Global Security Initiative เพื่อความมั่นคงเอเชีย-แปซิฟิก

 เสถียรภาพและการอยู่ดีกินดีอย่างยั่งยืนขึ้นกับมีความมั่นคงและบริบทเอื้อการพัฒนาซึ่งไม่ได้มาง่ายๆ ต้องเริ่มจากเลือกอยู่ฝ่ายส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมของประเทศต่างๆ

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง  (Xi Jinping) กล่าวต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อมกราคม 2017 มีสาระสำคัญว่าแต่ไหนแต่ไรมนุษย์ต้องการสันติภาพกับการพัฒนา หลัก Five Principles of Peaceful Coexistence เป็นหลักพื้นฐานของกฎบัตรสหประชาชาติที่มีอายุกว่า 70 ปี และเป็นหลักการที่ได้จากที่ประชุม Bandung Conference เมื่อกว่า 60 ปีก่อน หลักการนี้เป็นรากฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ชาติ สอดคล้องกับหลักยึดจีนดังนี้ 

ข้อแรก ต้องการสันติภาพโลก อยู่ร่วมกันฉันมิตร

จีนมีประสบการณ์ขมขื่นเมื่อต่างชาติรุกราน ดังเช่นสงครามฝิ่นเมื่อปี 1840 (1840 Opium War) ด้วยเหตุนี้จีนจะไม่ทำเช่นนี้กับชาติอื่น และเชื่อเสมอว่าสันติภาพกับเสถียรภาพคือหนทางสู่การพัฒนาและการกินดีอยู่ดี

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงกล่าวว่าการที่จีนพัฒนาจากประเทศยากจนอ่อนแอเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ไม่ใช่ด้วยการรุกรานทางทหารหรือล่าอาณานิคม แต่ด้วยการที่ประชาชนทำงานอย่างหนักและแสวงหาสันติภาพ

ข้อ 2 พัฒนาประเทศร่วมกับนานาชาติ

จีนตระหนักว่าเศรษฐกิจของตนผูกโยงกับเศรษฐกิจโลก จึงสนับสนุนให้เศรษฐกิจนานาชาติเติบโตเพราะจีนจะได้เติบโตด้วย ประชาชนจีนต้องการเช่นนั้น ต้องการทำงานหนักและพัฒนาเติบโตร่วมกับนานาชาติ BRI (Belt and Road initiative) คืออีกตัวอย่างรูปธรรม กว่าร้อยประเทศเข้าร่วมโครงการแล้ว

ข้อ 3 กระชับมิตรภาพความร่วมมือ

ภายใต้หลัก Five Principles of Peaceful Coexistence จีนจะสร้างรูปแบบความสัมพันธ์ใหม่กับสหรัฐ เป็นความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ของมหาอำนาจ เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้าน (a comprehensive strategic partnership of coordination) กับรัสเซีย ร่วมสร้างสันติร่วมพัฒนาประเทศกับอูยี

ข้อ 4 ยึดมั่นพหุภาคีนิยม (multilateralism)

เป็นหลักที่รักษาสันติภาพ ส่งเสริมการพัฒนา สอดคล้องกับหลักสหประชาชาติ

ต้นเดือนมิถุนายน 2023 ในงานประชุม IISS Shangri-La Dialogue หรือ International Institute for Strategic Studies นายพลหลี่ ซางฟู (Li Shangfu) สมาชิกสภาแห่งรัฐ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมจีนชี้ว่าตอนนี้เศรษฐกิจโลกหงอยเหงาเซื่องซึม มีความคิดแบบสงครามเย็น มีความขัดแย้งในภูมิภาค เกิดภัยคุกคามใหม่เรื่องแล้วเรื่องเล่า โลกห่างไกลความสงบ ผู้คนทั่วโลกโหยหาสันติภาพการพัฒนาและความร่วมมือ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเสนอ Global Security Initiative (GSI) ส่งเสริมความร่วมมือสมบูรณ์ครบถ้วน ความมั่นคงยั่งยืน หาแนวทางความร่วมมือใหม่ 

