หลักยุทธศาสตร์ความมั่นคงเยอรมนีในบริบทโลก

หลายปีต่อจากนี้เยอรมนีจะตั้งงบกลาโหมให้ได้เฉลี่ย 2% ของ GDP จำต้องปรับขึ้นมากเพื่อพัฒนากองทัพรับมือสถานการณ์ มีความรับผิดชอบต่อยุโรปและโลก 

มิถุนายน 2023 รัฐบาลโอลาฟ โชลซ์ (Olaf Scholz) ออกยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติฉบับแรกในชื่อ National Security Strategy 2023 ไม่น่าจะถูกต้องถ้าบอกว่าเยอรมนีไม่เคยมียุทธศาสตร์ เพียงแต่ครั้งนี้ตั้งชุดทำงานใหม่ ฉบับที่นำเสนอต่อสาธารณะมีสาระสำคัญดังนี้

เยอรมนีในบริบทยุโรปและโลก :

เยอรมนีมองความมั่นคงในกรอบกว้างครอบคลุมทุกด้าน ปกป้องสงคราม เหตุรุนแรง อยู่อย่างเสรีในระเบียบเสรีประชาธิปไตยของพวกเรา ปกป้องทรัพยากรต่างๆ ที่จำต้องมีซึ่งจะสำเร็จได้ด้วยความพยายามของทั้งสังคม รัฐบาลมุ่งมั่นให้อยู่ในสถานการณ์เช่นว่านี้ ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติฉบับแรกนำเสนอภัยคุกคามภายนอกเป็นหลักโดยตระหนักว่าความมั่นคงภายนอกกับภายในแยกกันไม่ออก มั่นใจว่าจะสามารถรักษาความมั่นคงได้ ปกป้องทั้งตัวเองกับพันธมิตร สังคมกับเศรษฐกิจจะต้องยืดหยุ่นปรับตัวและเข้มแข็งเพื่อเสริมสร้างสันติภาพโลกที่ยุโรปเป็นหนึ่งเดียว สร้างระเบียบโลกเสรีที่เคารพกฎหมายระหว่างประเทศ ยึดถือกฎบัตรสหประชาชาติ อธิปไตยของแต่ละประเทศเท่าเทียม ต้านการคุกคาม การใช้กำลัง ปกป้องสิทธิของทุกหมู่เหล่าที่จะตัดสินใจด้วยตัวเอง ยึดสิทธิมนุษยชนสากล ให้มั่นใจว่าสามารถรักษาได้ตลอดไป

คุณค่ากับผลประโยชน์ของเรา :

สังคมของเราตั้งอยู่บนรากฐานคุณค่าที่เรายึดถือ จึงสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องปกป้องและทำให้เข้มแข็ง เป็นวัตถุประสงค์แห่งรัฐ เกี่ยวข้องกับอนาคตทุกคน ความเป็นประชาธิปไตย หลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน สิทธิการใช้ชีวิต เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การทำงานสื่อ การรวมกลุ่ม การนับถือความเชื่อศาสนา สิทธิความเท่าเทียม การที่แต่ละคนจะพัฒนา

ผลประโยชน์ความมั่นคงสัมพันธ์กับที่ตั้งภูมิศาสตร์ การเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปกับนาโต การมองไปต่างแดน ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจสังคม และความรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติของเรา ผลประโยชน์เหล่านี้สัมพันธ์กับคุณค่าที่เรายึดถือโดยตรง 

แยกเป็นข้อๆ ได้ดังนี้ 

- ปกป้องประชาชน อธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดนของเรา สหภาพยุโรปและพันธมิตร

- ปกป้องเสรีประชาธิปไตย

- เสริมสร้างขีดความสามารถของสหภาพยุโรป และให้รวมตัวเข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับฝรั่งเศส

- กระชับพันธมิตรสองฝั่งแอตแลนติก อันตั้งอยู่บนความไว้เนื้อเชื่อใจกับสหรัฐ

- รักษาการอยู่ดีกินดี สังคมสมานฉันท์ ด้วยการปกป้องเศรษฐกิจสังคม

- สนับสนุนระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนกฎหมายระหว่างประเทศ กฎบัตรสหประชาชาติ และสิทธิมนุษยชนสากล 

