ทำไมยุโรปต้องทน ยอมให้เศรษฐกิจพังเพื่อต้านรัสเซีย

บัดนี้ไม่ใครปฏิเสธแล้วว่าสงครามยูเครนสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ที่ควรเข้าใจคือบางประเทศทนได้ดีกว่า บางประเทศเศรษฐกิจสังคมจะพังพินาศก่อน 

            อียูระส่ำ แตกคอว่าควรแก้ปัญหาพลังงานขาดแคลนอย่างไร (AP)

27 ชาติอียูยังตกลงกันไม่ได้โดยเฉพาะเรื่องกดราคาพลังงานรัสเซีย มีแนวทางจะทำระบบซื้อร่วม

วิเคราะห์ :

          1. ถ้าทำตามนโยบายสหรัฐฯ กดราคาน้ำมัน คนที่เสียประโยชน์คือยุโรป

            รัฐบาลไบเดนเป็นคนต้นคิดนโยบายกดราคาพลังงานรัสเซีย ผลข้อแรกที่แน่นอนคือ ถ้ายุโรปกดราคารัสเซีย ยุโรปจะต้องนำเข้าในราคาแพงกว่าเดิม เพราะรัฐบาลปูตินประกาศชัดแล้วว่ายุโรปต้องซื้อพลังงานของตนในราคาตลาดโลกเท่านั้น ถ้าจะมากดราคาก็ไม่ต้องมาซื้อ ดังนั้นที่อียูพยายามจะหาทางออกด้วยการประนีประนอมต้องตามต่อว่า “ประนีประนอม” ได้อย่างไร

            ณ ตอนนี้ยุโรปนำเข้า LNG จากอเมริกาในราคาแพงกว่าของรัสเซียเป็นตัวเท่า

            ข้อมูลล่าสุด ยุโรปซื้อก๊าซในราคาแพงกว่าอเมริกา 5 เท่า ราคาที่สหรัฐฯ เฉลี่ย 5 ดอลลาร์ต่อ MMBTU ส่วนยุโรป 25 ด้านประธานาธิบดีมาครงกล่าวว่าสหรัฐฯ ขายก๊าซในราคาแพงกว่าที่เราเคยซื้อ 3-4 เท่า เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ เจรจาสันติภาพยูเครน 

            (วิเคราะห์ : สังเกตมาครงเอ่ยถึงสหรัฐฯ สงครามยูเครนจะยุติหรือไม่ขึ้นกับสหรัฐฯ ผู้สนับสนุนรายใหญ่)

            ทั้งนี้เพราะสหรัฐฯ สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจำนวนมหาศาลจนอุปทานล้นตลาด

            ส่วนพวกที่เป็นมิตร รัสเซียขายให้ในราคามิตรภาพ เช่น จีน อินเดีย ข้อมีมูลว่าหลายชาติยุโรปซื้อพลังงานรัสเซียจากประเทศเหล่านี้

            ยกตัวอย่าง หลายเดือนที่ผ่านมาจีน “ขายต่อ” LNG แก่ยุโรป เดาได้เลยว่า LNG ที่ว่าจีนซื้อจากรัสเซีย

            อินเดียที่แต่เดิมไม่เคยนำเข้าน้ำมันรัสเซียตอนนี้กลายเป็นพ่อค้าคนกลางให้รัสเซีย แน่นอนว่าอินเดียได้กำไรในฐานะพ่อค้าคนกลางไม่มากก็น้อย มารีน เลอเปน (Marie Le Pen) หัวหน้าพรรค National Rally แกนนำฝ่ายค้านฝรั่งเศสถึงกับพูดว่ามาตรการคว่ำบาตรรัสเซียไม่ได้ผลเลย (“completely inefficient”) ทำให้รัสเซียรวยกว่าเดิม ฝรั่งเศสต่างหากที่ได้รับผลกระทบมากกว่าที่รัสเซียเผชิญ ตอนนี้ฝรั่งเศสต้องไปซื้อน้ำมันจากอินเดียที่ประเทศนี้นำเข้าจากรัสเซียอีกทอด

