คนอเมริกันมีรายได้สูงขึ้น
แต่เครื่องจักรกลกับระบบอัตโนมัติอาจเป็นเหตุให้ตกงาน ควรรู้จักเก็บออมและหารายได้หลายช่องทาง
สำนักงานสถิติแห่งชาติสหรัฐ
(U.S. Census Bureau) เสนอรายงาน “รายได้กับความยากจนของสหรัฐอเมริกา
ประจำปี 2016” (Income and Poverty in the United States: 2016)
รายงานนี้สำคัญเพราะ เป็นข้อสรุปสภาพเศรษฐกิจของชาวอเมริกันทุกคนตั้งแต่ระดับรากหญ้าจนถึงมหาเศรษฐี
ความเป็นไปของสหรัฐมีผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ช่วยคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ผลสรุปมาจากการสำรวจประชากร
95,000 ราย กระจายใน 50 รัฐ ควบคุมจำนวนตัวอย่างตามเพศ วัย เชื้อสาย โดยคิดทั้งแบบรายบุคคลกับเป็นครอบครัว
(หากครอบครัวมีพ่อกับแม่และลูก 2 คน รายได้หมายถึงรายได้รวมของสมาชิกทุกคน)
พบว่ารายได้เฉลี่ยตามค่ามัธยฐาน
(median – จุดกึ่งกลางของเส้น ถ้าประชากร 1,000,000
คนคือคนที่ 500,000) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 เป็น 59,039 ดอลลาร์ต่อปี
เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 2 แล้ว และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8.5 ถ้านับจากปี 2014
เป็นตัวเลขสูงสุดที่เคยมีมา สูงกว่าปี 1999 ที่ 58,655 (ปรับอัตราเงินเฟ้อแล้ว)
ถ้าแยกตามประเภทเป็นครอบครัวกับคนโสด
ค่ามัธยฐานของครอบครัวอยู่ที่ 75,062 ดอลลาร์ ส่วนคนโสดเท่ากับ 35,761
เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 กับ 4.5 ตามลำดับ
คนผิวสี (ผิวดำ)
ยังเป็นกลุ่มยากจนที่สุด รายได้เฉลี่ย (ค่ามัธยฐาน) ของคนผิวสีเท่ากับร้อยละ 60.7
ของคนผิวขาว รายได้ของพวกฮิสปานิก(Hispanics) เท่ากับร้อยละ
73.3 ดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อมองย้อนหลัง 3 ทศวรรษ
สตรีทำงานเต็มเวลามีรายได้
41,500 ดอลลาร์ หรือเท่ากับร้อยละ 80 ของบุรุษ ดีกว่าปีก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 79 หากมองย้อนหลัง
50-60 ปี รายได้สตรีดีขึ้นมาก จากเดิมสตรีมีรายได้เท่ากับร้อยละ 60 ของบุรุษ
มาเป็นร้อยละ 80 ในปัจจุบัน มีแนวโน้มค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ
แนะนำดูคลิป :
ใครเป็นคนทำข้าวกล่อง CP
https://www.youtube.com/watch?v=saaE6MV2WDw&feature=youtu.be
ปี 2016 สหรัฐมีคนยากจนทั้งสิ้น 40.6 ล้านคน ลดลง 2.5 ล้านคนเมื่อเทียบกับปี 2015 หรือเท่ากับลดลงเหลือร้อยละ 12.7 จากประชากรทั้งสิ้น 320 ล้านคน เหตุผลหลักคือคนว่างงานลดลง
คำว่า “คนยากจน”
ในที่นี้หมายถึง ครอบครัวที่มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 24,500 ดอลลาร์
และเป็นครอบครัวที่มีสมาชิกรวม 4 คน (24,500
ดอลลาร์ต้องเลี้ยง 4 ชีวิต)
สัดส่วนคนยากจนปัจจุบันใกล้เคียงกับปี
2007 ที่ 12.5 ก่อนประสบวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008
(วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เริ่มต้นในเดือนกันยายน
2008 เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ การปล่อยให้กู้ยืมด้วยเงื่อนไขที่ไม่รัดกุม
ประชาชนใช้จ่ายเกินตัวผ่านบัตรเครดิต กลายเป็นหนี้เสียจำนวนมากเมื่อเกิดวิกฤต
ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อผู้ประกอบการ การจ้างงานภาคเอกชน
หลายบริษัทปรับลดพนักงานเพื่อลดต้นทุน)
ถ้ามองย้อน 50-60 ปี
ตัวเลขคนยากจนขึ้นๆ ลงๆ เคยลดลงเหลือ 25 ล้านคนในปลายทศวรรษ 1960-70 แล้วค่อยๆ
เพิ่มขึ้นอีกครั้ง แต่ในเชิงสัดส่วนแล้วลดลงจากร้อยละ 23 เหลือ 12.7 ในปัจจุบัน (ปี
1959 ชาวอเมริกันเกือบ 1 ใน 4 อยู่ในฐานะยากจน
น่าชื่นชมว่ารัฐบาลสามารถปรับลดสัดส่วนนี้)
เป็นเวลา 6
ปีแล้วที่อัตราคนว่างงานค่อยๆ ลดลง อัตราว่างงานล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 4.4 ช่วงปี
2015-2016 มีคนทำงานเต็มเวลาเพิ่มขึ้นถึง 2.2 ล้านคน
ครอบครัวร่ำรวยที่สุด
5 เปอร์เซ็นต์แรก มีรายได้เท่ากับ 1 ใน 5 ของรายได้คนทั้งประเทศ (ปี 2016) พอๆ
กับปีที่แล้ว รายได้เฉลี่ยของกลุ่มนี้คือ 375,000
ดอลลาร์ต่อปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 จากปี 2016
ครอบครัวร่ำรวยที่สุด
20 เปอร์เซ็นต์แรก มีรายได้เท่ากับกึ่งหนึ่งของคนทั้งประเทศ (ร้อยละ 51.5)
ส่วนรายได้เฉลี่ยของผู้มีรายได้ต่ำสุด
20 เปอร์เซ็นต์ท้าย (หมายถึง ผู้มีรายได้ต่ำสุดแล้วนับขึ้นมาร้อยละ 20) ที่ 12,943
ดอลลาร์ รายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 (ต่ำกว่าค่ามัธยฐานรวมทั้งประเทศ) คนกลุ่มนี้มีรายได้เพิ่มเพราะการจ้างงานเพิ่มและนโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ
รวมความแล้ว กลุ่มคนรวยที่สุดมีรายได้เพิ่มขึ้นในอัตราสูงที่สุด
(5.5) รองมาคือกลุ่มชนชั้นกลาง (3.2) ต่ำสุดคือพวกคนยากจน (2.6) เป็นหลักฐานบ่งชี้ช่องว่างรายได้ที่กำลังถ่างกว้างออกไป
ข้อมูลน่าคิดคือ
ระดับการศึกษาไม่ช่วยเพิ่มอัตรารายได้ ผู้ที่จบมัธยมศึกษาตอนปลาย วิทยาลัย
ปริญญาตรีและสูงกว่าปริญญาตรี รายได้ของคนทั้ง 4 กลุ่มเพิ่มขึ้นในอัตราแทบไม่แตกต่างกัน
นอกจากนี้ ร้อยละ 4.5 ของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปเป็นคนยากจน
(เป็นตัวเลขเดียวกับปี 2015)
วิพากษ์และข้อคิด :
ประการแรก
รายได้เพิ่มเร็วไม่เท่าราคาสินค้า
รายงาน
“รายได้กับความยากจนของสหรัฐอเมริกา ประจำปี 2016” ให้ข้อสรุปว่าพลเมืองอเมริกันมีรายได้มากขึ้น
แต่ไม่ได้บอกว่าเพียงพอต่อการใช้จ่ายหรือไม่ ประเด็นที่นักเศรษฐศาสตร์กังวลคือ
แม้รายได้เพิ่มขึ้น แต่ราคาสินค้าไปเร็วกว่า ปัจจุบันหลายคนพูดถึงค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
นักเรียนนักศึกษาเป็นหนี้การศึกษามากกว่าเดิม ราคาบ้านที่ขยับขึ้นสูง
วิธีการใช้จ่ายเป็นอีกประเด็นที่ควรคำนึง
