การเมืองมาเลย์อยู่ในช่วงเลือกนายกฯ
คนใหม่โดยมติของ ส.ส. ชุดปัจจุบัน ใครจะเป็นนายกฯ คนต่อไปขึ้นกับว่าใครรวม ส.ส.
ได้ก่อน
Harley-Davidson
ในการเลือกตั้งปี 2018 ดร.
มหาเธร์ โมฮัมหมัด (Dr.
Mahathir Mohamad) กับอันวาร์ อิบรอฮิม
(Anwar Ibrahim) ร่วมมือเอาชนะพรรคอัมโนที่เป็นพรรครัฐบาลมาเนิ่นนาน
เป็นการกลับมาจับมือกันอีกครั้งของ 2 นักการเมืองสำคัญของมาเลเซีย เป็นประวัติศาสตร์การเมืองบทใหม่ที่พรรคอัมโนเป็นฝ่ายค้าน
แต่ไม่แปลกสำหรับดร.มหาเธร์ที่กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย ถ้าจะมีก็เพียงรอบนี้ท่านอายุ
92 ปีแล้ว (เกิดเดือนกรกฎาคม 1925)
ว่าด้วยคำมั่นสัญญาต่อสาธารณะ
:
ตั้งแต่แรกเป็นนายกฯ รอบล่าสุดดร.มหาเธร์ประกาศว่าจะอยู่ในตำแหน่ง
2 ปีและจะส่งต่อให้นายอันวาร์ “เป็นคำมั่นสัญญาจากผม”
อาจอยู่ 2 ปีประมาณนี้ เป็นไปได้ว่าคำมั่นสัญญาของดร.มหาเธร์คือข้อตกลงลับเพื่อรวมพรรคฝ่ายค้านเดิม
พรรคเล็กพรรคน้อยเพื่อสู้กับอัมโน
ต่อมาเมื่อพฤษภาคมปีก่อน
(2019) นายกฯ มหาเธร์พูดว่าตนอาจเป็นนายกฯ 2-3 ปีเพื่อแก้ปัญหาประเทศ ย้ำว่าตนเป็นเหมือนนายกฯ
รักษาการหรือชั่วคราว (interim) เท่านั้น พร้อมกันนี้มีกระแสในขั้วพรรคร่วมรัฐบาลว่าควรให้ดร.มหาเธร์เป็นนายกฯ
อยู่จนครบเทอม 5 ปี ยิ่งในระยะหลังกระแสความไม่ชัดเจนว่าดร.มหาเธร์จะลงจากตำแหน่งดังขึ้นทุกที
เสียงวิพากษ์วิจารณ์นายกฯ มหาเธร์จะอยู่ยาวดังกระหึ่มในวงการเมืองมาเลย์
ความสับสนวุ่นวายกับกลุ่มใหม่ขั้วใหม่ :
24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาดร.มหาเธร์ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและจากตำแหน่งประธานพรรค
Parti Pribumi Bersatu Malaysia (PPBM) ที่ท่านเป็นผู้ก่อตั้งเมื่อปี 2016 พร้อมกับกระแสข่าวการจัดตั้งกลุ่มการเมืองใหม่ที่รวมสมาชิกบางส่วนของ
PPBM
กับอัมโนเข้าด้วยกัน
อันวาร์ อิบรอฮิม ประธานพรรค PKR ชี้ว่าแผนการจับกลุ่มของพรรค PPBM กับพรรคอัมโนก็เพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่อีกครั้ง
แทนแบบปัจจุบันที่ PPBM คือแกนนำของพรรครัฐบาล
ส่วนอัมโนเป็นฝ่ายค้าน
ผู้มีอธิบายว่าการจับขั้วใหม่คือแผนของดร.มหาเธร์ที่จะไม่ต้องรักษาสัญญามอบตำแหน่งนายกฯ
แก่อันวาร์ อิบรอฮิม เพราะกลายเป็นขั้วใหม่กลุ่มใหม่แล้ว พูดให้ชัดคือเขี่ยอันวาร์ออกจากพรรคร่วมรัฐบาล
