โอกาสที่รัสเซียจะกดปุ่มนิวเคลียร์จากศึกยูเครน

แม้สถานการณ์สุ่มเสี่ยงเกิดสงครามนิวเคลียร์ หากคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลรัฐบาลที่รับผิดชอบพลเมืองย่อมไม่ปล่อยให้เกิดหายนะ ไม่ว่าจะเป็นระบอบประชาธิปไตยหรือสังคมนิยม

Patricia Lewis จาก International Security Programme นำเสนอว่าเมื่อกองทัพรัสเซียบุกยูเครน ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ประกาศพร้อม “ตอบโต้ (นาโต) ทันที” ด้วยอาวุธนิวเคลียร์หากเข้ามาแทรกแซง จะกลายเป็นหน้าประวัติศาสตร์อย่างที่ไม่เคยอ่านเจอมาก่อน ไม่กี่วันต่อมาปูตินสั่งกองกำลังนิวเคลียร์เตรียมพร้อม บางคนชี้ว่ารัสเซียพร้อมกดปุ่มนิวเคลียร์ก่อน

6 เดือนต่อมารัสเซียเคลื่อนกองกำลังนิวเคลียร์อีก ยกระดับความพร้อมขึ้นอีกและเรียกทหารกองหนุน 300,000 นาย เตรียมผนวกดินแดนยูเครนเพิ่มเติม เรื่องนี้นักวิเคราะห์กังวลว่ารัสเซียกำลังปรับแผนใช้นิวเคลียร์ให้ง่ายขึ้นคือไม่ใช่เฉพาะกรณีประเทศเสี่ยงล้มหายตายจากเท่านั้น อาจทำให้ฝ่ายตรงข้ามตีความผิดต่างฝ่ายต่างพร้อมยิงนิวเคลียร์

สมัยสงครามเย็นใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดหายนะด้วยกันทั้งสองฝ่าย (mutually assured destruction: MAD) ต่างระวังไม่ให้เกิดสงครามใหญ่ เพราะมีอาวุธนิวเคลียร์ที่สามารถทำลายอีกฝ่ายให้ย่อยยับ ปัจจุบันความสามารถในการป้องปรามเป็นที่สงสัยว่าสามารถทนต่อการโจมตีด้วยไซเบอร์หรือไม่ สูญเสียการบังคับอาวุธหรือผิดพลาด

ท่ามกลางศึกยูเครนตึงเครียดและส่อว่าจะรุนแรงขยายวง กุมภาพันธ์ 2023 ประธานาธิบดีปูตินประกาศระงับ (suspension) ข้อตกลงจำกัดอาวุธนิวเคลียร์ New START ด้วยเหตุผลว่ารัสเซียขอตรวจสอบให้มั่นใจว่าปลอดภัยไม่ถูกคุกคามเหมือนอย่างเช่นตอนนี้ ผลคือรัสเซียอาจเพิ่มอาวุธนิวเคลียร์ ไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สหรัฐเข้าตรวจสอบ ไม่จำต้องรายงานอาวุธที่ถือครอง อีกทั้งอาจมีผลต่อสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty : CTBT) สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-Proliferation Treaty : NPT)

การระงับ (suspension) New START ชี้ว่ารัสเซียยกระดับความพร้อมนิวเคลียร์อีกขั้น  

ที่ผ่านมาหลายฝ่ายตีความว่ารัสเซียจะใช้นิวเคลียร์กับยูเครนเท่านั้น ไม่ใช้กับชาติสมาชิกนาโตเพราะจะหมายถึงสงครามโลก การใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี (Tactical nuclear weapon) กับยูเครนจึงมีความเป็นไปได้มากสุด แต่เป็นไปได้ว่าท้ายที่สุดรัสเซียอาจใช้นิวเคลียร์กับนาโต เพราะชาติสมาชิกนาโตเคยพูดทำนองว่าจะใช้กับรัสเซีย ปูตินจึงโต้กลับว่าประเทศตนมีนิวเคลียร์ที่ทันสมัยกว่าและพร้อมใช้ปกป้องมาตุภูมิ ปกป้องคนของตน นี่ไม่ใช่คำขู่ 

