เอกภาพในความหลากหลายกับฉันทามติอาเซียน

การรวมตัวเป็นอาเซียนช่วยให้สมาชิกทั้ง 10 ประเทศไม่ตกเป็นเครื่องมือทำสงครามของมหาอำนาจและไม่ทำสงครามกันเอง เป็นเหตุผลหลักของการก่อตั้งอาเซียนตั้งแต่ต้น

 

            หลักพื้นฐานที่ต้องยึดให้มั่นคืออาเซียนตั้งอยู่บนความหลากหลาย สมาชิก 10 ประเทศต่างกันตั้งแต่ระบบการเมืองการปกครอง ความเติบโตทางเศรษฐกิจและแนวทางพัฒนา สังคมวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย และเคยทำสงครามกันในอดีต ดังนั้นจะให้คิดเหมือนกันตรงกันทำได้แค่บางประเด็นที่เป็นผลประโยชน์หลักร่วมกัน ส่วนเรื่องปลีกย่อยหลายเรื่องยังตกลงกันไม่ได้ มีความเสี่ยงขัดแย้งรุนแรง

            การไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน ยึดฉันทามติจึงเป็นเรื่องสำคัญ สัมพันธ์กับการดำรงอยู่ของอาเซียนโดยตรง

            สนธิสัญญามิตรไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia: TAC) อันเป็นสนธิสัญญาสำคัญของอาเซียน มีสาระสำคัญว่า 1) เคารพในอำนาจอธิปไตย ความเสมอภาค และบูรณภาพแห่งดินแดน 2) ไม่แทรกแซงกิจการภายใน 3) แก้ไขปัญหาความเห็นต่างด้วยสันติวิธี 4) ไม่ใช้หรือขู่ว่าจะใช้กำลัง และ5) ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน

            เป็นหลักพื้นฐานที่ชาติสมาชิกยึดถือปฏิบัติเรื่อยมา

โรฮีนจากับความวุ่นวายเมียนมาที่อาเซียนต้องเข้าพัวพัน:

            โรฮีนจา (Rohingya) หลายแสนคนที่อพยพออกจากเมียนมาเป็นข่าวใหญ่ระดับโลก สื่อนานาชาติตีแผ่รายงานเรื่องราวอันโหดร้ายที่กระทำต่อพวกเขา การที่ผู้คนหลายแสนคนถูกรังแกกดดันจนต้องทิ้งบ้านหนีไปอยู่ต่างแดนเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าใช้หลักทั่วไปอาจเห็นว่าโรฮีนจาเป็นเรื่องภายในของเมียนมา แต่ผลโรฮีนจาหลายแสนอพยพไปอยู่ประเทศอื่น เฉพาะไทยราวแสนคน เช่นนี้ไม่อาจบอกว่าเป็นเรื่องภายในของเมียนมาอีกแล้ว กระทบเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างชัดเจน เป็นข้อสรุปว่าเมียนมาแทรกแซงกิจการภายในของอาเซียน ดังนั้นอาเซียนจึงอยู่เฉยไม่ได้

            สิ่งที่อาเซียนระมัดระวังคือการผลักให้สมาชิกอีกประเทศต้องโต้กลับอย่างรุนแรง สมาชิกขัดแย้งกันเองรุนแรงหรือถูกพรรคพวกกดดันจนตรอก ในที่สุดประเทศนั้นอาจต้องอิงมหาอำนาจฝ่ายหนึ่งเพื่อความอยู่รอด ทำให้อาเซียนแตกแยก กระทบความมั่นคงทั้งภูมิภาค การจะแทรกแซงมากน้อยอย่างไรจึงต้องคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบ

            ปัจจัยสำคัญอีกประการคือ ความมั่นคงภายในของแต่ละประเทศคือความมั่นคงของอาเซียน ให้เศรษฐกิจแต่ละประเทศเติบโต ประชาชนอยู่ดีกินดี (ตามอัตภาพ) สังคมไม่วุ่นวาย เป็นเครื่องประกันการอยู่รอดของอาเซียนทั้งมวล

