แนวทางสู่โลกแห่งสันติ

ประวัติศาสตร์โลกเต็มด้วยสงคราม ศาสนาไม่สอนให้ทำชั่วแต่ชี้ว่าสงครามคือส่วนหนึ่งของมนุษย์ บทบาทของความเชื่อคือช่วยยับยั้งชั่งใจ หากใช้ร่วมกับหลักวิชาอื่นจะช่วยสร้างสันติได้มากขึ้น

            กรอบการนำเสนอในที่นี้เน้นสันติภาพโลกที่พูดถึงความขัดแย้งระหว่างรัฐหรือระหว่างประเทศ สัมพันธ์กับวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations) ไม่ใช่สันติภาพปัจเจก สันติสุขในส่วนลึกของจิต (inner peace) ดังนั้น สันติภาพโลกในที่นี้จึงเน้นโลกที่ประเทศอยู่ด้วยกันอย่างสงบ เป็นมิตรต่อกัน

ประวัติศาสตร์โลกเต็มด้วยสงคราม:

            ถ้าสำรวจประวัติศาสตร์โลกย้อนหลัง 3-5 พันปี จะพบว่าโลกเต็มด้วยสงคราม อาจเป็นสงครามระหว่างนครรัฐ ระหว่างอาณาจักรหรือระหว่างประเทศ

            สงครามเกิดในทุกทวีปไม่ว่าจะเอเชีย แอฟริกาหรือทวีปอเมริกา เกิดกับชนทุกเชื้อชาติทุกสีผิว กล่าวได้สงครามเป็นส่วนหนึ่งของตำราประวัติศาสตร์ อายธรรมหนึ่งเกิดขึ้น เจริญรุ่งเรือง ล่มสลาย ไม่แปลกที่อารยธรรมทำสงครามขยายความยิ่งใหญ่หรือปกป้องตัวเอง

            ตำราตะวันตกให้ความสำคัญกับกษัตริย์ผู้ปกครอง บรรยายเรื่องสำคัญที่พระองค์ทำ หนึ่งในนั้นคือการศึกสงคราม บางตำรายกย่องกษัตริย์นักรบ เช่น อเล็กซานเดอร์มหาราช กษัตริย์กรีกผู้ชนะศึกยึดครองดินแดนมากมายตั้งแต่ยุโรปจนถึงชมพูทวีปด้วยวัยเพียง 33 ปี เจงกิส ข่านรวบรวมชนเผ่ามองโกล สร้างอาณาจักรมองโกลพิชิตจีน อินเดีย เปอร์เซีย อาหรับ ไกลไปจนถึงยุโรป ทุกวันนี้คนมองโกลยังคิดถึงท่าน อยากให้มองโกลกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

            มองประวัติศาสตร์ใกล้ตัว ดินแดนสุวรรณภูมิหรือที่ตั้งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประวัติศาสตร์ 2 พันปีของสุวรรณภูมิเคยเป็นที่ตั้งของหลายนครรัฐ หลายอาณาจักร จนมาถึงสมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ มีสงครามรบพุ่งเป็นระยะ เฉพาะรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยในสมัยนั้นต้องรบกับพม่า ลาว เขมร เวียดนามและทางภาคใต้ของไทย กล่าวได้ว่าสุวรรณภูมิเป็นดินแดนที่มีการศึกสงครามไม่ต่างจากที่อื่น

            ดังนั้น ประวัติศาสตร์โลกไม่ว่าจะใกล้หรือไกลจึงเต็มด้วยสงคราม

ศาสนาสามารถสร้างสันติภาพได้หรือไม่:

            ถามว่าเมื่อ 3-5 พันปีที่แล้วมีศาสนาความเชื่อ หรือสิ่งที่พอเทียบเคียงกับศาสนาความเชื่อหรือไม่ คำตอบคือมีและมีมากมาย ตั้งแต่ภูตผี เทพเจ้าระดับหมู่บ้าน ระดับชนเผ่า ระดับเมือง บางท้องถิ่นเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากกว่าหนึ่งองค์ ยกเว้นความเชื่อที่เป็นเอกเทวนิยม (Monotheism) ที่นับถือพระเจ้าเพียงองค์เดียว บางศาสนาลัทธิเน้นความสำคัญของคำสอน เช่น เล่าจื๊อ เม่งจื๊อ แสวงหาสัจธรรม

