สถานการณ์แบ่งแยกซีเรียหลังสหรัฐยึดบ่อน้ำมัน

ถ้าสังเกตให้ดีทุกวันนี้ประเทศซีเรียถูกแบ่งแยกโดยปริยายแล้ว เพียงแต่ไม่ใช้คำว่า แบ่งแยกหรือเป็น เขตปกครองตัวเองทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้มีอยู่จริงและชัดเจนยิ่งขึ้น
            ปลายเดือนตุลาคม มาร์ค เอสเปอร์ (Mark Esper) รัฐมนตรีกลาโหมกล่าวว่าสหรัฐอาจคงทหารจำนวนหนึ่งในซีเรีย เพื่อคุ้มกันบ่อน้ำมันไม่ให้ตกอยู่ในมือไอซิส ไม่กี่วันต่อมาประธานาธิบดีทรัมป์เห็นว่าควรคงทหารจำนวนหนึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรียเหตุเพราะต้องคุ้มกันบ่อน้ำมัน
ก่อนหน้านี้ทรัมป์ให้เหตุผลว่าเป็นการสิ้นเปลืองที่จะคงทหารในซีเรียเพื่อทำสงครามที่ไม่รู้จบ ต้องพาทหารกลับบ้าน ความจริงคือทหารที่ว่ามีเพียงไม่กี่ร้อยนาย ในขณะที่กองทัพสหรัฐมีทหารนับแสนนาย ใช้งบกลาโหมกว่า 700,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี เป็นประเทศที่ใช้งบกลาโหมสูงที่สุดในโลก และสวนทางกับที่พูดหลายครั้งว่าผู้ก่อการร้ายไอซิสไม่เป็นภัยร้ายแรงอีกแล้ว
            เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังกองกำลังเคิร์ดซีเรียถอนตัวออกจากพื้นที่ ตุรกีเคลื่อนทัพเข้ามา รัฐบาลซีเรียส่งกองทัพขึ้นไปยันไว้ และรัสเซียส่งทหารจำนวนหนึ่งทำหน้าที่เป็นแนวกันชนระหว่างกองทัพตุรกีกับซีเรีย
การเข้ามาพัวพันของตุรกีกับสหรัฐ :
            ตั้งแต่เริ่มทำสงครามต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายไอซิส รัฐบาลตุรกีใช้เหตุผลนี้ส่งทหารเข้ามาในซีเรียหลายรอบด้วยหลายเหตุผล เช่น เพื่อช่วยปราบปรามผู้ก่อการร้าย ต่อมาเมื่อชาติตะวันตกสนับสนุนกองกำลังเคิร์ดซีเรียเพราะหวังให้เป็นหัวหอกรบกับไอซิส ตุรกีเห็นว่าหากเคิร์ดซีเรียเข้มแข็งจะเป็นภัยต่อตนเอง พยายามหาทางเข้ามาปราบปรามสกัดกั้นพวกนี้ด้วย อ้างว่ากองกำลังเคิร์ดเป็นผู้ก่อการร้ายเหมือนไอซิส
            สถานการณ์ปัจจุบันคือไอซิสไม่เป็นภัยร้ายอีกต่อไปแล้ว เอกสารของสหรัฐเป็นผู้เอ่ยเรื่องนี้เอง  ที่น่าติดตามคือรัฐบาลตุรกีต้องการสร้างเขตปลอดภัยในซีเรีย ผลการเจรจากับรัสเซียคือตุรกีสามารถควบคุมดินแดนซีเรียลึกเข้ามา 32 กม. (20 ไมล์) ตั้งแต่เมือง Tal Abyad ถึง Ras al-Ain เป็นแนวยาว 120 กม. (75 ไมล์) คิดเป็นพื้นที่เท่ากับ 3,840 ตร.กม. (ใหญ่กว่ากรุงเทพฯ กว่า 2 เท่า พื้นที่กรุงเทพฯ เท่ากับ 1,569 ตร.กม.) โดยที่ตุรกียอมรับบูรณภาพทางการเมืองและดินแดนของซีเรีย
            ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลสร้างเขตปลอดภัยเพื่อรองรับผู้อพยพลี้ภัยหรือเพื่อยึดครองดินแดน ตุรกีได้ส่วนนี้และส่วนอื่นๆ ที่ได้ก่อนหน้านี้แล้ว อาจกลายเป็นปัญหาในอนาคตแม้วันนี้รัฐบาลตุรกีจะยืนยันบูรณภาพแห่งดินแดนของซีเรียก็ตาม
