เลิกรวมชาติยกระดับความขัดแย้งเกาหลี

ในมุมเกาหลีเหนือการรวมชาติจะเริ่มขึ้นจริงเมื่อประเทศอยู่ในบรรยากาศปลอดภัย ไม่มีใครคิดล้มล้างอำนาจผู้ปกครอง

            แต่เดิมรัฐบาลเกาหลีเหนือชูประเด็นการรวมชาติเรื่อยมา ชี้ว่าเป็นความต้องการของคนเกาหลีทั้งเหนือ-ใต้ เป็นความปรารถนาอย่างยิ่งยวดของทั้งรัฐบาลกับประชาชน ในขณะเดียวกันผู้นำคิม จ็อง-อึน (Kim Jong-un) กล่าวว่าทุกวันนี้รัฐบาลเกาหลีใต้ “เป็นหุ่นเชิด” ของต่างชาติ อ้างหลักฐานสหรัฐมีฐานทัพในเกาหลีใต้พร้อมทหารนับหมื่น รัฐบาลเกาหลีใต้ไม่เป็นอิสระอยู่ใต้การบงการของจักรวรรดินิยมอเมริกา

            เกาหลีเหนือเห็นว่าการรวมชาติเป็นเรื่องของคนเกาหลีเท่านั้น ในขณะที่เกาหลีใต้เห็นว่าต้องรวมภายใต้การสนับสนุนของกองกำลังพันธมิตรต่างชาติซึ่งหมายถึงสหรัฐ ซ้ำร้ายกว่านั้นคือเกาหลีเหนือต้องเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นแบบเกาหลีใต้ ดังเช่นเยอรมันตะวันออกกรวมกับเยอรมันตะวันตก ด้วยท่าทีของเกาหลีใต้เช่นนี้ รัฐบาลเกาหลีเหนือยอมรับไม่ได้ ย้ำเสมอว่าการรวมชาติของเกาหลีใต้คือให้ต่างชาติแทรกแซง

ยกเลิกนโยบายรวมชาติ:

            กลางเดือนมกราคม 2024 ในที่ประชุมสมัชชาประชาชนสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ (Supreme People's Assembly) คิม จ็องอึน (Kim Jong-un) ผู้นำเกาหลีเหนือกล่าวย้ำรัฐบาลสหรัฐต้องการล้มล้างระบอบของตน การซ้อมรบร่วมระหว่างสหรัฐกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่นตอกย้ำเป้าหมายดังกล่าว คิดทำสงคราม เกาหลีเหนือจึงต้องเตรียมพร้อมป้องกันประเทศ เกาหลีเหนือมีข้อสรุปแล้วว่าไม่อาจรวมชาติกับเกาหลีใต้ เนื่องจากรัฐบาลเกาหลีใต้ต้องการล้มล้างระบอบเกาหลีเหนือ

            2-3 สัปดาห์ต่อมาเกาหลีเหนือทำลายอนุสาวรีย์สัญลักษณ์ความตั้งใจรวมชาติ (Arch of Reunification) ที่สร้างขึ้นเมื่อปี 2000 การรื้อทำลายอนุสาวรีย์รวมชาติไม่แปลก เป็นส่วนหนึ่งของยุติการรวมชาติ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าเกาหลีเหนือคิดเห็นอย่างไร

            ผู้นำคิมกล่าวอีกว่าท่าทีกับนโยบายของเกาหลีใต้เผยความตั้งใจต้องการล้มล้างระบอบเกาหลีเหนือชัดเจน ดังนั้นทั้งคู่เป็นปรปักษ์มากกว่าเป็นมิตร นับวันจะเผชิญหน้ามากขึ้น (รัฐบาลยุน ซอก-ยอล (Yoon Suk-yeol) ในสมัยไบเดนใกล้ชิดสหรัฐ ทำข้อตกลงให้กองกำลังนิวเคลียร์สหรัฐสามารถใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในเกาหลีใต้ ส่วนเกาหลีใต้กังวลความก้าวหน้าด้านขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ต่างฝ่ายต่างพัฒนาอาวุธ สะสมอาวุธทันสมัย - สรุปคือต่างฝ่ายต่างระแวง ชี้ว่าอีกฝ่ายเป็นภัยคุกคาม)

            อย่างไรก็ตามเกาหลีเหนือไม่มีนโยบายใช้กำลังรุกรานต่างแดนเพื่อรวมชาติ กองทัพมีเพื่อป้องกันประเทศ พร้อมใช้อาวุธนิวเคลียร์

การรวมชาติจากมุมเกาหลีใต้:

            นอกจากพิจารณามุมมองเกาหลีเหนือจำต้องมองจากฝั่งเกาหลีใต้ด้วย การรวมชาติไม่อาจเกิดขึ้นหากเกาหลีใต้ไม่ต้องการรวมด้วย

