ประชาธิปไตยโลกถดถอยไม่หยุด อำนาจนิยมเข้มแข็ง

ประชาธิปไตยในแต่ละประเทศมีขึ้นมีลง โดยรวมแล้วเสรีภาพโลกถดถอยต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 ฝ่ายอำนาจนิยมเข้มแข็งขึ้น แต่ประเทศประชาธิปไตยที่เข้มแข็งขึ้นก็มี

            เป็นประจำทุกปี Freedom House องค์กรภาคประชาชนนำเสนอรายงานสิทธิเสรีภาพของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ฉบับล่าสุดคือ Freedom in the World 2023:  Marking 50 Years in the Struggle for Democracy สรุปว่าเสรีภาพโลกถดถอยต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 แล้วและฝ่ายอำนาจนิยมเข้มแข็งขึ้น มีสาระสำคัญดังนี้

            รายงานฉบับนี้ให้ความสำคัญกับสงครามยูเครนชี้ว่ารัสเซียกำลังละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนัก การรัฐประหารบ่อนทำลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเกิดขึ้นในหลายประเทศเช่น บูร์กินาฟาโซ (Burkina Faso) ตูนิเซีย เปรูและบราซิล ส่วนประเทศที่เกิดรัฐประหารเมื่อปีก่อนๆ อยู่ในสภาพกดขี่เสรีภาพ ได้แก่ กินี ตุรเคีย เมียนมาและประเทศไทย

            สาเหตุหลักที่ทำให้เสรีประชาธิปไตยหดตัวได้แก่ เกิดสงคราม เกิดรัฐประหาร ผู้มีตำแหน่งอำนาจทำลายสถาบันการเมืองหรือเข้าควบคุม

             ภาพรวมความผิดพลาดเรื่องเลวร้ายโดยรัฐบาลอำนาจนิยมทำให้เกิดแรงต้านจากพลังประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามฝ่ายอำนาจนิยมคงอยู่อย่างเข้มแข็ง ปัจจุบัน 84 จาก 195 ประเทศที่นับว่ามีเสรีภาพ

            ปี 2022 ประเทศที่สิทธิเสรีภาพเพิ่มขึ้นกับประเทศที่สิทธิเสรีภาพลดลงมีจำนวนใกล้เคียงกันมาก คือ 34 กับ 35 รัฐบาล มี 21 ประเทศทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่น เคลื่อนย้ายกลุ่มชาติพันธุ์ ที่โดดเด่นได้แก่ ยูเครน เอธิโอเปียและเมียนมา

            เลโซโท โคลอมเบียและเคนยา เป็นตัวอย่างประเทศที่ประชาธิปไตยก้าวหน้าเพราะมีเลือกตั้งที่โปร่งใส แข่งขันกันเต็มที่ การคลายมาตรการโรคระบาดเป็นอีกเหตุผลที่ปลดปล่อยให้คนมีเสรีภาพมากขึ้นด้วย

ตัวอย่างที่เลวร้าย :

            ยูเครนเป็นประเทศที่ถูกอำนาจนิยมรัสเซียเล่นงานด้วยข้ออ้างจอมปลอม ข่าวสารที่รัฐควบคุม เป้าหมายคือล้มผู้นำยูเครนที่มาจากการเลือกตั้ง ทำลายประชาธิปไตยเสรีภาพยูเครน คร่าชีวิตผู้คนนับหมื่นนับแสน บ้านเมืองพังพินาศ ประเทศอื่นๆ ที่สนับสนุนรัสเซีย คือ เบลารุส เกาหลีเหนือ คิวบา จีน ยังทำธุรกรรมกับธนาคารรัสเซีย พวกนี้เป็นศัตรูฝ่ายประชาธิปไตย

            บูร์กินาฟาโซเป็นตัวอย่างประเทศที่เสรีภาพหดหายไปมากหลังเกิดรัฐประหาร เปรูก็เช่นกันหลังรัฐบาลยึดอำนาจตัวเอง ควบคุมพรรคการเมืองต่างๆ ส่วนเมียนมาตั้งแต่รัฐประหารเมื่อ 2021 กองทัพกระทำการโหดร้ายทั่วประเทศ กดขี่สังหารประชาชนหลายพันคน ผลักดันบังคับคนนับล้านย้ายถิ่น

