การปรากฏของคำว่า “OPEC+” ป้องกันไม่ให้สหรัฐเข้าระบบโควตาตามปกติ ทั้งๆ ที่รัฐบาลสหรัฐมีส่วนเจรจาต่อรองโดยตรง ผลจากโควิด-19 ทำให้ผู้ส่งน้ำมันต้องร่วมมือกัน
ราคาน้ำมันดิบ West Texas Intermediate (WTI) เมื่อปลายเมษายนลดฮวบมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่
ประการแรก
ความขัดแย้งระหว่างผู้ผลิตน้ำมัน
เมื่อกลุ่มโอเปกกับนอกโอเปก
(non-OPEC) ที่มีรัสเซียเป็นแกนนำไม่สามารถทำข้อตกลงฉบับใหม่
กลายเป็นว่านับจากนี้ใครจะผลิตเท่าไหร่ก็ได้ เข้าสู่ภาวะไร้โควตา
ต่างโทษอีกฝ่ายว่าเป็นต้นเหตุทำให้ระบบโควตาล่ม
รัฐบาลซาอุฯ ถือว่าเป็นสงครามราคาครั้งใหม่ ร่วมกับพรรคพวกของตนเร่งผลิตน้ำมันส่งออกให้มากที่สุด
มีข้อมูลว่าเดือนเมษากลุ่มโอเปกผลิตน้ำมัน 30.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 1.61
ล้านบาร์เรลเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้านั้น ซาอุฯ ผลิตมากที่สุดถึง 11.3
ล้านบาร์เรลต่อวัน
ประการที่
2 โควิด-19
ท่ามกลางความขัดแย้งของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน
สถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรนาโควิด-19 แพร่ระบาดหนักขึ้นตามลำดับ
จากเอเชียสู่ยุโรปและอเมริกา
มาตรการปิดเมืองปิดประเทศเพื่อกักโรคลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอย่างรวดเร็ว เป็นที่กังวลว่าการแพร่ระบาดจะยืดเยื้อยาวนาน
Morgan Stanley ประเมินว่าต้องรอจนถึงสิ้นปี 2021
กว่าความต้องการใช้น้ำมันจะฟื้นสู่ระดับปี 2019
เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตเปลี่ยน ถ้ายึดแนวคิดของ Morgan Stanley จะต้องใช้เวลาอีก 20 เดือนกว่าเศรษฐกิจสังคมจะฟื้นสู่ปกติ
ประการที่
3 ระบบซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า
เมื่ออุปสงค์ลดฮวบแต่อุปทานเพิ่มผิดปกติจึงเป็นเหตุให้น้ำมันในคลังสำรองต่างๆ
เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดประเด็นหาที่เก็บไม่ได้หรือมีค่าใช้จ่ายสูงมาก
นักลงทุนในตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าตอบสนองอย่างรวดเร็ว ราคาน้ำมัน WTI เหวี่ยงขึ้นเหวี่ยงลงอย่างรุนแรง
การจะดึงราคาน้ำมันให้ขึ้นมาอีกครั้งขึ้นกับทั้ง 3 ปัจจัย
โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างผู้ผลิตน้ำมันและโรคระบาด
การเบี่ยงประเด็น :
ถ้ามองในมุมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีเรื่องน่าสนใจคือการเบี่ยงเบนประเด็น
ดังนี้
จนถึงทุกวันนี้โอเปกคือกลุ่มความร่วมมือเพียงกลุ่มเดียวที่มีฐานะเป็นองค์การระหว่างประเทศ
ส่วนประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่ไม่อยู่ในกลุ่มนี้มีการจับกลุ่ม ขนานนามว่า
“กลุ่มนอกโอเปก” (non-OPEC) โดยมีรัสเซียเป็นแกนนำ
ในเหตุการณ์ล่าสุดมีคำใหม่เกิดขึ้นคือคำว่า
“OPEC+” (โอเปกพลัส)
ไม่ใช่องค์กรเป็นเพียงชื่อกลุ่มที่ถูกตั้งขึ้นลอยๆ
OPEC+
เป็นชื่อเรียกประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่รวมกลุ่มโอเปกกับนอกโอเปกเข้าด้วยกัน
ชื่อที่ถูกเอ่ยถึงเป็นประจำคือซาอุฯ กับรัสเซีย 2 แกนนำสำคัญ และมักถูกนำเสนอว่าราคาน้ำมันดิบโลกขึ้นกับการเจรจาต่อรองของสมาชิกกลุ่มนี้
ประเด็นคือ การใช้คำ OPEC+ และมักเอ่ยนามซาอุฯ
กับรัสเซียเป็นการเบี่ยงเบนประเด็น ตัดสหรัฐผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดของโลกออกไป ราคาน้ำมันดิบโลกจะแพงหรือถูกขึ้นกับ OPEC+
ไม่เกี่ยวกับสหรัฐ อีกทั้งรัฐบาลสหรัฐกำลังทำหน้าที่ประสานให้ซาอุฯ
กับรัสเซียเลิกขัดแย้งด้วย โดยเฉพาะประธานาธิบดีทรัมป์ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง
เริ่มจากขู่ว่าจะขึ้นภาษีน้ำมันซาอุฯ
ต่อมาขู่ว่าจะไม่สนับสนุนช่วยเหลือทางทหารแก่ซาอุฯ อย่างเคย
แม้พูดชัดแต่ความหมายกำกวม
เพราะเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าซาอุฯ เป็นพันธมิตรความมั่นคงทางทหาร
คำว่าลดการสนับสนุนมีความหมายอย่างไร ระงับการเป็นพันธมิตรหรือไม่
จะถอนทหารอเมริกัน 3,000 นายออกจากซาอุฯ หรือเปล่า หรือไม่ขายอาวุธบางชิ้นแก่ซาอุฯ
ผู้เป็นลูกค้ารายใหญ่ยอดขายสูงเป็นประวัติการณ์ในยุคทรัมป์ หากทำจริงจะส่งผลต่อความมั่นคงภูมิภาคอย่างไร
ยุทธศาสตร์ต่อต้านอิหร่าน สงครามต่อต้านก่อการร้าย กระทบความมั่นคงด้านพลังงานหรือไม่
ไม่แน่ใจว่าประธานาธิบดีทรัมป์คิดลงรายละเอียดเหล่านี้
มองอีกมุมหนึ่งคือไม่มีอะไรน่าสนใจ
เป็นแนวทางเดิมๆ ของประธานาธิบดีทรัมป์ที่พูดอะไรก็ได้ พูดไปเรื่อยๆ
จริงบ้างเท็จบ้าง ถ้อยคำเหล่านั้นจะจางหายไปเอง ไม่ต้องคิดอะไรมาก
ดูได้จากผลลัพธ์สุดท้ายว่าการเจรจาลดกำลังผลิตชั่วคราวบรรลุผล
ส่วนความดุเดือดของถ้อยคำ
ความไม่แน่นอนขณะเจรจาเป็นเพียงกระบวนการหรืออาจเป็นเพียงปาหี่เท่านั้น เพื่อให้พระเอกได้แสดงบทบาท
คำถาม ปรับลดเท่าไหร่ ตามโควตาเดิมใช่ไหม
:
ถ้ายึดระบบโควตาเดิมการปรับลดอุปทานย่อมทำได้ง่ายโดยปรับตามสัดส่วน
แต่ดังที่นำเสนอข้างต้นว่าในหมู่ประเทศผู้ส่งออกกำลังขัดแย้งซึ่งน่าจะเป็นเรื่องโควตาใหม่
นี่คือปริศนาระบบโควตาน้ำมันโลก ใครเป็นคนกำหนด มีกฎเกณฑ์อย่างไร
ทำไมปรับขึ้นลงในสัดส่วนไม่เท่ากัน และทำไมจึงยังตกลงกันไม่ได้ ทั้งๆ
ที่ราคาน้ำมันสูงหรือต่ำเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน
ถ้ามองเฉพาะสหรัฐซึ่งผลิต
12-13 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะต้องปรับลดเท่าไหร่ ในข้อตกลงปรับลด 9.7 ล้านบาร์เรลล่าสุด
ไม่ปรากฏว่าสหรัฐเกี่ยวข้องด้วย
ต้นเดือนเมษายนประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศจะไม่ลดกำลังผลิตเด็ดขาด
พร้อมกับกล่าวว่ารัฐบาลกำลังออกหลายมาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมน้ำมัน รวมทั้งให้เก็บน้ำมันเอกชนในแหล่งเก็บน้ำมันสำรองแห่งชาติ
อย่างไรก็ตาม 2-3 วันต่อมาทรัมป์เปลี่ยนท่าที ประกาศว่าอาจพิจารณาลดกำลังการผลิต
ยืนยันจะปกป้องแรงงานในอุตสาหกรรมน้ำมันอเมริกา และกล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่าตอนนี้สหรัฐเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับ
1 ของโลก
ข้อมูลบางชิ้นอ้างว่าเหตุที่สหรัฐปรับลดไม่ได้เพราะติดข้อกฎหมายตัวเอง
แต่ไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่ดีพอ
ต่อมามีข่าวว่าผู้ผลิตน้ำมันชั้นหินดินดานในสหรัฐจะลดกำลังการผลิต
150,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือนพฤษภาคมกับมิถุนายน 6
บริษัทที่จะปรับลดกำลังผลิต ได้แก่ Continental Resources, Cimarex Energy,
ConocoPhillips, PDC Energy, Parsley Energy และ Enerplus
Corporation
ในขณะที่อุปทานน้ำมันจะลดลง 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน มีผู้ประเมินว่าปัจจัยโควิด-19 ทำให้อุปสงค์น้ำมันดิบโลกลดลง 30 เปอร์เซ็นต์หรือราว 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน ดังนั้น ถ้าพิจารณาเฉพาะปัจจัยนี้หากจะดึงราคาน้ำมันต้องปรับลดกำลังผลิตให้ได้อย่างน้อย 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ถ้ามองในแง่บวกครึ่งปีหลังกิจกรรมเศรษฐกิจฟื้นตัว
การปรับลดแค่ 9.7 ล้านบาร์เรลอาจเพียงพอ หรืออยู่ในระดับที่รับได้ ถ้ามองในแง่ลบ
หากเกิดแพร่ระบาดระลอก 2 หรือยืดเยื้อกว่าคาด
ใช้มาตรการปิดเมืองปิดประเทศอย่างเข้มข้นอีกครั้ง