หากรัสเซียเคลื่อนไหวสหรัฐจะจับได้ทันที จะเตรียมตอบโต้ทันควันรวมถึงชิงโจมตีทำลายฐานนิวเคลียร์รัสเซียก่อน เป็นฉากทัศน์ที่สุ่มเสี่ยงไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเคลื่อนทัพนิวเคลียร์ เป้าที่จะถูกโจมตีมีเป็นร้อย

ควรเข้าใจว่าหากยูเครนโดนนิวเคลียร์ รังสีกับฝุ่นนิวเคลียร์จะกระทบประเทศอื่นๆ แถบนั้นด้วย คำถามตามมาคือนาโตจะตอบสนองอย่างไร บางคนคิดว่านาโตจะส่งกองทัพโจมตีรัสเซีย บางคนคิดว่าจะโต้กลับด้วยนิวเคลียร์ที่มีราว 150 ลูกในเบลเยียม เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อิตาลีและตุรเคีย ไม่นับอังกฤษ ฝรั่งเศสและสหรัฐ กรณีเช่นนี้ย่อมหมายถึงสงครามนิวเคลียร์ซึ่งยากจะเกิด ทุกประเทศต่างระมัดระวังไม่ให้ไปถึงจุดนั้น

ยูเครนมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งหมด 15 เตามีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 50% ที่ใช้ทั้งประเทศ ทั้งหมดอยู่ใต้การดูแลของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) มีอันตรายน้อยกว่าหากเตาเสียหายปล่อยรังสีออกมา ที่ผ่านมาเมื่อรัสเซียยึดได้จะปิดเครื่องช่วยด้านความปลอดภัย

รัสเซียติดตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์ที่เบลารุสแล้ว :

กลางเดือนมิถุนายน 2023 ขีปนาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีชุดแรกเดินทางถึงประเทศเบลารุส ตามแผนที่ประกาศเมื่อ 3 เดือนก่อน ประธานาธิบดีปูตินกล่าวว่ามีมากกว่านี้และจะส่งมอบทั้งหมดอย่างช้าไม่เกินสิ้นปี ด้าน Antony Blinken รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐชี้ว่าแผนนิวเคลียร์ของตนยังคงเดิม ยังไม่เห็นความเคลื่อนไหวใดๆ ว่ารัสเซียเตรียมใช้อาวุธนิเคลียร์ เช่นเดียวกับที่รัสเซียชี้แจงว่ายังไม่คิดใช้ตอนนี้ การติดตั้งที่เบลารุสเป็นไปตามขั้นตอนปกป้องรัสเซีย

ระยะยิงขีปนาวุธ Iskander นอกจากครอบคลุมยูเครนเกือบทั้งหมดแล้ว พื้นที่โปแลนด์ นอร์เวย์ ฮังการี โรมาเนียยังตกเป็นเป้าหมาย หัวรบรัสเซียอาจแรงร้อยกิโลตันเทียบกับระเบิดนิวเคลียร์ฮิโรชิมาขนาด 15-40 กิโลตัน

การติดตั้งขีปนาวุธนี้ในเบลารุสเพิ่มช่องทางโจมตีอีกหนึ่ง ความจริงแล้วรัสเซียสามารถใช้นิวเคลียร์ผ่านเครื่องบินทิ้งระเบิด เรือรบในย่านบอลติกกับทะเลดำ น่าจะเป็นเหตุที่นาโตระบุว่าการติดตั้งขีปนาวุธไม่เปลี่ยนสถานการณ์นิวเคลียร์

