ถึงเวลาประเทศด้อยพัฒนาได้รับความยุติธรรม

ประชาคมโลกสามารถช่วย LDCs พัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการเห็นคุณค่าว่าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก เข้าถึงระบบตลาดและได้รับการดูแลเป็นพิเศษ 

ปี 2016 World Economic Forum นำเสนอว่าโดยรวมแล้วเศรษฐกิจกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา (LDCs) ยังเปราะบาง ไม่ดีขึ้นเท่าไหร่ สินค้าส่งออกมักเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ขาดความสามาถผลิตสินค้าหลากหลาย ปัญหาจึงเกิดขึ้นเมื่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์อ่อนตัว ระบบเศรษฐกิจเปราะบางมักรับผลกระทบรุนแรงเมื่อโลกเกิดวิกฤตไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด ขาดความพร้อมที่จะรับมือ

รัฐบาลกลุ่มนี้มักหวังความช่วยเหลือจำนวนมาก หวังพัฒนาอย่างเร็ว อยากให้สหประชาชาติเป็นแกนนำ อยากเลียนแบบประเทศที่พัฒนาสำเร็จ

แนววิธีหลัก ได้แก่ ส่งเสริมการค้า ดึงดูดเอกชนเข้ามาลงทุน ผลิตและส่งออกสินค้าหลากหลาย ลดความล่าช้าสินค้าผ่านแดน ให้ภูมิภาคเชื่อมโยงลึกซึ้งมากขึ้น ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เตรียมตัวเพื่ออี-คอมเมิร์ซซึ่งจะช่วยการค้าได้มาก ลดล่าช้าติดขัดจากการค้าขายระบบเดิม จึงควรลงทุนด้านอี-คอมเมิร์ซอย่างจริงจัง สร้างโอกาสใหม่ๆ

มีนาคม 2023 อันโตนิโอ กูเตเรส (Antonio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวสุนทรพจน์ในงานประชุมกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา ครั้งที่ 5 เป็นแนวทางล่าสุด มีสาระน่าและข้อมูลประกอบที่สนใจดังนี้

ความเป็นไปของโลกส่งผลต่อกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา :

เลขาธิการสหประชาชาติยกกรณียูเครนว่าสงครามยูเครนไม่เพียงสร้างหายนะต่อชาวยูเครน ยังทำให้กลุ่มประเทศด้อยพัฒนา (Least Developed Countries – LDCs) ต้องดิ้นรนหาทางออกเมื่ออาหารกับพลังงานพุ่งทะยาน โลกตึงเครียดมากขึ้น แบ่งแยกบาดลึกมากขึ้น (รัฐบาลสหรัฐกับพวกตอบโต้รัสเซียที่บุกยูเครนด้วยการคว่ำบาตรไม่ซื้อใช้พลังงานรัสเซีย และห้ามทำธุรกรรมทางการเงิน ทำให้ราคาพลังงานพุ่ง รัฐบาลตะวันตกขัดขวางรัสเซียส่งออกอาหารธัญพืช เกิดผลสืบเนื่องหลายอย่าง เช่น เงินเฟ้อ ขึ้นดอกเบี้ย อาหารแพง)

กลุ่มประเทศด้อยพัฒนา (LDCs) คือ บรรดาประเทศที่สหประชาชาติระบุว่ามีระดับการพัฒนาทางสังคมเศรษฐกิจต่ำสุดตามดัชนีชี้วัดต่างๆ มีรายได้มวลรวมประชาชาติต่อหัวประชากร (Gross National Income per Capita: GNI) ต่ำกว่า 1,018 ดอลลาร์ ในขณที่สหรัฐมีเกือบ 71,000 ดอลลาร์ ฝรั่งเศส 44,000 ดอลลาร์ และแอฟริกาใต้ 6,530 ดอลลาร์ตามข้อมูลธนาคารโลก

อีกหลายดัชนีต่ำ เช่น ภาวะโภชนาการ สุขภาพ การเข้าเรียนหนังสือ เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจกับภูมิอากาศ (economic and environmental vulnerability)

