รัฐบาลสหรัฐควรทำให้ตัวเองเป็นแบบอย่างประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จ จะเป็นตลกร้ายถ้าช่วยให้ประเทศอื่นเป็นประชาธิปไตยแต่ตัวเองหันเข้าสู่อำนาจนิยมมากขึ้น
ในงาน
Summit for Democracy เมื่อ 9 ธันวาคมประธานาธิบดีโจ ไบเดนพูดชัดเรื่องการรวมตัวของฝ่ายประชาธิปไตย
นอกจากร่วมสร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง อีกเป้าหมายสำคัญคือต่อต้านลัทธิอำนาจนิยมซึ่งเท่ากับแบ่งโลกออกเป็น
2 ขั้ว คือฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายเผด็จการอำนาจนิยม การประชุมสุดยอดนี้วางกรอบทำงานร่วม
1 ปีและจะกลับมารายงานในปีหน้า ถือได้ว่าการประชุมสุดยอดประชาธิปไตยครั้งแรกนี้เริ่มการแบ่งขั้วครั้งใหม่
ต่อสู้เชิงอุดมการณ์การเมืองอีกรอบ
การเผชิญหน้าระหว่างประชาธิปไตย 2 แบบ :
เอกสาร
“China: Democracy That Works” ชี้ว่าประชาธิปไตยของจีนเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตย
(socialist democracy) เคารพสิทธิมนุษยชนอย่างสมบูรณ์
โดยที่ทุกคนต้องจงรักภักดีต่อลัทธิมาร์กซ์ ต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประชาชน ใช้คู่กับระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม
(socialist market economy) มีกิจการที่ชุมชุนหรือรัฐเป็นเจ้าของควบคู่กับกิจการของเอกชน
มุ่งเป้าให้เศรษฐกิจประเทศเข้มแข็งอยู่ในอำนาจประชาชน ไม่ขาดสิ่งของจำเป็น หลายสิบปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้โลกเห็นแล้วว่าจีนพัฒนาก้าวหน้าตามลำดับ
ชีวิตความเป็นอยู่ของคนจีนดีวันดีคืน ปัจจุบันทุกคนมีกินมีใช้ไม่ขัดสน
โดยรวมแล้วประเทศสงบเรียบร้อยภายใต้กฎหมาย รัฐบาลจีนไม่คิด “ส่งออก”
ระบอบการเมืองการปกครองและเคารพทุกระบอบ เคารพอธิปไตยทุกประเทศ
ในมุมมองของจีน
ประชาธิปไตยเป็นสิทธิของมนุษยชาติ ไม่จำกัดรูปแบบ
จะพัฒนาหรือเลือกใช้แบบใดขึ้นกับการตัดสินของคนประเทศนั้นตามบริบทวัฒนธรรม
จึงไม่มีรูปแบบเฉพาะและไม่ต้องทำตามคำบงการของใครที่คอยชี้ว่าต้องเป็นประชาธิปไตยแบบใด
ไม่ว่าจีนเป็นประชาธิปไตยหรือไม่
ประชาธิปไตยของใครดีกว่า ท้ายที่สุดควรให้ประชาชนประเทศนั้นตัดสิน
ยอมรับความจริงว่าไม่จำต้องยึดระบอบใดระบอบหนึ่ง เพราะการปกครองโลกมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา
แม้กระทั่งนิยามประชาธิปไตย รูปแบบประชาธิปไตยและประชาธิปไตยอเมริกา
ขึ้นกับว่ามนุษย์จะคิดเห็นการปกครองอย่างไร ผู้กุมอำนาจตัดสินใจอย่างไร
การอยู่ร่วมของประชาธิปไตยกับอีกฝ่าย
:
อันที่จริงแล้วทุกวันนี้ประเทศต่างๆ
ปกครองในหลายรูปแบบ ถ้าพูดเฉพาะสังคมนิยมกับประชาธิปไตย หรือแบบผสมสังคมนิยมประชาธิปไตย
ชาติตะวันตกที่เป็นต้นแบบประชาธิปไตยไม่ว่าจะฝรั่งเศส อังกฤษ
และเยอรมนีผู้มีบทบาทสูงในอียูล้วนมีพรรคการเมืองและเคยมีหรือมีรัฐบาลที่ยึดแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย
นายกรัฐมนตรีเยอรมนีคนล่าสุดโอลาฟ
โชลซ์ (Olaf Scholz) เป็นหัวหน้าพรรค SPD จัดตั้งรัฐบาลร่วมโดยมีแนวทางสังคมนิยมผสมอยู่ด้วย พรรคแรงงานอังกฤษ (Labour
Party) เดิมยึดแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตยอยู่คู่การปกครองอังกฤษมากว่าศตวรรษแล้ว
เพิ่งหันมาเน้นทุนนิยมในสมัยโทนี แบร์ (Tony Blair)
