จับตาไบเดนกีดกันสินค้าไฮเทคปิดล้อมจีน

ไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่การกีดกันเทคโนโลยีชิ้นส่วนไฮเทคสู่จีนเป็นส่วนหนึ่งของการจัดระเบียบโลกในตอนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของสงครามเย็นใหม่ที่การแบ่งขั้วชัดเจนยิ่งขึ้นทุกที

            ปลายเดือนตุลาคม Prabir Purkayastha ตั้งคำถามว่าการที่รัฐบาลสหรัฐห้ามส่งชิปสำคัญแก่จีนเท่ากับเปิดฉากทำสงครามกับจีนแล้วใช่หรือไม่ หลังรัฐบาลสหรัฐคว่ำบาตรบริษัทจีนหวังสกัดไม่ให้จีนเป็นเจ้าตลาด

ตัวอย่างกีดกัน 4 ด้าน:

          ประการแรก เครื่องมืออุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม

            พฤศจิกายน US Federal Communications Commission (FCC) คว่ำบาตรบริษัทสื่อสารจีน 5 แห่งด้วยเหตุผลกระทบความมั่นคงแห่งชาติ บริษัททั้ง 5 ได้แก่ Huawei, ZTE, Hytera Communications, Hikvision Digital Technology และ Dahua Technology

            Robert Silvers รมช. Homeland Security for Strategy, Policy and Plans เตือนว่าการให้นานาชาติใช้อุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารจีนเป็นวิธีควบคุมทางเทคโนโลยีที่ถูกที่สุด รัฐบาลจีนอาจใช้สิ่งนี้ควบคุมสังคมประเทศนั้น สามารถทำให้ระบบสื่อสารล่ม เป็นแผนของจีนที่จะควบคุมจุดสำคัญทางเศรษฐกิจโลกกับโครงสร้างสื่อสาร

            ไม่กี่ปีมานี้รัฐบาลสหรัฐไม่ว่าจากรีพับลิกันหรือเดโมแครทต่างกีดกันสินค้าสื่อสารจีน ด้านผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าจีนมีตลาดอื่นอีกมากมายไม่จำต้องขายที่สหรัฐ ปีที่แล้ว (2021) Huawei กำไร 15,900 ล้านดอลลาร์เพิ่มจากปีก่อนหน้า 75.9% รัฐบาลจีนลงทุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมสื่อสารเต็มที่

           ประการที่ 2 quantum computing

            อุตสาหกรรม quantum computing เป็นอีกจุดที่รัฐบาลสหรัฐพยายามกีดกันอย่างหนัก หวังว่ามาตรการดังกล่าวจะเพิ่มขีดความสามารถด้าน quantum computing ของตนเมื่อเทียบกับจีน เป็นประโยชน์โดยตรงแก่อุตสาหกรรม ระบบที่ใช้ quantum computing ฝ่ายจีนแก้เกมด้วยการเร่งพัฒนาด้วยเครื่องมือกับเทคโนโลยีที่มีอยู่และหาได้ รัฐบาลอุดหนุนงานวิจัยเต็มที่

          ประการที่ 3 เซมิคอนดักเตอร์

            Ray Yang จาก ITRI Industrial Economics and Knowledge Center ชี้ว่าปัจจุบันสหรัฐเป็นผู้ครองแหล่งผลิตชิปไฮเทค 80% ของโลก เป็นผู้นำด้านนี้

            การกีดกันลามไปถึงประเทศอื่นๆ เช่น ห้ามบริษัทเนเธอร์แลนด์ขายเครื่องมือผลิตชิปล่าสุดแก่จีนเนื่องจากเครื่องมือดังกล่าวมีทรัพย์สินทางปัญญาของอเมริกาปนอยู่ด้วย แต่บางบริษัทยังดื้อดึงไม่ทำตามคำสั่งของรัฐบาลสหรัฐทั้งๆ ที่เป็นพันธมิตรอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้

            William Overholt จาก Harvard University เห็นว่าการกีดกันเซมิคอนดักเตอร์คือการประกาศทำสงครามเศรษฐกิจกับจีน การกีดกันจะยิ่งกระตุ้นจีนให้เร่งพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้จนแซงหน้า Ray Yang ระบุว่ามาตรการสหรัฐสามารถสกัดได้ช่วงหนึ่ง จากนั้นจีนอาจผลิตของตนแต่ประสิทธิภาพต่ำกว่า

            ด้านกระทรวงการต่างประเทศจีนชี้ว่ารัฐบาลไบเดนใช้เรื่องนี้เป็นเครื่องมือแบ่งแยกทางการเมืองระหว่างประเทศ แบ่งแยกเศรษฐกิจจีนกับอเมริกาซึ่งไม่เป็นผลดีต่ออเมริกาและโลก ทำลายซับพลายเชน บั่นทอนการค้าเสรี

          ประการที่ 4 รถ EV

            ประเด็นรถไฟฟ้า EV เป็นอีกเรื่องที่น่าจับตาเพราะนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในของไบเดนกระทบต่อประเทศผู้ส่งออกรถประเภทนี้ทั่วโลก