Sergei A. Karaganov จาก Russian Council on Foreign and Defense Policy มีความเห็นอีกด้านว่าที่สุดแล้วรัสเซียอาจชิงลงมือใช้นิวเคลียร์ก่อน ด้วยเหตุผลดังนี้

ประการแรก จะเล่นงานรัสเซียไม่เลิกแม้รัสเซียชนะศึกยูเครน

ไม่ว่าจะยึดครองยูเครนบางส่วนหรือทั้งหมดรัฐบาลชาติตะวันตกจะเล่นงานรัสเซียไม่เลิก กระแสข่าวหนาหูคือโปแลนด์จะรบรัสเซียเป็นรายต่อไป

แนวคิดนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าจะไม่หยุดรบ ควรเข้าใจด้วยว่าชาติตะวันตกไม่ได้ตั้งรับแต่เป็นฝ่ายรุกและจะรุกจนกว่ารัฐบาลปูตินแพ้ ยูเครนถูกใช้เพื่อจุดชนวนการรบเท่านั้น 

ไม่กี่วันก่อนประธานาธิบดีเซเลนสกีกล่าวว่า ถ้ายูเครนแพ้รัสเซียแม้จะไม่เพียงยึดยูเครนเท่านั้น แต่จะทำสงครามต่อกับประเทศในกลุ่มบอลติก (เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย) ทำสงครามกับโปแลนด์ ทำสงครามกับสมาชิกนาโต ผลคือสหรัฐต้องเลือกระหว่างล้มนาโต (เพื่อเลี่ยงกฎบัตรนาโตที่ต้องปกป้องสมาชิก) หรือเข้าทำสงคราม 

ยูเครนไม่ได้รุกรานรัสเซียๆ ต่างหากที่รุกรานชาติอารยะ

รวมความแล้วแนวคิดนี้ชี้ว่าสงครามกับรัสเซียจะดำเนินต่อเนื่องอีกหลายปี ไม่จบง่ายๆ เพราะไม่มีฝ่ายใดยอมแพ้ ผลประโยชน์ที่ได้มาหรือสูญเสียมากเกินกว่าจะยอมแพ้

เมื่อสงครามยืดเยื้อยาวนานถึงจุดหนึ่งเพื่อหยุดยั้งการสูญเสียที่ยอดสะสมเพิ่มมากขึ้นทุกทีทั้งชีวิตทรัพย์สิน รัสเซียจำต้องตัดสินใจใช้นิวเคลียร์ แม้ต้องถูกประณามก็ตาม

ใกล้ 8 ทศวรรษแล้วที่ชาติตะวันตกห่างจากสงครามโลก คนรุ่นใหม่ไม่เข้าถึงความโหดร้ายของสงคราม เป็นไปได้ว่าชาวตะวันตกปัจจุบันอาจเห็นด้วยกับสงครามใหญ่ สื่อโซเชียล การปลุกปั่นอาจสร้างความรักชาติอย่างบ้าคลั่งจนอยากให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์ทำลายรัสเซีย แผนใช้นิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ถูกเอ่ยถึงบ่อยครั้ง ความกระหายที่จะรักษาความเป็นเจ้าอาจชักนำให้ชนชั้นปกครองเลือกใช้อาวุธนิวเคลียร์ยุทธศาสตร์ และพวกเขารู้ว่ารัสเซียอาจชิงลงมือก่อน

Sergei A. Karaganov อธิบายต่อว่าถ้าเขาเป็นจีน เขาอยากให้ศึกที่รบกับรัสเซียยืดเยื้อออกไปเช่นกัน เป็นโอกาสจีนจะเข้มแข็งเติบโตกว่านี้ กองกำลังนิวเคลียร์จีนตอนนี้ยังอ่อนแอมาก ถ้ารัสเซียใช้นิวเคลียร์กับยุโรป จีนอาจแอบดีใจที่ยุโรปถดถอยอ่อนแอลงหลายสิบปีซึ่งหมายถึงขั้วสหรัฐอ่อนแอลงด้วย

