3 ทศวรรษสันติภาพออสโลที่จางหาย

ท้ายที่สุดกลับสู่คำถามว่าทำไมผ่านไปกว่า 3 ทศวรรษจึงยังไม่เกิดแผนสันติภาพ ไม่เกิดทวิรัฐ น่าคิดว่าสภาพเช่นนี้แหละที่รัฐบาลอิสราเอลเห็นว่าเหมาะสมแล้ว

            ข้อตกลงสันติภาพออสโล (Oslo Peace Accords) เริ่มต้น 13 กันยายน 1993 สาระสำคัญคือปาเลสไตน์รับรองสถานะความเป็นประเทศของอิสราเอล พร้อมกับที่อิสราเอลรับรองสถานะขององค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ว่าเป็นตัวแทนปาเลสไตน์ ผู้ดูแลบริหารปกครองภายในดินแดนส่วนต่างๆ ของเวสต์แบงก์กับฉนวนกาซาแต่ยังไม่ได้รับรองรัฐปาเลสไตน์ อิสราเอลต้องทยอยมอบอำนาจการดูแลพื้นที่คืนแก่ PLO (ปัจจุบันคือ PA) ท้ายที่สุดจะเกิดรัฐปาเลสไตน์มีเยรูซาเล็มตะวันออกเป็นเมืองหลวง

            กันยายน 2023 ครบรอบ 3 ทศวรรษของข้อตกลงดังกล่าว

            มีแนวคิดบางอย่างจาก 3 ทศวรรษข้อตกลงสันติภาพออสโล เหตุผลหลายข้ออธิบายว่าทำไมจึงยังไม่สำเร็จ

          ประการแรก นานาชาติรับรองไม่เป็นเหตุคู่สัญญาจะปฏิบัติตาม

            ย้อนหลัง 3 ทศวรรษที่ประกาศลงนามข้อตกลงสันติภาพออสโล (Oslo Peace Accords) ตอนนั้นเป็นข่าวดังทั่วโลก ส่วนหนึ่งเพราะเจรจาหลายปี ชาติมหาอำนาจสหรัฐเป็นเจ้าภาพใหญ่ หลายคนคิดว่าไม่มีสงครามแล้ว ไม่ยิงกันอีกแล้ว ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขแล้ว อนาคตปาเลสไตน์กับอิสราเอลจะดีขึ้น นักวิเคราะห์ตีความต่างๆ นานา นักสันติภาพยุคนั้นโหมเรื่องนี้ว่าสันติภาพโลกเป็นไปได้ จนทุกวันนี้หลายคนยังโหยหาข้อตกลงสันติภาพนี้

          ประการที่ 2 จุดอ่อนของข้อตกลงสันติภาพออสโล

            นักวิเคราะห์บางคนชี้จุดอ่อนของข้อตกลงสันติภาพออสโล คือ

            1) ไม่ระบุสถานะของเยรูซาเล็มอย่างชัดเจน

            2) การตั้งถิ่นฐานของอิสราเอลบนดินแดนปาเลสไตน์

            3) ขาดการกำหนดแนวพรมแดนที่ชัดเจน

            ทั้ง 3 เรื่องนี้ขอให้เจรจาต่อไป และจนบัดนี้ยังคงเป็นปัญหาที่ลงเอยไม่ได้ ทั้งยังซับซ้อนยิ่งขึ้น เช่น อิสราเอลประกาศให้เยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของตน (จากเดิมคือเทลอาวีฟ) รุกล้ำกินดินแดนปาเลสไตน์เพิ่มขึ้น รัฐบาลชุดหลังแสดงท่าทีว่าจะไม่เกิดรัฐปาเลสไตน์

            เมื่อมองย้อนกลับไปข้อตกลงสันติภาพออสโลส่อแววล้มเหลวตั้งแต่แรก ควรตีความว่าเป็นความพ่ายแพ้ของปาเลสไตน์และของทุกประเทศที่ตอนนั้นยืนเคียงข้างปาเลสไตน์ ที่พลาดหนักคือคิดว่าส่วนที่ยังค้างอยู่สามารถเจรจาต่อจนได้ข้อสรุปอันเป็นที่พอใจของทั้ง 2 ฝ่าย

            นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่าตั้งแต่ต้นการเจรจาไม่ตั้งบนพื้นฐานคิดดีต่อกัน คู่เจรจามีอำนาจต่อรองไม่เท่ากัน ข้อตกลงออสโลไม่สามารถหยุดการรุกล้ำกินดินแดนของอิสราเอล เมื่อการเจรจายืดเยื้อออกไปฝ่ายอิสราเอลกำหนดเงื่อนไขเพิ่ม เช่นปี 1995 ระบุว่าต้องยอมรับการตั้งถิ่นฐานของอิสราเอลในเขต Judea กับ Samaria ซึ่งหมายถึงดินแดนส่วนที่อิสราเอลรุกล้ำเพิ่มเติม

          ประการที่ 3 เพราะอิสราเอลไม่รักษาสัญญา

            ที่ประณามกันมากพูดกันทุกปีคืออิสราเอลไม่รักษาสัญญา ยังคงรื้อถอนบ้านเรือน เผาทำลายต้นไม้ ก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยอ้างก่อการร้ายจากปาเลสไตน์ ชี้ว่ารัฐบาลปาเลสไตน์ (Palestinian Authority: PA) ไร้ความสามารถไม่สามารควบคุมความสงบ อิสราเอลจึงต้องลงมือด้วยตัวเอง เป็นเรื่องความมั่นคงของตนที่ยอมไม่ได้

            ชาวปาเลสไตน์จึงสงสัยว่าอิสราเอลต้องสันติภาพจริงหรือไม่ พยายามถ่วงเวลาเพื่อผนวกเวสต์แบงก์ใช่ไหม รู้สึกขมขื่นสิ้นหวัง

             ตามมุมมองอิสราเอลเนื่องจาก PLO ไร้ความสามารถควบคุมพื้นที่ตัวเอง ผู้ก่อการร้ายจึงใช้โอกาสนี้เล่นงานตน ตามข้อมูลระบุว่า 3 ทศวรรษคนอิสราเอลเสียชีวิต 1,500 คน ทั้งนี้รัฐบาลอิสราเอลถือว่าทุกเหตุการณ์ที่คนของตนถูกฆ่ามาจาก “การก่อการร้าย” ไม่สนใจมูลเหตุจูงใจ 

            หลังผ่านไป 3 ทศวรรษ ชาวปาเลสไตน์บางคนตีความว่าปาเลสไตน์คืออาณานิคมของอิสราเอล พวกเขาแม้มีผู้ปกครองของตน (หมายถึง PA) แต่อยู่ใต้อิทธิพลของอิสราเอลอีกทอด ปราศจากอธิปไตย ไร้ซึ่งเสรีภาพ ถูกควบคุมสารพัด มีด่านตรวจสอบคุมเข้มมากมาย ชาวปาเลสไตน์ 350,000 คนที่อาศัยในเยรูซาเล็มตะวันออกโดนปิดล้อมโดดเดี่ยวตัดขาดจากเขตปาเลสไตน์อื่นๆ ด้วยกำแพงสูง 25 ฟุตที่อิสราเอลสร้างล้อมรอบ ชีวิตความเป็นอยู่ขึ้นกับความเมตตาของรัฐบาลอิสราเอลผู้ซึ่งยึดครองดินแดนของพวกตน และยังเดินหน้าทำลายบ้านเรือนของพวกเขาเพื่อสร้างถิ่นฐานชุมชนชาวยิว

            เช่นนี้เรียกว่ากำลังสู่สันติภาพถาวรหรือ

          ประการที่ 4 แนวคิดขอให้ทบทวนข้อตกลง

            บางคนเห็นว่าควรทบทวนข้อตกลงออสโลเพื่อให้ของที่เหมือนเก่าแก่ล้าสมัยกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง นำสู่การปฏิบัติอีกครั้ง บางคนชี้ว่าทุกวันนี้อิสราเอลควบคุมปาเลสไตน์เข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลเสียต่อปาเลสไตน์โดยตรง จำต้องระงับยับยั้ง ไม่ใช่การมองโลกสวยแต่ตั้งบนพื้นความจริง ฟื้นฟูสิทธิที่พึงมี มีการเจรจาดีกว่าปล่อยให้เลวร้ายและเลวร้ายลง