            ส่วนเรื่องปัญหาการเมืองเมียนมา ย้อนหลังพฤศจิกายน 2020 พรรค National League for Democracy (NLD) ของนางออง ซาน ซู จี (Aung San Suu Kyi) ชนะเลือกตั้งทั่วไปถล่มทลายได้ที่นั่งในสภา 82% ตามมาด้วยกองทัพเข้ายึดอำนาจ ประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง เป็นจุดเริ่มของการต่อสู้ครั้งใหญ่ระหว่างรัฐบาลที่นำโดยกองทัพกับประชาชนฝ่ายต่อต้านที่ยืดยาวจนทุกวันนี้

            พฤษภาคม 2023 แถลงการณ์หลังประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน มีข้อสรุปว่าอาเซียนยืนยันจุดยืนฉันทามติ 5 ข้อของที่ประชุมผู้นำอาเซียน (Five-Point Consensus) และเพิ่งทบทวนใหม่ในการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อกันยายน 2023 เพื่อนำสู่สันติภาพถาวร ขอให้ทุกฝ่ายหยุดใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ทั้งนี้เมียนมาต้องสร้างบรรยากาศสร้างสรรค์นำสู่การเจรจาระดับชาติ

ไม่พ้นแรงกดดันของนานาชาติ:

            ทั้งประเด็นโรฮีนจากับการเมืองเมียนมามีผลต่อเพื่อนบ้านโดยตรง หากสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านใกล้เคียงเท่านั้นทั้ง 2 เรื่องน่าจะจัดการง่าย ที่กลายเป็นเรื่องใหญ่เพราะนานาชาติให้ความสำคัญ กลายเป็นประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศที่ไม่ใช่เรื่องของอาเซียนกับเพื่อนบ้านเมียนมาไม่กี่ประเทศ ยิ่งโยงความขัดแย้งเข้ากับมหาอำนาจจีน สหรัฐ ยิ่งไปกันอยู่ รัฐบาลสหรัฐกับพวกระดมวิพากษ์วิจารณ์ไม่หยุดหย่อน ทำให้กลายเป็นประเด็นร้อนอยู่เสมอ หากวิเคราะห์ว่าปัญหาเมียนมาจะยืดเยื้ออีกนานจะเป็น “อาหารอันโอชะ” ของการเมืองระหว่างประเทศดังที่เห็นอยู่ บางประเทศจ้องที่จะใช้เรื่องนี้เล่นงานประเทศอื่นๆ “ที่ไม่ใช่เมียนมา”

            ไม่ว่าจะใช้มุมมองใด ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาเซียนจำต้องเข้าพัวพันโรฮีนจา ความวุ่นวายทางการเมืองเมียนมาต่อไป

อาเซียนไม่เป็นหมากของมหาอำนาจกับจุดยืนสมาชิก:

            การเป็นสมาชิกอาเซียนไม่ได้หมายความว่าต้องมีนโยบายต่างประเทศตรงกันทุกเรื่อง จึงเห็นบางประเทศอิงสหรัฐ บางประเทศใกล้ชิดจีน เรื่องนี้ไม่แปลกทำได้และขึ้นกับรัฐบาลของแต่ละประเทศด้วย ยกตัวอย่างฟิลิปปินส์ สมัยรัฐบาลเบนิกโน อากีโนที่ 3 (Benigno Aquino III) อิงสหรัฐ ต่อมาโรดริโก ดูเตร์เต (Rodrigo Duterte) ร่วมมือกับจีนมากขึ้น ล่าสุดรัฐบาลเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ (Ferdinand Marcos Jr.) แสดงท่าทีใกล้ชิดสหรัฐมากกว่า

            ท่ามกลางกระแสสงครามเย็นใหม่กำลังร้อนแรงขึ้นทุกที โจโก วิโดโด (Joko Widodo) ประธานาธิบดีอินโดนีเซียกล่าวว่า “อาเซียนตกลงกันแล้วว่าจะไม่เป็นตัวแทน (a proxy) ของอำนาจใด ไม่แล่นเรือของเราเข้าสู่การทำลายล้างของคู่อริ”

            ในทำนองเดียวกันอันวาร์ อิบรอฮิม (Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวว่ากลุ่มต้องระวังตัวเองไม่ให้ตกเป็นอันตรายเพราะชาติมหาอำนาจ จะหารือกับทุกฝ่ายด้วยเวทีอาเซียน เช่น การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS)

