ข้อวิพากษ์สิทธิมนุษยชนเครื่องมือต่างประเทศของสหรัฐ
โลกนี้ไม่มีประเทศใดเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากบ้างน้อยบ้าง สหรัฐดีกว่าหลายประเทศแต่ยากจะเชื่อว่าเป็นผู้นำโลกด้านนี้และกำลังเสื่อมถอย
สิทธิมนุษยชนเครื่องมือนโยบายต่างประเทศ :
ยุทธศาสตร์แม่บทของรัฐบาลสหรัฐคือ
ส่งเสริมประชาธิปไตย การค้าเสรี หลักสิทธิมนุษยชน ตำรามากมายเอ่ยถึงนโยบายส่งเสริมเรื่องเหล่านี้
เป็นเครื่องมือสำคัญของนโยบายต่างประเทศ ปรากฏเป็นข่าวอยู่เสมอที่รัฐบาลสหรัฐวิพากษ์วิจารณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ
ชี้ว่าประเทศนั้นประเทศนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย ขู่ตัดความช่วยเหลือจนถึงขั้นคว่ำบาตร
คิดล้มรัฐบาลเผด็จการ แต่การปฏิบัติมีความยืดหยุ่นตามบริบท “รายงานยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก”
(Indo-Pacific Strategy Report : IPSR) ของกระทรวงกลาโหมฉบับมิถุนายน
2019 ในสมัยรัฐบาลทรัมป์ระบุอย่างชัดเจนว่า สหรัฐมีค่านิยมและความเชื่อของตัวเองแต่จะไม่พยายามยัดเยียดวิถีของตนแก่ผู้อื่น
แม้จะไม่ยัดเยียดแต่มีหลายกรณีที่รัฐบาลทรัมป์ใช้ประเด็นสิทธิมนุษยชนเล่นงานประเทศอื่นๆ
ไม่ต่างจากรัฐบาลชุดก่อนๆ
เป็นประจำทุกปีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐจะออกรายงาน “Human Rights
Reports” รายงานนี้ประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
นำสู่ข้อสรุปเหตุผลว่าทำไมสหรัฐต้องเล่นงานประเทศที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน จีน
เกาหลีเหนือ อิหร่านเป็นตัวอย่างที่ถูกเอ่ยถึง และรายงานปี 2019 ระบุว่าสหรัฐมีความภูมิใจอย่างยิ่งที่เป็นผู้นำ
(champion) เรื่องสิทธิมนุษยชน อุดมการณ์ประชาธิปไตย
เรื่องแปลกแต่จริงคือ
ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐประกาศว่าตนเป็นผู้นำโลกด้านสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย ออกรายงานสิทธิมนุษยชนของตน
แต่กลับไม่ยอมรับการประเมินสิทธิมนุษยชนในประเทศตัวเอง มิถุนายน 2018 รัฐบาลทรัมป์ประกาศสหรัฐอเมริกาได้ถอนตัวออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
(United Nations Human Rights Council: UNHRC) ด้วยเหตุผลว่า
“ไม่คู่ควรกับชื่อ”
UNHRC
เป็นคณะที่ประกอบด้วยสมาชิก 47 ประเทศ สมาชิกทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งโดยสมัชชาสหประชาชาติ
เริ่มทำงานเมื่อปี 2006
เป็นองค์กรย่อยทำหน้าที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ
Nikki Haley
เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติชี้ว่าองค์กรนี้มักชี้ว่าอิสราเอลละเมิดสิทธิมนุษยชน
เป็นอคติทางการเมือง ประเทศที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนกลายเป็นแพะรับบาป
จึงขาดความน่าเชื่อถือ รัฐบาลสหรัฐเคยเสนอให้ปฏิรูปแต่เมื่อทำไม่ได้จึงจำต้องถอนตัว
การที่รัฐบาลทรัมป์ให้เหตุผลว่าเหตุที่ต้องถอนตัวเพราะไม่เป็นธรรมต่ออิสราเอล
ข้อนี้คงเป็นข้ออ้างหนึ่งเท่านั้น การรุกล้ำดินแดน การกระทำต่อปาเลสไตน์เป็นประเด็นที่อิสราเอลละเมิดสุทธิมนุษยชนเรื่อยมา
นานาชาติต่างประณาม อีกประเด็นที่น่าคิดคือรัฐบาลสหรัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง
มีโอกาสถูกประณาม จึงถอนตัวเพื่อหนีและกีดกันรายงานของ UNHRC
กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียแถลงว่าเป็นอีกครั้งที่รัฐบาลสหรัฐแสดงความเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ
(boorish cynicism) ไม่ยอมรับว่าตัวเองละเมิดสิทธิมนุษยชน
ละเมิดกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ ทั้งยังพยายามชี้หน้าว่าประเทศอื่นละเมิดสิทธิมนุษยชน
พยายามชักนำให้ UNHRC ทำตามที่ตัวเองต้องการ
การถอนตัวดังกล่าวเป็นอีกครั้งที่บ่งชี้ว่าไม่ยึดถือหลักสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง เป็นพวกปากอย่างใจอย่าง
พฤติกรรมเป็นหลักฐานในตัวเอง
ปัญหาสิทธิมนุษยชนในสหรัฐ :
ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐแสดงตัวเป็นผู้นำโลกเสรี
ส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนสากล
แต่กลับซ่อนปัญหาสิทธิมนุษยชนที่มีมากมายในประเทศตัวเอง ด้วยวิธีการง่ายๆ
คือไม่พูดถึงตัวเองและมุ่งพูดถึงปัญหาของประเทศอื่นๆ โจมตีว่ารัฐบาลประเทศเหล่านั้นไม่เป็นประชาธิปไตย
กดขี่ข่มเหงประชาชน ปล่อยปละละเลยเรื่องสิทธิมนุษยชน
เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Michelle Bachelet ประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ร้องขอให้สหรัฐเลิก “เหยียดผิวเชิงโครงสร้าง” (structural racism) อันเป็นหัวใจสำคัญของการชุมนุมประท้วงที่สหรัฐในขณะนี้ สมควรปฏิรูปอย่างจริงจังเสียที
ประชาธิปไตยอเมริกากำลังเสื่อมถอย :
สิทธิมนุษยชนเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นประชาธิปไตย
กันยายน 2019
ฮิลลารี คลินตัน สุภาพสตรีหมายเลข 1 ของอดีตประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน อดีตวุฒิสมาชิก
รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลโอบามากล่าวว่ารัฐบาลทรัมป์ทำหลายอย่างผิดพลาด
ไม่ฟังเสียประชาชน “ณ ขณะนี้ประชาธิปไตยของเราอยู่ในภาวะวิกฤตแล้ว” สถาบันประชาธิปไตย
ธรรมเนียมประชาธิปไตย ไม่อยู่ในมือของประชาชนอีกแล้ว เราจำต้องลุกขึ้นสู้และแพ้ไม่ได้
ความอีกตอนกล่าวว่าทรัมป์บ่อนทำลายเอกภาพของชาติ
ไม่เป็นผู้นำของคนอเมริกันทั้งประเทศ ใช้ถ้อยคำดูหมิ่นดูแคลนคนอเมริกันเชื้อชาติอื่น
เกลียดชังคนบางกลุ่ม สร้างความเกลียดชัง ทำให้คนในชาติแตกแยก
ด้านเจมส์ แมตทิส (James
Mattis) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของทรัมป์ชี้ว่า การเมืองในประเทศเป็นภัยต่อชาติมากกว่าศัตรูนอกประเทศ
ความแตกแยกทางการเมืองนับวันจะชัดเจนรุนแรง ใช้อารมณ์ ดูหมิ่นเหยียดหยามอีกฝ่าย
คอลิน พอเวลล์ (Colin
Powell) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศวิพากษ์ประธานาธิบดีทรัมป์ว่าหลักประชาชนเป็นเจ้าของประเทศกลายเป็น
“ฉันผู้เป็นประธานาธิบดี” ที่เป็นใหญ่ ไม่เชื่อว่าทรัมป์เป็นผู้นำที่มีศีลธรรม (moral
leader) เพราะเท่าที่ปฏิบัติไม่เป็นเช่นนั้น
Richard Haass ประธานสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
(Council on Foreign Relations) กล่าวว่า
“ยุคนี้เป็นยุคพวกอำนาจนิยม (authoritarian era) … ประชาธิปไตยเสื่อมถอย”
