อิสราเอลแพ้หรือชนะในสงครามฮามาส-อิสราเอล

บางคนอาจคิดว่าหากอิสราเอลยึดกาซา จัดการพวกฮามาสได้ถือว่าอิสราเอลชนะ ความจริงแล้วจะแพ้หรือชนะขึ้นกับ “เป้าหมาย” ที่ต้องการ


            หลังทำสงครามได้ 2 เดือนเศษอิสราเอลประกาศควบคุมตอนเหนือกาซาและเตรียมปฏิบัติการต่อในทางตอนใต้ แม้เผชิญแรงต้านรอบทิศทั้งการโจมตีโดยฮิซบอลเลาะห์ทางเหนือ ฮูตีในเยเมนที่มีข่าวว่ายิงขีปนาวุธเข้าใส่ การสูญเสียทางทหารและเศรษฐกิจที่หนักหนา แรงงานต่างชาตินับแสนทิ้งงาน แรงกดดันจากหลายประเทศรวมทั้งองค์การสหประชาชาติ

            มีผู้ตีความว่าใครแพ้ชนะ บทความนี้นำเสนอมุมมองทั้งแบบที่อิสราเอลชนะกับแบบที่ฮามาสชนะ ดังนี้

อิสราเอลชนะ:

            การกวาดล้างฮามาสยังเดินหน้าต่อไปทั้งยังประกาศจะควบคุมกาซาอย่างไม่มีกำหนดเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันก่อการร้าย อีกทั้งไม่ยินดีให้ทหารต่างชาติเข้าดูแลกาซา (เลขาธิการสหประชาชาติเสนอสหรัฐกับอาหรับร่วมกันดูแล) ชี้ว่าทหารอิสราเอลเท่านั้นที่สามารถทำได้จริง ให้กาซาเป็นเขตปลอดอาวุธ (ฝ่ายต่อต้าน) ทั้งหมดนี้นายกฯ เนทันยาฮูกล่าวว่าไม่มีแผนยึดครองฉนวนกาซา แต่นักวิเคราะห์บางคนตีความว่าคือการควบคุมกำกับกาซา แม้อนาคตมีผู้ปกครองพลเรือนของตนเอง ไม่ได้หมายความว่าทหารอิสราเอลจะไม่อยู่ต่อ

            หากทำได้เช่นนั้นจริงอาจเข้า “แผนกินทีคำ” ของรัฐบาลอิสราเอล

            ไม่ว่านานาชาติประณามอย่างไร กดดันแค่ไหน ข้อสรุปบรรทัดสุดท้ายคืออิสราเอลดำรงอยู่ต่อไป พร้อมขยายดินแดนมากขึ้นสอดคล้องยุทธศาสตร์ของไซออนิสต์

อิสราเอลแพ้:

            บางคนอาจคิดว่าหากอิสราเอลยึดกาซา จัดการพวกฮามาสได้ระดับหนึ่งก็ถือว่าอิสราเอลชนะ ความจริงแล้วจะแพ้หรือชนะขึ้นกับ “เป้าหมาย” ที่ต้องการ

            ถ้าสงครามรอบนี้ส่งผลให้อิสราเอลเป็นที่จงเกลียดจงชังนับว่าฮามาสบรรลุเป้าหมาย ที่เห็นชัดคือกลุ่มประเทศอาหรับแสดงท่าทีต่อต้านอิสราเอล สามารถหยุดรัฐบาลซาอุฯ ที่มีข่าวว่ากำลังจะปรับความสัมพันธ์กับอิสราเอล ยอมรับความเป็นรัฐอธิปไตยอิสราเอลอย่างเป็นทางการ เช่นนี้นับว่าฮามาสได้ทำบางอย่างที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะประกาศเป้าหมายนี้อย่างชัดเจนหรือไม่ก็ตาม ขยายความดังนี้ ...

            ในบรรดาประเทศทั้งหลายกลุ่มชาติมุสลิมแสดงจุดยืนต่อต้านอิสราเอลแรงที่สุด ทันทีที่เริ่มสงครามรัฐบาลอาหรับต่างพากันแสดงจุดยืนต่อต้านอิสราเอล ซาอุฯ ระงับเจรจาปรับสัมพันธ์กับอิสราเอล องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation: OIC) แถลงว่าอิสราเอลเป็นฝ่ายรุกรานก่อน ยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ ละเมิดข้อมติสหประชาชาติ ทำร้ายชาวปาเลสไตน์ทุกวัน เหล่านี้คือต้นเหตุของการสู้รบระหว่างฮามาสกับอิสราเอลในขณะนี้ เรียกร้องคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติทำหน้าที่หยุดอิสราเอล ปกป้องปาเลสไตน์ ปฏิบัติตามข้อมติต่างๆ

            รอบนี้สันนิบาตอาหรับ (Arab League) กับองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ร่วมกันมีมติคว่ำบาตรห้ามขายอาวุธกับกระสุนแก่อิสราเอล เพราะอาวุธเหล่านี้นำไปใช้สังหารพลเรือน ทำลายบ้านเรือน โรงพยาบาล โรงเรียน สถานที่ศาสนา