            เรื่องรถ EV มีประเด็นน่าสนใจว่าจีนกำลังเปลี่ยนแบตเตอรี่เรือดำน้ำของตนเป็นแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน (Lithium-Ion Battery) เพิ่มขีดความสามารถในการรบขึ้นอีกระดับ เป็นผลพวงจากการพัฒนารถ EV

เรือดำน้ำที่ใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจะดำน้ำได้นานขึ้นเท่าตัว ความเร็วสูงขึ้น แต่มีข้อกังวลว่าอาจเกิดไฟไหม้เสียหายทั้งระบบ จำต้องพัฒนาให้ก้าวผ่านข้อกังวลดังกล่าว แต่หากสำเร็จจะได้เรือดำน้ำใหม่ที่เหนือกว่าเรือดำน้ำเดิม เป็นอีกกรณีตัวอย่างชี้ว่าความก้าวหน้าที่ใช้ทางพลเรือนมีประโยชน์ทางทหารด้วย

จากค้าเสรีสู่กีดกัน :

            ย้อนหลังทศวรรษ 1990 สหรัฐส่งเสริมการค้าเสรี โลกาภิวัตน์แต่บัดนี้การห้ามค้าขายสินค้าไฮเทคเท่ากับสกัดรายได้บริษัทอเมริกันต่อจีนที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุด เรื่องนี้มีผลระยะยาวแน่นอน และไม่เพียงกระทบสหรัฐเท่านั้นแต่จะกระทบต่อทุกประเทศ

            เป้าหมายล่าสุดคือสกัดไม่ให้จีนได้รับเทคโนโลยีผลิตชิปคอมพิวเตอร์ชั้นสูง เทคโนโลยีสร้างซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ เมื่อเจาะลึกลงรายละเอียดพบว่าไม่ได้สกัดสินค้าไฮเทคล่าสุดเท่านั้น ยังสกัดเทคโนโลยีรุ่นเก่าอย่างปลายสมัยทศวรรษ 1990

            การคว่ำบาตรต่อทุกบริษัทในโลกที่ใช้เทคโนโลยีสหรัฐ เป็นชิ้นส่วนๆ หนึ่งของผลิตภัณฑ์ เท่ากับว่ากฎหมายและนโยบายสหรัฐมีผลต่อทุกบริษัททุกสถาบันในโลก ห้ามพลเมืองอเมริกันทำงานกับบริษัทที่ถูกขึ้นบัญชีดำ ทำลายระบบซัพพลายเชนเดิมต้องสร้างระบบใหม่ที่ปราศจากจีน

            จะเห็นว่าเมื่อสหรัฐเห็นว่าตนเป็นฝ่ายได้เปรียบจึงประกาศการค้าเสรี ขอให้ทุกประเทศเปิดตลาด เปิดรับสินค้านานาชาติ สหรัฐได้ประโยชน์จากการค้าเสรีเต็มที่ แต่เมื่อสถานการณ์พลิกกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบ รัฐบาลสหรัฐอ้างว่าสินค้าต่างชาติเป็นภัยความมั่นคง (สินค้าบางตัว) จึงประกาศกฎเกณฑ์ใหม่ เรียกว่า “การค้าเสรีใหม่” ซึ่งมีความหมายว่าห้ามขายหรือซื้อสินค้าบางประเทศ พร้อมกับให้พันธมิตรหุ้นส่วนซื้อขายกับตนและซื้อขายกันเอง

            กรณีโทรศัพท์มือถือ เครื่องมือสื่อสารเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน หลายประเทศทำตามคือซื้อใช้แต่ของอเมริกันกับพวกแต่ไม่ซื้อของจีน แม้ผลิตภัณฑ์จีนคุณภาพดีราคาประหยัด กลายเป็นว่าเพิ่มต้นทุนเพิ่มภาระเพราะนโยบาย “การค้าเสรีใหม่” ของสหรัฐ

            ถ้าเสรีจริงควรซื้อใช้ได้ทุกยี่ห้อทุกประเทศ ให้ผู้บริโภคตัดสินใจอย่างเสรี แต่นโยบายรัฐบาลสหรัฐขัดขวางเสรีภาพดังกล่าว ทำลายความเท่าเทียม เป็นอีกหลักฐานที่สหรัฐถดถอยจากประชาธิปไตย

            รัฐบาลไบเดนประกาศว่าสหรัฐยึดมั่นระบบโลกที่ยึดถือกติกา พูดให้ถูกคือ รัฐบาลสหรัฐยึดถือกติกาที่ตนเป็นผู้สร้าง ในเวลาต่อมาหากเสียประโยชน์จากกติกาเดิมก็จะละเมิด (ยกเลิก) ของเก่าและสร้างของใหม่ขึ้นแทน พร้อมให้บอกให้นานาชาติยึดถือกติกาใหม่นี้

เศรษฐกิจถดถอยรอบนี้รัฐบาลเป็นผู้ก่อ :

