ไล่ชิงเต๋อผู้นำไต้หวันสู่สงครามกับจีน?

คำโปรย: นักวิชาการฝ่ายตะวันตกหลายคนคาดไต้หวันกับจีนจะทำสงครามภายในไม่กี่ปีข้างหน้า เมื่อคำนวณเวลาแล้วคือในช่วงรัฐบาลไต้หวันชุดใหม่นี้เอง

            หลังแข่งขันหาเสียงหลายเดือน ในที่สุดไล่ ชิงเต๋อ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party: DPP) ชนะเลือกตั้ง ได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ชี้ว่าคนไต้หวันเลือกประชาธิปไตยมากกว่าอำนาจนิยม เป็นชัยชนะครั้งที่ 3 ติดต่อกันของพรรค DPP (ตั้งแต่ปี 2016) สะท้อนว่าคนไต้หวันส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางนี้

            ไล่ ชิงเต๋อคือรองประธานาธิบดีของรัฐบาลปัจจุบัน ดำเนินนโยบายใกล้ชิดสหรัฐ ขัดแย้งจีนต่อเนื่อง นักวิชาการฝ่ายตะวันตกหลายคนคาดไต้หวันกับจีนจะทำสงครามภายในไม่กี่ปีข้างหน้า เมื่อคำนวณเวลาแล้วคือในช่วงรัฐบาลไต้หวันชุดใหม่นี้เอง

นโยบายไต้หวันเป็นอิสระ:

            แต่ไหนแต่ไรหนึ่งในนโยบายหลักของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าคือยึดว่าคนไต้หวันไม่ใช่คนจีน ไต้หวันกับจีนต้องเท่าเทียมกัน จีนต้องยอมรับเอกราชของไต้หวัน ไม่คิดรวมไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน เป็นนโยบายที่ขัดกับนโยบายจีนเดียวที่นานาชาติยึดถือเรื่อยมา

            ในช่วงหาเสียงพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าย้ำสงครามไต้หวัน-จีนมีโอกาสเกิดขึ้นแน่นอน ยิ่งกดดันคว่ำบาตรไต้หวันมากเพียงไร ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้าย ทางออกคือนานาชาติต้องยอมรับจุดยืนไต้หวันอยู่ร่วมกับจีนอย่างสันติ

            ทันทีที่รู้ว่าชนะเลือกตั้งไล่ ชิงเต๋อย้ำว่าต้องการรักษาสภาพเดิมคืออยู่ในความสงบเรียบร้อย หารือกับจีนด้วยฐานะเท่าเทียมกัน จุดยืนสั้นๆ นี้แฝงด้วยความหมายหลายอย่าง นำเสนอก่อนว่าต้องการสันติภาพแต่บนฐานะที่เท่ากัน เท่ากับว่าจีนต้องยอมรับไต้หวันในฐานะประเทศอธิปไตย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจีนจะยอมเช่นนั้น เกิดคำถามตามมาว่ารัฐบาลไต้หวันจะทำอย่างไรถ้าจีนไม่ยอมรับไต้หวันในฐานะประเทศ

          คิดต่ออีกว่าไล่ ชิงเต๋อรู้ดีจีนจะไม่ยอมรับไต้หวันในฐานะประเทศ เหตุใดไล่ ชิงเต๋อยังกำหนดจุดยืนเช่นนั้น มีวาระซ่อนเร้นหรือไม่

            พร้อมกันนี้ประกาศว่าผลการเลือกตั้งคือชัยชนะของประชาธิปไตย ย้ำรัฐบาลมีหน้าที่ปกป้องประชาธิปไตย จะดำเนินนโยบายตามแนวทางนี้ที่ประชาชนต้องการ

            จุดยืนของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า คือจีนต้องยอมรับเอกราชไต้หวัน ด้านรัฐบาลจีนย้ำว่าหากไต้หวันประกาศเอกราชจีนจะทำสงครามด้วยทันที ส่วนรัฐบาลสหรัฐยืนยันมาตลอดว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนตามนโยบายจีนเดียวที่นานาชาติยึดถือเรื่อยมา

ข้อมูลคาดทำสงคราม:

            มีงานศึกษาชี้ไต้หวันกับจีนจะทำสงครามกันในศตวรรษที่ 21 หลายชิ้น ชิ้นหนึ่งที่มีอิทธิพลมากคือ ปี 2021 พลเรือเอกฟิล เดวิดสัน (Phil Davidson) ผู้บัญชาการ Indo­Pacific Command รายงานผลการศึกษาต่อวุฒิสภากังวลว่าจีนจะโจมตีไต้หวันภายในปี 2027 จีนไม่ได้มุ่งเป้าไต้หวันเท่านั้น เพราะคือสงครามกับสหรัฐ หากจีนชนะจะเป็นผู้ครองภูมิภาคในชั่วข้ามคืน พันธมิตรเห็นว่าพึ่งสหรัฐไม่ได้อีกแล้ว Pax Americana ล่มสลาย