            แต่เรื่องขอให้คณะมนตรีความมั่นคงมีข้อมติหยุดยิงกับการคว่ำบาตรขายอาวุธแก่อิสราเอลยังไม่สำเร็จ รัฐบาลไบเดนกับพวกยังคัดค้าน สหรัฐส่งอาวุธให้อิสราเอลต่อเนื่อง

            ล่าสุดอันโตนิโอ กูเตเรส (Antonio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติใช้อำนาจของตนตามกฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา 99 เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงมีมติสั่งให้หยุดยิงในกาซา ด้วยเหตุผลมนุษยธรรม หลังคนกาซาล้มตายแล้วกว่า 15,000 ราย ในจำนวนนี้กว่า 40% เป็นเด็ก ตึกรามบ้านช่องกว่าครึ่งโดนทำลาย ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกาซา 2 ล้านคนย่ำแย่มาก แต่รัฐบาลไบเดนใช้สิทธิวีโตอีกครั้ง

จากสงครามฮามาส-อิสราเอลสู่แนวรบความเกลียดชัง:

            ถ้ามองให้ไกลกว่าการยิงจรวดการทิ้งระเบิด ฯลฯ อีกสมรภูมิที่ใหญ่กว่ากว้างขวางกว่าคือสนามแห่งความจงเกลียดจงชังได้ลุกลามใหญ่โต ขยายตัวเร็วกว่าการสู้ด้วยอาวุธนับร้อยนับพันเท่า

            กระแสต่อต้านยิวหรือต่อต้านคนเชื้อสายยิวมีมานานแล้ว ถูกเอ่ยถึงเป็นระยะผ่านเรื่องราวต่างๆ เช่น คนยิวมีบทบาทอิทธิพลในรัฐบาลสหรัฐ ตีความว่าถ้ามีเชื้อสายยิวแม้แต่เพียงเล็กน้อยคนผู้นั้นจะทุ่มเทเพื่ออิสราเอล บางคนตีความว่าคนนั้นคือพวกไซออนิสต์ (โดยมักขาดการพิสูจน์ว่าจริงเท็จเพียงใด คนอเมริกันบางคนผู้มีเชื้อสายยิวอาจสนับสนุนบางนโยบายที่เป็นผลดีต่ออิสราเอล แต่ไม่ได้สนับสนุนเสมอไปและด้วยเหตุผลอื่นที่ไม่ใช่เพื่อไซออนิสต์)

            รวมความแล้วกระแสต่อต้านยิวมีจริงและถูกปลุกเร้าเป็นระยะ สงครามฮามาส-อิสราเอลเป็นอีกครั้งที่กระตุ้นไฟความเกลียดชังยิวอย่างรุนแรง และน่าจะช่วยรักษากระแสต้านยิวนี้ได้อีกหลายปี ยิ่งสงครามยืดยาวเพียงไร ตัวเลขผู้บาดเจ็บล้มตายมากขึ้นๆ ยิ่งโหมไฟเกลียดชังยิว

            ความเกลียดชังบางครั้งทำร้ายร่างกาย ทางการอียูเตือนให้ระวังเหตุก่อการร้ายโดยเฉพาะช่วงคริสต์มาส เชื่อมโยงกับสงครามฮามาส-อิสราเอลในขณะนี้ 2 เดือนที่ผ่านมาเหตุร้ายอันเนื่องจากความเกลียดชังยิวเพิ่มขึ้นมากในหลายประเทศ จึงเกรงว่าผู้ก่อการร้าย (อาจเป็นพลเมืองยุโรปนั่นเอง) จะใช้จังหวะนี้ก่อเหตุ

            ความเกลียดชังนำสู่ความรุนแรงทุกรูปแบบ ทำลายล้างสรรพสิ่ง เริ่มจากทำลายจิตใจตนเอง พาตัวฝังอยู่ในความเกลียดชัง ขาดสันติสุข วงการแพทย์ระบุชัดมีผลต่อสุขภาพ ยิ่งเกลียดหนักยิ่งทำลายตนเอง กระทบต่อครอบครัวคนรอบข้าง

            ในมุมมองรอบด้าน เป็นความเข้าใจผิดแน่นอนถ้าคิดว่ามุสลิมทุกคนสนับสนุนฮามาสบุกอิสราเอล ความจริงคือมีมุสลิมที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีของฮามาส เพียงแต่โดยทั่วไปสงสารเห็นใจที่ชาวปาเลสไตน์โดนกดขี่ข่มเหง รับความทุกข์ยากไม่จบสิ้น

            เป็นความเข้าใจผิดอีกเช่นกันถ้าคิดว่ามีแต่มุสลิมเท่านั้นที่อยู่ข้างฮามาส ปาเลสไตน์ ความจริงมนุษย์มีความคิดเห็นหลากหลาย ยิ่งในหมู่ชาติเสรีประชาธิปไตยยิ่งหลากหลาย คนอเมรกัน คนยุโรปที่สนับสนุนฮามาสก็มี ต่อต้านรัฐบาลตัวเองที่สนับสนุนอิสราเอล ลักษณะดังกล่าวปรากฎในข่าวตามสื่อต่างๆ มากมายและเป็นเช่นนี้มานาน