            บ่อน้ำมันที่ทหารสหรัฐเข้าควบคุมเหล่านี้อยู่ในมือของผู้ก่อการร้ายในช่วงที่ผู้ก่อการร้ายขยายตัว จากนั้นตกอยู่ในมือของกองกำลังเคิร์ดซีเรียภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐ (ถ้าไม่มีสหรัฐ เคิร์ดไม่สามารถยึดครองบ่อน้ำมัน) เมื่อเคิร์ดถอนตัวรัฐบาลสหรัฐจึงประกาศว่าจะเข้าดูแลด้วยตนเอง ความจริงคือรัฐบาลสหรัฐเป็นผู้ดูแลมานานแล้ว
การประกาศควบคุมพื้นที่บ่อน้ำมันแม้ไม่ได้ระบุว่าต้องการยึดครองถาวร น่าเชื่อว่าจะอยู่อีกนาน ประเด็นสำคัญคือไม่ว่าจะอยู่ภายใต้กองกำลังสหรัฐโดยตรงหรือไม่ เป็นไปได้ว่ารัฐบาลสหรัฐต้องการเป็นผู้ดูแลหรือมีอิทธิพลต่อความเป็นไปของบ่อน้ำมันเหล่านี้
            เป็นวิธีการที่รัฐบาลสหรัฐใช้เรื่อยมา
            รัฐบาลทรัมป์ประกาศว่าจะนำเงินที่ได้จากบ่อน้ำมันเหล่านี้ให้แก่ฝ่ายต่อต้านสายกลาง (SDF) เรื่องนี้ยังเป็นปริศนาอยู่ เพราะฝ่ายต่อต้านสายกลางใช้ในความหมายคนซีเรียที่ต่อต้านรัฐบาลอัสซาด ที่ผ่านมากองกำลังเคิร์ดซีเรียเป็นกองกำลังหลักของ SDF นี้
            แม้กองกำลังเคิร์ดแสดงความไม่พอใจเมื่อสหรัฐถอนทหารออกจากพื้นที่พรมแดนทางภาคเหนือฝั่งตะวันออกของแม่น้ำยูเฟรติส ยอมให้กองทัพตุรกีเข้ามาและเคิร์ดต้องถอยออก ล่าสุดยังมีแนวโน้มว่าอยู่ฝ่ายสหรัฐมากกว่าฝ่ายรัฐบาลอัสซาด ความสัมพันธ์ระหว่างชาวเคิร์ดกับรัฐบาลสหรัฐเป็นเรื่องน่าติดตาม
            การเข้ามาของกองทัพตุรกี การคงอยู่ของกองทัพสหรัฐทั้งหมดล้วนมีผลต่ออนาคตของประเทศนี้
            ถ้าสังเกตให้ดีทุกวันนี้ประเทศซีเรียถูกแบ่งแยกโดยปริยายแล้ว เพียงแต่ไม่ใช้คำว่า “แบ่งแยก” หรือเป็น “เขตปกครองตัวเอง” ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้มีอยู่จริงและชัดเจนยิ่งขึ้น
จุดเริ่มต้นคือต้องล้มระบอบอัสซาด :
ย้อนหลังปี 2011 ไม่กี่เดือนหลังการประท้วงเริ่มบานปลาย รัฐบาลโอบามาขอให้ประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาด (Bashar al-Assad) ก้าวลงจากตำแหน่ง ถ่ายโอนอำนาจแก่ประชาชนโดยสันติ เป็นขั้นตอนเปลี่ยนจากระบอบอำนาจนิยมเป็นประชาธิปไตย
ต่อมาเมื่อกลายสงครามกลางเมืองเต็มตัว เกิดการสู้รบฆ่าฟันไปทั่ว ยิ่งมีข้ออ้างว่ารัฐบาลอัสซาดเข่นฆ่าประชาชน
            ประธานาธิบดีอัสซาดเล่าย้อนความหลังที่มาของการชุมนุมประท้วงว่าส่วนหนึ่งมาจากเงินต่างชาติ มาจากประเทศกาตาร์ อุดหนุนให้คนในประท้วงต่อต้านรัฐบาล ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นมาจากผู้ประท้วงบางคน จากนั้นไม่นั้นกลายเป็นสงครามกลางเมือง ทุกฝ่ายต่างมีและใช้อาวุธสงครามเข้าห้ำหั่น
            ไม่ว่าต้นเหตุที่มาคืออะไร การชุมนุมประท้วงลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมือง ซ้ำร้ายกว่านั้นผู้ก่อการร้ายหลายสิบกลุ่ม (ไอซิสเป็นเพียงกลุ่มที่มักเอ่ยถึง) กองกำลังมุสลิมหลายหมื่นคนกว่าร้อยสัญชาติเข้าร่วมรบเพื่อล้มระบอบอัสซาด การเข้าแทรกจากรัฐบาลหลายประเทศ ผู้เสียชีวิตจึงเพิ่มเป็นหลายแสน หลายล้านคนอพยพ บ้านเมืองพังพินาศ ยังไม่รู้ว่าจบลงที่ใด ที่สำคัญคือ ตราบใดรัฐบาลสหรัฐไม่เลิกนโยบายล้มระบอบอัสซาด การปรองดองย่อมเป็นไปไม่ได้ ซีเรียไม่มีวันสงบ