- ค้ำจุนสันติภาพเสถียรภาพทั่วโลก เป็นผู้นำประชาธิปไตย หลักนิติธรรม การพัฒนามนุษย์ 

- สนับสนุนการรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืน จำกัดวิกฤตการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ ดูแลจัดการผลกระทบ มีอาหารกับน้ำใช้อย่างพอเพียง ดูแลสุขภาพประชาชน

- รักษาระเบียบการเงินเศรษฐกิจระหว่างประเทศด้วยการมีเส้นทางการค้าเสรี การขนส่งพลังงานกับวัตถุดิบต่างๆ

บริบทความมั่นคง :

บริบทความมั่นคงโลกเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเป็นพหุภาคีมากขึ้น เสถียรภาพลดลง การเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรง ปัจจุบันรัสเซียเป็นภัยคุกคามร้ายแรงสุดของยุโรป-แอตแลนติก รุกรานยูเครนละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติอย่างร้ายแรง ละเมิดระเบียบความมั่นคงยุโรป หวังทำลายอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม การอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านอย่างสันติ การรุกรานยูเครนจึงเป็นการคุกคามความมั่นคงยุโรป คุกคามนาโตโดยตรง ตอกย้ำภัยคุกคามนิวเคลียร์ บั่นทอนสังคมประชาธิปไตยยุโรป บั่นทอนอียู นาโต กฎหมายระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชน 

เยอรมนีเฝ้าสังเกตความเป็นปรปักษ์และการแข่งขันช่วงชิงที่แรงขึ้นในไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนพยายามปรับเปลี่ยนระเบียบโลก มีอิทธิพลต่อภูมิภาค เพิ่มความตึงเครียด สิทธิมนุษชนถูกบั่นทอน จีนใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจเพื่อเป้าหมายทางการเมือง ในขณะเดียวกันจีนเป็นหุ้นส่วนที่ขาดไม่ได้จำต้องร่วมมือกันสู้กับความท้าทายที่โลกเผชิญ 

เยอรมนียังเป็นเป้าก่อการร้าย พวกสุดโต่งที่กลับมาจากเขตวิกฤตอาจก่อเหตุ แม้ที่ผ่านมาสามารถปราบปรามได้มากแต่พวกนี้ยังอยู่และประสานกับเครือข่ายพวกเขาทั้งโลก ยังคงระดมเงิน หาผู้สนับสนุน พร้อมก่อเหตุอีก ความเชื่อมโยงระหว่างประเทศช่วยให้สามารถลงมือเพียงลำพัง การป้องกันท้าทายกว่าเดิม นอกจากนี้เกิดความสุดโต่งรูปแบบใหม่ๆ พวกนี้มาพร้อมกับทฤษฎีสมคบคิด บ้างต่อต้านยิว เป็นภัยต่อความมั่นคง อาวุธซื้อหาง่ายมีผลต่อความมั่นคงยุโรปและทั่วโลก รัสเซียมีส่วนสำคัญที่ทำให้เป็นเช่นนั้น 

การแพร่กระจายนิวเคลียร์เป็นอีกประเด็นสำคัญ เกาหลีเหนือยังคงสร้างอาวุธนิวเคลียร์เพิ่มเติม พัฒนาขีดความสามารถด้านขีปนาวุธต่อเนื่อง อิหร่านอยากมีอาวุธนิวเคลียร์ ขัดขวางการฟื้นข้อตกลง Joint Comprehensive Plan of Action of 2015

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศเกี่ยวข้องกับอำนาจและอิทธิพลมากขึ้นทุกที ข้อตกลงการค้าหลายอย่างยุติธรรมกว่าอดีต อย่างไรก็ตามบางประเทศทำให้เศรษฐกิจเสรีเสื่อมเพราะใช้อิทธิพลหวังผลตามวาระที่ต้องการ ช่วงชิงแข่งขันอย่างรุนแรงในสถาบันเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศ สร้างสถาบันคู่ขนานพร้อมกฎเกณฑ์ตน หวังกัดเซาะกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศที่เปิดกว้างและยุติธรรม

