ความภาคภูมิใจของคนอเมริกันต่อประเทศตัวเอง

สถิติความภาคภูมิใจของสหรัฐอาจไม่ดีที่สุดและแย่ลงทุกทีแต่ดีกว่าหลายประเทศ ช่วยชี้วัดความพอใจของประชาชนและชี้วัดความเข้าใจต่อการเมืองและสังคมด้วย

        ปลายเดือนมิถุนายน Gallup เผยผลสำรวจความภาคภูมิใจของคนอเมริกัน พบว่า 38% มีความภาคภูมิใจต่อการเป็นคนอเมริกันสุดหัวใจ (extremely proud) ตัวเลขนี้เป็นสถิติต่ำสุดนับจากเริ่มสำรวจเมื่อปี 2001 รองลงมา 27% ภูมิใจมาก (very proud) ถ้ารวม 2 กลุ่มนี้เท่ากับ 65% หรือราว 2 ใน 3 ภาคภูมิใจมากต่อการเป็นคนอเมริกันและต่อประเทศตนเอง

        ตัวเลข 38 กับ 27% มีค่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มภาคภูมิใจสุดหัวใจซึ่งอยู่ที่ 55% ค่าเฉลี่ยภูมิใจมาก 80% ที่คำนวณตั้งแต่ปี 2001

        22% ภูมิใจบ้าง (moderately proud) 9% ภูมิใจนิดเดียว (only a little) 4% ไม่ภูมิใจเลย (not at all)

        โดยรวมแล้วภาคภูมิใจลดน้อยลงตามลำดับและปีนี้ต่ำสุด (2022)

        ในยามนี้เป็นช่วงที่ประเทศเพิ่งผ่านพ้นจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 กำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 40 ปี (แม้ผ่านจุดวิกฤตโควิด-19 แต่ผลกระทบกำลังสำแดงฤทธิ์ IMF ประเมินว่าบางคนอาจได้รับผลกระทบยาวถึง 10 ปี) ปัญหาสังคมดูเหมือนมากขึ้นรุนแรงขึ้น เหล่านี้น่าจะเป็นมีผลต่อทัศนคติผู้ตอบแบบสอบถาม เช่น ส่วนใหญ่สนับสนุนร่างกฎหมายควบคุมอาวุธปืนหลังเหตุการณ์คนร้ายกราดยิงที่เกิดขึ้นถี่ในช่วงนี้

        Gallup อธิบายว่าก่อนปี 2015 ค่าความภาคภูมิใจสุดหัวใจ (extremely proud) ไม่เคยต่ำกว่า 55% (ดูกราฟประกอบ) ค่านี้สูงสุดหลังเหตุวินาศกรรมผู้ก่อการร้ายโจมตีสหรัฐหรือที่เรียกว่า 9/11 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 รัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) ประกาศทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายทั่วโลก นำสู่สงครามอัฟกานิสถานกับการโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซนแห่งอิรัก เป็นประวัติศาสตร์ที่สหรัฐทำสงครามใหญ่กับ 2 ประเทศในเวลาไล่เลี่ยกัน สังคมอยู่ในบรรยากาศรักชาติเข้มข้น

        ปฏิบัติการสงครามอัฟกานิสถานเริ่มต้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2001 ต่อมามีนาคม 2003 กองทัพอเมริกันกับพันธมิตรเริ่มโจมตีอิรัก พฤษภาคม 2003 ประธานาธิบดีบุชประกาศชัยชนะ ซัดดัม ฮุสเซนผู้นำอิรักถูกจับในเวลาต่อมา

        คะแนนความภาคภูมิใจสัมพันธ์กับคะแนนความนิยมต่อตัวประธานาธิบดี ช่วยให้บุชได้รับเลือกอีกสมัย แต่คะแนนนิยมลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อสังคมอเมริกันเริ่มสงสัยมูลเหตุจูงใจการทำสงคราม ตัวเลขทหารอเมริกันบาดเจ็บเสียชีวิตเพิ่มทุกวัน นับจากปี 2004 ที่คะแนนสูงสุด เห็นชัดว่าความภาคภูมิใจต่อการเป็นคนอเมริกันลดลงต่อเนื่องอย่างชัดเจน

        ถ้าพิจารณาตามสังกัดพรรคเมือง พวกที่สนับสนุนพรรครีพับลิกันมีคะแนนสูงกว่าพวกที่สนับสนุนพรรคเดโมแครทกับพวกอิสระอย่างชัดเจน ในช่วงที่ประธานาธิบดีมาจากพรรครีพับลิกันคะแนนความภาคภูมิใจของพวกสนับสนุนรีพับลิกันจะขึ้นสูง ในทางกลับกันจะลดลงเมื่อประธานาธิบดีมาจากพรรคเดโมแครท ในภาพรวมคะแนนความภาคภูมิใจของทั้ง 3 กลุ่มมีแนวโน้มลดลงเหมือนกัน

        กลุ่มชายสูงวัยผู้มีการศึกษาต่ำกว่าระดับวิทยาลัยเป็นกลุ่มที่มีความภาคภูมิใจสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ

        Gallup อธิบายว่าความรักชาติกับความภาคภูมิใจจะไปด้วยกัน แต่นิยามความรักชาติแต่ละช่วงอาจไม่เหมือนกันและขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ เช่น ใครเป็นผู้นำประเทศ สภาพสังคมเศรษฐกิจ ไม่กี่ปีมานี้ความแตกแยกทางการเมืองอย่างรุนแรงระหว่าง 2 พรรคใหญ่เป็นอีกสาเหตุหลัก และล่าสุดคือผลกระทบจากโควิด-19 ปัญหาเงินเฟ้อ

        ผลสำรวจเมื่อมกราคม 2021 ของ YouGov ในหัวข้อเดียวกันให้ข้อสรุปคล้ายกับ Gallup 70% ตอบแง่บวก เพียง 24% เท่านั้นที่ตอบว่าภูมิใจนิดเดียวหรือไม่ภูมิใจเลยที่เป็นคนอเมริกัน

ตัวอย่างเหตุผลความภาคภูมิใจ :

        พวกที่ตอบว่าภาคภูมิใจมากมักให้เหตุผลว่าเพราะประเทศมีเสรีภาพ เป็นประเทศแห่งโอกาส เป็นชาติที่ยิ่งใหญ่สุดของโลก ผู้คนทั่วโลกพยายามหลั่งไหลเข้าสหรัฐ

        คำว่าเสรีภาพคือเสรีภาพในทุกด้าน เช่น เสรีภาพในการทำสิ่งต่างๆ เช่น ในการนับถือศาสนาความเชื่อ เสรีภาพที่จะเรียกร้องต่อต้านความฉ้อฉล สามารถพูดโดยไม่ต้องกลัวอะไร เป็นประเทศที่มีเสรีภาพสูงสุด

        ในแง่โอกาส มีรัฐธรรมนูญที่ปกป้องสิทธิส่วนบุคคล เป็นสังคมที่เปิดกว้างให้โอกาสเต็มที่ ทุกคนมีสิทธิเท่ากันที่จะประสบความสำเร็จและมีความสุข สามารถเปลี่ยนฝันให้เป็นความจริง

        เป็นประเทศที่ยืดหยุ่นพร้อมกับยึดมั่นหลักการ เป็นพหุสังคม คนอเมริกันอยู่ร่วมกันและช่วยเหลือกันและกัน คนต่างด้าวที่ย้ายเข้ามาเข้าได้กับวัฒนธรรมท้องถิ่น มีอาหารที่ดี มีอุตสาหกรรมบันเทิงที่ใหญ่ที่สุด

        สหรัฐเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นผู้นำในเวทีโลก

        รวมความแล้วเป็นประเทศที่มีจิตวิญญาณอเมริกัน (“American spirit”) น่าจะเป็นแบบอย่างแก่โลก

ตัวอย่างเหตุผลความไม่ภาคภูมิใจ :

        ประเด็นสำคัญๆ ได้แก่ การเคลื่อนไหวของพวกขวาจัด (far-right movements) การเหยียดผิวเหยียดเชื้อชาติ (racism) การแบ่งแยก (discrimination) การขับคนที่ไม่ชอบออกจากสังคม (cancel culture) เกลียดชังพวกรักร่วมเพศ ลัทธิทุนนิยมที่ไร้การควบคุม (unfettered capitalism) โครงข่ายการคุ้มครองทางสังคม (Social Safety Nets) ที่ยังน้อยเกินไป คนเห็นแก่ตัว ไม่สนใจสังคม

        ความไม่น่าเชื่อถือของสถาบันต่างๆ โกงเลือกตั้ง สถาบันการเมืองคือจุดอ่อนสำคัญ ผลสำรวจของ Pew Research Center ที่รายงานเมื่อกรกฎาคม 2022 พบว่าความน่าเชื่อต่อสถาบันการเมืองต่ำสุดในรอบเกือบ 20 ปี คนอเมริกันเพียง 21% ที่บอกว่าตนเชื่อถือรัฐบาลกลางคิดว่ารัฐบาลทำสิ่งที่ถูกต้องอยู่เสมอ 24% คิดว่าโดยรวมแล้วรัฐบาลยังน่าเชื่อถืออยู่ (รวม 2 กลุ่มจะเท่ากับ 45%) จุดสำคัญที่ต้องปรับปรุงคือนักการเมืองต้องฟังเสียงประชาชนอย่างจริงจัง ถ้าย้อนหลังไปปี 1958 ตอนนั้นคนอเมริกันถึง 75% ที่เชื่อถือรัฐบาล ตัวเลขความน่าเชื่อถือนี้ลดลงเรื่อยๆ

        การเหยียดผิวเหยียดเชื้อชาติ (racism) เป็นประเด็นที่ให้ความสำคัญ ชี้ว่าประเทศละเลยมานับร้อยปี ไม่เคารพความสิทธิความเสมอภาคของทุกคน ในขณะที่บางคนพูดถึงประเทศที่มีสิทธิเสรีภาพ ทุกคนมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จและเป็นสุข อเมริกามีกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านเสรีภาพความเสมอภาคอยู่ด้วย ประเด็นหนึ่งที่เอ่ยถึงกันมากคือ White Supremacy ที่คนอเมริกันผิวขาวส่วนหนึ่งมีรากความคิดว่าพวกตนเป็นเชื้อชาติที่เหนือกว่าเชื้อชาติอื่นๆ สมควรอยู่อย่างหรูหรามีความสุขเหนือชนชาติอื่นๆ เป็นทัศนคติของกลุ่มที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น

