ความจริงที่ซ่อนอยู่เหตุทรัมป์คิดถอนทหารจากเยอรมนี

ถ้ายึดว่ากองทัพสหรัฐในต่างแดนมีเพื่อรักษาผลประโยชน์อเมริกา ขนาดกองทัพจะเล็กหรือใหญ่ จะส่งไปจุดใด ล้วนอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ทั้งสิ้น

            ข่าวประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศจะถอนทหารเกือบหมื่นนายออกจากเยอรมนีเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ทั้งนี้ฝ่ายสหรัฐอ้างว่านาโตมีข้อตกลงเมื่อปี 2014 ชาติสมาชิกจะต้องตั้งงบกลาโหมให้ได้อย่างน้อยละ 2 ของจีดีพีภายในปี 2024 แต่เยอรมนีไม่เคยทำได้และประกาศว่าคงไม่ทำตามกำหนดเส้นตาย กลายเป็นเรื่องที่ประธานาธิบดีทรัมป์วิพากษ์วิจารณ์เรื่อยมา ตั้งแต่ช่วงหาเสียง ทรัมป์กล่าวว่าสหรัฐต้องจ่ายเงินสนับสนุนมากเกิน ไม่คุ้มกับประโยชน์ที่ได้ ในขณะที่ชาติสมาชิกอื่นๆ แบกรับภาระน้อยเกินไป ไม่ยุติธรรมต่อสหรัฐ

เมื่อเอ่ยถึงเรื่องดังกล่าวทรัมป์มักอ้างเหตุผลอื่นๆ อีกหลายข้อ เช่น เยอรมนีเตรียมซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียผ่านท่อ Nord Stream 2 ผูกโยงเศรษฐกิจการเมืองกับรัสเซียมากขึ้น สหรัฐขาดดุลการค้าต่อเยอรมนีซึ่งทรัมป์ตีความว่าเป็นการค้าที่ไม่ยุติธรรม

            หากข้ออ้างเหล่านี้ไม่สมเหตุสมผลแล้วเหตุผลที่แท้คืออะไร

ความสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่ทรัมป์ไม่เอ่ยถึง :

            ตอนสิ้นสงครามเย็นมีทหารอเมริกันกว่า 250,000 นายประจำการในเยอรมนี ปัจจุบันเหลือ 34,500 นายและทรัมป์สั่งให้ปรับลดอีกเกือบหมื่นนาย (ราว 1 ใน 3)

            การที่สหรัฐยังคงกองทัพรวมทั้งอาวุธนิวเคลียร์ในหลายประเทศยุโรป เป็นยุทธศาสตร์ด้านการทหารระดับโลกเพื่อรักษาความเป็นเจ้า พูดให้ชัดคือรวมถึงการแผ่อิทธิพลเหนือยุโรปด้วย ไม่ต่างจากกรณีเกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและอื่นๆ ที่สหรัฐมีฐานทัพของตนในประเทศนั้นๆ คำถามคือสหรัฐจะยอมคลายยุโรปออกหรือ

เจนส์ สโตลเตนเบิร์ก (Jens Stoltenberg) เลขาธิการนาโตอธิบายให้เห็นภาพกว้างว่าที่ผ่านมาปฏิบัติการต่างๆ ของสหรัฐในตะวันออกกลาง อัฟกานิสถาน แอฟริกา ต้องอาศัยฐานทัพที่ตั้งอยู่ในยุโรป เป็นเรื่องความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐโดยตรง

Mark Hertling อดีตผู้บัญชาการทหารอเมริกันในยุโรปทวิตข้อความว่าผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ที่สหรัฐได้เหนือว่าประเด็นงบกลาโหมร้อยละ 2

ไฮโค มาส (Heiko Maas) รมต.ต่างประเทศเยอรมนีกล่าวว่าทั้งเยอรมนีกับสหรัฐต่างได้ประโยชน์จากความร่วมมือทางทหาร ยอมรับว่าความสัมพันธ์ทวิภาคีไม่ดีนัก เป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน

ดูเหมือนทรัมป์ไม่เข้าใจยุทธศาสตร์ทางทหารหรือไม่ก็แค่พูดหวังแต่คะแนนเสียง

คิดในเชิงยุทธศาสตร์ :

          ประการแรก สหรัฐปรับกำลังให้เหมาะสมกับบริบท

            2-3 ปีมานี้สหรัฐเพิ่มกำลังทหารในโปแลนด์ ด้วยเหตุผลรัฐบาลโปแลนด์ร้องขอให้ช่วยส่งทหารมาต้านรัสเซีย มีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐจะเพิ่มกำลังทหารอีก เป็นเรื่องปกติของการเคลื่อนย้ายกำลังพล ไม่ว่าทหารที่ย้ายจะกลับประเทศหรือไปอยู่ที่อื่นเพื่อให้ได้ประสิทธิผลสูงสุด ปรับตามยุทธวิธีรบแผนใหม่ การปรับลดงบประมาณส่วนนี้เพื่อไปใช้ส่วนอื่น

            หากทหารสหรัฐมาตั้งในโปแลนด์มากขึ้นย่อมเป็นประโยชน์ช่วยคุ้มครองอำนาจของชนชั้นปกครองที่นั่นแลกกับประเทศตกอยู่ใต้อิทธิพลของรัฐบาลสหรัฐ หรืออย่างน้อยได้รับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจสังคมมากขึ้น และในอนาคตอาจเป็นที่ตั้งอาวุธนิวเคลียร์สหรัฐด้วย (ตามโครงการ Nuclear sharing) มีกระแสข่าวเรื่องนี้เช่นกัน

          ประการที่ 2 เยอรมนีไม่ใช่หน้าด่านสมรภูมิอีกแล้ว

            ในสมัยสงครามเย็น เยอรมนีแบ่งเป็นเยอรมนีตะวันตกกับตะวันออก ทั้ง 2 ค่าย (ฝ่ายนาโตกับค่ายโซเวียต) ต่างประจำการทหารนับแสนนาย เครื่องบินรถถังมากมาย เพราะเป็นสมรภูมิหน้าด่านสำคัญ แต่ทุกวันนี้สหภาพโซเวียตแตกออกแล้ว เยอรมนีกลับมารวมเป็นหนึ่งเดียว ความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ทางทหารเปลี่ยนไป สหรัฐควรเพิ่มทหารที่ติดชายแดนรัสเซียหรือให้ใกล้ที่สุด ซึ่งน่าจะเป็นโปแลนด์ผู้กำลังเป็นมิตรที่ดีหรือไม่ก็โรมาเนีย ยูเครน

          ประการที่ 3 สร้างเรื่องให้สหรัฐเป็นฝ่ายอยากถอนทัพ

แนวคิดนี้อธิบายว่าเยอรมนีต้องการลดกำลังทหารอเมริกันแต่สร้างเรื่องให้สหรัฐเป็นฝ่ายอยากถอนทัพเอง เรื่องนี้อาจเกี่ยวข้องกับประเด็นงบประมาณด้วย ไมค์ พอมเพโอ (Mike Pompeo) รมต.ต่างประเทศพูดเมื่อปีที่แล้วว่า แม้สงครามเย็นจะสิ้นสุดนานแล้วปัจจุบันยังมีทหารสหรัฐ 35,000 นายประจำการในเยอรมนี เป็นประเด็นที่รัฐบาลสหรัฐเรียกร้องให้เยอรมนีเพิ่มเงินสนับสนุนกองทัพสหรัฐเหล่านี้

แต่ถ้าพิจารณาในแง่คนเยอรมันมองกองทัพสหรัฐในแง่ลบ ไม่ต้องการทหารต่างชาติในแผ่นดินของตน หลายคนต้องการลดทหารอเมริกัน การสร้างเรื่องความไม่พอใจของทรัมป์นำสู่การลดกำลังทหารเพื่อไว้หน้ารัฐบาลสหรัฐ โดยเฉพาะประธานาธิบดีทรัมป์ที่ต้องการโชว์ “America Great Againช่วยรักษาภาพพจน์สหรัฐผู้ยิ่งใหญ่ของโลก เป็นแนวทางอธิบายที่เป็นไปได้เหมือนกัน

