เผด็จการ 3 รูปแบบ? สีจิ้นผิง ปูติน และระบบ 2 พรรคอเมริกา

หากไม่ทำเพื่อประชาชนสังคมส่วนรวม ไม่ว่าจะกุมอำนาจคนเดียวหรือเป็นกลุ่ม นั่นคือเผด็จการ หากทำเพื่อความสุขของประชาชนจริง จะกลายเป็นราชาธิปไตยหรือการปกครองโดยคณะบุคคลที่น่าส่งเสริม
เผด็จการแบบสีจิ้นผิง? :
จีนถือว่าปัจจุบันประเทศปกครองแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย (socialist democracy) ตามลักษณะของจีน ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิตประจำวัน มีเสรีภาพในการเลือกเรียน เลือกงานทำ เลือกคู่ครอง เป็นเจ้าของทรัพย์สิน ประกอบธุรกิจส่วนตัว แต่อำนาจการปกครองอยู่ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์ รัฐบาลมีอำนาจทุกด้าน กำกับควบคุมชี้นำเศรษฐกิจสังคม ฯลฯ
การที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเตรียมแก้รัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง (Xi Jinping) อยู่ในตำแหน่งไม่จำกัดวาระ ทำให้หลายคนกังวลว่าสภาพเช่นนี้จะเป็นเหตุให้ บริหารผิดพลาด เพราะอาจขาดการถ่วงดุลท้วงติง ประธานาธิบดีเปรียบเหมือนจักรพรรดิ อาจกลายเป็นทรราช
ชมคลิป 7 นาที

ในทางวิชาการ ทรราชหมายถึงคนเดียวมีอำนาจสูงสุดเหนือบุคคลทั้งหลายอย่างเด็ดขาด หากผู้ปกครองมีคุณธรรมเรียกว่า ราชาธิปไตย” (Monarchy) แต่หากกดขี่ข่มเหงราษฎร จะเรียกว่า ทุชนาธิปไตยหรือ ทรราช” (Tyranny)
            ความจริงแล้วไม่ว่าประธานาธิบดีจะดำรงตำแหน่งแบบจำกัดวาระหรือไม่ ล้วนมีโอกาสเป็นทรราช เพียงแต่เป็นทรราชแบบจำกัดวาระหรือไม่ ลึกกว่านั้นคือพรรคคอมมิวนิสต์คือพรรคทรราชหรือไม่ กล่าวได้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์เทียบได้กับราชวงศ์หรือชนชั้นปกครองที่สืบทอดอำนาจผ่านกระบวนการของพรรค
            ส่วนใครจะว่ารูปแบบนี้ดีหรือไม่ ย่อมวิพากษ์ได้ทั้งดีกับไม่ดี โดยรวมแล้วชาวจีนน่าจะมีความสุขมากกว่าสมัยเหมาเจ๋อตง (Mao Zedong) มีข้อมูลว่าปี 2016 ชาวจีน 135 ล้านคนเที่ยวต่างประเทศ (ราวร้อยละ 10 ของประชากร) ใช้จ่ายกว่า 261,000 ล้านดอลลาร์ ผ่านบริการโอนเงินของจีนโดยเฉพาะ Alipay กับ WeChat Pay ข้อมูลชิ้นเล็กๆ นี้สะท้อนภาพบางอย่างได้ดี
            อย่างไรก็ตาม จีนในอนาคตจะมีปัญหามากขึ้นหรือไม่ การทุจริตคอร์รัปชันจะส่งผลต่อสังคมอย่างไร จะผ่านพ้นอย่างไร คือคำถามที่น่าสนใจ