            ผู้เชี่ยวชาญบางคนเห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจรอบนี้มาจาก 3 เหตุการณ์หลัก ได้แก่ โควิด-19 การคว่ำบาตรรัสเซียและการกีดกันจีน ผลคือเงินเฟ้อพุ่ง สังเกตว่าเงินเฟ้อเริ่มต้นที่หมวดพลังงานกับอาหารเป็นหลัก ที่สำคัญคือเกิดภาวะเงินเฟ้อทั้งโลก บางประเทศสูงอย่างที่ไม่เคยประสบในรอบ 4 ทศวรรษ

            ต้องย้ำว่าเงินเฟ้อรอบนี้กระทบคนทั้งโลกเพราะราคาพลังงานกับอาหารเป็นสินค้าจำเป็นพุ่งพรวด ในช่วงแรกนี้คนไม่ตกงานแต่รายได้ไม่พอรายจ่าย (หรือรายจ่ายเพิ่มขึ้น) สังเกตว่าค่าไฟเพิ่ม ค่าอาหารเพิ่ม

            2 เรื่องที่กำลังจะเกิดคือเศรษฐกิจโตช้ากับสินค้าแพง ต้องทำความเข้าใจต่อว่าเศรษฐกิจแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน หากจะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อจะส่งผลให้เศรษฐกิจยิ่งโตช้าหรือถดถอย บางประเทศจึงไม่ขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงอย่างที่สหรัฐทำ

            ผู้เชี่ยวชาญยังตั้งข้อสังเกตว่าต้องรออย่างน้อย 6 เดือนจึงจะรู้ว่ามาตรการการเงิน (ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ) จะได้ผลจริงแค่ไหน (การพิจารณาตัวเลขตอนนี้อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง) สรุปสั้นๆ คือ ต้องรอปีหน้าจึงจะตอบได้ว่าขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อได้จริงและต้องดูรายประเทศด้วย

            จีนยังส่งออกมากขึ้นแต่โดยรวมแล้วเศรษฐกิจโตช้าลง การบริโภคภายในลดลง 10% เมื่อเทียบกับก่อนเกิดโควิด-19 ความหวังที่จะเห็นจีนเป็นเครื่องกระตุ้นเศรษฐกิจโลกริบหรี่ ดูเหมือนรัฐบาลสี จิ้นผิงวางนโยบายให้เป็นเช่นนั้น

            ท้ายที่สุดผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การคว่ำบาตรรัสเซียกับกีดกันไม่ให้จีนเข้าถึงสินค้าไฮเทคคือต้นเหตุปัญหาที่รัฐบาลก่อและประชาชนต้องจ่ายราคาในขณะนี้

4 ธันวาคม 2022
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 9517 วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2565)

----------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง: 
แม้ไม่เหมือนองค์กรนาโต เครือข่ายความมั่นของสหรัฐในอินโด-แปซิฟิกมีอยู่จริง อยู่ร่วมกับประเทศต่างๆ ทั้งระดับทวิภาคี พหุภาคี แต่หลายประเทศร่วมมือมหาอำนาจอื่นด้วยเป็นโครงสร้างความมั่นคงภูมิภาคที่ซับซ้อน

บรรณานุกรม :

1. A new kind of global recession: Why this time is different | Business Beyond. (2022, November 18). DW. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=cD3o6tqP9pI

2. Beware China’s telecom tech: US official. (2022, October 31). Taipei Times. Retrieved from https://www.taipeitimes.com/News/front/archives/2022/10/31/2003788000

3. Chip ban pushback stresses damage. (2022, November 26). China Daily. Retrieved from https://www.chinadaily.com.cn/a/202211/26/WS63816591a31057c47eba12de.html

4. China slams US industrial subsidies, export controls that ‘may violate WTO rules’. (2022, November 27). Global Times. Retrieved from https://www.globaltimes.cn/page/202211/1280528.shtml

5. Harvard guru gives Biden a D+ for China policy. (2022, November 23). Asia Times. Retrieved from https://asiatimes.com/2022/11/harvard-guru-gives-biden-a-d-for-china-policy/

6. Power play: China’s submarines going lithium. (2022, October 30). Asia Times. Retrieved from https://asiatimes.com/2022/10/power-play-chinas-submarines-going-lithium/

7. US chip ban de facto declaration of war on China? (2022, October 29). Asia Times. Retrieved from https://asiatimes.com/2022/10/us-chip-ban-de-facto-declaration-of-war-on-china/

8. US chip ban hangs over Shanghai’s new AI center. (2022, November 23). Asia Times. Retrieved from https://asiatimes.com/2022/11/us-chip-ban-hangs-over-shanghais-new-ai-center/

9. US will struggle to stop China’s quantum leap. (2022, October 31). Asia Times. Retrieved from https://asiatimes.com/2022/10/us-will-struggle-to-stop-chinas-quantum-leap/

10. US tech war shows signs of crumbling. (2022, November 27). Asia Times. Retrieved from https://asiatimes.com/2022/11/us-tech-war-shows-signs-of-crumbling/

11. US’ repeated ban on Chinese tech firms will only ‘hurt global value chain, get backfire’. (2022, November 26). Global Times. Retrieved from https://www.globaltimes.cn/page/202211/1280493.shtml

-----------------------