วันแห่งความโกรธแค้นของเสื้อกั๊กเหลืองในประชาธิปไตยฝรั่งเศส

การชุมนุมที่ปะทุจากเหตุขึ้นภาษีน้ำมัน เหตุผลที่ลึกกว่าคือสะท้อนความไม่พอใจรัฐบาลที่เก็บกด เป็นวันแห่งความโกรธแค้นของคนเหล่านี้ต่อระบอบการเมืองของประเทศ

17 พฤศจิกายนผู้คนเริ่มประท้วงรัฐบาลหลังประกาศขึ้นภาษีน้ำมัน มีผลโพลระบุว่าคนปารีสร้อยละ 73 สนับสนุนผู้ชุมนุม ประธานาธิบดีเอมมานูแอล มาครง (Emmanuel Macron) ตีความว่าพวก เสื้อกั๊กเหลือง” (Yellow Vest) มาจากกลุ่มหัวรุนแรง (radical groups) ทั้งฝ่ายขวาจัดกับซ้ายจัดแฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ประท้วงทำลายทรัพย์สิน เผาบ้านเผาเมือง กล่าวหากลุ่มสุดโต่งของมารีน เลอเปน (Marie Le Pen) เป็นหัวขบวนประท้วง ด้านเลอเปนปฏิเสธข้อกล่าวหา
            อันที่จริงแล้วมาครงประกาศขึ้นภาษีน้ำมันตั้งแต่ช่วงหาเสียง เป็นส่วนหนึ่งของแผนใช้พลังงานสะอาด รถยนต์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่กลายเป็นชนวนให้ผู้ประท้วงลุกฮือ
            เมื่อการประท้วงขยายวง ข้อมูลกระทรวงมหาดไทยระบุตัวเลขผู้ชุมนุมบางวันสูงถึงหลักแสนคน บ้างว่าสูงสุดกว่า 300,000 คน ประเด็นความไม่พอใจเพิ่มมากขึ้น เช่น เห็นว่าค่าครองชีพสูง ผู้ประท้วงปะทะกับตำรวจ รถยนต์หลายร้อยคันถูกเผาทำลาย ฌ็องเซลิเซ่ อเวนิว (Champs Elysees Avenue) แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังตกเป็นเป้าหมาย ร้านรวงต่างๆ ถูกปล้นสะดม นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะต่างชาติพากันหนีอลหม่าน โรงแรมหลายแห่งเกือบร้าง
            แม้มีผู้เสียชีวิตและหลายร้อยคนถูกกับกุม การชุมนุมเดินหน้าต่อ

รัฐบาลถอยไปตั้งหลักหรือฟังเสียงประชาชน :
            สัปดาห์ที่ 3 ของการชุมนุมรัฐบาลมาครงเริ่มถอย ประกาศระงับขึ้นภาษีน้ำมันไว้ก่อน พร้อมกับมีข่าวจะเพิ่มมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพคนยากจน นายกฯ Edouard Philippe กล่าวว่ารัฐบาลฟังเสียงประชาชน จะใช้เวลา 6 เดือนข้างหน้าเพื่อหารือว่าควรจัดการเรื่องภาษีน้ำมันอย่างไร แต่ผู้ชุมนุมบางคนไม่พอใจ เห็นว่าเป็นเพียงการซื้อเวลา บางคนยืนยันว่าตัวประธานาธิบดีกับรัฐบาลต้องลาออกทั้งคณะ ในขณะที่บางคนเห็นว่าแค่ต้องการให้รัฐบาลเปลี่ยนนโยบาย
            ประเด็นนี้สามารถถกและวิเคราะห์ว่ารัฐบาลฟังเสียงประชาชนหรือเป็นกลยุทธ์ทางการเมือง
            เป็นไปได้หรือไม่ว่าเหตุผลหลักที่มาครงถอยเพราะแรงกดดันจากความสูญเสียทางเศรษฐกิจ เช่น รถยนต์หลายร้อยคันถูกเผา ร้านค้านับร้อยถูกปล้นสะดม นักท่องเที่ยวต่างชาติเผ่นนี้ เหตุผลเหล่านี้ต่างหากที่กดดันให้รัฐบาลยอมถอย ไม่ใช่เพราะฟังเสียงผู้ชุมนุม
            ในอีกมุมหนึ่งควรชื่นชมรัฐบาลที่ยอมถอยเพื่อลดความสูญเสีย ลดความเสี่ยงที่จะวุ่นวายมากกว่านี้