        คนที่ยึดถือ White Supremacy จะมีทัศนะคติดูถูกเหยียดหยามคนสีผิวอื่น เชื้อสายอื่น รวมทั้งพลเมืองอเมริกันที่เป็นคนผิวสี แม้กระทั่งคนเชื้อสายเอเชีย (พวกหน้าตาคล้ายจีน) ทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นพลเมืองอเมริกัน บางคนอยู่ในอเมริกาหลายรุ่นแล้ว

        พฤษภาคม 2022 แอนโทนี บลิงเคน (Antony Blinken) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่ารัฐบาลยังต้อนรับนักศึกษาจีน ปีการศึกษาล่าสุดนักศึกษาจีนกว่าแสนคนทะเบียนเรียน ราว 80% เรียนทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ต้องยอมรับว่าพวกเขาเป็นประโยชน์แก่สหรัฐด้วย การเหยียดผิวเหยียดเชื้อชาติและความเกลียดชังไม่ช่วยสร้างชาติ ตลอดประวัติศาสตร์คนต่างด้าวช่วยสร้างชาติ คนอเมริกันเชื้อสายจีนทำคุณประโยชน์ต่อประเทศ หากใครปฏิบัติต่อคนจีนไม่ถูกไม่ควรเท่ากับทำลายจุดยืนของประเทศ คนอเมริกันเคารพนับถือคนจีนแต่กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลจีนนั้นเป็นคนละเรื่อง

        ผลสำรวจล่าสุดของ Gallup ชี้ว่าคนอเมริกัน 65% หรือราว 2 ใน 3 ภาคภูมิใจมาก (extremely proud รวมกับ very proud) ต่อการเป็นคนอเมริกันหรือต่อประเทศตนเอง นับเป็นตัวเลขที่สูงแต่ลดลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนการเมืองการปกครอง ชี้ว่าคนอเมริกันไม่พอใจบางสิ่งบางอย่าง ไม่พอใจสภาพโดยรวมของประเทศมากขึ้น

        ถ้ามองภาพรวมระดับโลก สถิติความภาคภูมิใจของสหรัฐอาจไม่ดีที่สุดแต่ดีกว่าหลายประเทศ ดีกว่าประเทศที่จมอยู่ในสงครามกลางเมือง ดีกว่าหลายประเทศที่เศรษฐกิจตกต่ำจนพังทลายไปแล้ว สถิติความภาคภูมิใจชี้วัดความพอใจของประชาชนและชี้วัดความเข้าใจต่อการเมืองและสังคมด้วย

        เป็นความจริงที่ว่าไม่มีประเทศใดสมบูรณ์ สำคัญที่ผู้นำประเทศ บรรดานักการเมือง เหล่าผู้มีบทบาทสำคัญและพลเมืองจะต้องสามารถแยกแยะและคัดเลือกทัศนคติที่ส่งผลดีต่อตนเองและสังคม ถ้าเลือกถูกสังคมจะเจริญรุ่งเรือง ถ้าเลือกผิดผู้คนจะตกต่ำ เป็นสังคมที่ทำลายตนเอง

10 กรกฎาคม 2022
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 9370 วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2565)
---------------------
บรรณานุกรม :

1. America Speaks: Are they proud to be American? (2021, January 26). YouGov. Retrieved from https://today.yougov.com/topics/lifestyle/articles-reports/2021/01/25/america-speaks-are-they-proud-be-american

2. Dunne, Charles W. (2011). Iraq: Policies, Politics, and the Art of the Possible. In Akbarzadeh, Shahram (editor). America's Challenges in the Greater Middle East: The Obama Administration's Policies (pp.11-30). New York: Palgrave Macmillan.

3. Liz Cheney Calls Out GOP Leaders For Enabling White Nationalism. (2022, May 16). Huff Post. Retrieved from https://www.huffpost.com/entry/liz-cheney-elise-stefanik_n_6282683ce4b003ed2964bd5e

4. Record-Low 38% Extremely Proud to Be American. (2022, June 22). gallupdotcom. Retrieved from https://news.gallup.com/poll/394202/record-low-extremely-proud-american.aspx

5. Report shows public trust in government remains low in U.S. (2022, July 5). People’s Daily Online. Retrieved from http://en.people.cn/n3/2022/0705/c90000-10119315.html

6. UN says US must HEAR George Floyd protesters’ voices and get rid of its ‘STRUCTURAL RACISM’. (2020, June 3). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/490691-un-us-structural-racism-protests/

7. U.S Department of State. (2022, May 26). The Administration’s Approach to the People’s Republic of China. Retrieved from https://www.state.gov/the-administrations-approach-to-the-peoples-republic-of-china/

-----------------------