เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวมหรือความร่ำรวยของไม่กี่คน

แทบทุกรัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำแต่ข้อเท็จจริงคือโลกเหลื่อมล้ำยิ่งกว่าเดิม องค์การอ็อกแฟมเสนอวิธีแก้ไขที่ทุกประเทศทำได้ เป็นมาตรการที่ได้ผล เหลือเพียงรัฐบาลกล้าลงมือหรือไม่

            เป็นประจำทุกปีองค์การอ็อกแฟม (Oxfam International) จะนำเสนอรายงานความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจคู่ขนานกับการประชุมผู้นำเศรษฐกิจของโลก (World Economic Forum) ที่ดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ รายงานฉบับล่าสุดตั้งชื่อว่า ‘Public good or private wealth?’
            ความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเพราะปัญหานี้ร้ายแรงขึ้นทุกวัน ทำให้คนในสังคมแตกแยก ทางออกคือต้องสร้างระบบเศรษฐกิจที่เกื้อการุณย์ต่อมวลมนุษย์ด้วยกัน (Human Economy)
ข้อมูลจากธนาคารโลกล่าสุดระบุว่าปัจจุบันประชากรโลก 3,400 ล้านคนอยู่ด้วยเงินต่ำกว่า 5.5 ดอลลาร์ต่อวัน (ราว 176 บาท) ผลลัพธ์คือทุกวันนี้เด็ก 262 ล้านคนไม่ได้ไปโรงเรียน แต่ละวันมีผู้เสียชีวิตราว 10,000 คนเพราะไม่ได้รับการรักษาพยาบาล เอื้อให้เกิดรัฐบาลอำนาจนิยม บั่นทอนประชาธิปไตย บั่นทอนสิทธิมนุษยชน สถิติอาชญากรรมสูงขึ้น คนเครียดและป่วยทางจิตมากขึ้น
            ผู้หญิงมักเป็นกลุ่มที่เหลื่อมล้ำมากที่สุดแม้กระทั่งในหมู่ประเทศยากจน ผู้หญิงมักเป็นคนที่ยากจนสุดๆ เหลื่อมล้ำมากสุด เหตุผลง่ายๆ เพราะผู้ชายเป็นผู้ปกครองและเขียนกติกาที่ให้ตัวเองได้ประโยชน์ สตรีเพศจึงมักถูกทอดทิ้ง ได้รับการเหลียวแลเป็นคนท้ายๆ การปรับลดบริการสาธารณะ ลดภาษีเศรษฐี ผู้หญิงจะได้รับผลกระทบก่อนและเสียหายมากกว่าทุกคน
            ข้อมูลระดับโลกพบว่าหญิงมีรายได้ต่ำกว่าชายร้อยละ 23 (ในงานเดียวกัน) ชายมีทรัพย์สมบัติมากกว่าหญิงถึงร้อยละ 50
            ประเด็นน่าคิดคือ หญิงต้องทำงานบ้านเลี้ยงดูบุตรหลาน ดูแลคนชรา โดยไม่ได้รับค่าแรง ขาดการเหลียวแลจากรัฐ ถ้าสตรีได้รับการดูแลจากรัฐดีกว่านี้จะลดการละเมิดทางเพศ ลดการกดขี่ทางเพศได้มากมาย
            ความจริงอีกข้อคือเด็กเก่งเด็กฉลาดมีอยู่ทุกที่ทั่วโลก แต่ไม่ใช่ทุกคนได้รับการดูแลอย่างสมควร ขาดโอกาสเรียนต่อ ผลคือความสามารถของเด็กไม่ได้รับการพัฒนาให้สูงขึ้นไป เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่าในหลายประเทศลูกคนรวยเท่านั้นที่ได้โอกาสทางการศึกษาสูงสุด เด็กหญิงในประเทศเคนยา 1 ใน 250 คนเท่านั้นที่ได้ศึกษาต่อในระดับมัธยม
            ส่วนสุขภาพคือสิ่งที่ต้องซื้อด้วยเงิน คนจ่ายได้มากกว่าจะได้รับการดูแลรักษาพยาบาลที่ดีกว่า คนยากจนจึงมักมีอายุสั้น เด็กในครอบครัวเนปาลที่ยากจนเสียชีวิตมากกว่าลูกคนรวยถึง 3 เท่า
            นี่คือสภาพความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำของสังคมที่เกิดขึ้นและพบเห็นดาษดื่น
Universal public services:
การเข้าถึงบริการสาธารณะอย่างทั่วถึง (Universal public services – เช่น เรียนฟรี รักษาพยาบาลฟรี ไฟฟ้า น้ำประปา) เป็นรากฐานของสังคมเสรีและยุติธรรม (free and fair society) เพียงแค่รัฐบาลดูแลเอาใจใส่ให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการสาธารณะ มีมาตรการช่วยเหลือทางสังคมอย่างทั่วถึงจะช่วยเพิ่มความเท่าเทียมได้ทันที ได้ประชากรที่มีการศึกษา สุขภาพดีตั้งแต่เด็ก สังคมมีเสรีภาพจริง ไม่มีใครถูกบีบคั้นให้ทำผิดกฎหมายเพราะว่า “จน” การใช้งบประมาณเพื่อการนี้ย่อมดีกว่าใช้งบประมาณแก้ปัญหาอันเนื่องจากสังคมไร้เสถียรภาพ เมื่อคนมีงานทำย่อมไม่คิดปล้นใครกิน ทุกคนใช้ชีวิตเป็นสุขตามสมควร เปิดโอกาสให้ประเทศพัฒนาก้าวหน้ากว่าเดิม
รายงานจากอ็อกแฟมชี้ว่าแทบทุกประเทศมีนโยบายลดความเหลี่ยมล้ำ แก้ปัญหาความยากจน แต่หากจะแก้อย่างจริงจังและได้ผลควรกำหนดเป้าหมาย แผนระยะต่างๆ และแผนปฏิบัติงาน (action plan) ที่ชัดเจน และให้สอดคล้องกับ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน“ (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ พร้อมกับแนวทางต่อไปนี้
            ประการแรก ใช้นโยบายดูแลสุขภาพฟรี ทุกคนได้รับการศึกษาและบริการสาธารณะโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เลิกนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชน ให้เงินบำนาญ เบี้ยดูแลเด็ก ช่วยเหลือปกป้องทางสังคมแก่ทุกคนโดยไม่แบ่งแยกหญิงชาย
            ประการที่ 2 หญิงที่ทำงานบ้านเลี้ยงดูบุตรหลานดูแลคนชราถือว่าเป็นการทำงานประเภทหนึ่ง รัฐบาลต้องดูแลหญิงเหล่านี้ดั่งคนทำงาน สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะอย่างน้ำประปา ไฟฟ้า การดูแลเด็กได้โดยง่าย เพื่อไม่ต้องเสียเวลากับงานเหล่านี้ (เช่น ต้องเดินไปหาบน้ำไกลหลายกิโลเมตร เสียเวลาหลายชั่วโมง)
            ประการที่ 3 เลิกลดภาษีแก่เศรษฐีและกิจการเอกชนขนาดใหญ่ หลายปีที่ผ่านมารัฐบาลหลายประเทศมุ่งปรับลดภาษีคนมั่งคั่งร่ำรวยกับกิจการเอกชนขนาดใหญ่ เป็นนโยบายที่ไม่เหมาะสม ทำให้ผู้มีฐานะดีเสียภาษีต่ำกว่าที่ควร
เหล่านี้เป็นแนวทางที่ทุกรัฐบาลปฏิบัติตามได้ และเป็นวิธีลดความเหลื่อมล้ำที่ได้ผลจริง

