รัฐบาลเป็นปรปักษ์ มองสื่อเป็นอริ

หลายรัฐบาลมองสื่อเป็นอริเพราะมักวิพากษ์วิจารณ์รัฐ ในอีกมุมหนึ่งสื่อถูกใช้เป็นกลไกของรัฐช่วยเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร รวมถึงการโฆษณาชวนเชื่อทั้งระดับประเทศและโลก เป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน

ในยุคแห่งสังคมข้อมูลข่าวสาร แต่ละวันผู้คนได้รับข่าวสารมากมายทั้งแบบตั้งใจกับไม่ตั้งใจ ข้อมูลข่าวสารทั้งโฆษณาประชาสัมพันธ์ ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ พยายามมุ่งตรงเข้าถึงผู้บริโภค (จะพูดว่าพยายามยัดเยียดก็ได้) ข่าวสารเหล่านี้มีทั้งสนับสนุนกัน แข่งขันกันจนถึงขัดแย้ง เรียกว่าเป็นสงครามข้อมูลข่าวสาร ในยุคดิจิทัล (Digital Age) สงครามข่าวสารรุนแรงกว่าเดิมทั้งเป้าหมายเชิงพาณิชย์ การเมือง และอื่นๆ
รัฐบาลเป็นอีกตัวแสดง (actor) ที่ใช้ข้อมูลข่าวสารมานาน ปัจจุบันข่าวในหลายสื่อจะปรากฏข่าวที่ออกมาจากฝั่งรัฐบาลเสมอ
ตามระบอบประชาธิปไตย สื่อมวลชนมีเสรีภาพในการนำเสนอ แต่นับวันเสรีภาพถดถอยในหลายประเทศ

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporter Without Borders: RSF) เผยดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนโลกล่าสุดประจำปี 2018 พบว่ารัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกแสดงความเป็นปรปักษ์ ความเป็นอริ (animosity) ต่อนักข่าว สื่อมวลชนรุนแรงกว่าเดิม
รายงานฉบับล่าสุดใช้คำว่ารัฐหรือรัฐบาลจงเกลียดจงชังสื่อ (climate of hatred) ผลการศึกษาใน 180 ประเทศพบว่าไม่เฉพาะนักการเมืองหรือผู้นำประเทศอำนาจนิยมเท่านั้นที่แสดงความเป็นศัตรูต่อสื่อ รัฐบาลประชาธิปไตยในหลายประเทศก็เป็นเช่นนั้น นับวันผู้นำประเทศจากระบอบประชาธิปไตยจะไม่ถือว่าสื่อมวลชนเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่เป็นปรปักษ์ แสดงความเกลียดชัง (aversion) อย่างเปิดเผย ยกตัวอย่าง โรดริโก ดูเตร์เต (Rodrigo Duterte) ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์พูดว่านักข่าวอาจถูกลอบสังหาร ที่อินเดียรายชื่อนักข่าวที่ตกเป็นเป้าถูกกระจายในโซเชียลมีเดีย แม้กระทั่งในยุโรปที่เคยมีเสรีภาพสูง บัดนี้นักข่าวถูกเรียกขานด้วยชื่อที่ดูหมิ่นดูแคลน ชี้ว่าเป็นศัตรู
Christophe Deloire เลขาธิการ RSF เห็นว่าความจงเกลียดจงชังต่อนักข่าวเป็นภัยต่อระบอบประชาธิปไตย ผู้นำการเมืองต้องรับผิดชอบเพราะรัฐโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) แทนการอภิปรายบนข้อเท็จจริง