            เนื่องจากในที่นี้วางธงตั้งแต่ต้นว่าต้องการสันติภาพโลกที่ปราศจากสงคราม อยู่ร่วมกันอย่างสันติ คำถามจึงมีอยู่ว่าย้อนทบทวนประวัติศาสตร์โลก 3-5 พันปี ศาสนาความเชื่อสามารถสร้างสันติภาพได้หรือไม่ คำตอบคือได้บางเวลาบางพื้นที่แต่โดยรวมแล้วประวัติศาสตร์ให้ข้อสรุปแล้วว่าโลกเต็มด้วยสงคราม เป็นเช่นนี้เรื่อยมา

            ถ้าเข้าใจลึกซึ้งขึ้น บางศาสนาความเชื่อบรรยายเรื่องสงคราม โลกมนุษย์ที่อยู่คู่สงคราม (บางศาสนามีสงครามระหว่างเทพ ระหว่างสวรรค์กับนรกด้วย) บางศาสนาสอนกฎการทำสงคราม การจัดการเชลยศึก ศาสนาไม่สอนให้ทำชั่วแต่ชี้ว่าสงครามคือส่วนหนึ่งของมนุษย์ เป็นกฎแห่งกรรมหรือแผนการพระเจ้าที่จะกวาดล้างความอสัตยอธรรม หรือนำเสนอความเป็นไปของโลกมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์แบบ

            มนุษย์มีแนวโน้มทำร้ายกัน ดังนั้นคำสอนบางศาสนาความเชื่อมีเรื่องการทำสงครามด้วย เป็นการดีที่โลกปราศจากสงคราม ส่วนสันติภาพแท้เป็นเรื่องความดีความบริสุทธิ์ที่มุ่งเน้นสภาพนิรันดร์ เป็นสันติสุขถาวร หรือเป็นทางแห่งการดับทุกข์ ดังนั้นต้องจับหลักว่าในที่นี้เน้นสันติภาพโลก ณ เวลาปัจจุบัน มากกว่าเน้นโลกหน้าหรือการหลุดพ้น

อาเซียนตัวแบบการอยู่ร่วมโดยสันติ:

            อาเซียนเป็นแบบอย่างสันติภาพระดับภูมิภาคที่น่าชมเชย ดังที่นำเสนอแล้วว่าก่อนหน้าอาเซียน รัตนโกสินทร์ตอนต้นไทยทำสงครามรอบทิศ สงครามอินโดจีน สงครามเวียดนามเป็นที่เลื่องลือในสมัยสงครามเย็น สถานการณ์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงจุดเปลี่ยนเมื่อสงครามเย็นยุติ อาเซียนรับเวียดนาม กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมาเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน นับจากนั้นเป็นต้นมาไม่มีสงครามระหว่างชาติสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศอีกเลย

            การเข้าร่วมของเวียดนามเมื่อปี 1995 ถือเป็นประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ประเทศแรกที่เข้าร่วมอาเซียน ณ เวลานั้นถือเป็นเรื่องแปลกใหม่เพราะอาเซียนยอมรับประเทศที่มีระบอบการปกครอง มีระบบเศรษฐกิจแตกต่างจากประเทศชาติสมาชิกอาเซียนโดยสิ้นเชิง เกิดคำถามวิพากษ์วิจารณ์ถึงเหตุผลการรับเวียดนามหรือทำไมเวียดนามจึงอยากเข้ามาร่วมอาเซียน มีผู้อธิบายด้วยเหตุผลหลากหลาย

            การรับเวียดนามเป็นสมาชิกเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งว่าความขัดแย้งเดิมได้หมดไป ไม่มีการแบ่งแยกตามขั้วการเมืองระหว่างประเทศอีก เป็นการแสดงความปรารถนาดีต่อกันและกัน เป็นจุดเริ่มของมิตรภาพ ไม่คิดรบกันอีกแล้ว เป็นกุศโลบายให้ทุกประเทศในภูมิภาคนี้เป็นพวกเดียวกัน ไม่อยู่ใต้บรรยากาศความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ สามารถใช้อาเซียนเป็นเวทีเพื่อเสริมสร้างมิตรภาพ ความไว้เนื้อเชื่อใจและความร่วมมือระหว่างกัน

