ฮามาสคือพวกของอิหร่าน หากอิสราเอลต้องการจัดการภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดของตน การจัดการฮามาสเหมือนการตัดแขนข้างหนึ่งของอิหร่าน
เมื่อฮามาสบุกอิสราเอล อิหร่านเป็นตัวละครสำคัญที่นักวิเคราะห์นึกถึงทันที สงครามที่ฉนวนกาซา โยงรัฐบาลอิหร่านที่ห่างออกไปกว่าพันกิโลเมตร เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าอิหร่านเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ สงครามครั้งนี้ที่ฮามาสเตรียมการมานานปี วางแผนมาอย่างดีจึงมีอิหร่านอยู่ในนั้นด้วยอย่างเข้มข้น รัฐบาลอิสราเอลสามารถตอบโต้อิหร่านจากศึกนี้ การจัดการฮามาสคือส่วนหนึ่งของการจัดการอิหร่าน
ลบอิสราเอลออกจากแผนที่โลก:
ความบาดหมางของ 2 ประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนหลังได้ตั้งแต่ปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolution) หรือการปฏิวัติอิหร่านเมื่อปี 1977-79 อยาตุลเลาะห์ โคไมนี (Ayatollah Khomeini) กล่าวว่าจะต้อง “ลบอิสราเอลออกจากแผนที่โลก”
รัฐบาลชุดต่อๆ มายึดแนวทางนี้ เช่น สิงหาคม 2006 ประธานาธิบดีมาห์มุด อาห์มาดิเนจาด (Mahmoud Ahmadinejad) กล่าวว่าภูมิภาคตะวันออกกลางจะดีกว่านี้ ถ้า “ไม่มีระบอบอำนาจไซออนิสต์” อิสราเอล “เป็นระบอบที่ไร้ความชอบธรรม การดำรงอยู่นั้นไร้ความชอบธรรมทางนิตินัย”
ในอีกวาระหนึ่งประธานาธิบดีอาห์มาดิเนจาดกล่าวว่า “ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ ระบอบไซออนิสต์จะต้องถูกทำลายราบในที่สุด”
กันยายน 2013 ฮัสซัน โรฮานี (Hassan Rohani) ประธานาธิบดีอิหร่านกล่าวโจมตีอิสราเอลว่าเป็นผู้สร้างความไร้เสถียรภาพแก่ตะวันออกกลาง “ผู้เข้ามายึดครอง รัฐบาลที่แย่งชิงของๆ ผู้อื่น ผู้กระทำการอย่างอยุติธรรมต่อผู้คนในภูมิภาค (ตะวันออกกลาง)” อิสราเอล “นำความไร้เสถียรภาพสู่ภูมิภาคด้วยนโยบายที่เอาแต่พูดเรื่องทำสงคราม”
การทำลายล้างอิสราเอล ลบประเทศนี้ออกจากแผนที่โลกเป็นประโยคที่ได้ยินจากฝ่ายอิหร่านเป็นระยะ
สนับสนุนกลุ่มต่อต้านอิสราเอล:
ด้วยจุดยืนข้างต้นอิหร่านจึงสนับสนุนกลุ่มที่ต่อต้านอิสราเอลทั้งฮิซบอลเลาะห์กับฮามาส จะร่วมสุขร่วมทุกข์กับชาวปาเลสไตน์และมีเป้าหมายร่วมกัน “ความทุกข์ของพวกท่านคือความทุกข์ของพวกเรา ความเศร้าโศกเสียใจของท่านก็เป็นของเราด้วย และชัยชนะของท่านเป็นชัยชนะของเรา”
ล่าสุดปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อิบราฮิม ไรซี (Ebrahim Raisi) ประธานาธิบดีอิหร่านกล่าวว่ากองกำลังต่างๆ ที่โจมตีฐานที่มั่นสหรัฐในตะวันออกกลางตัดสินใจและลงมือด้วยตัวเอง รัฐบาลอิหร่านไม่ได้สั่งการแต่อย่างไร แต่ยอมรับว่า อิหร่านถือเป็นหน้าที่ต้องสนับสนุนกลุ่มเหล่านี้
ด้วยความที่รัฐบาลอิหร่านหนุนหลังฮามาส นักวิเคราะห์บางคนจึงตีความว่าฮามาสคือตัวแทนอิหร่านที่กำลังสู้ศึกกับอิสราเอลในขณะนี้
การรับมือของอิสราเอล:
ไม่ว่าอิสราเอลเป็นผู้รุกรานหรือไม่ หลักคิดของรัฐบาลเนทันยาฮูคืออิหร่านต้องการทำลายล้างอิสราเอล หากวันใดอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์จะเป็นหายนะของอิสราเอล ดังนั้น รัฐบาลเนทันยาฮูจึงถือว่าเป็นความชอบธรรมของฝ่ายตนที่จะต่อต้านระบอบอิหร่าน กีดกันไม่ให้มีอาวุธนิวเคลียร์อย่างสุดกำลัง รัฐบาลอิหร่านคือภัยคุกคามร้ายแรงที่สุด เชื่อมโยงกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิว
การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิว (Holocaust) แม้จะผ่านมา 8 ทศวรรษแล้วแต่รัฐบาลอิสราเอลปัจจุบันยังคงนำเรื่องนี้มาเอ่ยถึงอยู่เสมอ ชี้ว่าต้องไม่ให้ประวัติศาสตร์เกิดซ้ำ
ในปี 2007 เอฮุด โอเมิร์ต (Ehud Olmert) นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นกล่าวว่าชาวยิวผู้มีบาดแผลบาดลึกจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิว ไม่อาจปล่อยให้ตนเองเผชิญภัยคุกคามเช่นนี้อีกแล้ว บทบาทของเราคือป้องกันไม่ให้โลกเกิดความผิดพลาดเช่นนี้ซ้ำอีกครั้ง
และนี่คือคำถามเชิงศีลธรรมขั้นสูงสุด ... เมื่อผู้นำของประเทศหนึ่งประกาศอย่างเป็นทางการต่อสาธารณชนว่า ประเทศของเขาตั้งใจที่จะลบอีกประเทศออกจากแผนที่ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลอิสราเอลที่จะใช้กำลังทุกอย่างที่มีเพื่อต่อต้านแผนร้ายนี้
สังเกตว่าคำพูดของนายกฯ โอเมิร์ตเล็งถึงถ้อยคำของมาห์มุด อาห์มาดิเนจาดประธานาธิบดีอิหร่านในสมัยนั้น
ปลายเดือนพฤศจิกายน 2013 เมื่อรัฐบาลอิหร่านบรรลุข้อตกลงโครงการนิวเคลียร์ JCPOA (รับรองอิหร่านมีนิวเคลียร์เพื่อสันติเท่านั้น นานาชาติไม่คว่ำบาตรอิหร่านอีกต่อไป) นายกฯ เนทันยาฮูกล่าวว่า “สิ่งที่ตกลงไม่ใช่ข้อตกลงประวัติศาสตร์ แต่เป็นความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์” “วันนี้โลกมีอันตรายมากกว่าเดิมเพราะระบอบที่อันตรายที่สุดของโลกใกล้จะมีอาวุธที่ร้ายแรงที่สุดในโลกอีกขั้นแล้ว”
ในแวดวงนักวิชาการอิสราเอมีความคิดอยู่เสมอว่าอิหร่านต้องการสร้างระเบิดนิวเคลียร์เพื่อทำลายล้างอิสราเอล ทั้งๆ ที่อยาตุลเลาะห์ คาเมเนอี ได้ฟัตวา (fatwa) ประกาศว่าการผลิต การเก็บและการใช้อาวุธนิวเคลียร์นั้นเป็นที่ต้องห้ามภายใต้ศาสนาอิสลาม
ในอีกวาระหนึ่งหลังบรรลุข้อตกลงโครงการนิวเคลียร์ JCPOA อยาตุลเลาะห์ คาเมเนอี กล่าวว่า “พวกอเมริกันพูดว่าพวกเขายับยั้งอิหร่านไม่ให้มีอาวุธนิวเคลียร์” “พวกเรารู้ว่านั่นไม่เป็นความจริง พวกเราได้ฟัตวา (fatwa) ประกาศว่าศาสนาอิสลามห้ามไม่ให้มีอาวุธนิวเคลียร์”
สำหรับอิหร่านแล้วฟัตวาของผู้นำสูงสุดคือประกาศิต มีผลต่อประชาชาติมุสลิมโดยเฉพาะมุสลิมชีอะห์ แต่รัฐบาลอิสราเอลยังยึดว่าอิหร่านต้องการมีอาวุธนิวเคลียร์เพื่อเล่นงานตน จึงมองว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดเรื่อยมา
ด้วยภัยดังกล่าวอิสราเอลถึงกับมีความคิดชิงโจมตีก่อน
ต้นปี 2003 นายเอเรียล ชารอน (Ariel Sharon) ขณะเมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีอิสราเอลหวังว่ารัฐบาลบุชจะส่งกองทัพโจมตีอิหร่านเหมือนที่บุกอัฟกานิสถานกับอิรักตามหลักนิยมชิงลงมือก่อน เห็นว่าประเทศอิหร่านจะต้องปลอดอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD) เป็นข้ออ้างที่รัฐบาลบุชโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซน “ความสำเร็จในอิรักเป็นตัวอย่าง”
ต้องล้มระบอบอยาตุลเลาะห์:
หากพูดให้ถึงที่สุดอิสราเอลมีนโยบายล้มล้างระบอบอิหร่าน เรื่องนี้พูดเปิดเผยชัดเจน ยกตัวอย่าง ตุลาคม 2012 นายยาเอร์ ลาปิด (Yair Lapid) ผู้นำของพรรคเยส อทิด (Yesh Atid) กล่าวว่า “หนทางเดียวที่จะยุติภัยคุกคามนิวเคลียร์อิหร่านคือโค่นล้มระบอบอยาตุลเลาะห์ (ayatollahs) การโจมตีมีผลแค่ชะลอปัญหานิวเคลียร์เท่านั้น” และจะกลายเป็นข้ออ้างให้อิหร่านพูดว่าเขาถูกโจมตีจากประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ดังนั้นเรา (อิหร่าน) จึงต้องพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ด้วย “หนทางที่จะโค่นล้มระบอบอยาตุลเลาะห์คือต้องคว่ำบาตรอย่างเข้มข้น”
สังเกตว่ารัฐบาลสหรัฐคว่ำบาตรอิหร่านเรื่อยมา แม้อิหร่านปฏิบัติตามข้อตกลง JCPOA นานาชาติยอมรับว่าทุกวันนี้อิหร่านมีนิวเคลียร์เพื่อสันติเท่านั้น แต่รัฐบาลสหรัฐยังไม่วายคว่ำบาตรอิหร่านฝ่ายเดียว การคว่ำบาตรจึงไม่ใช่เพราะโครงการนิวเคลียร์อิหร่านแน่นอน หวังผลบั่นทอนทำลายเศรษฐกิจสังคมไปเรื่อยๆ ให้อิหร่านอ่อนแอจนล่มสลายในที่สุด
ตัวละครทุกตัวที่เอ่ยมาล้วนผูกพันเชื่อมโยงกันหมด
เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลอิหร่านเป็นผู้สนับสนุนฮามาสรายใหญ่ หากปราศจากการสนับสนุนนี้ฮามาสไม่อาจปีกกล้าขาแข็งเช่นนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมาทั้งคู่สนับสนุนกันทางการเมืองระหว่างประเทศ ประกาศต่อต้านอิสราเอล ดำเนินนโยบายในทิศทางเดียวกัน
แน่ละฮามาสย่อมมีความคิดอ่านของตนเอง มีเป้าหมายส่วนตัว แต่โดยรวมแล้ว ฮามาสคือพวกอิหร่าน หากอิสราเอลต้องการจัดการภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดของตน การจัดการฮามาสเหมือนการตัดแขนข้างหนึ่งของอิหร่าน
การจัดการอิหร่านกับฮามาสจึงเป็นเรื่องเดียวกัน ส่วนหนึ่งที่อยู่ในวังวนความขัดแย้งยาวนาน ทั้งอิหร่านกับอิสราเอลคงต้องต่อสู้กันอีกนาน
บรรณานุกรม :
1. Alexander, Yonah., Hoenig, Milton. (2008). The New Iranian Leadership: Ahmadinejad, Terrorism, Nuclear Ambition, and the Middle East. USA: Greenwood Publishing Group.
2. Cook, Jonathan. (2008). Israel and the Clash of Civilisations: Iraq, Iran and the Plan to Remake the Middle East. USA: Pluto Press.
3. Hitchcock, Mark. 2006 Iran: The Coming Crisis: Radical Islam, Oil, and the Nuclear Threat. CO: Multnomah Books.
4. Iran policy against ‘arrogant’ U.S. won’t change. (2015, July 18). Al Arabiya News. Retrieved from http://english.alarabiya.net/en/News/middle-east/2015/07/18/Khamenei-policy-against-arrogant-U-S-won-t-change-.html
5. Iran says strikes on US troops are due to its support for Israel, presence in region. (2023, October 30). Times of Israel. Retrieved from https://www.timesofisrael.com/iran-says-strikes-on-us-troops-a-result-of-support-for-israel-presence-in-region/
6. Netanyahu: Deal with Iran a ‘historic mistake,’ Israel not bound by it. (2013, November 24). JTA. Retrieved from http://www.jta.org/2013/11/24/news-opinion/israel-middle-east/deal-with-iran-a-historic-mistake-netanyahu-says
7. Roshandel, Jalil., Lean, Nathan Chapman. (2011). Iran, Israel, and the United States: Regime Security vs. Political Legitimacy. Califronia: ABC-CLIO, LLC.
-----------------