เพียงเท่านี้อันวาร์ก็ไม่อาจเป็นนายกฯ แล้ว ถ้ามองในเชิงการต่อสู้ทางการเมืองนับเป็น
“ความเหนือชั้น” จากความเก๋าของนายกฯ วัย 94 ปีท่านนี้
ไม่นานหลังข่าวดร.มหาเธร์ลาออกจากตำแหน่ง Mohamad Sabu หัวหน้าพรรค Parti Amanah Negara
ประกาศสนับสนุนดร.มหาเธร์เป็นนายกฯ ต่อไป ทั้งยังพูดว่าอีกหลายพรรคในกลุ่มแนวร่วม Pakatan
Harapan (PH) สนับสนุนดร.มหาเธร์เช่นกัน
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาแกนนำพรรคการเมือง
นักการเมืองคนสำคัญต้องเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วทั้งต่อสาธารณะกับ “หลังบ้าน”
เพราะเป็นจังหวะสำคัญ มีผลต่อการเข้าร่วมรัฐบาลและอื่นๆ หากชักช้าอาจพลาดท่าตกขบวน
หล่นจากตำแหน่ง
ล่าสุดมีข่าว 11 ส.ส. จากพรรคของนายอันวาร์ (PKR) แสดงท่าทีขอตัดสินทางการเมืองด้วยตนเอง นัยว่าจะขอเลือกขั้วด้วยตัวเอง
ส.ส. ทั้งฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลต่างพูดว่าทำเพื่อประชาชน ไม่มีอะไรซับซ้อนหรือรุนแรงถึงกับการเมืองล่มสลาย
แค่ล้างไพ่ สลับขั้ว สลับพรรคกันเล็กน้อย สุดท้ายเหมือนเดิม
เว้นแต่บางคนที่ต้องถูกเขี่ยออกไป
ภาพที่เห็นกับความจริง :
ถ้าย้อนมองอดีต ดร.มหาเธร์ประกาศแต่แรกรับตำแหน่งนายกฯ
ว่าจะอยู่ในตำแหน่งสักพักแล้วยกให้อันวาร์ อิบรอฮิม
ภาพที่ปรากฏคือความสัมพันธ์อันแช่มชื่นระหว่าง 2 นักการเมืองสำคัญของมาเลย์ กระทั่งหลังสุดเมื่อเดือนก่อนภาพความชื่นมื่นยังเป็นเหมือนเดิม
แต่เบื้องหลังคือการต่อรองอย่างเข้มข้นภายในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล ในการประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่
21 ที่ผ่านมาต้องสะดุดเมื่อดร.มหาเธร์ขู่ถอนตัวออกจากแนวร่วมรัฐบาล หลังแกนนำพรรคบางส่วนยื่นคำขาดขอให้ท่านถอนตัวจากตำแหน่งนายกฯ
เป็นที่มาของกระแสข่าวว่า ดร.มหาเธร์จะหันไปจับมือกับพรรคอัมโนเพื่อตั้งรัฐบาลชุดใหม่
และเป็นที่มาของคำว่า “คนทรยศ” จากปากของอันวาร์ อิบรอฮิม
สรุปสถานการณ์สัปดาห์ผ่านมาคือ อันวาร์ อิบรอฮิมกับแกนนำบางคนพยายามพูดในที่ประชุมแกนนำพรรคกดดันให้ดร.มหาเธร์ถอนตัวจากตำแหน่งเสียที
ในขณะเดียวกันภายในพรรคร่วมมีอีกฝ่ายที่กดดันให้อันวาร์อยู่นิ่งๆ เฉยๆ และในที่สุดก็ระเบิดออกมา
เงื่อนไขของดร.มหาเธร์ :