            เมื่อมองระดับสมาชิก ด้วยความที่สมาชิกอาเซียนหลากหลาย บริบทแตกต่าง มีจุดยืนหลากหลาย ไม่แปลกที่บางครั้งอาเซียนแสดงความไร้เอกภาพ เห็นภาพสมาชิกขัดกันเอง บางคนตีความว่าอาเซียนไร้จุดยืนซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะมีจุดยืนทั้ง 2 ประเด็นมานานแล้ว เพียงแต่ว่าสมาชิกบางประเทศมีมุมมองความต้องการบางอย่างต่างออกไปซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ไม่ทำลายจุดยืนอาเซียน ในภาพรวมอาเซียนยังคงเดินตามแนวทางตนที่ประกาศไว้ ทุกสมาชิกสามารถดำเนินการในส่วนที่ไม่ขัดแย้งนโยบายอาเซียน แต่จะให้ความต้องการของบางประเทศเป็นความต้องการของอาเซียนต้องผ่านฉันทามติก่อนเสมอ และฉันทามติเรื่องมหาอำนาจคืออาเซียนไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่พาตัวเองเป็นสมรภูมิของมหาอำนาจ

            นักวิชาการบางคนตีความว่าตอนนี้อาเซียนแยกออกเป็น 2 กลุ่ม พวกแรกให้ความสำคัญกับการฟื้นประชาธิปไตย ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ อีกพวกค่อนข้างเห็นอกเห็นใจรัฐบาลทหาร ได้แก่ ไทย (รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) บรูไน กัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนามที่ไม่ค่อยมีความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตย สมาชิกบางประเทศพยายามให้สมาชิกอื่นเห็นด้วยกับตน อ้างว่าต้องกล้าตัดสินใจแต่คงไม่สำเร็จ

            สุดท้าย อาเซียนจะยังคงเป็นอาเซียนอยู่เช่นนี้ แต่จะตีความว่าไร้เอกภาพคงไม่ถูกต้องนักเพราะมีจุดยืนเมียนมาแล้ว หากจะขยับออกจากเดิมนั้นต้องให้ความสำคัญกับจุดยืนสมาชิกทุกประเทศ ไม่ควรอ้างว่าเพื่อเห็นแก่เอกภาพ ควรตระหนักว่าการพยายามชักนำจนเกินงามคือการแทรกแซงกิจการภายในหรือไม่

            กฎบัตรอาเซียนความตอนหนึ่งระบุว่า เคารพความสำคัญพื้นฐานของมิตรภาพและความร่วมมือ และหลักการแห่งอธิปไตย ความเสมอภาค บูรณภาพแห่งดินแดน การไม่แทรกแซงกัน ฉันทามติและเอกภาพใน ความหลากหลาย

            คนที่เข้าใจประชาคมอาเซียนจะรู้ว่าเป็นประชาคมร่วมมือหลากหลายแทบทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ สังคมวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ขาดแต่เพียงการเป็นพันธมิตรทางทหารเท่านั้น ปรากฏแผนงานความคืบหน้าและอุปสรรคในแถลงการณ์หลังประชุมสุดยอดที่ยาวหลายสิบหน้าและในเอกสารอื่นๆ ไม่ใช่แค่เรื่องเมียนมา โรฮีนจา ไม่กี่เรื่องที่บางคนบางประเทศเอ่ยซ้ำไปซ้ำมา และแม้ว่าบางเรื่องที่ดูเหมือนอาเซียนไร้เอกภาพแต่ประโยชน์ที่สมาชิกได้นั้นมหาศาลกว่าบางเรื่องที่เอ่ยถึง

            การรวมตัวเป็นอาเซียนช่วยให้สมาชิกทั้ง 10 ประเทศไม่ตกเป็นเครื่องมือทำสงครามของมหาอำนาจ ไม่ปล่อยให้ตัวเองเป็นสมรภูมิการทำลายล้าง ไม่ว่าด้วยอาวุธ MADE IN USA หรือชาติใด และไม่ทำสงครามกันเอง เป็นเหตุผลหลักของการก่อตั้งอาเซียนตั้งแต่ต้น

10 กันยายน 2023
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 9796 วันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2566)

---------------------

บรรณานุกรม :

1. ASEAN: Indonesia, Malaysia urge staying out of global rows. (2023, September 1). DW. Retrieved from https://www.dw.com/en/asean-indonesia-malaysia-urge-staying-out-of-global-rows/a-66721832

-----------------