            เรื่องที่ต้องยึดไว้ให้มั่นคือจนถึงปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐยังคงนโยบายล้มระบอบอัสซาด ยังคงกระทำการต่างๆ เพื่อเป้าหมายดังกล่าว
ยุทธศาสตร์ครองความเป็นเจ้า :
            นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าความเป็นไปของซีเรียเป็นพัฒนาการครองความเป็นเจ้าของรัฐบาลสหรัฐที่เปลี่ยนจากการส่งกองทัพ ทุ่มงบประมาณมหาศาลเข้าทำสงคราม เช่นสงครามในอัฟกานิสถาน (รบกับตอลีบัน อัลกออิดะห์) อิรัก มาสู่รูปแบบใหม่ คราวนี้รัฐบาลสหรัฐจะไม่ทุ่มทหารเข้ารบด้วยตัวเอง กลายเป็นสงครามกลางเมือง นักรบมุสลิมกว่าร้อยสัญชาติเดินทางเข้ามาเพื่อโค่นล้มระบอบอัสซาด
            มีประเด็นน่าคิดว่าทางการสหรัฐชี้ว่าไอซิสยึดบ่อน้ำมันกับโรงกลั่นบางส่วนในอิรักกับซีเรียแล้วขายน้ำมันแก่ตลาดมืด พ่อค้าคนกลางรายเล็กรายน้อย น้ำมันเป็นหนึ่งในรายได้หลักของไอซิส ประเมินว่าอาจสูงถึง 1 ล้านดอลลาร์ต่อวัน (หรือมากกว่า) รัฐบาลสหรัฐพยายามสุดกำลังที่จะสกัดหรือปิดกั้นการเงินของไอซิส
            คำถามคือสหรัฐรู้อยู่แล้วว่าบ่อน้ำมัน โรงกลั่นอยู่ที่ไหน ทำไมไม่ส่งเครื่องบินทำลาย ป้องกันไม่ไอซิสใช้ประโยชน์ คำตอบคือมีการโจมตีทางอากาศบ่อน้ำมันเหล่านี้แต่ทำลายไม่หมด ที่สุดแล้วไอซิสยังสามารถขายน้ำมันต่อ ทั้งๆ ที่กองทัพสหรัฐเข้าถึงการเคลื่อนไหวทางภาคพื้นดินทั้งหมด ยากจะเล็ดลอดสายตา การที่ไอซิสยังสามารถขายน้ำมันเป็นประเด็นที่ค้านสายตาหลายคน
            ในช่วงนั้นนักวิชาการตะวันตกถกกันว่าใครเป็นภัยมากกว่ากันระหว่างระบอบอัสซาดกับผู้ก่อการร้ายไอซิส ควรจะให้ใครอยู่ใครไป เรียงลำดับก่อนหลังอย่างไร
            ถ้าวิเคราะห์ภาพกว้าง นโยบายล้มระบอบอัสซาดคือกลวิธีหรือข้ออ้างเพื่อให้รัฐบาลสหรัฐมีเหตุเข้ามาพัวพันซีเรีย เข้าไปในในตะวันออกกลางเพิ่มอีก 1 ประเด็น
            พูดให้กว้างกว่านั้นเป็นความพยายามรักษาความเป็นเจ้าของสหรัฐ ประธานาธิบดีอัสซาดกล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐจะไม่ยอมให้มีประเทศอื่นใดมาเทียบเคียงตนหรือบดบังอิทธิพลของตน แม้กระทั่งสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส (ที่เป็นชาติประชาธิปไตยเหมือนกัน) เป็นนโยบายปล้นสะดมประเทศอื่นๆ ปล้นทรัพยากร สิทธิของประชาชนประเทศอื่นๆ ผลประโยชน์เรื่องน้ำมันหรือท่อส่งน้ำมันเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เป็นสงครามระหว่างสหรัฐกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
17 พฤศจิกายน 2019
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 24 ฉบับที่ 8407 วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562)
                                                             -----------------------                                
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