            ล่าสุดรัฐบาลตุรเคียสนใจเป็นศูนย์กระจายน้ำมันก๊าซธรรมชาติของรัสเซียเช่นกัน

            ที่น่าสนใจคือ มีข้อมูลชัดแล้วว่ารัสเซียตอนนี้ได้กำไรจากการขายพลังงานมากกว่าก่อนคว่ำบาตร Centre for Research on Energy and Clean Air สรุปว่า 6 เดือนสงครามยูเครน รัสเซียส่งออกพลังงานมูลค่า 158,000 ล้านดอลลาร์ ตอนนี้รัสเซียขายได้เงินมากกว่าเก่าแม้ปริมาณส่งออกลดลง เพราะราคาขยับขึ้นสูง เป็นข้อสรุปว่ามาตรการที่รัฐบาลสหรัฐกับพวกใช้ไม่ได้ผล มีแต่ทำให้ประชาชนทั่วโลกยากลำบาก สินค้าขึ้นราคา แพงทั้งแผ่นดิน

            น่าสงสัยว่านโยบายกดราคาพลังงานของสหรัฐฯ มีเพื่อทำร้ายใครกันแน่ อย่างไรเรียกว่าพันธมิตรนาโต อย่างไรเรียกว่าหุ้นส่วนชาติตะวันตก

          2. ความไม่เท่าเทียม การแบกรับภาระที่ไม่เท่าเทียม

            ความจริงพื้นฐานคือบริบทแต่ละประเทศแตกต่างกัน เศรษฐกิจในหมู่สมาชิกอียู 27 ประเทศนั้นบางประเทศเข้มแข็งกว่า บางประเทศเปราะบางกว่า เป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจบางประเทศจะพังก่อน อาจเกิดการจลาจลในบางประเทศก่อน

            หนำซ้ำบางประเทศได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูง โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่สามารถส่งก๊าซแก่ยุโรป (จากเดิมที่ส่งออกยุโรปไม่ได้เลย เพราะราคาก๊าซอเมริกาแพงกว่ารัสเซียเป็นเท่าตัว)

            สงครามยูเครนจึงทำให้ชาติยุโรปหลายประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงาน ต้องซื้อในราคาแพงกว่าเดิมมาก ในขณะที่ประเทศผู้ขายโกยกำไรมหาศาล ทำไมสหรัฐฯ ไม่แบ่งความมั่งคั่งร่ำรวยนี้แก่อียูบ้าง

            ดูเหมือนว่าในกรณีนี้ไม่มีความเท่าเทียมในหมู่ประเทศประชาธิปไตยด้วยกัน

          3. บรรษัทน้ำมันสหรัฐฯ ผู้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์

            ข้อมูลล่าสุด สหรัฐฯ เป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก ส่งออกน้ำมันดิบและน้ำมันชนิดต่างๆ ถึง 11.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน แบ่งเป็นน้ำมันดิบ 5.1 (เป็นสถิติสูงสุด) และน้ำมันผ่านการกลั่นอีก 6.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน

            บรรษัทน้ำมันสหรัฐฯ เร่งผลิตและส่งออกอย่างเต็มที่ในช่วงนี้ Energy Information Administration เผยว่าเป็นผลจากเทคโนโลยี shale gas กับ shale oil

(กราฟ แสดงการส่งออกน้ำมันที่กลั่นแล้ว (กราฟเส้นบน) กับน้ำมันดิบ ที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ)

            วิเคราะห์ : คนอเมริกัน (และยุโรป) ต้องซื้อใช้พลังงานในราคาตลาดโลก แม้ประเทศตัวเองเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก การคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียส่งผลดีต่อบรรษัทน้ำมันสหรัฐฯ โดยตรงทั้งเรื่องขายได้ราคาดีและขายได้มากขึ้น 

            4. เศรษฐกิจถดถอยรอบนี้รัฐบาลเป็นผู้ก่อ (อัพเดท 19 พ.ย.)