            จากการศึกษาพบว่ารัฐบาลกับประชาชนเกาหลีใต้จำนวนมากต่างคิดว่าไม่ต้องรีบร้อน ควรดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากนับวัน 2 ประเทศจะแตกต่างกันมาก ลักษณะเศรษฐกิจสังคมเกาหลีใต้ทันสมัยกว่ามาก การรวมประเทศอย่างปัจจุบันทันด่วนไม่ส่งผลดีต่อทั้ง 2 เกาหลี เช่น ฉุดรั้งเศรษฐกิจ ชาวเกาหลีเหนือปรับตัวไม่ทัน

            ถ้าพิจารณาปัจจัยทางสังคม สงครามเกาหลีผ่านมาแล้ว 6 ทศวรรษ ความสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างผู้ที่อยู่ทางเหนือกับทางใต้นับวันจะเหินห่าง คนรุ่นใหม่ไม่ผูกพันญาติของตนที่อยู่อีกฝ่าย ประเด็นการรวมชาตินับวันไม่น่าสนใจ ผนวกกับการดำเนินชีวิตของคนเกาหลีใต้อยู่ในภาวะแข่งขันสูง ต้องคิดหนักหากการรวมชาติกระทบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ปัญหาของเกาหลีเหนือเป็นเรื่องของคนเกาหลีเหนือมากกว่าเกาหลีใต้

            ดังนั้น นโยบายรวมเกาหลีด้วยเหตุผลประวัติศาสตร์ ความผูกพันของเครือญาตินับวันจะหดหายไป การรวมชาติในอนาคตน่าจะเกิดจากเหตุผลอื่นๆ พิจารณาผลดีหรือเสียทุกมิติ

            นอกจากนี้ ถ้าต้องการรวมชาติจริงๆ ต้องมองภาพในระดับกว้าง ต้องพิจารณาว่าจีนกับสหรัฐคิดเห็นอย่างไร เกาหลีใต้ไม่อาจรวมชาติได้แน่ถ้ารัฐบาลสหรัฐไม่สนับสนุน (สหรัฐยืนยันว่าเมื่อรวมแล้วทั้งเหนือใต้ต้องเป็นฝ่ายประชาธิปไตย) เกาหลีใต้คงไม่ประสงค์ให้การรวมชาติเป็นเหตุเผชิญหน้ารุนแรงระหว่างจีนกับสหรัฐ ที่สุดแล้วรัฐบาลเกาหลีใต้จะต้องไตร่ตรองอย่างรอบคอบ เห็นว่ามีผลดีจริงๆ ไม่สุ่มเสี่ยงเกิดปัญหาความมั่นคง

            ในด้านเศรษฐกิจ จีนเป็นคู่ค้ารายสำคัญที่สุดของเกาหลีใต้ทั้งด้านการส่งออกและนำเข้า ดังนั้นหากพูดถึงความสัมพันธ์ทางการค้า เกาหลีใต้มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนมากกว่าสหรัฐและญี่ปุ่น เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างระมัดระวัง ไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจการค้าของตน จึงจำต้องรักษาความสัมพันธ์การค้ากับจีนที่เป็นคู่ค้ารายใหญ่ ในภาพที่กว้างขึ้นต้องรักษาบรรยากาศภูมิภาคให้สงบเรียบร้อยเหมาะแก่การค้าการลงทุน

            คำถามบรรทัดสุดคือการรวมชาติช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นหรือไม่ ต่างคนต่างอยู่จะดีกว่าไหม

โลกแห่งความจริงการแข่งขันสะสมอาวุธ:

            ข่าวที่ปรากฎทั่วโลกคือทั้ง 2 เกาหลีต่างเร่งพัฒนากองทัพ นับวันนโยบายให้คาบสมุทรปลอดนิวเคลียร์มีแต่จะเรือนลาง ในขณะที่การรวมชาติไม่แน่นอน เดินหน้าบ้างถอยหลังบ้าง ส่วนการแข่งขันสร้างสะสมอาวุธก้าวหน้าต่อเนื่องมากกว่า โดยเฉพาะใน 2-3 ปีนี้เกาหลีเหนือทดสอบอาวุธใหม่ไม่หยุด ไม่กี่วันนี้เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธร่อนอีกหลายลูก ขีปนาวุธร่อนบางชนิด เช่น พุลฮวาซัล-3-31(Pulhwasal-3-31) สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์มีระยะยิงไม่ต่ำกว่า 1,500 กิโลเมตร (และอาจไกลถึง 2,000 กิโลเมตร) สามารถยิงจากเรือดำน้ำ พฤกษาคม 2021 นายพล Mark Milley ประธานคณะเสนาธิการร่วมชี้โครงการขีปนาวุธข้ามทวีปกับอาวุธใหม่ๆ ของเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามจริง ("real danger") คุกคามทั้งสหรัฐกับพันธมิตร เพียงเท่านี้ก็เห็นอนาคตแล้ว

            เป็นอีกหลักฐานสำคัญชี้โอกาสรวมชาติว่าเป็นแค่นโยบายมองโลกสวย เป็นแค่ความปรารถนาที่ยากจะสำเร็จในโลกแห่งความจริง