            ล่าสุดกันยายน 2023 มาห์มูด อับบาส (Mahmoud Abbas) ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ขอให้จัดประชุมนานาชาติเพื่อสันติภาพอีกครั้ง ให้ทุกประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมเพื่อสันติภาพตะวันออกกลาง ในการนี้ขอให้อันโตนิโอ กูเตเรส (Antonio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติช่วยทำหน้าที่จัดประชุมดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะรักษาแนวทางทวิรัฐ (Two-State Solution) ป้องกันไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลงกว่านี้ บั่นทอนสันติภาพภูมิภาคกับสันติภาพโลก

            วิเคราะห์: ถ้าคิดแบบปาเลสไตน์คงหวัง (อีกครั้ง) ว่าเป็นจุดเริ่มต้นสู่การสถาปนารัฐปาเลสไตน์สมัยใหม่ คำถามคือฝ่ายรัฐบาลอิสราเอลจะยอมหรือ จุดหมายปลายทางของการฟื้นฟูหรือทำข้อตกลงใหม่คืออะไร ช่วยให้ชาวปาเลสไตน์มีความสุขหรือทำให้สิ้นหวังเดียวดายกว่าเดิม ต้องตระหนักว่าบริบทวันนี้ต่างจาก 3 ทศวรรษก่อน นานาชาติรวมทั้งอาหรับหลายประเทศยอมรับอิสราเอล มีความสัมพันธ์ดีต่อกัน

            แม้กระทั่งเรื่องควบคุมปาเลสไตน์ที่พวกเขาต้องทนทุกข์เพราะการนี้ แต่สำหรับคนอิสราเอลบางส่วนเห็นว่ายังทำ “น้อยเกินไป” ปล่อยปละละเลยให้ปาเลสไตน์ทำตามอำเภอใจ บางคนเห็นว่าต้องให้ฝ่ายอิสราเอลเท่านั้นที่มีอำนาจควบคุมปาเลสไตน์ทั้งมวลจึงจะไม่ลักลั่น ไม่สองมาตรฐาน ทุกอย่างอยู่ภายใต้ระบบเดียว ไม่ปล่อยช่องให้ผู้ก่อการร้ายลงมือต้นเหตุความไม่สงบในพื้นที่

            บางคนจึงวิเคราะห์ว่าปล่อยข้อตกลงสันติภาพออสโลไว้อย่างเดิมดีแล้ว ขืนทบทวนใหม่เท่ากับทำลายของที่มีอยู่เดิมและอาจไม่ฟื้นคืนอีกเลย (ของเก่าหายไปและไม่ได้ของใหม่) ไม่มีใครประกันได้ว่าจะได้ข้อตกลงใหม่

ความหวังที่ยังมีแต่ไม่อยู่ในมือปาเลสไตน์:

            กันยายน 2023 คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ประกอบด้วยประเทศซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์และบาห์เรน แสดงท่าทีหวังว่าอีกไม่นานจะได้แผนสันติภาพสมบูรณ์แบบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ตามแนวทวิรัฐ

            วิเคราะห์: มองแง่บวกคือเป็นการตอกย้ำจุดยืนชาติอาหรับอีกครั้งที่ต้องการเห็นแผนสันติภาพ เกิดทวิรัฐ มองแง่ลบคือเป็นจุดยืนเก่าแก่ที่ไม่ก่อผลลัพธ์แม้ผ่านมาหลายทศวรรษแล้ว