            (ข้อมูลตอนนี้ส่วนใหญ่นำมาจากสื่อ DW https://www.youtube.com/watch?v=cD3o6tqP9pI)

            ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าไม่สามารถเทียบเศรษฐกิจถดถอย 2008 กับปีปัจจุบัน การจะเข้าใจต้องเข้าใจที่มาของปัญหาก่อน

            4.1 ปัญหาเศรษฐกิจรอบนี้มาจาก 3 เหตุการณ์หลัก

            4.1.1 โควิด-19

            ซับพลายเชนมีปัญหาเมื่อเปิดประเทศอีกครั้ง การระบาดลดลง ผู้คนใช้ชีวิตตามปกติ ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้สินค้าขาดแคลน นโยบาย zero Covid ของจีนทำให้จีนยังเผชิญปัญหานี้อยู่

            4.1.2 การคว่ำบาตรจีน

            รัฐบาลสหรัฐฯ พยามยามปิดกั้นสินค้าไฮเทคไม่ให้เข้าถึงจีน เช่น หมวดเซมิคอนดักเตอร์ ซ้ำเติมซับพลายเชนให้มีปัญหาหนักกว่าเดิม สินค้าที่ต้องใช้ชิป ใช้แผงวงจรเกิดปัญหาขาดแคลนทันที สังเกตว่าการซื้อรถใหม่ต้องใช้เวลาสั่งจองนานกว่าปกติ

            4.1.3 การคว่ำบาตรัสเซีย

            4.1.3.1 รัฐบาลสหรัฐฯ กับพวกคว่ำบาตรไม่ซื้อใช้พลังงานรัสเซีย อันที่จริงแล้วอียูนำเข้าก๊าซธรรมชาติรัสเซียเพียง 39.2% ของปริมาณก๊าซที่ใช้ แต่ที่เป็นปัญหาเพราะต้องหาผู้ขายใหม่กะทันหัน ทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้นทันที

            4.1.3.2 การส่งออกธัญพืช

            สงครามยูเครนทำให้การส่งออกธัญพืชรัสเซียกับยูเครนมีปัญหา โดยเฉพาะสินค้าบางตัว เช่น ข้าวสาลี ผลคือทำให้ราคาหมวดอาหารถีบตัวสูงขึ้น

            4.2 มาลงที่ตัวเลขเงินเฟ้อ เฟ้อทั้งโลก

            ปัญหา 3 ข้อข้างต้นก่อให้เงินเฟ้อพุ่ง สังเกตว่าเงินเฟ้อเริ่มต้นที่หมวดพลังงานกับอาหารเป็นหลัก ที่สำคัญคือเกิดภาวะเงินเฟ้อทั้งโลก (ไม่ใช่ที่ยูเครนหรือยุโรปเท่านั้น) บางประเทศสูงอย่างที่ไม่เคยประสบในรอบ 4 ทศวรรษ

            ต้องย้ำว่าเงินเฟ้อรอบใหม่กระทบต่อคนทั่วไปทั้งโลก เพราะราคาพลังงานกับอาหารซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นพุ่งพรวด ในช่วงแรกนี้คนไม่ตกงานแต่รายได้ไม่พอรายจ่าย (หรือรายจ่ายเพิ่มขึ้น) สังเกตว่าค่าไฟเพิ่ม ค่าอาหารเพิ่ม

            ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า 2 เรื่องที่กำลังจะเกิดคือเศรษฐกิจโตช้ากับสินค้าแพง ตอนนี้ต้องทำความเข้าใจต่อว่าเศรษฐกิจแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน หากจะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อจะส่งผลให้เศรษฐกิจยิ่งโตช้าหรือถดถอย บางประเทศจึงไม่ขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงแบบที่สหรัฐฯ ทำ

            ผู้เชี่ยวชาญยังตั้งข้อสังเกตว่าต้องรออย่างน้อย 6 เดือนจึงจะรู้ว่ามาตรการการเงิน (ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ) จะได้ผลจริงแค่ไหน (การพิจารณาตัวเลขตอนนี้อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง) สรุปสั้นๆ คือ ต้องรอปีหน้าจึงจะตอบได้ว่าขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อได้จริงแค่ไหน และต้องดูรายประเทศด้วย