หลายปีที่ผ่านมาเบอร์นี
แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) วุฒิสมาชิกรัฐเวอร์มอนต์ อดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครท
(แพ้ฮิลลารี คลินตัน) นำเสนอแนวคิด “สังคมนิยมประชาธิปไตย”
(Democratic socialism) หวังให้สหรัฐเป็น “สังคมนิยมประชาธิปไตย”
จะเห็นว่า
การผสมผสานของสังคมนิยมกับทุนนิยมประชาธิปไตยนับวันจะเพิ่มมากขึ้น เป็นที่ยอมรับทั่วไป
ดังที่เคยนำเสนอแล้วว่าทุกวันนี้ไม่มีประเทศทุนนิยมเสรีเต็มร้อยและไม่มีประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เต็มร้อย
บรรดาประเทศที่เป็นทุนนิยมเสรีกำลังหันเข้าหาสังคมนิยม
พร้อมกับที่สังคมนิยมกำลังหันเข้าหาทุนนิยมเสรี เป็นการที่ 2
ขั้วที่อยู่ปลายสุดของแต่ละข้างกำลังเข้าหาอีกขั้ว
หรือกำลังเข้าไปอยู่จุดสมดุลระหว่างทุนนิยมเสรีกับสังคมนิยม
แทนที่จะมุ่งต่อสู้ทางความคิดว่าลัทธิการเมืองเศรษฐกิจใดดีสุดซึ่งทางวิชาการมีข้อสรุปนานแล้วว่าต่างมีข้อดีข้อเสีย
โจทย์ที่ดีกว่าคือควรใช้ระบอบเศรษฐกิจการเมืองใดจึงจะตอบโจทย์ตามบริบทตัวเองมากที่สุด
เลือกระบอบที่ดีที่สุดสำหรับตัว ไม่ต่างจากเลือกนโยบายที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา
แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลไบเดนไม่ยอมรับแนวทางนี้
ด้วยการสรุปเอาเองว่าต้องเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น
เพราะปลดปล่อยศักยภาพคนได้มากที่สุด ข้อนี้ถูกโต้แย้งได้เช่นกันว่าเสรีภาพเป็นกลางในตัวเอง
เพราะต้องพูดต่ออีกว่าเสรีภาพเพื่ออะไร เพื่อดูแลสุขภาพหรือทำลายสุขภาพ เพื่อสร้างสรรค์หรือทำลายล้าง
เพื่ออยู่ร่วมพัฒนาไปด้วยกันหรือคอยเอาเปรียบคนอื่น
เพื่อยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นหรือตกต่ำลง
เสรีภาพแท้เป็นเสรีภาพที่มีขอบเขต
รัฐธรรมนูญ กฎหมายอเมริกันและประเทศต่างๆ ยึดหลักการนี้ชัดเจน
หลายปีที่ผ่านมาองค์กรที่ศึกษาดัชนีชี้วัดประชาธิปไตยหลายแห่งต่างได้ข้อสรุปว่าประชาธิปไตยอเมริกาถดถอยและไม่ใช่ถดถอยเฉพาะในสมัยรัฐบาลทรัมป์แต่ถดถอยตั้งแต่ก่อนหน้านั้น
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครทล้วนทำให้ประชาธิปไตยอเมริกาเสื่อมเสีย
สหรัฐกำลังเข้าสู่อำนาจนิยมมากขึ้นตามลำดับ นับวันคนอเมริกันที่ต้องการประชาธิปไตยไม่พอใจสภาพการเมืองการปกครองที่เป็นอยู่
กลางเดือนกันยายน
CNN รายงานผลโพลของตนที่ทำโดย SSRS ระบุว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่ (56%)
เห็นว่าประชาธิปไตยของประเทศกำลังถูกทำลาย 51%
คิดว่ากรรมการเลือกตั้งสามารถเปลี่ยนผลเลือกตั้งให้ออกมาอย่างที่พวกเขาต้องการ จนถึงทุกวันนี้ทรัมป์ยังยืนยันว่าเขาแพ้เพราะโดนโกง
ไมว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร คนอเมริกันกึ่งหนึ่งไม่เชื่อมั่นการเลือกตั้ง
ประชาธิปไตยอเมริกากำลังถูกทำลาย
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการประชุมสุดยอดประชาธิปไตย ฮิลลารี คลินตัน (Hillary
Clinton) พูดย้ำว่าทรัมป์ไม่ใช่นักประชาธิปไตย ประชาธิปไตยอเมริกาอาจถึงแก่กาลอวสาน
(end of our democracy) ถ้าทรัมป์ชนะตั้งปี 2024 ที่ผ่านมาสื่อบางประเทศชี้ว่าทรัมป์ทำตัวเป็นกษัตริย์ในร่างประธานาธิบดี