            การรัฐประหารที่ล้มเหลวของตุรเคียเมื่อปี 2016 รัฐบาลของเรเจพ ทายยิพ แอร์โดกาน (Recep Tayyip Erdogan) ใช้โอกาสนี้เป็นความชอบธรรมกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างต่อเนื่อง ทำลายระบอบการถ่วงดุลเรื่อยมาเพื่อเตรียมการเลือกตั้งในปี 2023 เช่น ออกกฎหมายควบคุมการเลือกผู้พิพากษา

            เหล่านี้เป็นตัวอย่างผลเสียผลพวงจากการรัฐประหาร         

            กรณีตัวอย่างใช้อำนาจล้นฟ้าขาดการถ่วงดุลภายใต้ระบบประชาธิปไตย เช่น เมื่อตาลีบันได้อำนาจปกครองอัฟกานิสถานอีกครั้งเมื่อปี 2021 และบริหารด้วยแนวทางตน ผลคือระบบเศรษฐกิจล่มสลาย คนยากจน และหลายล้านคนอพยพหนีออกจากประเทศ  กีดกันเด็กหญิงเรียนหนังสือ ประเทศอยู่ในวิกฤตเศรษฐกิจและมนุษยชน

            ชาติอำนาจนิยมมักพยายามปรับระบบโลกตั้งแต่ระดับ UN ทั้งเพื่อปกป้องตัวเอง ทำให้ระบบไม่โปร่งใส จีนไม่ยอมรับการพิจารณาวิพากษ์นโยบายตนโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council)

            สี จิ้นผิงกุมอำนาจตั้งแต่ปี 2012 และได้ดำรงตำแหน่งต่อเป็นสมัยที่ 3 แล้วอ้างว่าระบอบการเมืองจีนเหนือกว่าประชาธิปไตย (จีนระบุว่าตนเป็นประชาธิปไตยโดยประชาชน ไม่ใช่การเมืองของนายทุน) ความจริงแล้วใช้การกดขี่ควบคุม ตรวจตราทุกคนด้วยสารพัดวิธี เป็นคำถามว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่แม้จะใช้เพื่อควบคุมโควิด-19

โอกาสหันสู่โลกแห่งเสรี :

            เสรีภาพโลกถดถอยต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 แล้ว ประชาธิปไตยถดถอยใน 35 ประเทศ 44 ประเทศดีขึ้น โดย 8 ประเทศดีขึ้นจากคลายมาตรการโควิด-19 ที่ไม่เหมาะสม ประชาธิปไตยแอฟริกาหลายประเทศดีขึ้นจากการเลือกตั้งที่ดีแข่งขันจริง นักการเมืองกับประชาชนเห็นความสำคัญของประชาธิปไตย เช่นเลโซโทกับโคลอมเบีย รัฐบาลใหม่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ แม้ยังมีปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อนักการเมือง

            เลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐ 2022 ผ่านไปด้วยดี แม้พวกรีพับลิกันบางส่วนยังไม่ยอมรับว่าไบเดนชนะ คิดว่าทรัมป์โดนโกงอย่างเป็นระบบ เลือกตั้งประธานาธิบดีเคนยาออกมาโปร่งใสที่สุด

            เหล่าชาติประชาธิปไตยยืนหยัดสิทธิมนุษยชนประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา รัสเซีย อิหร่านที่กดสิทธิมนุษยชนสตรี ใช้กำลังต่อผู้ประท้วง

ข้อคิดข้อแนะนำจากประสบการณ์ 50 ปี :

            เสรีภาพการแสดงออกเป็นตัวชี้วัดพื้นฐานของประชาธิปไตย โดยรวมแล้วลดลงต่อเนื่อง ปิดกั้นสื่อ

กีดกันเสรีภาพการแสดงออก ผูกขาดสื่อมวลชน นักข่าวถูกคุกคามจับกุม บางรายถูกฆ่า ภาคประชาสังคมต้องแสดงความเห็นต่างได้ เสียงคนกลุ่มน้อยต้องได้รับฟัง สังคมพูดคุยวิพากษ์ประเด็นอ่อนไหว แต่บางประเทศอย่างจีนตรวจตราดักฟังอย่างกว้างขวาง ทั้งต่อนักการเมือง ขัดเสรีภาพการแสดงออกส่วนบุคคล รัฐให้ข้อมูลไม่ตรงความจริง