และดูเหมือนประชาชนในหลายประเทศก็ไม่สนใจว่ารัฐบาลเป็นอำนาจนิยมหรือไม่ มีคนพูดว่ารัฐบาลสหรัฐในยุคนี้ส่งออกลัทธิประชานิยม
(populism) แทนประชาธิปไตย
รายงาน The
Economist Intelligence Unit (EIU) เมื่อปี 2018 ชี้ว่าการปกครองของสหรัฐเข้าสู่การเป็น
"ประชาธิปไตยที่บกพร่อง" (flawed
democracy) ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีอีกต่อไป เป็นหลักฐานเพิ่มเติมอีกชิ้นหนึ่ง
ก่อนหน้านี้มีสำนักอื่นที่ชี้ว่า สหรัฐไม่เป็นประชาธิปไตยแท้
ประเด็นที่ควรเข้าใจคือ
ชาวอเมริกันยังคงมีอิสรภาพเสรีภาพในการดำเนินชีวิตมากอยู่ แต่การละเมิดสิทธิมนุษยชนมีไม่น้อยเช่นกัน
เป็นปัญหาเก่าแก่ตั้งแต่ก่อนก่อตั้งประเทศเมื่อกว่า 240
ปีเสียอีก คนบางจำพวกยึดถือ White Supremacy ที่ดูหมิ่นดูแคลนคนผิวสี
คิดว่าตัวเองเท่านั้นเป็นเจ้าของแผ่นดินที่แท้จริง
ต้องการให้คนผิวขาวมีอภิสิทธิ์เหนือพลเมืองอเมริกันอื่นๆ ที่สำคัญคือรัฐบาล
ผู้ปกครองประเทศ ไม่ได้ปกครองเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง
ประชาชนสามารถแสดงออกแต่ไม่มีผลเปลี่ยนหรือผลักดันนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ ข้อสรุปคือเป็นการเมืองการปกครองที่ไม่ได้มีเพื่อประชาชนจริงๆ
สหรัฐควรแก้ปัญหาตนเองก่อน :
ไม่ว่าจะเรื่องการเหยียดผิวเหยียดเชื้อชาติ
ประชาธิปไตย หากอยากจะเป็นผู้นำ ต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีเสียก่อน ดังคำกล่าวที่ว่า
“ชีวิตดังกว่าคำพูด”
ในสุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่ง
(inauguration address) ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์
(Donald Trump) เมื่อมกราคม 2017 ความตอนหนึ่งกล่าวว่า ‘จะไม่ยัดเยียดวิถีชีวิตของเรา [เสรีภาพ ประชาธิปไตยแบบอเมริกัน
– ผู้เขียน] แก่ต่างชาติ แต่จะแสดงให้ดูเป็นตัวอย่าง’
ไม่ทราบว่าท่านประธานาธิบดียังจำได้หรือไม่ 3 ปีที่ผ่านมาหลายคนพูดว่าได้พิสูจน์ว่าจริงหรือเท็จแล้ว
โลกนี้ไม่มีประเทศใดเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์
มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากบ้างน้อยบ้าง สหรัฐดีกว่าหลายประเทศแต่ยากจะเชื่อว่าเป็นผู้นำโลกด้านนี้และกำลังเสื่อมถอย
ถ้าอเมริกาไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เป็นแบบอย่างสิทธิมนุษยชนจะส่งเสริมสิทธิมนุษยชนโลกได้อย่างไร
นโยบายส่งเสริมสิทธิมนุษยชนประชาธิปไตยมีไว้เพื่อการใดกันแน่
14 มิถุนายน
2020
ชาญชัย
คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน
คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่
24 ฉบับที่ 8616 วันอาทิตย์ที่ 14
มิถุนายน พ.ศ. 2563)
-------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
White Supremacy รากเหง้าการเหยียดผิวในอเมริกาบรรณานุกรม :
1. America falls short of being a full democracy for second
year running, report finds. (2018, February 5). The Independent. Retrieved from https://www.rt.com/usa/417762-us-nuclear-buildup-russia-threat-excuse/
2. American Democracy Is in Crisis. (2018, September 16). The Atlantic. Retrieved
from https://www.theatlantic.com/ideas/archive/2018/09/american-democracy-is-in-crisis/570394/