ดัชนีปี 2018 สื่อของนอร์เวย์มีเสรีภาพมากที่สุด รองมาคือสวีเดน และแม้นอร์เวย์มาเป็นลำดับหนึ่งแต่ด้วยคะแนนที่ต่ำลง ด้วยมีเหตุคุกคามแหล่งข่าว ใน 180 ประเทศที่สำรวจ เกาหลีเหนืออยู่ลำดับสุดท้าย
ประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น รัสเซียอยู่ลำดับ 148 รัฐบาลปูตินยังคงโหมโฆษณาชวนเชื่ออย่างต่อเนื่องผ่านสื่ออย่าง RT กับ Sputnik จีนแย่กว่านั้นอยู่ลำดับ 176 (เกือบเท่าเกาหลีเหนือ) ควบคุมข้อมูลข่าวสารทั้งในประเทศและในหมู่ชาติเอเชีย เวียดนามอยู่ลำดับ 175

ในระดับภูมิภาค ยุโรปอยู่ในสภาพดีที่สุด แต่คะแนนปีนี้ลดต่ำลงมากที่สุดในรอบ 5 ปี นักข่าวในยุโรปถูกสังหารเช่นกัน ทวีปแอฟริกาโดยรวมดีขึ้นเล็กน้อย (ประเทศส่วนใหญ่อยู่ในลำดับแย่)
ในย่านเอเชียแปซิฟิก ที่น่าชมเชยคือเกาหลีใต้ลำดับดีขึ้นถึง 20 ขั้นมาอยู่ลำดับที่ 43 เป็นผลงานของรัฐบาลประธานาธิบดี มุน แจ-อิน (Moon Jae-in) ชุดปัจจุบันที่ให้เสรีภาพ ที่ตรงข้ามคือกัมพูชาคะแนนลดลงมาอยู่ที่ลำดับ 142 หลังปิดสื่อหลายสำนัก
ภูมิภาคที่ลำดับแย่และคะแนนยังคงลดต่ำลงคือตะวันออกกลางกับแอฟริกาเหนือ ซาอุดิอาระเบียอยู่ลำดับ 169 อียิปต์ 161 เยเมน 167 บาห์เรน 166 อิรัก 160 นักข่าวที่ทำงานในย่านนี้เสี่ยงอันตรายยิ่ง

            รวมความแล้ว 180 ประเทศที่สำรวจ มีเพียงร้อยละ 9 ที่สื่อมีเสรีภาพ ร้อยละ 17 ค่อนข้างดี (Fairly good) ส่วนใหญ่ร้อยละ 35 อยู่ในสภาพมีปัญหา (Problematic) ร้อยละ 27 แย่ ที่เหลือร้อยละ 12 แย่มาก ถ้ารวมกลุ่มดีกับค่อนข้างดีจะได้เท่ากับร้อยละ 26 หรือ 47 ประเทศเท่านั้น ที่เหลือร้อยละ 74 หรือ 133 ประเทศอยู่ในกลุ่มมีปัญหาหรือแย่
จะเห็นว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลก 1 ใน 4 เท่านั้นที่เสรีภาพสื่อจัดว่าอยู่ในขั้นน่าพอใจ ที่เหลือราว 3 ใน 4 ไม่เป็นประชาธิปไตยหรือเป็นประชาธิปไตยแต่เปลือกนอก สะท้อนความล้มเหลวของประชาธิปไตยในประเทศเหล่านี้ แม้รัฐบาลหลายประเทศกับนักวิชาการบางคนพยายามชี้ว่าโลกเต็มด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่แท้จริงแล้วส่วนใหญ่ล้มเหลวหรือล้มลุกคลุกคลานกับการปกครองนี้
            ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ เวลาที่ผ่านไปไม่ได้หมายความว่าประเทศนั้นจะเรียนรู้พัฒนาเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเสมอไป ความจริงคือหลายประเทศถดถอย แม้กระทั่งสหรัฐอเมริกา บางประเทศในยุโรปตะวันตกที่ตำราสอนว่าเป็นต้นแบบประชาธิปไตยโลก

            ส่วนประเทศที่ปกครองด้วยระบอบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นราชาธิปไตยหรือสังคมนิยม การปิดกั้นเสรีภาพสื่อเป็นเรื่องปกติ สื่อสำนักต่างๆ ที่เผยแพร่เป็นของรัฐหรืออยู่ภายใต้การกำกับควบคุมจากรัฐ ลักษณะเช่นนี้สื่อไม่มีเสรีภาพ แต่เป็นกลไกของรัฐ ทำหน้าที่โฆษณาชวนเชื่อ