รากปัญหาคืออะไร :
ดังที่นำเสนอแล้วว่ามาครงประกาศขึ้นภาษีน้ำมันตั้งแต่ช่วงหาเสียง เป็นส่วนหนึ่งของแผนใช้พลังงานสะอาด ถ้ามองในมุมบวกรัฐบาลกำลังดำเนินนโยบายที่ดี ทั้งยังเป็นการทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้
เมื่อการชุมนุมดำเนินต่อเนื่องระยะหนึ่งก็เริ่มชัดเจนว่าเหตุผลการประท้วงคือต้องการให้รัฐบาลดูแลปัญหาปากท้อง The Institute of Public Policies รายงานว่าครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 (นับจากผู้มีรายได้ต่ำสุดขึ้นมา 20 เปอร์เซ็นต์) รายได้ที่เพิ่มขึ้นไม่ทันค่าครองชีพที่สูงเร็วกว่า สรุปสั้นๆ คือรายได้ไม่พอรายจ่าย คุณภาพชีวิตของคนจนนับวันจะย่ำแย่ลง
ไม่ว่ารัฐบาลจะชี้แจงอย่างไรในมุมของคนหาเช้ากินค่ำ การเพิ่มภาษีน้ำมันคือการซ้ำเติมปัญหาปากท้องนั่นเอง (ฝรั่งเศสเป็นอีกประเทศที่รัฐเก็บภาษีสูงมาก เก็บภาษีแทบทุกอย่าง การขึ้นภาษีแต่ละครั้งคือการเรียกเงินจากประชาชน)

เหตุผลอื่นที่ทับถมเข้ามาคือ การหยิบยกนโยบายบางข้อที่รัฐส่งเสริมภาคเอกชน ลดภาษีคนรวย บางคนยอมรับการขึ้นภาษีแต่คนรวยควรเสียมากกว่านี้ ผู้นำฝรั่งเศสจึงถูกตีตราว่าเป็น “ประธานาธิบดีของคนรวย”
พูดอีกอย่างคือเป็นผู้ปกครองที่กดขี่คนยากจนนั่นเอง
ประเด็นเหล่านี้สามารถถกเถียงอภิปรายถึงความถูกต้องเหมาะสม แต่ความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ในขณะนี้ส่อว่าพวกเขามองรัฐบาลในแง่ลบ นำสู่การตั้งเป้าล้มรัฐบาล

ถ้าตีตราว่าผู้ก่อเหตุผิดกฎหมายคือพวกหัวรุนแรง เป็นพวกต่อต้านรัฐบาลแบบหัวชนฝา อาศัยจังหวะนี้ก่อเหตุวุ่นวาย เหตุผลเช่นนี้น่าจะถูกต้องเพราะมีคนกลุ่มนี้จริง แต่ไม่อาจปฏิเสธผลโพลคะแนนนิยมรัฐบาลที่หดหายอย่างรวดเร็ว ผลโพลของ IFOP (The Institut français d'opinion publique) เมื่อ 4 ธันวาคม ผู้ตอบแบบสอบถามเพียงร้อยละ 23 ให้มาครงสอบผ่าน เป็นคะแนนต่ำสุดนับจากเริ่มรัฐบาลชุดนี้
ถ้ายึดผลโพลต้องสรุปว่าคนฝรั่งเศสส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นพวกหัวรุนแรงหรือคนทั่วไปต่างไม่พอใจผลงานรัฐบาล
อันที่จริงแล้วในหมู่ผู้ชุมนุมนับแสนมีผู้ก่อเหตุร้ายหลักร้อยหลักพันเท่านั้น ที่น่าสนใจคือ ผู้ชุมนุมอย่างสันติบางคนเห็นด้วยกับการก่อเหตุรุนแรง เห็นว่าจำต้องทำเพราะเป็นวิธีเดียวที่จะหยุดรัฐบาล และก็ได้ผล รัฐบาลประกาศไม่ขึ้นภาษีน้ำมันตลอดปีงบประมาณ 2019 นายกฯ Philippe กล่าวต่อรัฐสภาว่าถึงเวลาแล้วที่จะอภิปรายเรื่องนี้ในระดับประเทศ แต่ดูเหมือนช้าเกินไป