            ประสบการณ์ 50 ปีมีข่าวดีหลายประเทศที่เดิมเป็นอำนาจนิยมตอนนี้มีการเลือกตั้งตามหลักประชาธิปไตยแล้ว เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ แอฟริกาใต้ หลายประเทศที่แยกตัวออกจากโซเวียตรัสเซียตอนนี้เป็นประชาธิปไตย บางประเทศเป็นสมาชิกอียู

            ด้านข่าวร้าย ภาพรวมโลกเสรีภาพลดลง 2 ทศวรรษแล้ว บางประเทศถดถอย เช่น อินเดีย หลายประเทศที่แยกตัวออกจากโซเวียตรัสเซียเป็นอำนาจนิยมอีกครั้ง

            อาหรับสปริงส์ที่เริ่มเมื่อ 2011 ยกกระแสประชาธิปไตยทั้งภูมิภาค ฝ่ายอำนาจรัฐตอบโต้ด้วยการกระชับอำนาจให้แน่นขึ้นอีก ปรามปรามรุนแรงในหลายพื้นที่

            ชาติประชาธิปไตยต้องร่วมมือกัน ยึดมั่นหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อเอาชนะฝ่ายต่อต้าน รวมถึงสนับสนุนนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยต่างแดน สนับสนุนทางการทูต พวกอำนาจนิยมจะต้องไม่เป็นสุขไม่มั่นคง

            บูร์กินาฟาโซที่ประชาชนโหยหาเสรีภาพ แม้เกิดรัฐประหารหลายรอบ ยังคงเรียกร้องเสรีภาพ ความต้องการเสรีภาพจึงมีอยู่ตลอดเวลา แรงยืนหยัดเช่นนี้ทำให้ประชาธิปไตยก้าวหน้า การเลือกตั้งโปร่งใสมากขึ้น การเมืองเข้มแข็ง ทุกครั้งที่ได้รัฐบาลดีประชาธิปไตยจะเข้มแข็งขึ้น

            Freedom in the World 2023 เห็นว่าในช่วงนี้ฝ่ายประชาธิปไตยต้องร่วมกันให้ยูเครนชนะสงคราม มองว่าเป็นเรื่องระดับโลก เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยโดยตรงสนับสนุนยูเครนตอนนี้และอนาคต ร่วมต้านพวกอำนาจนิยมเท่าที่จะเป็นไปได้ กลุ่มฝ่ายประชาธิปไตยต้องร่วมมือกัน ประสานกัน เห็นคุณค่าความสำคัญของประชาธิปไตยและปกป้องอย่างเต็มที่

ข้อวิพากษ์ :

            ข้อวิพากษ์คือ Freedom House มีจุดยืนต้องการเสรีภาพ ประชาธิปไตยเท่านั้น จึงมุ่งมั่นส่งเสริม เห็นด้วยกับการสนับสนุนนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยต่างแดน สนับสนุนทางการทูต สอดคล้องแนวคิดระบบโลก การแข่งขันระหว่างโลกเสรีกับฝ่ายตรงข้าม ไม่คิดว่าเป็นการละเมิดอธิปไตยต่างแดนเป็นการละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติ ตรงกับรัฐบาลสหรัฐที่สนับสนุนนักเคลื่อนไหวฮ่องกงและอีกหลายประเทศ ทั้งยังน่าคิดว่าขัดแย้งเจตจำนงคนอิหร่านส่วนใหญ่หรือไม่ที่ยังยึดมั่นการปฏิวัติอิสลาม (1977-79) อีกทั้งรัฐบาลอิหร่านก็ผ่านการเลือกตั้ง เป็นคำถามว่าเจตจำนงเสรีที่จะเลือกระบอบอื่น มาตรฐานอื่นทำไม่ได้ใช่หรือไม่

19 มีนาคม 2023
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 9621 วันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2566)

-------------------------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
ปัญหาใหญ่คือนับวันคนไม่ศรัทธาหลักประชาธิปไตย ไม่เชื่อถือระบอบการปกครองประชาธิปไตย แน่นอนว่าไม่เชื่อถือพรรคการเมือง นักการเมือง สถาบันต่างๆ ภายใต้ระบอบนี้

บรรณานุกรม :

Freedom House. (2023, March). Freedom in the World 2023: Marking 50 Years in the Struggle for Democracy. Retrieved from https://freedomhouse.org/sites/default/files/2023-03/FIW_2023_50Years_DigitalPDF.pdf