            เพราะอาเซียนวางหลักการ ให้สมาชิกอยู่ร่วมกันได้แม้ต่างระบอบการปกครอง ไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน แก้ปัญหาต่างๆ ด้วยการปรึกษาหารือ (principle of consultation หรือ musyawarah) ยึดสันติวิธี ไม่เผชิญหน้า ไม่นำเรื่องในองค์การสู่ภายนอกแต่ให้คุยกันภายใน หลักการนี้สัมพันธ์กับหลักฉันทามติ ทุกการตัดสินใจของอาเซียนมาจากการเห็นชอบร่วมกัน ไม่ใช้หลักเสียงข้างมาก

            ทุกวันนี้ปัญหาเขตแดนระหว่างชาติสมาชิกยังมีอยู่ในหลายพื้นที่ การเจรจาแก้ไขยังทำงาน และอยู่ร่วมกันได้ทั้งที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ตีความว่าส่วนที่แก้ได้ก็แก้ไปแล้ว ส่วนที่บริหารจัดการได้ก็ทำไป ส่วนที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ก็ทิ้งไว้อย่างนั้น รอเจรจาหาทางออกต่อไป

            อาเซียนเลือกที่จะบริหารจัดการความขัดแย้ง ปัญหายังอยู่แต่ทุกฝ่ายอยู่ได้ ไม่เป็นเหตุขยายความขัดแย้งให้ลุกลามใหญ่โต (จนเป็นเหตุให้ต่างชาติแทรกแซง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย)

            อาจอธิบายว่าอาเซียนคือชุมชน ถ้าคนหนึ่งลำบากจะกระทบคนอื่นๆ ดังนั้นต้องช่วยให้ทุกคนอยู่ได้ตามอัตภาพ ผลคือชุมชนเข้มแข็ง

            ความสำเร็จในอดีตของวิถีอาเซียนยิ่งทำให้แนวทางนี้แข็งแกร่ง ทุกชาติสมาชิกเห็นพ้องต้องกันว่าจะยึดแนวทางดังกล่าว

            เกือบ 6 ทศวรรษแล้วที่พวกเขาอยู่ร่วมกันได้ แม้มีข้อขัดแย้งบ้างแต่สามารถแก้ไขหรือบรรเทาไม่ให้บานปลาย ทั้ง 10 ประเทศที่เป็นเพื่อนบ้านจึงอยู่ร่วมกันอย่างสงบ ต่างเร่งพัฒนาตนเอง ทุ่มเททรัพยากรให้กับประชาชนตัวเอง เป็นประโยชน์ที่ชัดเจนของการมีอาเซียน และองค์การนี้กำลังพัฒนาต่อไป เผชิญความท้าทายใหม่ในโลกที่ไม่หยุดนิ่ง

ใช้ความเชื่อร่วมกับความรู้แขนงอื่น:

            เป็นความจริงที่น่าเศร้าว่าประวัติศาสตร์โลกเต็มด้วยสงคราม ศาสนาความเชื่อไม่สามารถห้ามสงครามได้ทั้งหมด บทบาทของศวามเชื่อคือช่วยยับยั้งชั่งใจ ทำสงครามในกรอบที่ศาสนาอนุญาต

            ในโลกแห่งความจริง ลำพังความเชื่ออย่างเดียวไม่เกิดผลเร็ว (และควรพูดว่านับวันศาสนามีบทบาทลดน้อยถอยลง) การใช้หลักวิชาอื่นๆ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเมืองระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ทางสังคมเศรษฐกิจช่วยได้ เป็นวิถีมองโลกตามความจริง (นอกเหนือจากการยึดถืออุดมคติ) มีอุดมคติพร้อมกับปฏิบัติโดยเข้าใจโลกแห่งความจริง ที่มนุษย์ไม่สมบูรณ์ หลายคนเห็นแก่ตัว บางคนพร้อมทำชั่ว จึงกำหนดแนวทางให้โลกมีสันติเท่าที่น่าจะเป็นไปได้

19 พฤศจิกายน 2023
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 28 ฉบับที่ 9866 วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566)

---------------------