ในอนาคตยุโรปจะมีกองทัพของตัวเอง :

            การปรับลดขนาดกองทัพสหรัฐในเยอรมนีสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ยุโรป (อียู) ที่หวังสร้างกองทัพของตัวเอง เป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวที่อาจกินเวลาอย่างน้อย 20-30 ปี

ยุโรปต้องมีกองทัพที่เป็นของยุโรปจริงๆ เพื่อปกป้องภัยจากรัสเซีย จีนและแม้กระทั่งสหรัฐ ผู้นำฝรั่งเศสเสนอให้จัดตั้ง “กองทัพยุโรปจริงๆ” ประธานาธิบดีมาครงกล่าวชัดถ้อยชัดคำว่า “ยุโรปจำต้องปกป้องตัวเองได้ดีด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาสหรัฐอเมริกา” ต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนและประกันความมั่นคงด้วยตัวเอง ปกป้องอธิปไตยยุโรป ด้วยเหตุนี้จำต้องทบทวนโครงสร้างความมั่นคงและระบบป้องกันประเทศยุโรปจากอาวุธทุกรูปแบบ

นับจากสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ยุโรปตะวันตกอยู่ใต้ความคุ้มครองของสหรัฐ ในช่วงสงครามเย็นอธิบายได้ว่ายุโรปกำลังฟื้นตัวหลังเสียหายยับเยินจากสงครามโลก ความขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมืองที่รุนแรงกับค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ นำสู่การเผชิญหน้าด้วยกองทัพมหาศาล อาวุธนิวเคลียร์

            หลังสิ้นสหภาพโซเวียตภัยคุกคามจากค่ายคอมมิวนิสต์หมดไป ยุโรปตะวันตกไม่คิดว่าตัวเองมีภัยคุกคามทางทหารที่ร้ายแรงเช่นอดีต การเป็นสมาชิกนาโตมีทั้งข้อดีข้อเสีย ถ้ามองในแง่ข้อเสียนักวิชาการอย่าง John Laughland ถึงกับใช้คำว่ายุโรปเป็นรัฐภายใต้การอารักขาของอเมริกา (an American protectorate) ยุโรปพึ่งพาสหรัฐไม่เพียงด้านความมั่นคงทางทหารเท่านั้น นโยบายระหว่างประเทศหลายเรื่องยังแอบอิงสหรัฐด้วย

            การมีกองทัพของตัวเองอย่างเข้มแข็ง ไม่ยืมจมูกคนอื่นหายใจ ไม่ใช่เรื่องของศักดิ์ศรีเท่านั้นแต่เป็นความมั่นคงแห่งชาติที่ยั่งยืน แต่จะเป็นจริงเมื่อไหร่คงเป็นอนาคตอีกไกล

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :

            ฐานทัพสหรัฐในเยอรมนีคือฐานทัพใหญ่ที่สุดและสมบูรณ์ที่สุดในยุโรป ข่าวถอนทหารถูกวิเคราะห์ไปต่างๆ นานา แต่หากเป็นเพียงการเคลื่อนย้ายกำลังพลตามบริบทที่เปลี่ยนไป สอดคล้องกับยุทธศาสตร์นาโตฝั่งยุโรป เช่นนี้ไม่มีอะไรแปลกใหม่ ความตื่นเต้นเกิดจาก ”ข่าว” กับการนำเสนอแบบให้ชวนคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่โตรุนแรงมากกว่าเน้นเนื้อหาข้อเท็จจริง