อภิมหาเศรษฐีพันล้านช่วยได้ :
นับจากวิกฤติการเงินเมื่อปี 2008 จำนวนมหาเศรษฐีพันล้านเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในระยะ 10 ปีเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัว ปีที่แล้วเพียงปีเดียวพวกมหาเศรษฐีพันล้านสร้างความมั่งคั่งเพิ่มถึง 900,000 ล้านดอลลาร์หรือ 2,500 ล้านดอลลาร์ต่อวัน ในขณะที่ความมั่งคั่งของกลุ่มคนยากจนที่สุด 3,800 ล้านคนลดลงร้อยละ 11 เห็นชัดว่าคนรวย-รวยขึ้น คนจน-จนลง
นอกจากนี้ ความมั่งคั่งกระจุกตัวกว่าเดิม อภิมหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งที่สุด 26 คนของโลกมีทรัพย์สินเงินทองเท่ากับครึ่งหนึ่งของประชากรโลกหรือ 3,800 ล้านคน (นับจากคนยากจนที่สุดขึ้นมา) จากปีก่อนที่จะต้องรวม 43 อภิมหาเศรษฐีจึงจะเทียบเท่า
ถ้าอภิมหาเศรษฐีพันล้านยอมเสียภาษีเพิ่มอีกนิดเพียงร้อยละ 0.5 จากทรัพย์สินของพวกเขา เด็ก 262 ล้านคนจะได้ไปโรงเรียน ผู้ป่วย 10,000 คนในแต่ละวันจะไม่เสียชีวิตเพราะได้รับการรักษาพยาบาล (หรือราว 3.6 ล้านคนต่อปี)
            ปัญหานั้นมีอยู่และบรรเทาได้ถ้ายอมเสียสละ ลดความเห็นแก่ตัว อภิมหาเศรษฐีจ่ายภาษีมากกว่าเดิม เก็บภาษีผู้รับมรดก (Inheritance Tax) ภาษีทรัพย์สิน (Wealth Tax) เพียงเท่านี้รัฐจะมีงบประมาณสำหรับการบริการสาธารณะอย่างทั่วถึง และมีเหลือสำหรับลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
            และหากสามารถแก้การทุจริตคอร์รัปชัน การเลี่ยงภาษีด้วยวิธีต่างๆ รัฐจะมีงบประมาณเพื่อพัฒนาประเทศในทุกด้าน
            จะมีนักการเมือง พรรคการเมือง หรือผู้ปกครองคนใดที่จะดำเนินนโยบายลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนอย่างจริงจัง นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองมีเรื่องนี้หรือไม่