ประการที่ 2 อาจมีแผนใช้ dirty bomb 

เรื่อง dirty bomb เป็นอีกแนวคิดที่ชี้ว่าว่ารัสเซียอาจใช้ระเบิดดังกล่าวเพราะกำลังพ่ายศึก ข้อมูลบางชิ้นระบุว่าแผนของรัสเซียคือสร้างสถานการณ์ว่ายูเครนใช้ dirty bomb รัสเซียจึงโต้ด้วยนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (tactical nuclear) ด้านรัฐบาลรัสเซียพูดตรงข้ามว่ายูเครนต่างหากที่เตรียมจะใช้ dirty bomb ทั้ง 2 ฝ่ายต่างปฏิเสธเตรียมใช้ระเบิดดังกล่าว (dirty bomb คือระเบิดชนิดหนึ่งที่บรรจุสารกัมมันตรังสี ทำให้พื้นที่ๆ ที่รังสีแผ่ถึงอยู่อาศัยไม่ได้)

แม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันสุ่มเสี่ยงเกิดสงครามนิวเคลียร์มาก รัสเซียติดตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์ที่เบลารุส ประธานาธิบดีปูตินประกาศระงับข้อตกลง New START หากเกิดสงครามนิวเคลียร์ไม่ว่าฝ่ายใดยิงก่อนจะเป็นหายนะโลก กระทบประชากรโลกหลายพันล้านคนอีกหลายสิบปี หากคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลรัฐบาลที่รับผิดชอบพลเมืองย่อมไม่ปล่อยให้หายนะไม่ว่าจะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยหรือสังคมนิยม อย่างน้อยพวกผู้มีอำนาจน่าจะอยากเสวยสุขต่อไปมากกว่าอยู่ในโลกหลังสงครามนิวเคลียร์ 

2 กรกฎาคม 2023
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 9726 วันอาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2566)

-----------------------

ภาพ : ขีปนาวุธ Iskander

เครดิตภาพ : https://missilethreat.csis.org/missile/ss-26-2/#jp-carousel-5592



บรรณานุกรม :

1. How likely is the use of nuclear weapons by Russia? (2023, June 22). Chatham House. Retrieved from https://www.chathamhouse.org/2022/03/how-likely-use-nuclear-weapons-russia

2. Kremlin not to revive New START discussions unless Washington takes heed of its concerns. (2023, February 28). TASS. Retrieved from https://tass.com/politics/1582423

3. Major European cities in range of Putin’s nuclear weapons once moved to Belarus - MAPPED. (2023, June 18). Express. Retrieved from https://www.express.co.uk/news/world/1781421/putin-nuclear-weapons-belarus-lukashenko

4. Nuclear stability for all put at risk by Putin's speech. (2023, February 22). Chatham House.org. Retrieved from https://www.chathamhouse.org/2023/02/nuclear-stability-all-put-risk-putins-speech

5. Putin confidant warns of preemptive nuclear strike. (2023, June 17). Asia Times. Retrieved from https://asiatimes.com/2023/06/putin-confidant-warns-of-preemptive-nuclear-strike/

6. Russia has sent first tactical nuclear weapons to Belarus, Putin confirms. (2023, June 17). The National News. Retrieved from https://www.thenationalnews.com/world/europe/2023/06/16/russia-has-sent-first-tactical-nuclear-weapons-to-belarus-putin-confirms/

7. Russia’s ‘dirty bomb’ claim lights the nuclear fuse. (2022, October 25). Asia Times. Retrieved from https://asiatimes.com/2022/10/russias-dirty-bomb-claim-lights-the-nuclear-fuse/

8. Zelensky: Ukrainian loss could force US to choose between ‘collapse of NATO’ or war. (2023, June 15). The Hill. Retrieved from https://thehill.com/policy/international/4052645-zelensky-warns-ukrainian-loss-could-force-us-to-join-war/

-----------------------