ดร.มหาเธร์กล่าวว่า “ตอนนี้จำต้องแยกการเมืองกับพรรคการเมืองออกไปก่อน”
จะตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่ไม่อิงพรรคใดพรรคหนึ่ง ให้มุ่งทำงานเพื่อประเทศชาติเป็นหลัก
ถ้าตนได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่อีกครั้งจะเป็นรัฐบาลที่ไม่อิงพรรคการเมืองใดๆ
นอกจากผลประโยชน์แห่งชาติเท่านั้น
แนวทางคิดของดร.มหาเธร์คือเขาจะเป็นผู้เลือกรัฐมนตรีด้วยตัวเองเท่านั้น
ไม่ใช่ระบบโควตาหรือพรรคการเมืองตัดสินใจกันภายใน ยินดีรับ ส.ส. เข้าร่วมไม่ว่ามาจากพรรคใดแต่จะต้องทำงานเพื่อประชาชน
ไม่ใช่ทำตามมติพรรค (มีพรรคเท่ากับไม่มีพรรค)
เป็นเหตุให้หลายพรรคลังเลใจที่จะร่วมกับดร.มหาเธร์ในขณะนี้
บางคนถึงกับพูดว่าเป็นแนวทางอำนาจนิยมที่ดร.มหาเธร์เคยใช้ในอดีต หรืออาจพูดว่าเป็นนายกฯ
ที่มีอำนาจเด็ดขาดแบบประธานาธิบดี
ข้อวิพากษ์อีกแบบคือแนวคิดเช่นนี้ทำได้จริงแค่ไหน เพราะแต่ไหนแต่ไรสมาชิกพรรค
ส.ส. ล้วนประกาศว่าจะให้ความร่วมมือ แต่เอาเข้าจริงมักไม่เป็นเช่นนั้น
หลายคนตัดสินใจโดยมีผลประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝง แนวคิดของดร.มหาเธร์อาจเป็นความตั้งใจดีหรืออาจเป็นเพียง
“กลยุทธ์การตลาด” เพื่อรวบรวมเสียงให้ได้มากที่สุด ถึงขั้นยอมรับ ส.ส. จากทุกพรรค จัดตั้งรัฐบาลอีกชุดเท่านั้นเอง
ตอนนี้มีทั้ง ส.ส. ขั้วดร.มหาเธร์ ส.ส.งูเห่าจากพรรคอันวาร์
และอีกจำนวนหนึ่งจากพรรคฝ่ายค้านอัมโนที่ยื่นความจำนงขอร่วมรัฐบาลชุดใหม่ ถ้าพูดแบบแง่บวก ทำให้สามารถเลือก ส.ส. คุณภาพร่วมรัฐบาล ได้ครม.ที่ดีกว่า ในอีกมุมหนึ่งสถานการณ์เช่นนี้เหมือนถูกลอตเตอรี่ที่ไม่ได้มาบ่อยๆ
ดังนั้น ใครอยากร่วมรัฐบาลต้องรีบคว้าไว้ก่อน หรือไม่ก็ต้องปากกัดตีนถีบแย่งชิงมาให้จงได้
Romzi Ationg จาก Universiti Malaysia Sabah วิเคราะห์ว่าสิ่งที่ดร.มหาเธร์ทำคือพยายามรักษาเสถียรภาพทางการเมือง
จึงพยายามกระชับอำนาจการเมืองด้วยความเด็ดขาด ให้มั่นใจว่าการเมืองมีเสถียรภาพซึ่งจำเป็นต่อสภาพสังคมมาเลย์ที่มีปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติ
และเพื่อตอบสนองเป้าหมายทางการเมืองส่วนตัวด้วย
การประกาศลาออก ยุบคณะรัฐมนตรี ให้จับขั้วตั้งรัฐบาลชุดใหม่ คือกลยุทธ์ทางการเมือง เพื่อกระชับอำนาจ เอาพวกที่ไม่ยอมอยู่ใต้การชี้นำออกจากพรรคร่วมรัฐบาล ออกจากครม.