วิบากกรรมของมาครง :
            เอมมานูแอล มาครง ในวัย 39 ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีหลังชนะเลือกตั้งเมื่อพฤษภาคม 2017 เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ที่เพิ่งสมัครชิงตำแหน่งทางการเมืองครั้งแรก ตำแหน่งสุดท้ายคือรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ สนับสนุนการค้าเสรี สิทธิมนุษยชน ดำเนินนโยบายสายกลาง
            18 เดือนหลังการเลือกตั้งคะแนนนิยมเหลือแค่ 20 ไม่ว่ามาครงจะหน้าตาดี สดใหม่ทางการเมือง วาทศิลป์เป็นเยี่ยม ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองหลัก สุดท้ายผลการบริหารประเทศที่ประชาชนรับรู้ได้จริงเป็นตัวตัดสินใจ แม้หากการชุมนุมยุติด้วยการเจรจา งานนี้รัฐบาลมาครงเสียคะแนนย่อยยับ ยากที่จะเรียกความเชื่อมั่นคืนกลับมา
การมองภาพปารีสถูกเผานั่นเป็นเรื่องหนึ่ง คำถามที่น่าคิดคือทำไมนักการเมืองหน้าใหม่อย่างมาครงจึงสามารถก้าวสู่ตำแหน่งทางการเมืองสูงสุดด้วยการลงสนามเลือกตั้งเพียงครั้งแรกครั้งเดียว คำอธิบายที่เคยนำเสนอแล้วคือพรรคการเมืองกระแสหลักทั้งฝ่ายขวากับฝ่ายซ้ายสนับสนุน นักการเมืองรุ่นเก๋ามากประสบการณ์ต่างพากันพ่ายแพ้
            เป็นอีกครั้งที่พรรคฝ่ายซ้ายอย่างพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสเห็นด้วยกับผู้สมัครที่ดำเนินนโยบายแบบเสรีนิยม เกิดข้อสงสัยว่าแท้จริงแล้วผู้กุมอำนาจการเมืองร่วมมือกัน เลอเปนจึงโจมตีมาครงว่าเป็นหุ่นเชิดของขั้วอำนาจเก่า พวกคณาธิปไตยเลือกมาครง
            บัดนี้ดูเหมือนว่าคำกล่าวหาของเลอเปนถูกต้อง