            ท้ายที่สุดกลับสู่คำถามว่าทำไมผ่านไปกว่า 3 ทศวรรษจึงยังไม่เกิดแผนสันติภาพ ไม่เกิดทวิรัฐ ที่เคยคิดว่าส่วนที่ยังค้างอยู่สามารถเจรจาต่อจนได้ข้อสรุปที่พอใจของทั้ง 2 ฝ่ายซึ่งบัดนี้พิสูจน์แล้วว่าล้มเหลวสิ้นเชิง สถานการณ์คืออิสราเอลที่มีกองทัพเข้มแข้งสามารถกดดันปาเลสไตน์ สามารถควบคุมชาวปาเลสไตน์ที่ฮึดสู้ สามารถรุกล้ำกินดินแดนมากขึ้นทุกปี น่าคิดว่าสภาพเช่นนี้แหละที่รัฐบาลอิสราเอลเห็นว่าเหมาะสมแล้ว และจะคงเช่นนี้ต่อไปเพื่อกินดินแดนเรื่อยๆ ควบคุมจำกัดชาวปาเลสไตน์ที่พื้นที่เหลือน้อยลงทุกที ข้อตกลงสันติภาพฉบับสมบูรณ์ที่เรียกร้องจึงไม่เกิด แนวทางนี้พิสูจน์มากว่า 3 ทศวรรษแล้วว่าอิสราเอลได้มากกว่าเสีย เมื่อเป็นเช่นนี้ทำไมต้องมีทวิรัฐ ส่วนแนวคิดทบทวนข้อตกลงออสโลหนีไม่พ้นที่อิสราเอลต้องสามารถขยายดินแดนมากตามที่ต้องการ การวิเคราะห์เช่นนี้จะถูกหรือไม่กาลเวลาจะให้คำตอบ

24 กันยายน 2023
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 9810 วันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2566)

-------------------

บรรณานุกรม :

1. Abraham Accord signing: top quotes from the signing ceremony. (2020, September 16). The Jerusalem Post. Retrieved from https://www.jpost.com/middle-east/two-states-settlements-not-part-of-israel-deals-with-uae-bahrain-642424

2. Blinken takes aim at Israeli settlements; says US will press ahead with Israel-Saudi normalization. (2023, June 5). AP. Retrieved from https://apnews.com/article/us-israel-palestinians-saudi-arabia-ccc8da5992301d9a95a4be29f1860808

3. Cleveland, William L., Bunton, Martin. (2016). A History of the Modern Middle East (6th Ed.). USA: Westview Press.

4. GCC states, US welcome diplomatic engagement with Iran, seek regional de-escalation. (2023, September 20). Arab News. Retrieved from https://www.arabnews.com/node/2376981/middle-east

5. Israel and the Kingdom of Bahrain to establish 'full diplomatic relations,' Trump says. (2020, September 11). CNN. Retrieved from https://edition.cnn.com/2020/09/11/politics/israel-bahrain-trump/index.html

6. Mattar, Philip. (2004). The Encyclopedia of the Modern Middle East and North Africa (2nd Ed.). USA: Thomson Gale.

7. Political / "Jeddah Declaration": Leaders of Arab countries stress the importance of strengthening joint Arab action based on foundations, values, common interests and one destiny. (2023, May 19). Saudi Press Agency. Retrieved from https://www.spa.gov.sa/68a3f8bca6a

8. Saudi FM: Normalization with Israel would have benefits, but less without two states. (2023, June 8). Times of Israel. Retrieved from https://www.timesofisrael.com/saudi-fm-normalization-with-israel-would-have-benefits-but-less-without-two-states/

9. Three decades after the Oslo Accords, a two-state solution feels like a distant dream. (2023, September 13). Sky News. Retrieved from https://news.sky.com/story/three-decades-after-the-olso-accords-a-two-state-solution-feels-like-a-distant-dream-12959991

10. Thirty years on, the hoax of the Oslo Accords lingers. (2023, September 5). Jordan News. Retrieved from https://www.jordannews.jo/Section-29/Analysis/Thirty-years-on-the-hoax-of-the-Oslo-Accords-lingers-30726

11. Why the Oslo peace process failed – and what it means for future negotiators. (2023, September 13). Times of Israel. Retrieved from https://www.timesofisrael.com/why-the-oslo-peace-process-failed-and-what-it-means-for-future-negotiators/

-----------------