สถานการณ์ลุ่มน้ำโขง 2018
แม่น้ำโขงมีเรื่องท้าทายที่ต้องจัดการมากขึ้น
เหตุจากประชากรตามลุ่มน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โครงการลงทุนการก่อสร้างต่างๆ
สภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง เล็งถึงความสำเร็จของประชาคมอาเซียน
ด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate change dimension) :
Graphic Node
รายงาน
State of the Basin report (SOBR) โดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ฉบับล่าสุด 2018 นำเสนอภาพรวมของแม่น้ำโขงที่เกี่ยวข้องกับลุ่มน้ำตอนล่าง
4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว ไทยและเวียดนามในหลายด้านเพื่อนำสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
แบ่งบันผลประโยชน์ร่วมกัน ตามแผนพัฒนาที่จะทบทวนทุก 5 ปี มีสาระน่าสนใจดังนี้
ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental
dimension) :
ตามระเบียบปฏิบัติจะต้องติดตามสภาวะการไหลของสายน้ำหลักสม่ำเสมอ
ดูแลให้มีน้ำไหลต่อเนื่อง ทั้งยังต้องคำนึงฤดูกาลน้ำหลาก การย้ายถิ่นของปลา 5
ปีที่ผ่านมายังดำเนินไปด้วยดีแต่ก็มีกรณีที่ไม่เป็นไปตามคาด
คุณภาพของน้ำจะให้ความสำคัญเรื่องผลต่อสุขภาพประชาชน
ผลต่อสัตว์น้ำและการใช้ทางการเกษตร ส่วนใหญ่แล้วอยู่ในเกณฑ์ดี ยกเว้นบางจุดที่คุณภาพด้อยบ้างในบางขณะ
ที่น่ากังวลคือจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น เมืองขยายตัว การใช้ปุ๋ยกับยาฆ่าแมลงมากขึ้นจะส่งผลต่อคุณภาพน้ำในอนาคต
น้ำเค็มจากทะเลที่ไหลย้อนกลับเข้าไปในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของเวียดนามเป็นอีกจุดที่ต้องเฝ้าติดตาม
เขตพื้นที่ชุ่มน้ำในลุ่มน้ำตอนล่างมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ
สังคมและวัฒนธรรมภูมิภาค พื้นที่ดังกล่าวกำลังเสื่อมโทรมและหดหายอันเนื่องจากการเกษตรและการพัฒนาด้านอื่นๆ
จำต้องกำหนดยุทธศาสตร์แก้ปัญหาโดยด่วน รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ
สัตว์น้ำและพืชพันธุ์ต่างๆ ที่มีอยู่อย่างมากมาย
ด้านสังคม (Social dimension) :
สภาพการดำเนินชีวิตและความเป็นอยู่จะดูเรื่องอาหาร
น้ำ ความปลอดภัยต่อสุขภาพ การมีไฟฟ้าประปา จนถึงขณะนี้ข้อมูลดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์จากข้อจำกัดหลายประการ
พอสรุปได้ว่า 15 ปีที่ผ่านมาคุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น ได้รับอาหารดีกว่าเดิม
ปัญหาขาดสารอาหารลดลง มีน้ำประปาใช้ อัตราเสียชีวิตลดลง อายุขัยยืนยาวมากขึ้น
แต่ปัญหาแล้งน้ำหรือน้ำท่วมยังคงเกิดขึ้นในบางพื้นที่ กัมพูชายังมีปัญหาไฟฟ้าไม่ทั่วถึง
การจ้างงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำ
(Employment in MRC water-related sectors)
เป็นเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความเท่าเทียมทางเพศ งานที่เกี่ยวข้องกับน้ำหมายถึงการเกษตร
การประมง การเดินเรือ รวมถึงการท่องเที่ยวกับป่าไม้ มีแนวโน้มว่าคนทำเกษตรกรรมจะหันไปทำอาชีพอื่นโดยเฉพาะด้านบริการกับอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตามการประมงยังเป็นวิถีชีวิตหลักของหลายคน
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเฟื่องฟูตามลำดับ
ทำนองเดียวกับอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเรือโดยเฉพาะแถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
โดยรวมแล้วฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้นเมื่อเทียบกับทศวรรษก่อน
เนื่องจากการจ้างงานในอาชีพหลากหลาย ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น
ส่วนความเท่าเทียมทางเพศข้อมูลยังน้อยเกินไป
ด้านเศรษฐกิจ (Economic dimension) :
มูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับน้ำวัดเฉพาะลุ่มน้ำโขงตอนล่าง
พบว่าพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นชัดเจน การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าส่งเสริมเศรษฐกิจ
หลายประเทศในแถบนี้สร้างเขื่อนต่อเนื่อง แม่น้ำโขงยังคงเป็นเส้นทางขนส่งที่สำคัญดังเช่นอดีต
การสัญจรทางน้ำทั้งคนและเพื่อการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ด้านการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกลายเป็นที่มาของรายได้ทั้งระดับประเทศกับประชาชน
การรักษาสภาพแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยวจึงสำคัญ
ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้จากลุ่มน้ำ (Contribution to basin economy) หมายถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยรวม เช่น วัดจากผลผลิตทางการเกษตร
การประมง การท่องเที่ยว พลังงานไฟฟ้าจากเขื่อน ผลผลิตข้าวร้อยละ 84 ของกัมพูชามาจากแม่น้ำโขง
สปป.ลาวร้อยละ 69 สัตว์น้ำร้อยละ 25 ของกัมพูชามาจากแม่น้ำโขง
พื้นที่ลุ่มน้ำโขง 4 ประเทศ |
ด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate change dimension) :
4 ประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนล่างปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึงร้อยละ
2 ของโลกแต่กำลังเพิ่มขึ้นเร็วกว่าอัตราเฉลี่ยทั้งโลก
แนวโน้มการเปลี่ยนสภาวะภูมิอากาศกับความรุนแรง (Climate change trends and
extremes) มีการศึกษาคาดการณ์หลายแบบ
เท่าที่ศึกษาพบว่าพายุยังคงรุนแรงเท่าเดิม แต่ระดับน้ำทะเลอันเป็นผลจากพายุเพิ่มสูงขึ้น
อุณหภูมิค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามทิศทางโลก จำนวนวันที่อากาศหนาวเย็นจะลดลง เป็นไปได้ว่าภาวะแห้งแล้งอาจรุนแรงขึ้น
รวมความแล้วที่ชัดเจนคืออุณหภูมิกับระดับน้ำทะเลสูงขึ้น
การปรับตัวรับมือเน้นการปรับตัวเตรียมพร้อมระดับชุมนุม ในระดับประเทศทุกประเทศมีแผนงาน
แผนปฏิบัติการอยู่แล้ว ทั้ง 4 ประเทศลงนามปฏิญญาเกียวโต (Kyoto Protocol) และมี
Mekong Climate Change Adaptation Strategy and Action Plan (MASAP) เป็นแนวทางปฏิบัติ แผนงานที่ยังต้องทำอีกมากคือการแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เกษตร
การรับมือหากเกิดปัญหาน้ำท่วมโดยเฉพาะบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
ด้านความร่วมมือ (Cooperation
dimension) :
ผลประโยชน์จากระบบแม่น้ำโขงที่เท่าเทียม (Equity of benefits from the
Mekong River system) ครอบคลุมทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ปัจจุบันไทยกับเวียดนามคือผู้ได้ประโยชน์มากที่สุด
โดยเฉพาะจากการเกษตรและประมง สปป.ลาวได้ประโยชน์มากขึ้นจากการทำเขื่อน เพิ่มพื้นที่ชลประทาน
ส่วนกัมพูชาได้ประโยชน์ด้านการประมงเพิ่มขึ้น
