ญี่ปุ่นในทศวรรษแห่งความวุ่นวาย

ญี่ปุ่นกังวลจีน ความร่วมมือจีน-รัสเซีย อาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ แก้ไขด้วยการสร้างกองทัพให้เข้มแข็งพร้อมรับมือ ยึดพันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐเป็นแกนหลัก

            ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติญี่ปุ่น 2022 ใช้คำว่า “ทศวรรษแห่งความวุ่นวาย” (2022-2031) เป็นมุมมองญี่ปุ่นที่รายล้อมด้วยสถานการณ์ซับซ้อนตึงเครียดที่สุดนับจากสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ต้นเหตุจากค่านิยม ระบบการเมืองเศรษฐกิจที่แตกต่างและพยายามขยายอิทธิพลของตน พยายามเปลี่ยนบริบทเพียงฝ่ายเดียวด้วยการใช้กำลังหรือพยายามที่จะใช้ รัสเซียรุกรานยูเครนรัสเซียบั่นทอนอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศกับกฎบัตรสหประชาชาติอย่างรุนแรง การใช้กำลังฝ่ายเดียวสั่นคลอนรากฐานระเบียบนานาชาติ เรื่องนี้ส่งผลมาถึงเอเชียด้วยเป็นกรณีตัวอย่างท้าทายระเบียบโลกเดิมที่มีอยู่ โลกเข้าสู่วิกฤตรอบใหม่ ดุลแห่งอำนาจเปลี่ยนไป

            ผลจากการที่ประเทศต่างๆ แข่งขันทั้งด้านการมือง เศรษฐกิจ การทหารและอื่นๆ โดยเฉพาะการแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีนที่เข้มข้นขึ้นมาก ไม่ใช่ง่ายที่นานาชาติจะบริหารจัดการสถานการณ์

            วิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ารวดเร็วทำให้กระบวนทัศน์ความมั่นคงเปลี่ยนไป หลายประเทศเร่งพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดหวังให้ตนเป็นฝ่ายได้เปรียบทางการทหาร พยายามควบคุมเทคโนโลยีก้าวหน้าไม่กระจายออกไป

            ด้านไซเบอร์มีความเสี่ยงมากขึ้นและเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญยิ่ง สัมพันธ์กับสงครามข่าวสาร ที่บิดเบือนข้อมูลความจริง สงครามไฮบริดเป็นอีกด้านที่ทวีความรุนแรงทั้งด้านการทหารกับพลเรือน

            ญี่ปุ่นเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่สถานการณ์ตึงเครียดเข้มข้นขึ้น อาวุธนานาชนิดรวมทั้งนิวเคลียร์อยู่รายล้อมประเทศ โอกาสที่บางประเทศใช้กำลังเพิ่มสูงขึ้น

นโยบายป้องกันประเทศของสหรัฐกับจีน :

            ยุทธศาสตร์สหรัฐล่าสุดให้ความสำคัญพันธมิตรกับหุ้นส่วน ชี้ว่าจีนเป็นความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า ส่วนรัสเซียเป็นภัยคุกคามในยามนี้ เกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามต่อเนื่อง (persistent threat) ยุทธนิวเคลียร์สหรัฐ (Nuclear Posture Review) ระบุว่าก่อนทศวรรษ 2030 จะต้องเผชิญมหาอำนาจนิวเคลียร์พร้อมกัน 2 ประเทศ หนึ่งในนั้นคือจีน (สองประเทศที่ว่าคือรัสเซียกับจีน ไม่ใช่เกาหลีเหนือ)

            ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวสหรัฐยอมรับว่าไม่สามารถรับมือได้ดีด้วยตัวเอง จำต้องร่วมมือกับพันธมิตร ประเทศที่เป็นหุ้นส่วน สานสัมพันธ์พันธมิตรกับหุ้นส่วนสร้างเครือข่ายความมั่นคง อย่างเช่น Quad (เป็นเวทีหารือด้านความมั่นคงของ 4 ประเทศ ประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและอินเดีย ล้วนเป็นประเทศที่มีอิทธิพลอำนาจสูง ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย) กับ AUKUS (พันธมิตรทางทหารอินโด-แปซิฟิก สหรัฐ-อังกฤษ-ออสเตรเลีย มีจุดเด่นคืออังกฤษซึ่งเป็นประเทศนอกภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมาอยู่ในกลุ่มนี้ อนาคตอาจมีสมาชิกอื่นนอกภูมิภาคเข้าร่วมอีก) เพื่อต้านจีนที่กำลังก้าวขึ้นมา ในบริบทสหรัฐพยายามรักษาอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง เรือรบสหรัฐแล่นผ่านช่องแคบไต้หวันเป็นระยะ

            จีนพยายามเปลี่ยนระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพิ่มงบกลาโหมอย่างรวดเร็ว กองทัพจีนจึงเพิ่มทั้งปริมาณและศักยภาพ โดยเฉพาะกองทัพเรือ อากาศและนิวเคลียร์ คาดว่าภายในปี 2035 จะมีหัวรบนิวเคลียร์ 1,500  หัวรบ เร่งสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินที่มีระบบยิงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic catapults systems) สร้างอาวุธไร้คนขับจำนวนมาก

            กองทัพจีนเคลื่อนไหวอย่างมากรอบญี่ปุ่น ทะเลจีนตะวันออก ทะเลญี่ปุ่น ขยายไปถึงแนวห่วงโซ่เกาะแรก (first island chain) และ 2 เพิ่มแรงกดดันต่อไต้หวัน ญี่ปุ่นกับประชาคมโลกกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ในยามนี้ ญี่ปุ่นจำต้องยอมรับความจริงปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์พร้อมรับภัยคุกคามที่รายล้อม สร้างเสริมกองทัพตามยุทธศาสตร์ป้องปราม

สรุปความเคลื่อนไหวในรอบ 10 ปี :

            1) เกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงและจวนตัวมากขึ้น ให้ความสำคัญกับนิวเคลียร์ ทดสอบระเบิดนิวเคลียร์รวม 4 ครั้ง คาดว่า (ปี 2022) มีหัวรบนิวเคลียร์ราว 20 หัวรบ ขีดความสามารถของขีปนาวุธสูงขึ้นต่อเนื่อง หลายปีที่ผ่านซ้อมยิงขีปนาวุธนานาชนิด รวมทั้งขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิค ตุลาคม 2022 ยิงขีปนาวุธข้ามทวีปผ่านญี่ปุ่น เป็นภัยคุกคามร้ายแรงจวนตัวบ่อนทำลายความมั่นคงโลก

            2) กองทัพรัสเซียเคลื่อนไหวร่วมกับจีนอย่างมียุทธศาสตร์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก มีผลต่อญี่ปุ่น การรุกรานยูเครนกลายเป็นประเด็นน่ากังวลที่สุด กระทบความมั่นคงยุโรปโดยตรง

            รัสเซียใช้อาวุธใหม่หลายชนิด ระดมกองทัพอย่างไม่เคยทำมาก่อน เครื่องบินเรือรบจีน-รัสเซียร่วมลาดตระเวนในลักษณะที่เห็นชัดว่ามุ่งเป้าญี่ปุ่น

            3) การเยือนของเพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรและคณะเยือนไต้หวัน ยืนยันรัฐบาลสหรัฐยึดมั่นสนธิสัญญาความมั่นคงที่ทำกับไต้หวันและข้อตกลง Enhanced Resilience Act ล้วนบ่งบอกว่ารัฐบาลสหรัฐให้ความสำคัญกับไต้หวัน มีบทบาทเรื่อยมา จีนตอบโตด้วยการซ้อมรบรอบไต้หวัน