            จีนยังส่งออกมากขึ้นแต่โดยรวมแล้วเศรษฐกิจโตช้าลง การบริโภคภายในลดลง 10% เมื่อเทียบกับก่อนเกิดโควิด-19 ความหวังที่จะเห็นจีนเป็นเครื่องกระตุ้นเศรษฐกิจโลกำริบหรี่ ดูเหมือนรัฐบาลสี จิ้นผิงวางนโยบายให้เป็นเช่นนั้น

            ท้ายที่สุดผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การคว่ำบาตรรัสเซียกับกีดกันไม่ให้จีนเข้าถึงสินค้าไฮเทค คือต้นเหตุปัญหาที่รัฐบาลก่อและประชาชนต้องจ่ายราคาในขณะนี้

             5. คำว่าพันธมิตร มิตรประเทศหมายถึงอย่างไรกันแน่ (อัพเดท 23 พ.ย.)

            ประเทศมอลโดวา (Moldova) แบมือขอความเชื่อเหลือจากเพื่อนบ้าน ฝรั่งเศส เยอรมนีและโรมาเนียเสนอความช่วยเหลือ 160 ล้านดอลลาร์ (DW)
            วิเคราะห์ :

            1) มอลโดวาอยู่ในยุโรปตะวันออกดำเนินนโยบายแนวทางเดียวกับสหรัฐฯ นาโต ไม่ซื้อใช้พลังงานรัสเซีย ต้องซื้อใช้พลังงานผ่านช่องทางใหม่ที่ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่า ส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจการเมือง #สินค้าขึ้นราคา #แพงทั้งแผ่นดิน ถึงขั้นต้องเปิดรับความช่วยเหลือจากประเทศเพื่อนบ้าน โครงสร้างพลังงานที่เชื่อมโยงกัน แต่บริบท ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจต่างกัน มอลโดวาเป็นอีกตัวอย่างที่ “กระเทือนอย่างหนัก” ไปต่อยาก

(ภาพ: ชาวมอลโดวาประท้วงสินค้าขึ้นราคา แพงทั้งแผ่นดิน)

            2) OECD คาดปีหน้าผลกระทบจากการคว่ำบาตรรัสเซียจะสำแดงฤทธิ์ต่อยุโรปอย่างแรง ความปั่นป่วนวุ่นวายภายในยุโรปจะลากยาวไปถึงปีหน้า

            3) คำถามสำคัญคือจะคงโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่เช่นนี้ต่อไป หรือจะฟื้นฟูอย่างไร อย่างน้อยต้องดีเทียบเท่ากับก่อนคว่ำบาตรรัสเซีย แต่ละประเทศจะต้อง “จ่ายราคา” เพื่อเล่นงานรัสเซียตามนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ กับนาโตมากแค่ไหน คำว่าพันธมิตร มิตรประเทศหมายถึงอย่างไรกันแน่

               6. ถ้ารัฐบาลสหรัฐฯ มีหน้าที่ดูแลคนอเมริกันให้อยู่ดีมีสุข

            รัฐบาลสหรัฐฯ ย้ำเสมอว่ามีหน้าที่ปกป้องคนอเมริกัน ทำให้พวกเขามั่งคั่งกว่าเดิม รัฐบาลชาติอียูไม่ได้ทำเช่นนั้นด้วยหรือ

            ทำไมชาติยุโรปต้องทนหนาว ทนอดอยาก ในขณะที่บางประเทศสามารถพิมพ์เงินใช้ไม่อั้น นี่เป็นคำถามที่น่าคิดใช่ไหม นี่คือคำถามที่รัฐบาลชาติอียูทั้งหลายต้องตอบประชาชนของตนเอง

            สุดท้ายประเทศที่เป็นมหาอำนาจจะยิ่งใหญ่กว่าเดิม ส่วนยุโรปจำต้องอยู่ใต้อำนาจอิทธิพลของมหาอำนาจนั้น รอรับความช่วยเหลือไปวันๆ