3. Colin Powell slams Trump as making America: ''Me the
president,' as opposed to 'We the People''. (2018, October
7). Daily Mail. Retrieved from https://www.dailymail.co.uk/news/article-6250341/Colin-Powell-slams-Trump-making-America-president-opposed-People.html
4. 'Dividing into hostile tribes': Mattis laments state of
politics in the age of Trump. (2019, August 28). Washington Examiner. Retrieved
from https://www.washingtonexaminer.com/news/importance-of-patriotism-god-and-children-plummets-among-young-people-poll
5. FULL TEXT: President Donald Trump's Inauguration Speech.
(2017, January 20). ABC News. Retrieved from http://abcnews.go.com/Politics/full-text-president-donald-trumps-inauguration-speech/story?id=44915821
6. Rucker, Walter., Upton, James Nathaniel (Eds). (2007).
Introduction. In Encyclopedia of American Race Riots (p. xlv). USA:
Greenwood Press.
7. Russian Foreign Ministry comments on US exit from US Human
Rights Council. (2018, June 20). TASS. Retrieved from http://tass.com/politics/1010291
8. The White House. (2013, September 24). Remarks by President Obama in Address to the United Nations
General Assembly. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/09/24/remarks-president-obama-address-united-nations-general-assembly
9. 'This is an authoritarian era' — and
investors should be worried, says Richard Haass. (2018,
October 26). CNBC. Retrieved from
https://www.cnbc.com/2018/10/26/this-is-an-authoritarian-era-investors-should-worry-richard-haass.html
10. United Nations Human Rights Council. (2018). Welcome to
the Human Rights Council. Retrieved from https://www.ohchr.org/EN/HRBodies/HRC/Pages/AboutCouncil.aspx
11. UN says US must HEAR George Floyd
protesters’ voices and get rid of its ‘STRUCTURAL RACISM’. (2020,
June 3). RT. Retrieved from
https://www.rt.com/news/490691-un-us-structural-racism-protests/
12. US Department of Defense. (2019, June 1). Indo-Pacific
Strategy Report: Preparedness, Partnerships, and Promoting a Networked Region.
Retrieved from https://media.defense.gov/2019/May/31/2002139210/-1/-1/1/DOD_INDO_PACIFIC_STRATEGY_REPORT_JUNE_2019.PDF
13. U.S. Department of State. (2020, March 11). 2019 Country
Reports on Human Rights Practices. Retrieved from https://www.state.gov/reports/2019-country-reports-on-human-rights-practices/
14. US pulls out of UN Human Rights Council. (2018, June 19).
The Hill. Retrieved from http://thehill.com/policy/international/393086-us-pulls-out-of-un-human-rights-council
15. Trump Administration Withdraws U.S. From U.N. Human
Rights Council. (2018, June 19). The New York Times. Retrieved from https://www.nytimes.com/2018/06/19/us/politics/trump-israel-palestinians-human-rights.html
-----------------------------