ผู้มีรายได้สูงอาจเป็นหนี้เป็นสิน ถ้าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ ในขณะที่คนมีรายได้ปานกลางอาจไม่เป็นหนี้ผู้ใด
ถ้าไม่ใช้จ่ายเกินตัว ดังนั้น
การพูดแต่ระดับรายได้จึงไม่สะท้อนว่าพอใช้หรือไม่ คนเป็นหนี้สินหรือไม่
ประการที่
2 ความสำคัญของการมีงานทำ
รัฐบาลกับสังคมอเมริกันให้ความสำคัญกับตัวเลขคนมีงานทำ
เพราะหมายถึงความเป็นไปของเศรษฐกิจภาคครัวเรือน ส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศ ต่อสภาพสังคมและการเมือง
ผู้สมัครหาเสียงทุกคนชูประเด็นเพิ่มการจ้างงาน ลดคนว่างงาน
ถ้าพูดถึงเศรษฐกิจ คนวัยทำงานหมายถึงการมีงานทำ มีรายได้ที่มากเพียงพอ
ไม่ว่าประชาธิปไตยสหรัฐเติบโตเพียงไร
ปัจจัยตัดสินใจสุดท้ายคือ เรื่องปากท้องของชาวบ้าน ไม่ได้แตกต่างจากประเทศอื่นๆ
ไม่ว่าจะพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา
ภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม
การขายแรงงานไม่ว่าจะเป็นแบบไร้ฝีมือหรือเป็นพวกวิชาชีพ
ผลลัพธ์ที่คาดหวังมักเพื่อให้ตนเองกับครอบครัวมีกินมีใช้ การตกงานเป็นเรื่องใหญ่
หากจะดีคือเป็นเจ้าของกิจการ เป็นผู้ประกอบการ แต่ต้องมีทุนและสามารถรับความเสี่ยง
คนมีทุนน้อยรับความเสี่ยงได้น้อย คนรวยจึงมักรวยขึ้น มีโอกาสมากกว่าคนจน
มีโอกาสรับผลตอบแทนสูงกว่า
ประการที่
3 ปัญหาในอนาคต
เรื่องน่ากังวลคือการทำงานด้วยความตั้งใจ
ขยันขันแข็ง ไม่เป็นเหตุให้มีงานทำตลอดไป การทำงานด้วยความทุ่มเทเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งว่าตั้งใจทำงานเต็มที่
แต่บริษัทมีเหตุปรับลดพนักงานมากมายด้วยสารพัดเหตุผลที่ไม่เกี่ยวข้องกับลูกจ้างตั้งใจทำงานหรือไม่
ประเด็นที่เอ่ยถึงกันมากและมากขึ้น
คือ ตำแหน่งงานในอนาคตจะลดน้อยลง เพราะความทันสมัย ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
การผลิตและบริการที่อาศัยเครื่องจักร ระบบอัตโนมัติแทนแรงงานคน
ความจริงแล้วมนุษย์พยายามใช้เครื่องทุ่นแรงเรื่อยมา
ใช้ควายไถนาย่อมดีกว่าทำเอง ต่อมาเปลี่ยนเป็น “ควายเหล็ก” (รถไถ) ทำงานเร็วกว่าหลายเท่า
จากการขี่ม้าขี่ลากลายเป็นรถไฟไอน้ำ
ในขณะเดียวกันเครื่องทุ่นแรงหรือเครื่องจักรกลแข่งขันกันเองด้วย
รถไฟไอน้ำจึงเหลือให้เห็นแต่ในพิพิธภัณฑ์ ตู้ ATM คือพนักงานธนาคารที่ทำงานตลอด
24 ชั่วโมง กำลังเล็กลงกลายเป็นแอปพลิเคชัน (application)
ในสมาร์ทโฟนกับคอมพิวเตอร์ ทุกคนมีพนักงานธนาคารติดตัวคอยให้บริการอย่างใกล้ชิด
กลายเป็นคำถามต่อรัฐบาลในอนาคตว่า
การมุ่งใช้เครื่องจักรกล ระบบอัตโนมัติแทนแรงงานคน
จะมีผลต่อรายได้กับความยากจนอย่างไร หากครึ่งหนึ่งของงาน 702 ประเภทในสหรัฐจะถูกแทนที่ด้วยสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์
งานศึกษาของ Oxford University อีกชิ้นสรุปว่า
อีกไม่เกิน 20 ปี แรงงานเกือบครึ่งในสหรัฐ (ทั้งพวกวิชาชีพกับไร้ฝีมือ)
อาจตกงาน
ประการที่
4 การออมและหารายได้หลายช่องทาง
ประเด็นเครื่องจักร