            7. กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ โทษรัสเซียต้นเหตุทำให้ค่าอาหารฉลองวัน Thanksgiving แพงขึ้น 20% (Fox News)

             โรคระบาดที่เกิดกับไก่งวงเป็นอีกปัจจัย

            คำชี้แจงของกระทรวงเกษตรสอดคล้องกับประธานาธิบดีไบเดนที่กล่าวว่าปูตินเป็นต้นเหตุทำให้ราคาอาหารกับพลังงานพุ่ง

            วิเคราะห์ : คำชี้แจงของรัฐบาลไบเดนผิด ด้วยเหตุผลดังนี้

            1) ราคาพลังงานกับอาหารสูงขึ้นเกิดจากการไม่ซื้อใช้ของรัสเซีย

            ราคาพลังงานกับอาหารสูงขึ้น เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ กับพวกประกาศห้ามนานาชาติซื้อใช้พลังงานรัสเซีย การคว่ำบาตรธนาคารรัสเซียทำให้ไม่สามารถซื้อขายสินค้ารัสเซีย (หรือยากมาก) นานาชาติจึงซื้อปุ๋ย สินค้าเกษตรรัสเซียไม่ได้ ปุ๋ยเป็นต้นทุนของสินค้าเกษตรทุกชนิด เป็นต้นทุนอาหารสัตว์ (นำปุ๋ยไปปลูกพืชอาหารสัตว์)

            2) โลกไม่ขาดแคลนพลังงาน อุปทานมีเพียงพอสำหรับอุปสงค์ แต่ที่ราคาน้ำมันแพงเพราะผู้ซื้อฝั่งยุโรปที่ทำตามนโยบายรัฐบางสหรัฐฯ กับพวก ต้องเปลี่ยนผู้ซื้อผู้ขายกะทันหัน ระบบโครงสร้างพลังงานไม่รองรับ (เช่น เดิมได้ก๊าซรัสเซียที่ส่งมาทางต่อ ตอนนี้เปลี่ยนเป็นเรือบรรทุกก๊าซจากประเทศอื่น แต่ท่าเรือที่รองรับการถ่ายก๊าซมีน้อย ไม่พอใช้)

            3) รัฐบาลสหรัฐฯ และทุกประเทศต้องดูแลประชาชน ดูแลชีวิตความเป็นอยู่

            การต่อสู้แข่งขันระหว่างมหาอำนาจเป็นเรื่องปกติ “ดำเนินเรื่อยมาอยู่ที่ประชาชนจะรับรู้หรือเข้าใจมากน้อย” รัฐบาลสหรัฐฯ กับพวกสามารถเลือกใช้หลายวิธี แต่วิธีที่ใช้ตอนนี้กระทบต่อการอยู่ดีมีสุขของประชาชนอย่างชัดเจนรุนแรง

            จึงเป็นเรื่องแปลกที่รัฐบาลสหรัฐฯ กับพวกเลือกวิธีที่ทำร้ายพลเมืองตนเอง (ยังไม่พูดถึงที่กระทบต่อพลเมืองโลก)

            4) ต้องหาวิธีการใหม่หรือไม่

            สมัชชาสหประชาชาติพยายามกดดันรัฐบาลสหรัฐฯ กับพวกเปิดทางให้นานาชาติสามารถซื้อปุ๋ยรัสเซีย เพราะกระทบพลเมืองโลก (สินค้าขึ้นราคา แพงทั้งแผ่นดิน) รัฐบาลสหรัฐฯ กับพวกยอมรับเรื่องนี้ สุดท้ายขึ้นกับว่าฝ่ายสหรัฐฯ จะยอมเปิดทางให้หรือไม่ และใช้แนวทางอื่นๆ คว่ำบาตรปิดล้อมรัสเซีย

            วันฉลอง Thanksgiving ราคาไก่งวงเป็นแค่เหตุการณ์เล็กๆ ที่สร้างความรับรู้ ความจริงแล้วสินค้าขึ้นราคา แพงทั้งแผ่นดินในขณะนี้ต้นเหตุมาจากการแข่งขันช่วงชิงระหว่างมหาอำนาจ