ประเด็นน่าคิดคือคนอเมริกันจำนวนมากโดยเฉพาะพวกรีพับลิกันสนับสนุนทรัมป์อย่างเข้มแข็ง
ถามว่าคนอเมริกันเหล่านี้นิยมประชาธิปไตยมากแค่ไหน คำว่า “ประชาธิปไตย”
ในความหมายของพวกเขาเป็นอย่างไร
เหล่านี้คือตัวอย่างปัญหาประชาธิปไตยอเมริกาในขณะนี้
หวังว่ารัฐบาลไบเดนจะแก้ได้ ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลยอมรับว่ามีปัญหาและกำลังแก้
แต่ยิ่งแก้ยิ่งแย่ลง จะเป็นตลกร้ายถ้า USD
ที่ปล่อยออกไปทำให้ประเทศอื่นเป็นประชาธิปไตยในขณะที่อเมริกาหันเข้าสู่ลัทธิอำนาจนิยม
นักวิเคราะห์ Zachary B. Wolf มองในมุมกว้างชี้ว่าขณะที่รัฐบาลพยายามอ้างภัยคุกคามประชาธิปไตยที่มาจากต่างแดน
ตนเห็นว่าภัยคุกคามที่ประสบจริงในประเทศต่างหากที่สำคัญ เช่น อากาศหนาวจัดร้อนจัด พายุหนักอันเนื่องจากการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นทุกปี
ปัญหาเศรษฐกิจสังคมอันเนื่องจากโควิด-19 ที่อาจส่งผลกระทบอีกหลายปี
หลายคนไม่ร่วมมือฉีดวัคซีนโดยที่รัฐบาลทำอะไรไม่ได้
และการก่อตัวของพวกหัวรุนแรงต่อต้านอำนาจรัฐ ผลการทำงานของรัฐบาล คุณภาพชีวิตประชาชน
เหล่านี้เป็นเครื่องชี้วัดระดับประชาธิปไตยอยู่แล้วว่าประชาธิปไตยอเมริกากำลังก้าวหน้าหรือถดถอย
นักวิชาการหลายคนพูดตรงกันว่าภัยคุกคามประชาธิปไตยอเมริกาอยู่ในประเทศมากกว่าอยู่นอกประเทศ
หากรัฐบาลสหรัฐต้องการสร้างโลกที่เป็นประชาธิปไตย ควรเน้นพัฒนาตัวเองเป็นแบบอย่างประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จ
ในทางรัฐศาสตร์การปกครองคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา
สำคัญที่การปกครองแต่ละแบบสามารถพิสูจน์ได้ว่าสร้างคุณประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่าระบอบอื่นๆ
หรือไม่ รัฐบาลผู้บริหารประเทศเป็นอีกปัจจัยสำคัญ
ระบอบอาจจะดีแต่ต้องขึ้นกับผู้บริหารจัดการด้วย เรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมานับพันปีแล้วไม่ใช่หรือ
-------------------------
1. An existential threat runs into political realities of US
democracy. (2021, December 13).
CNN. Retrieved from https://www.dw.com/en/will-the-us-summit-on-democracy-deliver/a-60036228
2. CNN Poll: Most Americans feel democracy is under attack
in the US. (2021, September 15). CNN. Retrieved from
https://edition.cnn.com/2021/09/15/politics/cnn-poll-most-americans-democracy-under-attack/index.html
3. Diplomacy Alone Can’t Save Democracy. (2021, December
11). The Atlantic. Retrieved from
https://www.theatlantic.com/international/archive/2021/12/main-challenge-facing-biden-democracy-summit/620955/
4. Full Text: China: Democracy That Works. (2021, December
4). Xinhua. Retrieved from http://www.news.cn/english/2021-12/04/c_1310351231.htm
5. Hillary Clinton predicts Trump will run for president in
2024, says his win 'could be the end of our democracy'. (2021, December 12). Business
Insider. Retrieved from https://www.businessinsider.com/hillary-clinton-predicts-trump-2024-presidential-campaign-victory-end-democracy-2021-12
--------------------------