ผลจากการความขัดแย้งภายในประเทศซีเรียที่ควบคุมไม่ได้ เปิดทางให้เพื่อนบ้านเข้าแทรกแซงด้วยหลายเหตุผลที่เพื่อนบ้านหยิบยกขึ้นมาอ้าง เช่น ต่อต้านผู้ก่อการร้าย เป็นที่รองรับผู้ลี้ภัย อธิปไตยชาติถูกบั่นทอน
ความไม่พอใจรัฐบาลเป็นเรื่องปกติของการเมืองการปกครอง แต่เมื่อบานปลายจนไร้การควบคุม ต่างชาติเข้าแทรก การชุมนุมประท้วงจึงกลายเป็นสงครามกลางเมือง ประเทศซีเรียไม่ใช่ของชาวซีเรียอีกต่อไป
บรรณานุกรม :
1. President al-Assad in an interview with Russian RT-UK TV Channel: In spite of all aggression, majority of Syrian people support their Government, Russia helps Syria as terrorism and its ideology have no borders. (2019, November 11). SANA. Retrieved from https://www.sana.sy/en/?p=178031
2. Russia has ‘political will’ for arms reduction deal, but ball is in US' court – Putin. (2019, July 4). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/463334-putin-arms-reduction-us/
3. Syria's Bashar al-Assad Reflects on Civil War, Oil, Terrorism and America in Rare Interview. (2019, November 11). Sputnik News. Retrieved from https://sputniknews.com/middleeast/201911111077273037-syrias-bashar-al-assad-reflects-on-civil-war-oil-terrorism-and-america-in-rare-interview/
4. The White House. (2013, September 24). Remarks by President Obama in Address to the United Nations General Assembly. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/09/24/remarks-president-obama-address-united-nations-general-assembly
5. Turkey, Russia reach deal for YPG move out of Syria border area. (2019, October 23). Al Jazeera. Retrieved from https://www.aljazeera.com/news/2019/10/turkey-russia-agree-set-syria-safe-zone-joint-patrols-191022171933484.html
6. U.S. Department of State. (2011, November 9). U.S Policy on Syria. Retrieved from http://www.state.gov/p/nea/rls/rm/176948.htm
7. U.S. Department of The Treasury. (2014, October 23). Remarks of Under Secretary for Terrorism and Financial Intelligence David S. Cohen at The Carnegie Endowment For International Peace, “Attacking ISIL’s Financial Foundation”. Retrieved from http://www.treasury.gov/press-center/press-releases/Pages/jl2672.aspx
8. US to deploy more troops to eastern Syrian to secure oil fields. (2019, October 24). Al Jazeera. Retrieved from https://www.aljazeera.com/news/2019/10/deploy-troops-eastern-syrian-secure-oil-fields-191025022517393.html
9. US would attack foes & friends to protect its hegemony and doesn’t shy away from using terrorists as proxies – Assad to RT. (2019, November 11). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/473087-us-hegemony-assad-interview/
-----------------------------

unsplash-logoZbynek Burival