Global Security Initiative (GSI):

ถ้ายึดหลัก GSI กับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เสถียรภาพและการอยู่ดีกินดีอย่างยั่งยืนขึ้นกับมีความมั่นคงและบริบทเอื้อการพัฒนาซึ่งไม่ได้มาง่ายๆ ประเทศในภูมิภาคต้องทำหลายอย่าง กำลังเผชิญความท้าทาย ต้องเริ่มจากเลือกอยู่ฝ่ายส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมของประเทศต่างๆ ในย่านนี้ ด้วยการ

ประการแรก เคารพซึ่งกันและกันแทนการข่มขู่หรือวางตัวเป็นเจ้า

เป็นความจริงที่ว่าที่ไหนมีลัทธิความเป็นเจ้า (hegemonism) กับการเมืองเชิงอำนาจ (power politics) ที่นั่นผู้คนจะถูกเข่นฆ่าจากความไร้เสถียรภาพหรือเลวร้ายกว่านั้น จีนเชื่อว่าการเคารพซึ่งกันและกันกับการปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมคือกุญแจอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ จีนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ประเทศต่างๆ ต้องทำตามความต้องการที่บางประเทศกำหนด หรือสร้างความมั่งคั่งบนความสูญเสียของประเทศอื่นๆ บางประเทศตั้งใจแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ชอบคว่ำบาตรผู้อื่นเพียงฝ่ายเดียว (unilateral sanctions) โจมตีด้วยกำลังทหาร ยั่วยุให้คนในประเทศแบ่งขั้วแตกแยกเกิดการปฏิวัติ ก่อสงครามตัวแทนไปทั่ว สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายแล้วเดินจากไปเสียดื้อๆ ทิ้งเศษซากไว้ข้างหลัง ต้องไม่ปล่อยให้เกิดเรื่องเช่นนี้อีกครั้งกับเอเชีย-แปซิฟิก

การเคารพซึ่งกันและกันคือยอมรับการปกครองตนเองของประเทศอื่นและยอมรับสิทธิที่จะเลือกวิถีการพัฒนา ส่วนลัทธิความเป็นเจ้าจะตัดทอนอำนาจการปกครองของประเทศอื่นและสิทธิที่จะเลือกวิถีการพัฒนา

จีนยึดมั่นความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน (ASEAN centrality) และที่พวกเขาปกครองตนเอง จะร่วมมือกับอาเซียนด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน

ประการที่ 2 เป็นธรรมและยุติธรรม (fairness and justice)

ต้องก้าวข้ามกฎแห่งป่า (law of the jungle) ด้วยความเป็นธรรมและยุติธรรม ทุกประเทศไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ จนหรือรวยต้องเท่าเทียมกันในประชาคมโลก ประเด็นต่างๆ ต้องใช้การปรึกษาหารือแทนการชี้นิ้วบงการโดยไม่กี่ประเทศ จีนยืนยันที่จะให้โลกยุติธรรมและเท่าเทียมกันมากขึ้น ให้สหประชาชาติเป็นศูนย์กลาง ให้ระเบียบระหว่างประเทศอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและบรรทัดฐานที่สอดคล้องกับกฎบัตรสหประชาชาติ

ยึดแนวทางพหุภาคีนิยมหาความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ตรงข้ามกับบางประเทศที่หยิบใช้กฎหมายระหว่างประเทศบางข้อ พยายามบังคับให้ผู้อื่นใช้กฎที่ตนตั้งเอง พวกนี้พยายามบอกว่าสร้างระเบียบโลกที่ตั้งบนกฎกติกาแต่ไม่เคยบอกว่ากฎกติกาที่ว่าเป็นอย่างไรและใครเป็นคนตั้ง บางประเทศยึดหลัก exceptionalism และถือปฏิบัติสองมาตรฐาน (double standards) ทั้ง exceptionalism กับถือปฏิบัติสองมาตรฐานล้วนใช้สร้างผลประโยชน์ให้กับตัวเองและผู้ที่ยอมเดินตามเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น