ถ้าตีความแบบแคบๆ คือต้องการเป็นนายกฯ ต่อไปนั่นเอง
ล่าสุดยังไม่ชัดว่าใครจะเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ยังอยู่ระหว่างเจรจาต่อรอง
การย้ายขั้วทำได้ตลอดเวลา หากไม่มีขั้วใดขั้วหนึ่งมีเสียงข้างมากสุดท้ายจะลงเอยด้วยการเลือกตั้งใหม่อีกรอบ
การเมืองเป็นเรื่องของตัวเลข
:
อันที่จริงแล้วไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านล้วนทำผลประโยชน์ให้ประเทศได้ทั้งสิ้น
แต่นักการเมืองบางคน (หรือหลายคน) มองว่าเป็นฝ่ายค้านนั้นอดอยากปากแห้ง ดังนั้นเป็น
ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลย่อมดีกว่า ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่หาได้ยากเหมือนถูกลอตเตอรี่ที่ไม่ได้มาบ่อย
ถ้าไม่คว้าไว้คงเสียดาย
ดร.มหาเธร์ในวัย 94 ถ้าเป็นนายกฯ อีก 6 ปี
ตอนนั้นจะทำสถิตินายกฯ อายุ 100 ปี (รัฐธรรมนูญบัญญัติให้อยู่ได้ 2 วาระติดต่อกัน วาระละ5
ปี) ด้านอันวาร์ผู้มีอายุ 72 ปีเคยเป็นมือขวาของมหาเธร์ (ทั้งท่านในอดีตและล่าสุดคือภรรยาดำรงตำแหน่งรองนายกฯ
ของนายกฯ มหาเธร์) คงยากจะบรรลุฝันนั่งเก้าอี้นายกฯ แล้ว เหล่านี้เป็นเรื่องของตัวเลขเหมือนกัน
ล่าสุดประกาศแล้วว่านายมูห์ยิดดิน
ยัสซิน (Muhyiddin Yassin) ประธานพรรค
PPBM คือนายกฯ
คนต่อไปของมาเลเซีย หลังกษัตริย์มาเลย์ตรัสว่าเป็นผู้ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส.
มากที่สุด ดับความหวังของทั้งดร.มหาเธร์กับอันวาร์ ต้องติดตามต่อว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมีเสถียรภาพมากเพียงไร
จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่หรือไม่
1 มีนาคม 2020
(ปรับปรุงเพิ่มเติม 3 มีนาคม 2020)
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 24 ฉบับที่
8512 วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2563)
-----------------------
บรรณานุกรม :
1. Amanah wants Dr M as PM even after his resignation. (2020,
February 24). Malay Mail. Retrieved from https://www.malaymail.com/news/malaysia/2020/02/24/amanah-wants-dr-m-as-pm-even-after-his-resignation/1840405
2. Dr M in New York: Anwar will be prime minister, that's a
promise. (2018, September 18). New Strait
Times. Retrieved from https://www.nst.com.my/news/nation/2018/09/415328/dr-m-new-york-anwar-will-be-prime-minister-thats-promise#cxrecs_s
3. 'Dr Mahathir must end political drama soon'. (2020, February
25). New Strait Times. Retrieved from https://www.nst.com.my/news/politics/2020/02/569074/dr-mahathir-must-end-political-drama-soon
4. ‘I am an interim PM’: Dr M says may stay on for three
years before Anwar takes over. (2019, May 9). Malay Mail. Retrieved from
https://www.malaymail.com/news/malaysia/2019/05/09/i-am-an-interim-pm-dr-m-says-may-stay-on-for-three-years-before-anwar-takes/1751355
5. Mahathir resigns as PPBM chairman. (2020, February 24). Free
Malaysia Today. Retrieved from https://www.freemalaysiatoday.com/category/nation/2020/02/24/mahathir-resigns-as-ppbm-chairman/
6. Malaysia's rulers hold special meeting regarding political
turmoil. (2020, February 28). Channel News Asia. Retrieved from https://www.channelnewsasia.com/news/asia/malaysia-special-rulers-meeting-politics-mahathir-12479500
7. Malaysia’s shattered politics on a razor’s edge. (2020,
February 27). Asia Times. Retrieved from https://asiatimes.com/2020/02/malaysias-shattered-politics-on-a-razors-edge/
-----------------------------