            กันยายน 2022 Michiel Hoogeveen นักการเมืองเนเธอร์แลนด์ชี้ว่าถ้าหวังให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดนิวเคลียร์ต้องให้เกาหลีเหนือมั่นใจว่าตนปลอดภัยจริงๆ เริ่มจากการที่ฝ่ายสหรัฐเลิกซ้อมรบ เลิกกระทำการใดๆ ที่ยั่วยุ ลำพังความช่วยเหลือทางสังคมเศรษฐกิจไม่อาจเปลี่ยนความคิดเกาหลีเหนือ ต้องเป็นการลงทุนจากต่างชาติอย่างจริงจัง นานาชาติยอมรับ เชื่อว่ารัฐบาลคิม จ็องอึนยินดีเปิดประเทศเปลี่ยนแปลงตนเองหากได้รับโอกาสนั้น

          ในมุมเกาหลีเหนือ การรวมชาติจะเริ่มจริงเมื่อเกาหลีเหนืออยู่ในบรรยากาศปลอดภัย โดยเฉพาะไม่มีใครคิดล้มล้างระบอบอำนาจผู้ปกครอง

            ข้อสรุปไม่อาจรวมชาติกับเกาหลีใต้เป็นข้อสรุปที่ถูกต้อง เมื่อรวมชาติไม่ได้ก็ไม่ควรเสียเวลาเสียทรัพยากรกับเรื่องนี้ ยกเว้นบริบทในอนาคตจะเปลี่ยนไปจริงๆ ค่อยคิดเรื่องนี้อีกครั้ง การยุตินโยบายรวมชาติคือการตอบสนองสถานการณ์จริง ไม่อยู่ในความเพ้อฝัน

ยุติรวมชาติไม่ใช่ประกาศสงคราม:

            แม้รัฐบาลเกาหลีเหนือจะประกาศว่าเกาหลีใต้เป็นศัตรู ยุตินโยบายรวมชาติ แข่งขันสะสมอาวุธต่อ เหล่านี้ไม่ได้ชี้กองทัพเกาหลีเหนือจะบุกลงใต้หรือจะทำสงครามกับใคร ถ้ายังจำได้เมื่อไม่กี่ปีก่อนผู้นำคิม จ็องอึนเคยสั่งให้กองทัพเตรียมพร้อมเข้าทำสงครามเต็มรูปแบบแต่สุดท้ายไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ สถานการณ์ตึงเครียดทำนองนี้เกิดกับคาบสมุทรเกาหลีเป็นระยะ เป็นเช่นนี้หลายทศวรรษแล้ว กรณีล่าสุดยุติรวมชาติ ชี้เกาหลีใต้เป็นศัตรูเป็นการแสดงท่าทีจุดยืน น่าจะสัมพันธ์กับการกระชับอำนาจปกครองในประเทศด้วย และควรชื่นชมผู้นำคิมกล่าวถูกต้องว่า 2 เกาหลีไม่อาจรวมชาติ เป็นความจริงตามบริบท ไม่ว่าจะมองจากมุมนโยบายการเมืองระหว่างประเทศ ปัจจัยเศรษฐกิจสังคมที่ต้องมองทั้ง 2 ฝั่ง

            การยุตินโยบายรวมชาติบ่งชี้ว่าคาบสมุทรเกาหลีจะตึงเครียดเป็นระยะๆ ต่อไป

4 กุมภาพันธ์ 2024
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 28 ฉบับที่ 9942 วันอาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567)

-----------------------

บรรณานุกรม :

1. Kim Jong Un delivered a programmatic policy speech at the 10th Session of the 14th Supreme People's Assembly of the Democratic People's Republic of Korea. (2024, January 16). Korean Central News Agency. Retrieved from http://www.kcna.kp/kp/article/q/f4bf631617198851f067bd66d7f48d18.kcmsf

2. National Independence, Key to Achieving Korea's Reunification. (2014, January 22). KCNA. Retrieved from http://www.kcna.co.jp/item/2014/201401/news22/20140122-19ee.html

3. N. Korea fires several cruise missiles off west coast: JCS. (2024, February 2). Yonhap. Retrieved from https://en.yna.co.kr/view/AEN20240202005451315?section=nk/nk

4. N. Korean ICBMs pose 'real danger' to U.S. homeland: Gen. Milley. (2021, May 28). Yonhap.  Retrieved from https://en.yna.co.kr/view/AEN20210528000300325

5. 'North Korea won't use nuclear bombs'. (2022, September 22). The Korea Times. Retrieved from https://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2022/09/103_336557.html

6. North Korea demolishes symbol of hope for reunification with South – report. (2024, January 24). The Guardian. Retrieved from https://www.theguardian.com/world/2024/jan/24/north-korea-demolishes-the-arch-of-reunification-monument-south-korea-unity-hopes-kim-jong-un

-----------------