสหรัฐที่อาจเอาตัวรอดโดยอ้างเหตุผลต่างๆ นานา ไม่สนใจข้อตกลงสนธิสัญญาใดๆ

ผลประโยชน์ที่สหรัฐได้:

            หากสมาชิกตั้งงบประมาณ 2% ของจีดีพี ผลประโยชน์จากการขายอาวุธมักถูกเอ่ยถึงเป็นลำดับแรก แม้ยุโรปตะวันตกผลิตอาวุธใช้เองไม่น้อย แต่อาวุธชิ้นใหญ่มักใช้ของสหรัฐ ดังนั้นการเพิ่มงบกลาโหม สร้างกองทัพให้เข้มแข็งคือซื้อใช้ของสหรัฐมากขึ้นนั่นเอง

            เหตุผลที่ลึกซึ้งกว่าคือการควบคุมประเทศอื่นด้วยอาวุธ

            การขายอาวุธเครื่องกระสุนมีความสำคัญไม่เพียงด้านการทหาร ยังสัมพันธ์กับการสร้างขั้วกระชับอำนาจในขั้วของตน อาวุธที่ซื้อใช้จากสหรัฐหากขาดกระสุน อะไหล่บำรุงจะกลายเป็นแค่เศษเหล็ก ยิ่งอียูใช้อาวุธสหรัฐมากเพียงไรเท่ากับว่าการป้องกันประเทศอยู่ใต้อำนาจควบคุมของสหรัฐมากขึ้นเท่านั้น

            ชาติสมาชิกนาโตที่ทรัมป์เอ่ยถึงส่วนใหญ่คือประเทศในยุโรปตะวันตก กลุ่มประเทศเจริญมั่นคงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ หากยุโรปตะวันตกยังต้องก้มหัวให้สหรัฐ หลายประเทศทั่วโลกมิอาจไม่ทำตาม เป็นการกระชับอำนาจที่รัฐบาลสหรัฐทุกชุดกระทำเรื่อยมา

ทำไมนาโตยุโรปไม่ตั้งงบกลาโหมให้สูง:

            คำถามน่าคิดคือหลายคนชี้ว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคามร้ายแรง หากชนะศึกยูเครนจะบุกยึดประเทศอื่นๆ ในยุโรป ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงทำไมสมาชิกนาโตยุโรปไม่ตั้งงบประมาณกลาโหมให้สูง ดังที่ทุกวันนี้ส่วนใหญ่ไม่ถึง 2% ตามเกณฑ์ขั้นต่ำของนาโต

            หรือว่าแท้จริงแล้ว รัสเซียไม่ได้คุกคามยุโรปจริง เป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อของบางประเทศ ส่วนยูเครนเป็นกรณียกเว้นที่รัฐบาลปูตินประกาศล่วงหน้าหลายปีแล้วว่ายูเครนเป็นเส้นต้องห้าม ยูเครนต้องไม่เข้าร่วมนาโต รัสเซียไม่คิดบุกยึดครองยุโรปแต่อย่างไร

กระตุ้นให้ยุโรปถอยห่างจากสหรัฐ:

            นานแล้วที่ยุโรปตะวันตกหรืออียูมีแนวคิดป้องกันตัวเองโดยไม่พึ่งพาสหรัฐ คิดมีกองทัพของตนเอง

            พฤศจิกายน 2018 ประธานาธิบดีมาครงกล่าวว่ายุโรปต้องมีกองทัพที่เป็นของยุโรปจริงๆ เพื่อปกป้องภัยจากรัสเซีย จีนและแม้กระทั่งสหรัฐ ผู้นำฝรั่งเศสเสนอจัดตั้งกองทัพยุโรปลดพึ่งพาความมั่นคงทางทหารจากสหรัฐเป็น “กองทัพยุโรปจริงๆ” เราต้องรับผิดชอบหน้าที่ของตนเองและประกันความมั่นคงด้วยตัวเอง ปกป้องอธิปไตยยุโรป

            ในช่วงเวลาเดียวกันอังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีเยอรมนีในขณะนั้นเอ่ยถึงการรวมทัพสหภาพยุโรป ชี้ว่าไม่ใช่เพื่อบั่นทอนแต่เพื่อสนับสนุนนาโต หมดสมัยแล้วที่จะพึ่งพาคนอื่น คนยุโรปต้องดูแลอนาคตด้วยมือของตัวเอง “มีวิสัยทัศน์ว่าวันหนึ่งต้องสร้างกองทัพของยุโรปแท้ๆ”

            ในกรณีล่าสุด รัฐบาลโปแลนด์ ฝรั่งเศสและเยอรมันประกาศอียูจะกระชับความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ ต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ตอกย้ำแนวคิดยุโรปมีกองทัพของตัวเอง