            4) ญี่ปุ่นกังวลบทบาทจีนด้านต่างๆ ไม่เพียงด้านการทหารเท่านั้น ประเด็นนี้ท้าทายมากสุด เครื่องบินรบจีนบินเข้ามาในทะเลญี่ปุ่นและถี่ขึ้น เครื่องบินรบญี่ปุ่นต้องเข้าสกัดบ่อยขึ้น จีนอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองทะเลจีนใต้โดยที่ศาลโลกไม่ยอมรับ การเผชิญหน้าจากเหตุหมู่เกาะเซนกากุ จีนยิงขีปนาวุธตกใส่เขต EEZ ญี่ปุ่น (สิงหาคม 2022)

            5) กองทัพจีนเคลื่อนไหวรอบไต้หวันจนน่าตกใจ เป็นไปได้ว่าจะใช้กำลังยึดไต้หวัน จีนเสริมสร้างกองทัพอย่างรวดเร็ว งบกลาโหมจาก 650,300 ล้านหยวนในปี 2012 เป็น 1,450,500 ล้านหยวนในปี 2022 เรือรบ 83 ลำกลายเป็น 134 ลำ เครื่องบินรบ 565 ลำกลายเป็น 1,270 ลำ หัวรบนิวเคลียร์ 240 หับรบกลายเป็น 350 หัวรบ

            ภายใต้สถานการณ์ข้างต้น ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Strategy 2022) ระบุความท้าทายดังกล่าว เร่งเสริมสร้างกองทัพ ร่วมมือกับพันธมิตรและชาติที่คิดเห็นตรงกัน



สงครามในอนาคต :

            จะใช้ขีปนาวุธนานาชนิด จรวดร่อน จึงต้องมีระบบป้องกันอาวุธเหล่านี้ ขัดขวางให้ศัตรูยากจะใช้ขีปนาวุธ วางระบบซ่อมแซมลดความสูญเสียนำสาธารณูปโภคต่างๆ กลับมาใช้งานโดยเร็ว เตรียมตัวรับมือ Asymmetric attacks ที่มากับการโจมตีทางอวกาศ ทางไซเบอร์ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ยานไร้คนขับ (unmanned vehicles) พัฒนาระบบตรวจจับ ระบบป้องกันสามารถรับมือฝ่ายตรงข้ามจากยานไร้คนขับทั้งทางบกทางเรือและอากาศ

            สงครามในอนาคตเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทางทหาร สงครามข้อมูลข่าวสาร หลายประเทศให้ความสำคัญกับงานวิจัย ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีควอนตัม เทคโนโลยีการสื่อสารในอนาคต เหล่านี้สามารถเปลี่ยนให้อีกฝ่ายเหนือกล่าวคู่แข่ง รัฐกับเอกชนร่วมมือกันสร้างเศรษฐกิจความมั่นคง (economic security) ควบคุมการส่งออกและการลงทุนในต่างแดน

            อวกาศเป็นอีกด้านที่กำลังแข่งอย่างดุเดือดมีผลต่อการวิถีชีวิตพลเรือนกับทางทหาร รัสเซียกับจีนหวังใช้อวกาศแทรกแซงนานาชาติ

            อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (weapons of mass destruction: WMD) เป็นอีกด้านที่แข่งขันอย่างดุเดือด

            สงครามไฮบริดเป็นอีกลักษณะที่จะใช้ในอนาคต ต้องตอบโต้สงครามข่าวสารอย่างทันท่วงที เข้าจัดการก่อนข้าศึกดำเนินการ สามารถเคลื่อนย้ายพลเรือนออกจากพื้นที่อย่างรวดเร็ว

            รวมความแล้วญี่ปุ่นกังวลจีน ความร่วมมือจีน-รัสเซีย อาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ สงครามยุคใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทางทหารที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว แก้ไขด้วยการสร้างกองทัพให้เพียงพอต่อการรับมือ ยึดพันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐเป็นแกนหลัก

6 สิงหาคม 2023
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 9761 วันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2566)

---------------------

บรรณานุกรม :

Japan Ministry of Defense. (2023, July 31). Defense of Japan 2023. Retrieved from https://www.mod.go.jp/en/publ/w_paper/wp2023/DOJ2023_Digest_EN.pdf