            งานศึกษาชี้ว่ากองทัพสหรัฐที่ประจำการในญี่ปุ่น เกาหลีใต้และเกาะกวมสู้ไม่ได้ นักวิเคราะห์อเมริกันหลายคนสรุปว่าด้วยพลังทางทหารจีนที่เหนือกว่า จีนจะรุกรานไต้หวันแน่นอน เปิดประเด็นสำคัญว่า จีนไม่รอให้ไต้หวันล้ำเส้นอีกแล้ว (ประกาศเอกราช) บางคนคิดว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจะยึดไต้หวันเพื่อสร้างชื่อเสียง ด้วยแนวคิดนี้ฝ่ายสหรัฐจึงคิดว่าจีนบุกไต้หวันแน่นอนและหมายถึงสงครามยึดครองเอเชีย-แปซิฟิก

            ปีต่อมาสิงหาคม 2002 แนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรและคณะเยือนไต้หวัน เข้าพบประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) เพโลซีกล่าวรัฐบาลสหรัฐยึดถือนโยบายจีนเดียว และยึดมั่นข้อตกลงที่ทำกับไต้หวัน อันหมายถึงสนธิสัญญาความมั่นคง (Taiwan Relations Act) สหรัฐจะปกป้องไต้หวัน เป็นจุดยืนดั้งเดิมของรัฐบาลสหรัฐ ชื่นชมความเป็นประชาธิปไตยของไต้หวัน ผู้รักเสรีภาพ

            เทคนิคที่รัฐบาลสหรัฐใช้คือประกาศว่ายึดถือนโยบายจีนเดียว ไม่สนับสนุนไต้หวันประกาศเป็นรัฐอธิปไตย พร้อมกับสนับสนุนให้ไต้หวันมีกองทัพเข้มแข็งป้องกันตนเองได้ มีสัมพันธ์ทางการทูตอย่างไม่เป็นทางการ พร้อมกับการที่บุคคลระดับสูงเยือนไต้หวันต่อเนื่องกล่าวย้ำส่งเสริมประชาธิปไตย พูดเป็นนัยว่าคนไต้หวันมีอิสระตัดสินใจเลือกระบอบการปกครองของตนเอง

            จะเห็นว่ารัฐบาลสหรัฐปากกับใจไม่ตรงกัน ในเมื่อสหรัฐยอมรับว่ามีจีนเดียวก็ต้องให้รัฐบาลจีนเป็นผู้ตัดสินว่าไต้หวันจะปกครองอย่างไร แบบ 1 ประเทศ 2 ระบบหรือไม่ (one country, two systems) แต่นักการเมืองอเมริกันมักทำเป็นไม่เข้าใจเรื่องทำนองนี้ ไม่ยอมรับว่าตนกำลังแทรกแซงกิจการภายในของจีน

            การเยือนของเพโลซีกับคณะครั้งนี้เป็นคณะบุคคลระดับสูงสุดในรอบ 25 ปี รัฐบาลจีนเห็นว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ตอบโต้ด้วยการซ้อมรบใหญ่รอบไต้หวัน บางส่วนใช้กระสุนจริง ทดสอบยิงขีปนาวุธหลายชนิด รวมทั้งขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิค DF-17 ขีปนาวุธบางลูกบินข้ามเกาะไต้หวันสร้างความตื่นตะลึงแก่คนจำนวนมาก เป็นการซ้อมรบที่มุ่งกระทำต่อไต้หวันครั้งใหญ่สุด

            นับจากนั้นเป็นต้นมาเครื่องบินรบเรือรบจีนลอยลำหรือบินวนเวียนรอบเกาะไต้หวัน สื่อไต้หวันต้องคอยรายงานว่าวันนี้เครื่องรบจีน 10 ลำหรือ 20 ลำบินเฉียดไต้หวัน

            อาจตีความว่าจีนฉวยโอกาสนี้ประกาศศักดาซ้อมรบรอบเกาะไต้หวัน ได้โอกาสส่งเครื่องบินเรือรบคอยวนเวียนรอบเกาะเป็นประจำ หรือตีความว่ารัฐบาลสหรัฐบรรลุแผนยั่วยุอีกครั้ง สามารถขยายความตึงเครียดเพิ่มขึ้นอีก กระทั่งจีนซ้อมรบใหญ่ คว่ำบาตรสินค้าไต้หวันหลายรายการทั้งๆ ที่รัฐบาลจีนรู้ดีกว่าการทำเช่นนี้เท่ากับเล่นตามเกมของสหรัฐแต่จำต้องดำเนินตามขั้นตอน

            ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรการเยือนของเพโลซีได้ยกความขัดแย้งจีน-ไต้หวันขึ้นอีกระดับ หากยึดคำพูดของพลเรือเดวิดสันจีนจะโจมตีไต้หวันในสมัยรัฐบาลไล่ ชิงเต๋อนี้

วิเคราะห์กระแสข่าวจีนบุกไต้หวัน:

            นับจากค่ายตะวันตกเผยแนวคิดจีนจะทำสงครามกับไต้หวัน สื่อตะวันตกก็โหมข่าวดังกล่าวต่อเนื่อง ชวนให้คิดว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้ากองทัพจีนเข้ายึดไต้หวัน ตรงกับข้อมูลที่ค่ายตะวันตกนำเสนอ กระแสความคิดนี้ร้อนแรงขึ้นมากเมื่อไบเดนเป็นประธานาธิบดี

            ทางด้านจีน สิงหาคม 2022 ออกสมุดปกขาวประกาศจะรวมไต้หวันด้วยสันติวิธีไม่ใช้กำลัง ยืนยันหลักจีนเดียว และเห็นว่าหนึ่งประเทศสองระบบ (one country, two systems) น่าจะเหมาะสมที่สุด จีนจะใช้กำลังก็ต่อเมื่อไต้หวันประกาศเอกราช (แบ่งแยกดินแดน) หรือมีกองกำลังต่างชาติเข้าแทรก (ละเมิดอธิปไตย) จีนจะบุกไต้หวันหรือไม่ขึ้นกับรัฐบาลไต้หวันต่างหาก

            พร้อมกันนี้ทางการจีนชี้ว่ารัฐบาลสหรัฐหวังไต้หวันทำสงครามตัวแทน (proxy war) กับจีนแบบยูเครน สังเกตว่าในระยะนี้รัฐบาลสหรัฐขายอาวุธให้ไต้หวันมากมายและให้ความเหลือทางทหารมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน อาจตีความว่าใช้พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) เป็นเครื่องมือทางการเมืองนำไต้หวันสู่สงคราม

            เป็นความชอบธรรมที่รัฐบาลไต้หวันทำหน้าที่ปกป้องประชาธิปไตย เช่นเดียวกับที่รัฐบาลจีนมีหน้าที่ต้องปกป้องอธิปไตย ให้ใครแบ่งแยกดินแดนไม่ได้ เกาะไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน ต่างจึงมีหน้าที่ดำเนินตามแนวทางของตน สุดท้ายอาจต้องวัดกันด้วยกำลัง ดูว่ากองทัพใครเข้มแข็งกว่ากัน ใครยึดมั่นอุดมการณ์จริง ปากกับใจตรงกัน

            ท้ายที่สุดถ้ายึดแนวคิดสหรัฐ จีนจะบุกไต้หวันไม่ใช่เพื่อได้ไต้หวันแต่เพื่อครองเอเชีย-แปซิฟิก ด้านรัฐบาลจีนยืนยันว่าจะใช้กำลังก็ต่อเมื่อไต้หวันประกาศเอกราช (แบ่งแยกดินแดน) หรือมีกองกำลังต่างชาติเข้าแทรก (ละเมิดอธิปไตย) ต้องตามว่าสุดท้ายแบบใดถูกต้องระหว่างฝ่ายที่เรียกเป็นพวกประชาธิปไตยกับจีนที่ย้ำว่าต้องการก้าวขึ้นมาโดยสันติ

21 มกราคม 2024
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 28 ฉบับที่ 9928 วันอาทิตย์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2567)

-------------------------


บรรณานุกรม :

1. Full Text: The Taiwan Question and China's Reunification in the New Era. (2022, August 10). Xinhua. Retrieved from https://english.news.cn/20220810/df9d3b8702154b34bbf1d451b99bf64a/c.html

2. Lai leads DPP to historic third term. (2024, January 14). Taipei Times. Retrieved from https://www.taipeitimes.com/News/front/archives/2024/01/14/2003812068

3. PLA claims US stirring Ukraine-like ‘proxy war’ for Taiwan. (2023, September 13). Asia Times. Retrieved from https://asiatimes.com/2023/09/pla-claims-us-stirring-ukraine-like-proxy-war-for-taiwan/

4. Presidential Election: Lai’s victory sparks jubilation. (2024, January 14). Taipei Times. Retrieved from https://www.taipeitimes.com/News/front/archives/2024/01/14/2003812089

5. Taiwan ruling party talks China policy as opposition campaign unravels. (2023, November 23). Channel News Asia. Retrieved from https://www.channelnewsasia.com/asia/war-china-taiwan-ruling-party-vice-presidential-candidate-hsiao-bi-khim-3941076

6. U.S. Department of State. (2022, May 26). The Administration’s Approach to the People’s Republic of China. Retrieved from https://www.state.gov/the-administrations-approach-to-the-peoples-republic-of-china/

-----------------