ระบบอัตโนมัติ แทนแรงงานคนเป็นเรื่องที่ต้องถกกันอีกมาก
เรื่องที่ทุกคนทำได้และควรทำตั้งบัดนี้คือการออมและหารายได้หลายช่องทาง
เริ่มต้นของการออมคือไม่เป็นหนี้
เริ่มต้นของการไม่เป็นหนี้คือไม่ใช้จ่ายเกินตัว หากจะใช้จ่ายเกินตัวต้องมั่นใจว่าเป็นการลงทุนที่ได้กำไร
ไม่เช่นนั้นย่อมไม่ใช่แนวทางที่ยั่งยืน หนี้สินที่พอกพูนจะยิ่งสร้างปัญหา
บางคนกลายเป็นหนี้เรื้อรังยาวนานเป็นสิบปี ยากจะตั้งตัว ชีวิตวนเวียนอยู่กับการปลดหนี้
การออมแต่น้อยดีกว่าไม่ออมเลย
และช่วยสร้างนิสัยดีๆ หลายอย่าง เช่น รู้จักคำนวณรายได้รายจ่าย
พยายามตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก (ทุกคนมีรายจ่ายที่ไม่ควรจะจ่ายด้วยกันทั้งสิ้น)
การเก็บออมแต่น้อยจะเอื้อให้เก็บออมมากขึ้นในอนาคต
สามารถนำเงินออมมาใช้ในยามฉุกเฉิน หรือนำไปลงทุน
การหารายได้หลายช่องทางเป็นอีกวิธี
คนขยันบางคนทำงานมากกว่า 1 งาน เป็นค่านิยมที่ดี ควรส่งเสริม
ยกตัวอย่าง
ผู้หญิงคนหนึ่งทำงานเป็นแม่บ้านเต็มเวลาของบริษัท
วันเสาร์ครึ่งวันหรือตอนเย็นวันปกติทำงานเป็นแม่บ้านรายชั่วโมง
ชายคนหนึ่งเป็นพนักงานบัญชี แต่รักการถ่ายรูปทิวทัศน์
จึงใช้วันหยุดไปถ่ายรูปตามที่ต่างๆ นักศึกษาเรียนพร้อมกับเป็นครูสอนพิเศษยามว่าง
วันหนึ่งหากหญิงแม่บ้านตกงาน
เธอยังมีรายได้จากงานพาร์ทไทม์ ชายพนักงานบัญชีมีรายได้จากรูปถ่ายเป็นกอบเป็นกำ
พร้อมกับความสุขที่ได้ทำสิ่งที่ชอบ ส่วนนักศึกษามีรายได้มากจนไม่พึ่งเงินจากทางบ้านอีกเลย
พ่อแม่บางคนปลูกฝังให้ลูกเรียนรู้จักทำงานหาเงินตั้งแต่เด็ก ให้ทำงานตัดหญ้า ทำความสะอาดบ้าน ทาสีรั้ว ล้างรถเพื่อนบ้าน และกลายเป็นเงินออมของเด็ก
ช่วยให้เด็กรู้จักคุณค่าของเงินและการทำงาน เรียนรู้จักชีวิตนอกห้องเรียน
นำเงินส่วนหนึ่งที่ได้ไปช่วยเด็กด้อยโอกาส ฯลฯ
ปัจจุบัน
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเอื้อให้สามารถสร้างรายได้หลายช่องทาง สามารถหาเงินจากแหล่งที่ห่างไกล
(โลกไร้พรมแดน) เป็นแนวทางที่ควรศึกษาและลองดู
17 กันยายน 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7618 วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน พ.ศ.2560)
-------------------------
บรรณานุกรม:
1. Duiker, William J. (2009). Contemporary World History
(5th ed.). USA: Wadsworth.
2. Dunlop, Tim. (2016). Why the Future Is Workless.
Australia: NewSouth Publishing.
3. Middle-class Americans made more money last year than
ever before. (2017, September 12). Business Insider. Retrieved from
http://www.businessinsider.com/us-census-median-income-2017-9
4. United
States Census Bureau. (2017, September). Income and Poverty in the United
States: 2016. Retrieved from
https://www.census.gov/content/dam/Census/library/publications/2017/demo/P60-259.pdf
-----------------------------