เผด็จการแบบปูติน? :
            นายวลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) เป็นผู้นำประเทศในภาวะวิกฤติ สืบเนื่องจากการปฏิรูปของมิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ในทศวรรษ 1990 แต่ความไม่พร้อม ปัญหาเก่าที่หมักหมม สร้างความทุกข์ยากแก่ประชาชนแสนสาหัส คนชนบทห่างไกลต้องหาทางเอาตัวรอดด้วยตัวเอง ปี 1999 นายปูตินดำรงตำแหน่งนายกฯ และเป็นประธานาธิบดีในปีถัดมา
            ฝ่ายที่วิพากษ์ปูตินมักพูดถึงประเด็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านถูกลดทอนบทบาทกลายเป็นพรรคไม้ประดับ ใครเคลื่อนไหวการเมืองรุนแรงมักถูกเล่นงานจนพ้นเส้นทาง คนที่ใกล้ชิดกับพรรค ฐานอำนาจของปูตินได้ประโยชน์มากกว่าคนทั่วไป
            แต่ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้นมาก คนว่างงานลดน้อยลงมาก ผู้คนอยู่ดีกินดีกว่าเดิม หลายคนที่เคยต่อต้านปูตินบัดนี้หันกลับมาสนับสนุน
            เศรษฐกิจดีส่งเสริมความมั่นคงด้านอื่นๆ ทั้งการเมือง การทหาร การศึกษา วัฒนธรรม ไม่ว่าใครจะวิพากษ์อย่างไร รัสเซียในยุคปูตินฟื้นตัว กล่าวได้ว่าปูตินคือผู้ยุติความทุกข์อันเนื่องจากการปฏิรูป นำการฟื้นฟูสู่ประเทศ รัสเซียแสดงบทบาทเด่นในเวทีการเมืองระหว่างประเทศอีกครั้ง
            น่าคิดใช่ไหมหากรัสเซียไม่มีปูติน สังคมจะยังคงวุ่นวายจากการปฏิรูปอีกนานเพียงไร จะเลวร้ายกว่าเดิมหรือไม่ ลองเทียบกับอัฟกานิสถาน อิรัก ลิเบีย ยูเครน ฯลฯ ที่ยังกำลังปฏิรูปเป็นประชาธิปไตยตามคำชี้แนะของรัฐบาลตะวันตก ประเทศเหล่านี้กลายเป็นรัฐล้มเหลว ผู้คนทั่วหล้าทุกข์ยากไม่รู้จบ เมื่อสอบถามความรับผิดชอบ รัฐบาลตะวันตกเหล่านี้จะตอบว่าไม่ใช่ความรับผิดชอบของพวกเขา
            ดังที่เคยนำเสนอแล้วว่าปูตินกลายเป็นผู้นำที่ครองอำนาจยาวนาน เริ่มจากเป็นนายกฯ สมัยแรกในปี 1999 ขยับขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี 2000 จากนั้นครองอำนาจต่อเนื่องมาโดยตลอด ช่วงปี 2008-2012 กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งหลังครบวาระประธานาธิบดี 2 สมัยซ้อน จากนั้นกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยเมื่อปี 2012 จนถึงปัจจุบัน และคาดว่าการเลือกตั้งมีนาคม 2018 นี้ ปูตินจะชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนถล่มทลายได้เป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัย คราวนี้คือสมัยที่ 4
นั่นหมายความว่าท่านจะได้เป็นประธานาธิบดีถึงปี 2024 ด้วยวัย 72 ปี หรือเท่ากับเป็นผู้ปกครองประเทศยาวนานถึง 1 ใน 4 ของศตวรรษ (ภายใต้สมมติฐานว่าท่านวางมือหลังวัย 72 ปี)
            ประวัติศาสตร์รัสเซียยุคใหม่จะบันทึกเรื่องราวของปูตินอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมกับข้อสรุปว่าปูตินกับพวกยึดฐานอำนาจประเทศอย่างแข็งแกร่ง จนไม่มีใครสามารถต่อกร ถ้าจะบอกว่าเป็นระบอบเผด็จการในคราบประชาธิปไตยย่อมมีผู้เห็นด้วยหลายคน ในขณะที่ชาวรัสเซียจำนวนมากสนับสนุนผู้นำอย่างปูติน