ทั้ง 4 ประเทศได้ประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมจากแม่น้ำในช่วงหน้าแล้ง
แต่มีปัญหาเรื่องการขนส่งทางน้ำ ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ต่อครั้งลดลง ไทยกับเวียดนามได้ประโยชน์ทางสังคมมากเนื่องจากได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
ผลประโยชน์จากความร่วมเห็นได้ชัดนับตั้งแต่มี Mekong Agreement
เมื่อปี 1995 เกิดความร่วมมือหลายโครงการ ลดความเข้าใจผิด ทั้งนี้ยังต้องกระชับความร่วมมือให้มากกว่านี้ทั้งเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูล
ร่วมตรวจสอบสิ่งแวดล้อม และหวังว่านับจากปี 2030 คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงจะมีรายได้สามารถดูแลตัวเองในยามที่กิจกรรมต่างๆ
ต้องการงบประมาณมากขึ้น
วิเคราะห์องค์รวม :
คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเรียกร้องให้ประเทศในกลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างให้ความสำคัญกับการวางแผนร่วมกัน
บริหารจัดการใช้ประโยชน์จากลำน้ำโขง ก่อนจะเกิดปัญหาต่อประชาชนหลายสิบล้านคนในกลุ่มประเทศที่ใช้ชีวิตร่วมกับลำน้ำแห่งนี้
แม่น้ำโขงมีเรื่องท้าทายที่ต้องจัดการมากขึ้น
เหตุจากประชากรตามลุ่มน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โครงการลงทุนการก่อสร้างต่างๆ
สภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ภัยธรรมชาติ
เหล่านี้มีผลทั้งทางบวกกับลบต่อวิถีชีวิตผู้คนที่ใช้ประโยชน์จากลำน้ำนี้ ไม่ลืมว่าการดำเนินชีวิตของประชาชนเกือบ
70 ล้านคนใน 4 ประเทศขึ้นกับแม่น้ำนี้ ในจำนวนนี้ 40 ล้านคนทำประมง
การประมงคิดเป็นร้อยละ 18 ของจีดีพีกัมพูชาและร้อยละ 13 ของ สปป.ลาว
ปัญหาหนึ่งที่รายงานเอ่ยถึงหลายครั้งคือเรื่องข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน
ไม่ทันสมัย ข้อมูลบางประเทศชัดเจนกว่าบางประเทศ ส่งผลต่อการวิเคราะห์ ข้อสรุป
ตัวเลขหลายอย่างมีแนวโน้มต่ำกว่าความจริง ส่งผลต่อการวางแผน
และเมื่อพิจารณาเรื่องการกระจายผลประโยชน์จึงมีปัญหาว่าเท่าเทียมหรือไม่
จุดเท่าเทียมอยู่ที่ตรงไหน หาข้อสรุปไม่ได้
แม่น้ำโขงสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมานานและมากมาย
ปัจจุบันกำลังเผชิญความไม่ยั่งยืน เนื่องจากการพัฒนา
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ถึงเวลาแล้วที่ต้องหันมาดูแลแม่น้ำนี้
วางแผนอย่างรอบคอบว่าควรร่วมกันจัดการอย่างไร เพื่อรักษาสิ่งนี้แก่คนรุ่นหลัง
ประชาคมอาเซียนกำหนดเป้าหมายเพิ่มขยายความร่วมมือ
ความเป็นไปของลุ่มน้ำโขงคือตัวอย่างรูปธรรมถึงความสำเร็จของประชาคมอาเซียน ตั้งแต่ระดับองค์กร
ความร่วมมือระหว่างรัฐสมาชิก จนถึงประชาชนท้องถิ่น
3
พฤศจิกายน 2019
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน
คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่
24 ฉบับที่ 8393 วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562)
-----------------------
บรรณานุกรม
:
1. Mekong
Countries Need To Take More Proactive Approach To Basin Planning. (2019,
October 23). KPL. Retrieved from http://kpl.gov.la/En/Detail.aspx?id=48933
2. Mekong
River Commission. (2019). State of
the Basin Report 2018. Retrieved from
http://www.mrcmekong.org/assets/Publications/SOBR-v8_Final-for-web.pdf