ไม่มีประโยชน์ที่ดีแต่พูดแต่ไม่ทำจริง:
ทุกวันนี้มนุษย์ทุกคนในโลกล้วนอยู่ภายใต้รัฐใดรัฐหนึ่ง ไม่มีใครสามารถอยู่แยกโดดเดี่ยว รัฐหรือรัฐบาลมีหน้าที่รักษาความมั่นคงปลอดภัยจากอันตรายทั้งภายในและนอกประเทศ รักษาความยุติธรรมในสังคม ให้ความช่วยเหลือพลเมืองผู้ยากไร้ เป็นเหตุผลว่าทำไมจึงต้องมีรัฐหรืออยู่ใต้อำนาจรัฐบาลต่อไป พลเมืองทุกคนพร้อมให้ความร่วมมือและเอาใจช่วยหากรัฐบาลทำหน้าที่เพื่อสังคมส่วนรวม
            องค์การอ็อกแฟมรายงานว่าตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาแทบทุกรัฐบาลมีนโยบายแก้ไขความยากจน ทำให้จำนวนคนยากจนลดน้อยลงแต่ปัญหายังคงอยู่และมีปัญหาใหม่ และเช่นเดิมที่แทบทุกรัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำแต่ยังทำน้อยเกินไป แก้ปัญหาช้าเกินไป เหตุเพราะผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองไม่ได้ให้น้ำหนักมากเพียงพอ เกิดคำถามว่ารัฐบาลกำลังบริหารประเทศ “เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวมหรือความร่ำรวยของไม่กี่คน”
            รัฐบาลจะยอมรับหรือไม่ ยอมรับมากน้อยเพียงไร ความเหลื่อมล้ำความไม่เท่าเทียมกำลังก่อตัวเป็นปัญหาหนักขึ้นทุกวัน เราเห็นการประท้วงในหลายประเทศ แม้ในประเทศที่ได้ชื่อว่าพัฒนาแล้ว กรณีร้ายแรงสุดคือเกิดขั้วต่อต้านรัฐบาลแบบสุดโต่ง นำสู่ความรุนแรงที่ควบคุมไม่ได้ อาจกลายเป็นชนวนสงครามกลางเมือง คนชาติเดียวกันเข่นฆ่ากันเองด้วยอาวุธสงคราม ต่างชาติเข้าแทรก เมื่อถึงเวลานั้นประเทศยากจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป กลายเป็นรัฐล้มเหลว ประชาชนนับแสนเสียชีวิต นับล้านต้องอพยพลี้ภัยกลายเป็นผู้ไม่รู้อนาคตจะเป็นอย่างไร บ้านเมืองกลายเป็นซากปรักหักพัง เหตุเพราะผู้มีอำนาจปกครองในปัจจุบันไม่ตระหนัก ไม่ยอมรับปัญหา ไม่คิดหรือไม่กล้าลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง
27 มกราคม 2019
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 23 ฉบับที่ 8113 วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ.2562)
------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
โลกต้องชื่นชมเศรษฐีผู้สร้างความร่ำรวยเพื่อมุ่งช่วยเหลือสังคมให้เป็นอารยะ ไม่ส่งเสริมยกย่องเศรษฐีที่ไม่ดูแลสังคมอย่างจริงจัง ยึดหลัก “เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข” อยากเห็นผู้อื่นมีความสุขเหมือนตนเอง
บรรณานุกรม :
1. Ginsberg, Benjamin., Lowi, Theodore J., Weir, Margaret., Tolbert, Caroline J., & Spitzer, Robert J. (2015). We the People: An Introduction To American Politics. (Tenth Essentials Edition). NY.: W. W. Norton & Company.
3. Oxfam International. (2019, January). Public good or private wealth? Retrieved from https://oxfamilibrary.openrepository.com/bitstream/handle/10546/620599/bp-public-good-or-private-wealth-210119-en.pdf

unsplash-logoAnnie Spratt