แบบ 2 พรรคของอเมริกา? :
ในอดีตคนอเมริกันไม่ชอบพูดว่าพวกเขามีชนชั้นทางสังคม (social class) เพราะขัดกับแนวคิดที่ว่าชาวอเมริกันทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน
แต่ในระยะหลังการพูดคำว่าชนชั้นเริ่มถี่ขึ้น
ในช่วงหาเสียงโดนัลด์ ทรัมป์กล่าวหาฮิลลารี คลินตันว่า “บริษัทยักษ์ใหญ่ สื่อของชนชั้นนำ (elite media) และผู้บริจาครายใหญ่พากันต่อแถวอยู่เบื้องหลังการรณรงค์หาเสียง (ของฮิลลารี) เพราะพวกเขารู้ว่าเธอสามารถ รักษาระบบขี้ฉ้อนี้  พวกเขาโยนเงินให้เธอเพราะพวกเขาควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอทำ เธอเป็นหุ่นเชิดให้พวกเขาคอยชักใย

            ก่อนหน้านั้น มีผู้ชี้ว่าสหรัฐในปัจจุบันไม่เป็นประชาธิปไตยแท้ๆ อีกแล้ว ยกตัวอย่าง อดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ (Jimmy Carter - ดำรงตำแหน่งช่วงปี 1977-1981) กล่าวเมื่อกรกฎาคม 2015 ว่าสหรัฐอเมริกาในขณะนี้เป็นระบอบคณาธิปไตย (oligarchy) กลุ่มคนเหล่านี้ติดสินบนนักการเมืองทั้งพรรคเดโมแครทกับรีพับลิกัน โดยเฉพาะคนที่ต้องการชิงตำแหน่งประธานาธิบดี คนที่ต้องการเป็นผู้ว่าการรัฐ เป็นวุฒิสมาชิกและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบอบการเมืองปัจจุบันจึงเคลื่อนไปด้วยคนเหล่านี้ นโยบายประเทศเอื้อประโยชน์แก่คนกลุ่มเหล่านี้

Christina Tobin ประธาน The Free and Equal Elections Foundation เห็นว่า ระบบการเลือกตั้งสหรัฐในปัจจุบันไม่สามารถคัดคนดีเข้าสภา คนของพรรคเดโมแครทกับรีพับลิกันต่างถูกคุมโดยนายทุนใหญ่เหมือนกัน พรรคการเมืองไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองอีกแล้ว
ตามการจำแนกรูปแบบรัฐบาลของอริสโตเติล (Aristotle) คณาธิปไตยคือระบบรัฐบาล (system of government) ที่อำนาจอยู่ในมือไม่กี่คนหรือชนชั้นเดียว (single class) คณาธิปไตยถูกเรียกในชื่ออื่นๆ เช่น ระบอบอำนาจนิยม เผด็จการ

ชนชั้นปกครองในที่นี้ไม่ได้หมายถึงพวกราชวงศ์ ขุนนางชั้นสูงเท่านั้น แต่หมายถึง ใครก็ตามที่สามารถกุมอำนาจปกครองและทำเพื่อตนเองกับพวกพ้องเป็นหลัก ในบางกรณีอาจหมายถึง  ข้าราชการ เจ้าของที่ดินรายใหญ่ นักธุรกิจ ผู้ถืออำนาจกองทัพที่ร่วมกันปกครอง
หากไม่ได้กุมอำนาจคนเดียว แต่เป็นหลายคนหลายกลุ่มช่วยกันกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ เช่นนี้ก็เป็นทรราชเหมือนกัน
วิเคราะห์องค์รวมสรุป :
            ถ้าพิจารณาให้ดี แท้จริงแล้วทั้งแบบจีน รัสเซียและสหรัฐ ล้วนอาศัย “ระบอบฐานอำนาจ” ประธานาธิบดีเป็นเพียงผู้กุมอำนาจสูงสุดหรือผู้ออกหน้า ทั้ง 3 กรณีมีความแตกต่างในบางจุดเพราะมาจากบริบทที่แตกต่าง การนำเสนอให้ดูแตกต่าง
              ความจริงแล้วเผด็จการมีหลากหลายรูปแบบ ที่นำเสนอเป็นการยก 3 กรณีตัวอย่างเพื่อวิพากษ์ ให้เห็นภาพในอีกมุมหนึ่ง อาจเห็นว่าประชาธิปไตยหรือไม่เป็นก็ได้