            ในด้านเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ วันที่สหรัฐไม่ปกป้องอียู สิ่งแรกที่อียูน่าจะทำคือขอเป็นมิตรกับรัสเซีย เท่ากับว่าอียูดำเนินนโยบายขัดแย้งยุทธศาสตร์แม่บทสหรัฐที่ต้องการกำราบรัสเซีย ด้วยแนวทางนี้อียูจะไม่สนับสนุนให้รัฐบาลเซเลนสกีทำสงครามกับรัสเซียอีกต่อไป กลับมาติดต่อค้าขายกับรัสเซียตามเดิม นำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงรัสเซีย สหรัฐจะเสียหายหนัก สูญเสียอิทธิพลในยุโรป ต้องเผชิญหน้ารัสเซียที่กล้าแข็งขึ้นแน่นอน

            หากรัฐบาลสหรัฐละทิ้งนาโตจึงเป็นข้อผิดพลาดใหญ่ นี่คือประเด็นสำคัญที่ทรัมป์ไม่พูดในเวทีหาเสียง

ทรัมป์จะไม่ทิ้งนาโต:

            หลายทศวรรษแล้วที่นาโตคือพันธมิตรทางทหารที่แข็งแกร่งที่สุดของสหรัฐ สมาชิกมีบทบาทร่วมกับสหรัฐในด้านเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศมากมาย หากสหรัฐทิ้งอียูเท่ากับโดดเดี่ยวตัวเอง คำพูดทรัมป์ไม่กี่ประโยคทำให้นาโตปั่นป่วน ชาติสมาชิกหลายประเทศออกมาตอบโต้ ฝ่ายโลกเสรีตะวันตกแตกแยก พันธมิตรตั้งข้อสงสัยว่ารัฐบาลสหรัฐโดยเฉพาะภายใต้คนอย่างทรัมป์จะปกป้องพวกเขาจริงหรือไม่ ตอกย้ำข้อสงสัยที่มีอยู่แล้วให้หนักข้อขึ้นอีก

            รวมความแล้วหากคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล การถอนตัวจากนาโตมีผลเสียมากกว่าผลดี ดังนั้นเชื่อว่าทรัมป์จะไม่ทิ้งนาโต คำพูดของทรัมป์อาจเป็นแค่การหาเสียงดังที่ Antonio Tajani รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอิตาลีกล่าวว่าคำพูดของทรัมป์เป็นแค่ “มุขตลกของการหาเสียงเท่านั้น” (electoral campaign joke) แต่ทรัมป์มีสิทธิพูดเช่นนั้นเพราะเป็นข้อตกลง

            คำพูดของรัฐมนตรี Tajani อธิบายอีกมุมหนึ่งว่าแท้จริงแล้วทรัมป์ไม่หวังให้นาโตแตกจริง เป็นแค่การหาเสียงกับคนอเมริกันเท่านั้นเอง อันที่จริงแล้วเป็นมุขเก่าซ้ำเดิม ทรัมป์เคยใช้มาแล้วตั้งแต่เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก เคยขู่ว่าจะทิ้งหรือล้มนาโต สุดท้ายสหรัฐยังต้องการนาโต ต้องการพันธมิตรยุโรป ดูเหมือนว่าทุกคนเล่นตามเกมอย่างรู้หน้าที่รู้บทบาทตัวเอง

            ปลายปีนี้สหรัฐจะเลือกตั้งผู้นำประเทศอีกครั้ง ทรัมป์มีโอกาสเป็นผู้สมัครในนามพรรครีพับลิกัน กลุ่มประเทศอียูเริ่มหารือรับมือหากทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัย หลายคนกังวลว่าทรัมป์จะทำให้นาโตปั่นป่วนเช่นเคย น่าติดตามว่าหากเป็นเช่นนั้นจะมีผลต่อสถานการณ์โลกอย่างไร

18 กุมภาพันธ์ 2024
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 28 ฉบับที่ 9956 วันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567)

---------------------------

บรรณานุกรม :

1. Biden slams Trump criticism of Nato as 'shameful'. (2024, February 14). BBC. Retrieved from https://www.bbc.com/news/world-us-canada-68286645

2. Nato chief says Trump remarks may put US and EU lives at risk. (2024, February 10). The Guardian. Retrieved from https://www.theguardian.com/world/2024/feb/11/nato-chief-jens-stoltenberg-promises-forceful-response-to-attack-as-trump-remarks-dismissed

3. Poland, France and Germany vow to make Europe stronger as fears grow over Russia and Trump. (2024, February 13). AP. Retrieved from https://apnews.com/article/france-germany-poland-tusk-f40604859d6efba833a6895dcc95bffe

4. Trump says he would ‘encourage’ Russia to attack NATO allies who don’t pay up. (2024, February 11). Politico. Retrieved from https://www.politico.eu/article/trump-says-he-would-encourage-russia-to-attack-nato-members-that-dont-pay-enough/

5. Western officials criticise Trump's Nato comments. (2024, February 12). The National News. Retrieved from https://www.thenationalnews.com/world/2024/02/11/western-officials-criticise-trumps-nato-comments/

-----------------