นโยบายของมาครงไม่ได้มาจากตัวท่านเอง น่าจะเป็นแรงผลักดันจากบรรดาพรรคการเมืองที่สนับสนุนซึ่งก็คือบรรดาพรรคการเมืองเดิมๆ นั่นเอง
แนวคิดนี้อธิบายว่ามาครงเป็นเพียงแต่ตัวละครที่ถูกยกขึ้นในยามที่การเมืองประชาธิปไตยฝรั่งเศสกำลังสับสน แม้แต่มาครงก็ยอมรับว่าประเทศมีสิ่งที่เรียกว่ากลุ่มผู้ทรงอำนาจผู้ควบคุมการเมือง (the establishment) บ่อยครั้งที่คนเหล่านี้ทำเรื่องไร้ศีลธรรม
            แต่การเลือกตั้งเป็นเรื่องหนึ่ง การบริหารประเทศเป็นอีกเรื่อง ผู้ชนะเลือกตั้งไม่ได้หมายความว่าจะบริหารประเทศได้ดี รัฐบาลมาครงกำลังเป็นอีกกรณีตัวอย่าง
ถ้ามองในกรอบกว้างๆ คำถามที่ลึกกว่าคือ อย่างไรเรียกว่านโยบายที่ดี อะไรคือสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับได้ เสียงประชาชนคือความรุ่งเรืองยั่งยืนหรือไม่ รากปัญหาที่แท้จริงคืออะไรกันแน่ แทนที่จะโทษฝ่ายการเมืองเพียงอย่างเดียวพลเมืองฝรั่งเศสมีส่วนต้องปฏิรูปตัวเองหรือไม่
เหล่านี้คือคำถามใหญ่ของประชาธิปไตยฝรั่งเศส ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวเกือบ 230 ปี อีกประเทศที่ตำราตะวันตกระบุว่าเป็นต้นแบบเป็นแบบอย่างประชาธิปไตยตะวันตก
การชุมนุมที่ปะทุจากเหตุรัฐบาลประกาศขึ้นภาษีน้ำมัน กลุ่มผู้ชุมนุมมาจากหลายที่หลายกลุ่ม บ้างชุมนุมที่เมืองตนเอง บ้างรวมตัวที่กรุงปารีส ไม่ว่าเหตุผลคืออะไรทั้งหมดสะท้อนความไม่พอใจรัฐบาลที่เก็บกด เป็นวันแห่งความโกรธแค้นของคนเหล่านี้ต่อระบอบการเมืองของประเทศ เรื่องราวที่เกิดขึ้นจึงเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่ง การจะแก้ไขไม่ใช่เรื่องง่ายและจำต้องแก้ที่รากปัญหา มิฉะนั้นจะเป็นเพียงแค่ซื้อเวลาอีกรอบเหมือนที่ทำมาแล้วหลายครั้ง เป็นโจทย์ใหญ่ของระบอบประชาธิปไตยประเทศนี้
9 ธันวาคม 2018
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 23 ฉบับที่ 8065 วันอาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2561)
-----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส 2016 มีลักษณะเด่นประการหนึ่งคือปราศจากตัวแทนของพรรคใหญ่ สังคมฝรั่งเศสมาถึงมาแพร่งว่าควรเลือกนักการเมืองหน้าใหม่อย่าง เอมมานูแอล มาครง หรือผู้มาด้วยนโยบายสุดโต่งอย่าง มารีน เลอเปน ควรสนับสนุนมาครงเพื่อต้านเลอเปนหรือไม่ มาครงซึ่งปราศจากฐานเสียงจะสามารถคุม ส.ส. ส.ว. หน้าเดิมๆ ได้มากเพียงไร นับจากปฏิวัติฝรั่งเศสเกือบ 230 ปีแล้วที่ประเทศนี้ยังอยู่ระหว่างแสวงหาการปกครอง หลักนโยบายที่เหมาะสมกับตัวเอง
บรรณานุกรม :
1. AP Explains: The French protesters’ economic discontents. (2018, December 5). AP. Retrieved from https://www.apnews.com/f9625562f6774dcabfbfc91812d29669
2. Click to copyhttps://apnews.com/34b61fddaee04fbd936544cd30ddf102. (2018, December 1). AFP. Retrieved from https://www.apnews.com/34b61fddaee04fbd936544cd30ddf102
3. Facing Tough Odds in French Vote, Le Pen Assails Macron. (2017, April 27). The New York Times. Retrieved from https://www.nytimes.com/2017/04/27/world/europe/france-marine-le-pen-emmanuel-macron.html?_r=0
4. French government preparing to suspend fuel tax increases: source. (2018, December 4). Reuters.  Retrieved from https://www.reuters.com/article/us-france-protests/french-government-preparing-to-suspend-fuel-tax-increases-source-idUSKBN1O30MX
5. French government scraps fuel tax hike after yellow-vest protests. (2018, December 5). Deutsche Welle. Retrieved from https://www.dw.com/en/french-government-scraps-fuel-tax-hike-after-yellow-vest-protests/a-46606137
6. French govt considers imposing state of emergency after 'Yellow Vest' protest violence. (2018, December 2). France 24. Retrieved from https://www.france24.com/en/20181202-france-consider-state-emergency-prevent-riots-recurring
7. 'I Am Offering the French Renewal'. (2017, March 17). Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/europe/emmanuel-macron-interview-on-french-election-campaign-a-1139214.html
8. Macron Mocks Le Pen's ‘Monopoly Money’ Amid Paris Demonstrations. (2017, May 2). Bloomberg. Retrieved from https://www.bloomberg.com/politics/articles/2017-05-01/macron-mocks-le-pen-s-monopoly-money-amid-paris-demonstrations
9. Macron retreats on fuel tax hikes in bid to calm French protests. (2018, December 4). AFP.  https://www.afp.com/en/news/3954/macron-retreats-fuel-tax-hikes-bid-calm-french-protests-doc-1ba2bq15
10. Macron tells French voters democracy is under threat from 'anti-France' Le Pen. (2017, May 2). The Local. Retrieved from https://www.thelocal.fr/20170502/france-election-emmanuel-macron-tells-french-voters-democracy-is-under-threat-from-anti-france-le-pen
11. PARIS BURNS: Riot police fire tear gas as 30,000 protestors furious at Macron hit France. (2018, November 24). Express. Retrieved from https://www.express.co.uk/news/world/1049731/France-protests-paris-riots-police-emmanuel-macron-latest-france-news
12. Spotlight: Haunted by "Yellow Vests," Macron seeks to get out of social uprising via risky moratorium. (2018, December 5). Xinhua. Retrieved from http://www.xinhuanet.com/english/2018-12/05/c_137651097.htm
-----------------------------
unsplash-logoMohamed Nohassi