            ในกรณีของสีจิ้นผิง สุดท้ายคนจีนจะเป็นผู้พิพากษาว่าการยกเลิกจำกัดวาระดีหรือไม่ ส่งเสริมให้สังคมรุ่งเรืองหรือตกต่ำลง คำว่าสังคมรุ่งเรืองหรือตกต่ำควรมองกรอบที่กว้าง เช่น ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข เด็กๆ อยู่ในบ้านเปี่ยมรัก หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่มีอนาคต คนสูงวัยไม่ถูกทอดทิ้ง ทุกคนพัฒนาตัวเองตลอดชีวิต สังคมปลอดภัย เป็นพหุสังคม กำลังพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ควรตีกรอบแคบๆ ว่าคือมีตัวเลขรายได้สูง มีเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านมากขึ้นเท่านั้น
            ไม่ว่าจะเป็นสังคมนิยมแบบจีนหรือเป็นระบอบการปกครองแบบใดควรวัดความสำเร็จด้วยแนวทางเช่นนี้ หากทำเพื่อความสุขของประชาชนจริง เมื่อนั้นเผด็จการจะกลายเป็นราชาธิปไตยหรือรูปแบบการปกครองโดยคณะบุคคลที่น่าส่งเสริม
4 มีนาคม 2018
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7785 วันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2561)
-----------------------------------
บรรณานุกรม :
1. China sets stage for Xi to stay in office indefinitely. (2018, February 25). Reuters. Retrieved from https://www.reuters.com/article/us-china-politics/china-sets-stage-for-xi-to-stay-in-office-indefinitely-idUSKCN1G906W
2. China Moves to Let Xi Stay in Power by Abolishing Term Limit. (2018, February 25). The New York Times. Retrieved from https://www.nytimes.com/2018/02/25/world/asia/china-xi-jinping.html
3. China's Tourists Go Global, Smartphones in Hand. (2018, February 14). Bloomberg. Retrieved from https://www.bloomberg.com/view/articles/2018-02-13/china-s-tourists-go-global-smartphones-in-hand
4. Dictator for life': Xi Jinping's power grab condemned as step towards tyranny. (2018, February 26). The Guardian. Retrieved from https://www.theguardian.com/world/2018/feb/26/xi-jinping-china-presidential-limit-scrap-dictator-for-life
5. Domhoff, G. William. (2006). Who Rules America? Power, Politics and Social Change ( 5th ed.) NY: McGrawHillm.
6. Full text: Donald Trump 2016 RNC draft speech transcript. (2016, July 21). Politico. Retrieved from http://www.politico.com/story/2016/07/full-transcript-donald-trump-nomination-acceptance-speech-at-rnc-225974
7. Grigsby, Ellen. (2012). Analyzing Politics: An Introduction to Political Science (5 Ed.). USA: Wadsworth.
8. Jie, Chen. (2013). A Middle Class Without Democracy: Economic Growth and the Prospects for Democratization in China. New York: Oxford University Press.
9. Kenez, Peter. (2006). A History of the Soviet Union from the Beginning to the End (2nd Ed.). New York: Cambridge University Press.
10. Kubicek, Paul James. (2011). Oligarchy. In The Encyclopedia of Political Science. (pp.1141-1142). DC: CQ Press.
11. Lucas, Edward. (2008). The New Cold War: Putin's Russia and the Threat to the West. New York: Palgrave Macmillan.
12. Schwarz, Jon. (2015, July 31). Jimmy Carter: The U.S. Is an "Oligarchy With Unlimited Political Bribery". The Intercept. Retrieved from https://firstlook.org/theintercept/2015/07/30/jimmy-carter-u-s-oligarchy-unlimited-political-bribery/
13. ‘US political parties are history’. (2016, April 12). RT. Retrieved from https://www.rt.com/op-edge/339314-us-uprising-democracy-spring/
-----------------------------