ระการที่ 3 กำจัดข้อขัดแย้งและการเผชิญหน้าด้วยการเคารพซึ่งกันและกันและปรึกษาหารือ

ความเห็นต่างตกลงกันไม่ได้เป็นเรื่องปกติ มี 2 ทางเลือกคือสร้างความตึงเครียด โหมไฟให้แรงกว่าเดิม กับอีกทางคือมุ่งหาฉันทามติ ส่งเสริมการเจรจาประนีประนอม ในการจัดการวิกฤตระหว่างประเทศจีนมุ่งหาสันติภาพ ไม่ว่าทั้งที่ตะวันออกกลาง คาบสมุทรเกาหลีและยูเครน ลดความร้อนแรงของสถานการณ์ทั้งหลาย ต่างจากบางประเทศที่ขยายฐานทัพ ส่งทหารไปตามที่ต่างๆ เร่งขยายการแข่งขันทางอาวุธ ส่งมอบเทคโนโลยีนิวเคลียร์แก่ประเทศที่ยังไม่มีนิวเคลียร์ มักคิดเรื่องสร้างศัตรูหรือการเผชิญหน้า เติมเชื้อไฟให้รุนแรงยิ่งขึ้น

อันที่จริงแล้วเหล่าประเทศในภูมิภาคมีสติปัญญา มีขีดความสามารถที่จะแก้ไขข้อขัดแย้งความแตกต่าง ข้อพิพาทที่มีอยู่ ท้ายที่สุดแล้วต้องจบลงที่การพูดคุยสื่อสาร ปรองดองและร่วมมือกัน ภูมิภาคจึงจะได้สันติภาพ

ประการที่ 4 เปิดกว้างและรวมทุกประเทศเข้าด้วยกัน (openness and inclusiveness)

ตอนนี้แนวคิดแบบสงครามเย็นกำลังมาแรง สุ่มเสี่ยงเผชิญหน้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ยุทธศาสตร์จีนไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างพันธมิตรทางทหารเพื่อต้านภัยคุกคามที่จินตนาการเอาเองอย่างที่มหาอำนาจบางประเทศทำ

ผลความพยายามสร้างพันธมิตรทำนองนาโตในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกคือประเทศในภูมิภาคตกเป็นตัวประกัน (ที่จะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงของการเป็นพันธมิตร) เข้าร่วมเกมสร้างความขัดแย้ง การเผชิญหน้าซึ่งจะยิ่งสร้างความแตกแยก ขยายข้อพิพาท ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่าขั้วทางการเมืองไม่สร้างความมั่นคงแท้ มีแต่ยกระดับความขัดแย้ง ทำลายเสถียรภาพภูมิภาค

วันนี้เรื่องที่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจำต้องมีคือการเปิดกว้างและทุกประเทศร่วมมือกัน ไม่ปล่อยให้ความเป็นไปของภูมิภาคมีเพื่อบางประเทศเท่านั้น ต้องไม่ลืมหายนะจากสงครามโลก 2 ครั้งและอดีตสงครามเย็น ไม่ปล่อยให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

11 มิถุนายน 2023
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 9705 วันอาทิตย์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2566)

-----------------------

บรรณานุกรม : 

1. Li Shangfu. (2023, June). International Institute for Strategic Studies (IISS). Retrieved from file:///C:/Users/%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%8D%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%A2/Downloads/general-li-shangfu-state-councilor-minister-of-national-defense-china---provisional.pdf

2. Work Together to Build a Community of Shared Future for Mankind. (2017, January 18). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/2017-01/19/c_135994707.htm

----------------