เมื่อนั้นกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันน่าจะปรับลดกำลังผลิตเพื่อดึงราคาอีกครั้ง เพราะนั่นคือรายได้หลัก
ความเป็นความตายของประเทศของพวกเขา
และเมื่อนั้นโลกจะอาจเข้าใจระบบโควตาน้ำมันมากขึ้น
ชี้ให้เห็นอำนาจต่อรองของแต่ละประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปมา ใครมีอำนาจมากย่อมต่อรองได้มาก
ผลประโยชน์ไม่ใช่เรื่องของการแบ่งอย่างเท่าเทียม
ข้อมูลเหล่านี้น่าจะเปิดเผยในรายงานสรุปยอดส่งออกนำเข้าน้ำมันดิบโลกฉบับปีหน้า
10 พฤษภาคม 2020
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน
คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่
24 ฉบับที่ 8581 วันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2563)
----------------------
1. Global oil demand will not recover to 2019 levels until
end of 2021: Morgan Stanley. (2020, April 30).
Al Arabiya. Retrieved from https://english.alarabiya.net/en/business/economy/2020/04/29/Global-oil-demand-will-not-recover-to-2019-levels-until-end-of-2021-Morgan-Stanley.html
2. Oil falls after Saudi Aramco asked to raise output
capacity. (2020, March 11). Daily
Sabah. Retrieved from https://www.dailysabah.com/business/energy/oil-falls-after-saudi-aramco-asked-to-raise-output-capacity
3. OPEC+ debates biggest-ever oil cut,
awaits U.S. efforts. (2020, April 3). Reuters.
Retrieved from https://www.reuters.com/article/us-oil-opec-cut-size/opec-debates-biggest-ever-oil-cut-awaits-u-s-efforts-idUSKBN21L15A
4. OPEC+ oil producers to cut output by 9.7m barrels. (2020, April 12). Arab News.
Retrieved from https://www.arabnews.com/node/1657651/business-economy
5. OPEC+ Oil Production Hits 13-Month High As Output Cuts
Start. (2020, April 30). Oil price
dot com. Retrieved from https://oilprice.com/Latest-Energy-News/World-News/OPEC-Oil-Production-Hits-13-Month-High-As-Output-Cuts-Start.html
6. Organization of the Petroleum Exporting Countries. (2019).
Declaration of Cooperation. Retrieved from
https://www.iea.org/newsroom/news/2019/november/world-energy-outlook-2019-highlights-deep-disparities-in-the-global-energy-system.html
7. Six US oil firms are expected to
shut 300,000 barrels per day of production in May and June. (2020,
April 29). CNBC. Retrieved from https://www.cnbc.com/2020/04/29/us-oil-firms-expected-to-shut-in-far-more-production-in-may-and-june.html
8. Special Report: Trump told Saudis: Cut oil supply or lose
U.S. military support - sources. (2020, April 30). Reuters. Retrieved from https://www.reuters.com/article/us-global-oil-trump-saudi-specialreport/special-report-trump-told-saudis-cut-oil-supply-or-lose-u-s-military-support-sources-idUSKBN22C1V4
9. Tankers thrive while oil tanks in
Singapore. (2020, April 28). Asia
Times. Retrieved from https://asiatimes.com/2020/04/tankers-thrive-while-oil-tanks-in-singapore/
10. Trump Considers Slashing US Oil
Production After OPEC+ Meeting. (2020, April 7). Sputnik News. Retrieved from https://sputniknews.com/us/202004071078862421-trump-considers-slashing-us-oil-production-after-opec-meeting/
-----------------------------
ภาพ : https://www.opec.org/opec_web/en/publications/338.html, Kristaps Ungurs on Unsplash