LDCs จึงต้องมาหาทางออกร่วมกันโดยแปลงแผน Doha Programme of Action ให้เป็นจริง เอาชนะวิกฤตที่ถาโถม ความไม่แน่นอน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความอยุติธรรมที่หยั่งรากลึก

เรื่องท้าทาย LDCs : 

โดยเฉลี่ยกลุ่มคนจนอยู่ด้วยค่าครองชีพวันละต่ำกว่า 2.15 ดอลลาร์ อายุขัยเฉลี่ย 65 ปี ประชากร 1,100 ล้านคน เท่ากับ 14% ของประชากรโลก ปี 2021 ประชากรเพิ่ม 2.4% อพยพย้ายถิ่น 521,774 คน จีดีพีเติบโตสม่ำเสมอ ปี 2021 เท่ากับ 1,280,907 ล้านดอลลาร์ GDP ต่อหัว 1,164.9 ดอลลาร์ (ตัวเลขเพิ่มขึ้นสม่ำเสมอแต่ต่ำกว่าประเทศทั่วไป) อัตราว่างงาน 5.6% อัตราเงินเฟ้อ 4.9% การเข้าถึงไฟฟ้า 54.6% ผู้ใช้อินเตอร์เน็ต 24% 

ตัวอย่างกลุ่มนี้ในเอเชีย เช่น อัฟกานิสถาน บังคลาเทศ ภูฏาน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เนปาล

ในภาพรวม LDCs 46 ประเทศมีประชากร 1,100 ล้านคน ทั้งหมดนี้กว่า 75% ยากจนและเสี่ยงที่จะจนลงอีก อยู่ในบริบทด้อยพัฒนา โอกาสที่จะดีขึ้นจึงยากกว่าที่จะแย่ลง วิกฤตจากภายนอกกลุ่มมักกระทบต่อพวกตนและรุนแรงเพราะขาดภูมิคุ้มกันตนเอง ศตวรรษนี้ที่คาดว่าโลกจะร้อนขึ้น 2.7°C จะทำร้ายกลุ่มนี้อย่างรุนแรงทั้งๆ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยสุด COVID-19 ทำร้ายอย่างแรงเช่นกัน กิจกรรมเศรษฐกิจลดฮวบ และคาดว่าจะส่งผลนานกว่าประเทศทั่วไป 

4 ประเทศกำลังประสบปัญหาหนี้ (debt distress) ได้แก่ โมซัมบิก เซาตูเม (Sao Tome) ซูดานและโซลาเลีย และอีก16 ประเทศเสี่ยงเกิดปัญหาหนี้

แผน Doha Programme of Action คือแผนพัฒนา LDCs เริ่มใช้มีนาคม 2022 ประกอบด้วย 6 ด้านหลัก คือลดความยากจน เพิ่มขีดความสามารถ ปรับใช้พลังจากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อให้สามารถทำตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) หลายอย่างที่ผนวกรวมพลังรัฐบาล ภาคเอกชน ประชาสังคม ได้รับการสนับสนุนปรับโครงสร้างเพื่อสร้างความมั่งคั่ง เป็นส่วนหนึ่งของตลาดโลกกับภูมิภาค แก้ปัญหาการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ฟื้นฟูผลจากโรคระบาด COVID-19 พัฒนาให้มีความยืดหยุ่นสามารถรับมือความเปลี่ยนแปลงฉับพลันในอนาคต 

Doha Programme of Action เตือนใจว่าการฟื้นฟูโลกต้องช่วยกลุ่มนี้ ต้องกล้าลงทุนในกลุ่มประเทศนี้ ทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา ระบบคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน เดินเครื่องวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) อย่างเต็มกำลัง ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาของโลกเพื่อร่วมกันบรรลุการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 

เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวอีกว่าทุกระบบตึงเครียด ไม่ว่าด้านสาธารณสุข การศึกษา การคุ้มครองทางสังคม (Social Protection - คุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน) ระบบโครงสร้างพื้นฐาน และการสร้างงานอาชีพ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว

นานแล้วที่ LDCs ไม่ได้รับการปฏิบัติที่ดีจากระบบการเงินโลก ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วถึง 8 เท่า จำต้องปฏิรูประบบการเงินโลก ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่ต้องการมากสุด ช่วยจัดหาเงินทุนฉุกเฉินให้ประเทศประสบภัยพิบัติกับโรคระบาดนำไปปรับโครงสร้างหนี้ ปรับย้ายสิทธิพิเศษถอนเงินหรือสิทธิไถ่ถอนพิเศษวงเงินจากชาติที่ร่ำรวยให้ LDCs แทน และให้ประเทศที่จำเป็นมากสุด ธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (Multilateral Development Banks) ควรกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะกับ LDCs วัดระดับเศรษฐกิจด้วยวิธีอื่นๆ นอกจาก GDP ให้คุณค่ากับการรักษาป่า แหล่งน้ำต่างๆ

ข่าวร้ายคือ ในภาพรวมสถานการณ์เช่นว่ามีแต่เลวร้ายลง

LDCs 25 ประเทศใช้งบประมาณกว่า 20% ซื้ออาหารเลี้ยงประชาชน แทนที่สร้างโรงเรียน ขยายโอกาสแก่สตรี 

แนวทางแก้ไข 3 ด้านสำคัญ :

เลขาธิการสหประชาชาติเสนอแนวทางช่วยเหลือ 1) ได้รับการช่วยเหลือทันทีให้สามารถทำตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นความอยู่รอด แก้ความยากจน การขาดอาหาร ให้มีสุขภาพดี มีน้ำสะอาดและระบบอนามัยส่วนตัวที่ดี

ล่าสุดได้ขอความช่วยเหลือ 500,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีจาก G20 และ SDG Stimulus กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลืออย่างน้อย 0.15 – 0.20% ของรายได้รวมประชาชาติ (Gross National Income) พร้อมกับแก้ปัญหาหนีภาษี (Tax Evasion) การฟอกเงิน การเคลื่อนย้ายเงินผิดกฎหมาย (Illicit Financial Flows)

2) ยกระดับการผลิต LDCs หวังได้ความช่วยเหลือการผลิตเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ พัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่ง พัฒนาฝีมือให้เป็นแรงงานคุณภาพ

3) พัฒนาสถาบันต่างๆ ให้เข้มแข็ง

ทั้ง 3 ด้านสำคัญดังกล่าวใช้แผนปฏิบัติการตาม Doha Programme of Action ซึ่งกำหนดแนวทางไว้แล้ว เช่น Sustainable Graduation Support Facility กับ Investment Support Centre และ Online University

โดยรวมแล้วสหประชาชาติกับประชาคมโลกสามารถช่วย ให้ LDCs พัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการเห็นคุณค่า LDCs ว่าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก ได้รับการช่วยเหลือการเงิน เข้าถึงระบบตลาดและได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ความช่วยเหลือทางเทคนิค

9 เมษายน 2023
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 9642 วันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2566)

---------------------------

บรรณานุกรม :

1. The World Bank. (2023, March 5). Least developed countries: UN classification. Retrieved from https://data.worldbank.org/country/XL

2. United Nations. (2023, March 3). 5 things you need to know about the world’s least developed countries. Retrieved from https://news.un.org/en/story/2023/03/1134087

3. United Nations. (2023, March 5). Secretary-General's remarks to plenary of fifth Conference of Least Developed Countries. Retrieved from https://www.un.org/sg/en/content/sg/statement/2023-03-05/secretary-generals-remarks-plenary-of-fifth-conference-of-least-developed-countries-bilingual-delivered-scroll-down-for-all-english

4. World Economic Forum. (2016, May 27). 4 ways the world’s least developed countries can improve trade. Retrieved from https://www.weforum.org/agenda/2016/05/4-ways-the-world-s-least-developed-countries-can-improve-trade/?DAG=3&gclid=Cj0KCQjwz6ShBhCMARIsAH9A0qX4aUqPAMOhwFqJqba9LJn9dKYXCG5iNtBoDXEOKNpjaMcA0xNG7UcaAla6EALw_wcB

-----------------------