            ดังนั้นอย่าเหมารวม อย่าแยกข้างว่าถ้าไม่ใช้มุสลิมจะเข้าข้างอิสราเอล และถ้าเป็นมุสลิมจะสนับสนุนฮามาส

อนาคต:

            นอกจากกวาดล้างพวกฮามาสแล้วโจทย์ที่ใหญ่กว่าคือทำอย่างไรให้กาซาสงบ ประชาชนอยู่ดีมีสุข หากคนกาซาสงบสุขตามอัตภาพ ความรุนแรงจะลดลงไปเอง คนที่ร่วมมือกับฮามาส (หรือจะชื่อกลุ่มอะไรก็แล้วแต่ที่ต่อต้านอิสราเอล) จะถอยห่าง ต้องตระหนักว่าพวกรัฐอาหรับยังคืนดีกับอิสราเอลได้

            ในกระแสต่อต้านยิวมีเทคนิคอย่างหนึ่งที่ใช้คือวางธงว่าฮามาสเป็นฝ่ายถูก อิสราเอลผิด ใครสนับสนุนอิสราเอลเท่ากับทำผิด เป็นผู้ร้ายของโลกด้วย เป็นพวกฝ่ายอธธรรม

            ในระยะยาวจึงขึ้นกับว่าในหมู่ประชาชนทั้งมุสลิมกับไม่ใช่มุสลิมจะยังคงต่อต้านยิวหรือไม่ หากอนาคตมุสลิมรุ่นใหม่ถอยห่างจากเรื่องเหล่านี้ที่มักผูกโยงกับศาสนา คนทั่วโลกให้ความสนใจกับเรื่องของตัวเอง เรื่องปากท้อง ตอบสนองความสุขส่วนตัว กระแสต่อต้านยิวจะถูกลดความสำคัญ (ยังเห็นใจปาเลสไตน์แต่ไม่ให้ความสนใจมาก) เพราะแค่เรื่องปากท้องตัวเองก็ต้องดิ้นรนทุ่มเทเต็มเวลา กระแสต้านยิวจะถูกปลุกให้ตื่นได้เพียงช่วงระยะหนึ่งแล้วหดหายไป ลดความสำคัญอย่างรวดเร็วไม่ต่างจากประเด็นอื่นๆ ในโลก

            ใครแพ้หรือชนะขึ้นกับการนิยาม การบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ อาจแพ้หรือชนะทั้งคู่ก็เป็นได้ ถ้าเป้าหมายของอิสราเอลคือรื้อถอนอำนาจปกครองกาซาของฮามาส ทำลายศัตรูที่จ่อหน้าบ้าน ได้กำกับควบคุมฉนวนกาซา เช่นนี้อาจนับว่าอิสราเอลชนะ ด้านฮามาสถ้าสงครามนี้ทำให้นานาชาติจงเกลียดจงชังอิสราเอลและยิวที่อยู่ในประเทศต่างๆ สามารถระงับการปรับสัมพันธ์กับชาติอาหรับ โดยเฉพาะซาอุฯ สามารถเชิดชูบทบาทอิหร่านที่สนับสนุนการต่อต้านอิสราเอลอย่างเข้มแข็งเรื่อยมา เช่นนี้นับว่าฮามาสชนะเช่นกัน ที่น่าเห็นใจคือพลเรือนที่ต้องบาดเจ็บเสียชีวิตนับหมื่น พวกที่ยังมีชีวิต 2 ล้านคนต้องทนทุกข์สาหัสต่อไป

10 ธันวาคม 2023
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 28 ฉบับที่ 9887 วันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2566)


------------------------

บรรณานุกรม :

1. EU warns of ‘huge risk’ of terrorist attacks before Christmas. (2023, December 1). politico. Retrieved from https://www.politico.eu/article/eu-warn-huge-risk-terrorist-attacks-ahead-christmas-ylva-johansson/

2. Netanyahu says Israel will retain open-ended control of security in Gaza long after war with Hamas. (2023, December 6). AP. Retrieved from https://apnews.com/article/israel-hamas-war-news-12-05-2023-8f171da297b565e28156b88d1fc250b1

3. OIC slams Israeli military aggression against Palestinians. (2023, October 9). New Strait Times. Retrieved from https://www.nst.com.my/world/world/2023/10/964680/oic-slams-israeli-military-aggression-against-palestinians#google_vignette

4. Saudis said to tell US they are halting normalization talks with Israel. (2023, October 14). Times of Israel. Retrieved from https://www.timesofisrael.com/liveblog_entry/saudis-said-to-tell-us-they-are-halting-normalization-talks-with-israel/

5. UN chief Guterres calls on Security Council to declare ceasefire in Gaza. (2023, December 6). Arab News. Retrieved from https://www.arabnews.com/node/2421476/middle-east

-----------------