อันที่จริงแล้วถ้าศึกษาข้อมูลในครบถ้วน การปรับลดกำลังพลไม่ใช่เรื่องแปลก ข้อมูลจากเยอรมนีเผยว่าปี 2006 มีทหารอเมริกันราว 72,400 นาย ทยอยลดลงจนเหลือ 33,250 นาย ปีนี้เป็นอีกครั้งที่ปรับลดเท่านั้นเอง ถ้ายึดว่ากองทัพสหรัฐในต่างแดนมีเพื่อรักษาผลประโยชน์อเมริกา ขนาดกองทัพจะเล็กหรือใหญ่ จะส่งไปจุดใด ล้วนอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ทั้งสิ้น

ณ วันนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าสหรัฐจะถอนทหารออกจากเยอรมนีหรือไม่ มากน้อยเพียงไร จะย้ายไปประจำการประเทศใดแทน แต่หากสหรัฐส่งทหารนับหมื่นเข้าโปแลนด์ โรมาเนีย ยูเครน หรือประเทศใดๆ ที่ใกล้รัสเซีย ความตึงเครียดในภูมิภาคจะเพิ่มสูงขึ้นแน่นอน

            เป็นอีกประเด็นที่ควรติดตาม

21 มิถุนายน 2020

ชาญชัย คุ้มปัญญา

(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 24 ฉบับที่ 8623 วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2563)

-------------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง :

Nuclear sharing ความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างสหรัฐกับเยอรมนี
สังคมเยอรมันถกแถลงเรื่องอาวุธนิวเคลียร์เรื่อยมา แต่จนทุกวันนี้อาวุธนิวเคลียร์สหรัฐยังประจำการที่นี่และอาจอยู่อีกนาน เพราะเป็นความสัมพันธ์อันซับซ้อน ผลประโยชน์มหาศาล

บรรณานุกรม :

1. After blindsiding allies, U.S. gives no details on Trump’s plan for troops in Germany. (2020, June 16). Politico. Retrieved from https://www.politico.com/news/2020/06/16/after-blindsiding-allies-us-gives-no-details-on-trumps-troop-plan-323143

2. Freeloading Germany Is a Terrible Ally. (2020, June 16). National Review. Retrieved from https://www.nationalreview.com/corner/freeloading-germany-is-a-terrible-ally/

3. Germans in favor of 'reducing reliance' on US. (2019, December 3). Deutsche Welle. Retrieved from https://www.dw.com/en/germans-in-favor-of-reducing-reliance-on-us/a-51510739

4. Is Trump piggybacking on Poland to reshuffle Europe's power players? (2020, June 16). TRT World. Retrieved from https://www.trtworld.com/magazine/is-trump-piggybacking-on-poland-to-reshuffle-europe-s-power-players-37302

5. 'It's complicated': Relations in the spotlight as US mulls pulling thousands of troops from Germany. (2020, June 7). France24. Retrieved from https://www.france24.com/en/20200607-it-s-complicated-us-mulls-withdrawing-thousands-of-troops-from-germany

6. Macron urges European army to defend against Russia, US. (2018, November 6). AFP. Retrieved from https://www.afp.com/en/news/3954/macron-urges-european-army-defend-against-russia-us-doc-1al8xf1

7. Mike Pompeo carries divisive US messages to Germany. (2019, November 6). Deutsche Welle. Retrieved from https://www.dw.com/en/mike-pompeo-carries-divisive-us-messages-to-germany/a-51144192

8. Transcript: Donald Trump Expounds on His Foreign Policy Views. (2016, April 26). The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2016/03/27/us/politics/donald-trump-transcript.html

9. Trump says he is halving US troop presence in Germany. (2020, June 16). The Korea Times. Retrieved from https://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2020/06/205_291270.html

10. Trump's move to pull troops from Germany draws bipartisan warnings. (2020, June 16). The Hill. Retrieved from https://thehill.com/policy/defense/503046-trumps-move-to-pull-troops-from-germany-draws-bipartisan-warnings

11. US military in Germany: What you need to know. (2020, June 16). Deutsche Welle. Retrieved from https://www.dw.com/en/us-military-in-germany-what-you-need-to-know/a-49998340

12. US 'protectorate' rebelling? Experts doubt EU's ability to stand up to Washington. (2018, August 28). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/437005-us-eu-protectorate-rebellion/

-----------------------------