             8. คาดอาหารแพงและจะแพงขึ้นตลอดปีใหม่นี้

            ราคาอาหารเดือนธันวาของอังกฤษพุ่ง 13.3% เมื่อเทียบปีต่อปี สูงกว่าเดือนพฤศจิกายนที่ 12.4% (The Guardian)

            British Retail Consortium (BRC) เผยราคาอาหารขายปลีกเดือนธันวายังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง เป็นสถิติขึ้นแรงสุดตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลเมื่อปี 2005 สงครามยูเครนเป็นต้นเหตุทำให้อาหารแพง เนื่องจากตุ้นทุนอาหารสัตว์ ปุ๋ย พลังงานสูงขึ้น คาดว่าสถานการณ์ปีใหม่นี้อาจเลวร้ายกว่าเดิม

            วิเคราะห์ : รัฐบาลสหรัฐฯ กับพวกใช้ยุทธศาสตร์ทำสงครามไฮบริด หวังทำลายเศรษฐกิจรัสเซีย จึงกีดกันไม่ให้ยุโรปกับทั่วโลกไม่ซื้อใช้พลังงาน ปุ๋ย ธัญพืชรัสเซีย .... เป็นต้นเหตุทำให้อาหารแพงทั่วโลกในขณะนี้ กระทบต่อประชาชนโดยตรง โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย

21 ตุลาคม 2022
(อัพเดท 4 มกราคม 2023)
ชาญชัย คุ้มปัญญา

--------------------------

 

อ้างอิง :

1. A new kind of global recession: Why this time is different | Business Beyond. (2022, November 18). DW. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=cD3o6tqP9pI

2. China’s LNG Imports Are Set For A Record-Breaking Plunge. (2022, October 19). oilpricedotcom. Retrieved from https://oilprice.com/Energy/Energy-General/Chinas-LNG-Imports-Are-Set-For-A-Record-Breaking-Plunge.html

3. EU leaders divided on gas price cap at energy crisis summit. (2022, October 20). AP. Retrieved from https://apnews.com/article/russia-ukraine-zelenskyy-putin-kyiv-business-057533d7720d663460683631313fd2f2

4. Macron at Vatican: US Needs to Sit Down at Negotiating Table to Push Forward Ukraine Peace Process. (2022, October 25). Sputnik News. Retrieved from https://sputniknews.com/20221025/macron-at-vatican-us-needs-to-sit-down-at-negotiating-table-to-push-forward-ukraine-peace-process-1102607854.html

5. Moldova: European countries pledge aid amid energy crisis. (2022, November 22). DW. Retrieved from https://www.dw.com/en/moldova-european-countries-pledge-aid-amid-energy-crisis/a-63835634

6. Record 13.3% UK food inflation raises fears of ‘another difficult year’. (2023, January 4). The Guardian. Retrieved from https://www.theguardian.com/business/2023/jan/04/record-133-uk-food-inflation-raises-fears-of-another-difficult-year

7. Russia pockets US$158 billion in energy exports after war: Report. (2022, September 6). Channel News Asia. Retrieved from https://www.channelnewsasia.com/world/russia-energy-exports-158-billion-euros-ukraine-invasion-european-union-2922351

8. Texas Natural Gas Prices Sink Close To Zero. (2022, October 24). oilpricedotcom. Retrieved from https://oilprice.com/Latest-Energy-News/World-News/Texas-Natural-Gas-Prices-Sink-Close-To-Zero.html

9. US exports record oil volumes as fuel price tensions build. (2022, October 26). Financial Times. Retrieved from https://www.ft.com/content/c4adf3d8-e7fc-413d-a69d-eb7ae9207e0a

10. USDA blames Russia for rising price of Thanksgiving dinner. (2022, November 21). Fox News. Retrieved from https://www.foxnews.com/politics/usda-blames-russia-rising-price-thanksgiving-dinner

11.