เสรีภาพสื่อในยุคทรัมป์ :
เสรีภาพสื่อในยุคทรัมป์เป็นที่กล่าวขานกันว่าแย่ลงมาก ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ถึงกับพูดว่าสื่อคือ ศัตรูของประชาชน” (enemies of the people) เป็นคำพูดเดียวกันจากปากของโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) บุคคลผู้เป็นผู้นำประเทศประกาศเป็นศัตรูกับสื่อมวลชนอย่างเปิดเผย พยายามปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงข้อมูลของทำเนียบขาว ข่าวใดที่ไม่สบอารมณ์จะบอกว่าเป็น ข่าวเท็จ” (fake news) เป็นยุคที่ผู้นำประเทศกล่าวให้ร้ายสื่อรุนแรงที่สุด หากใครพยายามทำข่าวเชิงลึกจะถูกเล่นงานโดยกฎหมาย Espionage Act เพื่อกันบุคคลนั้นเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของรัฐ
            รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาให้เสรีภาพในการพูด เสรีภาพแก่สื่อ มุ่งหวังให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น บนหลักการว่าเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐาน รัฐจะต้องไม่แทรกแซงสื่อ ไม่ปิดกั้นสื่อ เว้นแต่มีเหตุผลอันควร เช่น พูดเท็จและส่อว่าคำพูดนั้นมีเพื่อทำลายอีกฝ่าย พูดแง่ลบและส่อว่าจะทำร้ายอีกฝ่ายตามคำพูดนั้น ภาพอนาจาร โฆษณาที่ไม่เป็นความจริงหรือชี้นำให้เข้าใจผิด
            แต่เสรีภาพสื่อของสหรัฐในระยะหลังนับวันจะคลอนแคลน

สื่อเป็นเครื่องมือของรัฐ :
            การที่สื่อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลชักนำให้เข้าใจว่าสื่อเป็นปรปักษ์กับรัฐบาล แต่ในอีกมุมหนึ่ง บ่อยครั้งที่สื่อมวลชนเป็นเครื่องมือของรัฐบาลด้วย ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ก็ตาม ที่เห็นเด่นชัดคือสื่อจะนำเสนอข้อมูลข่าวสารของรัฐเต็มที่ ประเด็นคือสื่อกำลังทำหน้าที่ช่วยรัฐโฆษณาชวนเชื่อหรือไม่ หากชิ้นข่าวเป็นเช่นนั้น
            สื่อทำหน้าที่เหมือนเครื่องขยายเสียง แต่จำต้องมีผู้วิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้นด้วย การปิดกั้นเสรีภาพสื่อ ปิดกั้นการวิพากษ์จึงเป็นโทษ

            ในอีกด้านหนึ่ง ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ข่าวแต่ละวันที่ปรากฏมักมีส่วนวิพากษ์วิจารณ์ ล้อเลียนรัฐบาล นักการเมือง ผู้เสพข่าวจะได้เสพทุกวัน (หรือแทบทุกวัน) ราวกับเป็นกิจวัตรประจำวันอย่างหนึ่ง แม้ว่ารัฐบาลทำดีหลายอย่างแต่หากมีข้อบกพร่องเพียงเล็กน้อยก็จะถูกขยายความทันที ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ชอบฟังข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี ความผิดพลาดเพียงนิดเดียวของนักการเมืองกับรัฐบาลกลายเป็นขนมหวานของผู้ชอบเสพข่าวร้าย ในแง่นี้การขยายความเกินควรจึงไม่ยุติธรรมต่อผู้ถูกวิพากษ์

            ในระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สื่อคือตัวแทนสงครามข้อมูลข่าวสาร บิดเบือนให้สาธารณชนเข้าใจผิด
            ยกตัวอย่าง สื่อตะวันตกจะใช้คำว่า "กองกำลังติดอาวุธในซีเรียที่อิหร่านสนับสนุน" เสมอๆ ไม่ว่าประเด็นข่าวนั้นคืออะไร แต่เมื่อพูดถึงกองกำลังอื่นๆ ที่เหลืออีกหลายสิบกลุ่มจะไม่พูดว่าเป็นกองกำลังที่ประเทศใดสนับสนุน การรายงานข่าวเช่นนี้ทำให้ผู้อ่านถูกใส่ความคิดว่าอิหร่านสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย แต่ละเลยว่าประเทศอาหรับหรือชาติตะวันตกอื่นๆ สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายด้วยหรือไม่
            กรณีขีปนาวุธเกาหลีเหนือเป็นอีกเรื่องที่สื่อสหรัฐมักนำเสนอในเชิงว่าเป็นภัยคุกคามร้ายแรง รัฐบาลเกาหลีเหนือจะถล่มแผ่นดินใหญ่อเมริกาด้วยนิวเคลียร์ ไม่ว่าเกาหลีเหนือมีนิวเคลียร์จริงหรือไม่ ต้องการโจมตีหรือไม่ ผลจากการประโคมข่าวทำให้คนอเมริกันจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าประเทศตนกำลังจะตกเป็นเป้าระเบิดนิวเคลียร์ในไม่ช้า

อย่างไรก็ตามในภาพรวม เมื่อถามชาวอเมริกันว่าเชื่อถือสื่อประเทศตนเพียงใด ผลสำรวจของ Gallup เมื่อกันยายน 2016 พบว่าชาวอเมริกันเพียงร้อยละ 32 ที่เห็นว่าสื่อ (อเมริกัน) “รายงานข่าวอย่างครบถ้วน ถูกต้องและยุติธรรมตัวเลขนี้ลดลง 8 จุดเมื่อเทียบกับการสำรวจเมื่อปีก่อน
ข้อมูล Gallup บ่งชี้ว่าความเชื่อถือต่อสื่อค่อยๆ ลดน้อยถอยลงตามลำดับ ปี 1997 อยู่ที่ 53 ปี 1999 สูงขึ้นเป็น 55 จากนั้นค่อยๆ ลดลง (บางปีปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย) ปี 2015 อยู่ที่ร้อยละ 40 ปี 2016 ลดลงฮวบฮาบมาอยู่ที่ 32

            ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย สื่อมีหลากหลายสำนัก บางแห่งสนับสนุนรัฐบาล บางแห่งต่อต้าน บางครั้งสนับสนุนจนเกินงาม บางครั้งต่อต้านอย่างไร้เหตุผล บางครั้งราวกับทำหน้าที่เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล ในยุคโลกาภิวัตน์การเข้าถึงสื่อประเทศต่างๆ เป็นเรื่องง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส การจะเข้าใจความเป็นไปของโลกจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก ข้อแนะนำคือต้องมีใจเป็นกลาง ศึกษาข้อมูลรอบด้าน ทำตัวเปรียบเหมือนศาลที่ต้องฟังความทั้ง 2 ข้าง ติดตามข้อมูลต่อเนื่อง เช่นนี้จะช่วยให้เข้าใจได้ดียิ่งขึ้น ไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใด
29 เมษายน 2018
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7841 วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ.2561)
----------------------------------
บรรณานุกรม :
1. Greenberg, Edward S., Page, Benjamin I. (2009).The Struggle for Democracy (9th Ed.). USA: Pearson Education.
2. Reporters Without Borders. (2018, April). RSF Index 2018: Hatred of journalism threatens democracies. Retrieved from https://rsf.org/en/rsf-index-2018-hatred-journalism-threatens-democracies
3. Reporters Without Borders. (2018, April). Trump exacerbates press freedom’s steady decline. Retrieved from https://rsf.org/en/united-states
4. Swift, Art. (2016, September 14). Americans' Trust in Mass Media Sinks to New Low. Gallup. Retrieved from http://www.gallup.com/poll/195542/americans-trust-mass-media-sinks-new-low.aspx
-----------------------------