โรคระบาดโควิด-19 กับรัสเซียรุกรานยูเครนนำให้ประเทศที่พึ่งพารัสเซียวิกฤตทันที ต้องหาแหล่งพลังงานใหม่ การแข่งขันทางเทคโนโลยีทำให้ยากจะเข้าถึง ต่างฝ่ายต่างพึ่งพาตัวเอง โครงสร้างพื้นฐานสำคัญตกเป็นเป้าและถูกแทรกแซง ทะเลทั้งผิวน้ำกับใต้น้ำมีความสำคัญทั้งแง่การชนส่งกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การโจมตีทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นในยุคดิจิทัล บ่อนทำลายรัฐบาล สังคม เป็นการโจมตีแบบใหม่ที่กระทำต่อทุกที่ ยากรู้ตัวผู้กระทำ เป็นภัยต่อบริษัทเอกชน หน่วยงานราชการ โครงสร้างพื้นฐานสำคัญ หน่วยการข่าวต่างชาติลงทุนพัฒนาต่อเนื่องหวังสืบข้อมูลเยอรมนี ปฏิบัติการลับ พวกจารชนเล่นงานนักการเมืองกับหน่วยงานรัฐ โครงสร้างพื้นฐาน งานวิจัยต่างๆ 

การเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศเป็นความท้าทายสำคัญ ต้นเหตุความแห้งแล้ง ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพกับทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิอากาศรุนแรงขึ้นและเกิดถี่ทำลายสิ่งต่างๆ ส่งผลต่อเศรษฐกิจ วิถีชีวิต ขยายความไม่เท่าเทียม

การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ รวมความแล้วต้องจัดการให้ได้รับผลกระทบน้อยสุด มีความยั่งยืน มีความมั่นคงทางอาหารและลดการพึ่งพาให้เหลือน้อยสุด

ปัจจัยที่ทำให้คนขาดความเชื่อมั่นรัฐบาล ได้แก่ ความยากจนหิวโหย ผลกระทบจากการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ การทำลายสิ่งแวดล้อม ความไม่มั่นคง สังคมอยู่ยาก กลัวอนาคต คนไม่เห็นทางที่จะพัฒนาตนเอง หากรัฐบาลอ่อนแอจะยิ่งไม่สามารถให้บริการ ไม่สามารถแก้ปัญหาประชาชน ความไม่เท่าเทียมเป็นต้นเหตุสำคัญทำให้ผู้คนอพยพย้ายถิ่น กระทบความมั่นคงประเทศทั้งประเทศต้นทางกับปลายทาง 

การป้องปรามด้วยนิวเคลียร์ยังเป็นเรื่องสำคัญ มีประโยชน์ต่อการป้องกันประเทศทั้งนาโตกับยุโรป เยอรมนีจะสนับสนุน Nuclear sharing ต่อไป (ข้อตกลงความร่วมมือด้านอาวุธนิวเคลียร์ของนาโต สหรัฐประจำการนิวเคลียร์ในประเทศพันธมิตรนาโตฝั่งยุโรป รวมทั้งเยอรมนี) เพื่อรักษาสันติภาพ ไม่ถูกข่มขู่ด้วยนิวเคลียร์ เน้นการเจรจามากกว่ามุ่งใช้กำลัง มีจุดยืนว่าไม่มีฝ่ายใดเป็นผู้ชนะในสงครามนี้ จึงไม่ควรปล่อยให้เกิดสงครามนิวเคลียร์

หลายปีต่อจากนี้เยอรมนีจะตั้งงบกลาโหมให้ได้เฉลี่ย 2% ของ GDP จำต้องปรับขึ้นมากเพื่อพัฒนากองทัพรับมือสถานการณ์

9 กรกฎาคม 2023
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 9733 วันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2566)

--------------------

บรรณานุกรม :

Federal Republic of Germany. (2023, June). National Security Strategy 2023. Retrieved from https://www.nationalesicherheitsstrategie.de/National-Security-Strategy-EN.pdf