ทิศทางสถานการณ์ซาอุ ตัดสัมพันธ์กาตาร์

การตัดสัมพันธ์ทางการทูตกาตาร์เป็นเรื่องเก่าที่เคยขึ้นเมื่อปี 2014 ด้วยสาเหตุกาตาร์สนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ในอียิปต์ การตัดสัมพันธ์รอบนี้ยังอยู่กับเรื่องสนับสนุนก่อการร้าย พ่วงด้วยเหตุอื่นๆ เช่น พูดสนับสนุนอิหร่าน แต่บริบทต่างจากเดิมดูเหมือนกาตาร์มีความพร้อมมากกว่าอดีต

มูลเหตุตัดสัมพันธ์กาตาร์ "อย่างเป็นทางการ” :
            วันที่ 5 มิถุนายน รัฐบาลซาอุฯ ชี้ว่ากาตาร์เป็นแหล่งซ่องสุม “ผู้ก่อการร้าย กองกำลังศาสนาหลายกลุ่มที่มุ่งบ่อนทำลายเสถียรภาพภูมิภาค เช่น ภราดรภาพมุสลิม ISIS และอัลกออิดะห์” “ทั้งยังมีข้อกล่าวหาว่าสนับสนุนปฏิบัติการของกองกำลังชีอะห์ทางตะวันออกของซาอุดิอาระเบียและบาห์เรน”
            ในวันเดียวกัน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ออกแถลงการณ์ความว่า ณ ขณะนี้กาตาร์กำลังบ่อนทำลายความมั่นคงและเสถียรภาพภูมิภาค ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงพันธะผูกพันต่างๆ จึงพร้อมที่จะใช้มาตรการต่างๆ เท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของ GCC ในการนี้ UAE สนับสนุนแถลงการณ์ของบาห์เรนกับซาอุฯ รวมถึงการตัดสัมพันธ์ทางการทูต ไม่อนุญาตให้คนสัญชาติกาตาร์เข้าประเทศ และไม่ให้พลเมืองของตนเดินทางสู่กาตาร์เช่นกัน ปิดน่านน้ำน่านฟ้าทั้งขาเข้าขาออก
            ทั้งหมดเป็นเพราะรัฐบาลกาตาร์ละเมิดข้อตกลงเมื่อปี 2014 ยังคงสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย โดยเฉพาะกลุ่มภราดรภาพมุสลิม สนับสนุนแนวคิดของ IS (Daesh) กับอัลกออิดะห์ ผ่านสื่อของตน และละเมิดข้อตกลง US-Islamic Summit ลงนามเมื่อ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา (ในประเด็นต่อต้านก่อการร้ายและชี้ว่าอิหร่านคือรัฐอุปถัมภ์ก่อการร้าย) บั่นทอนกิจการภายในประเทศเพื่อนบ้านโดยใช้ขบวนการก่อการร้าย
            สังเกตว่าข้อกล่าวเหล่านี้ไม่ต่างจากที่กล่าวหาอิหร่าน คือ เป็นรัฐอุปถัมภ์ก่อการร้าย แทรกแซงกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้าน บั่นทอนความมั่นคงภูมิภาค ราวกับว่ากาตาร์เป็น “อิหร่าน 2”
ด้านรัฐบาลกาตาร์ออกแถลงการณ์รู้สึกประหลาดใจที่หลายประเทศตัดสินใจบนข้อมูลเท็จ ทั้งๆ ที่เป็นข้อมูลเท็จที่ออกมาจากสื่อเท่านั้นเอง รัฐบาลยังยึดมั่นความสัมพันธ์และผลประโยชน์ของ GCC ที่ผ่านมาร่วมมือกับนานาชาติทำสงครามต่อต้านก่อการร้าย
            แต่คำชี้แจงของรัฐบาลกาตาร์ไม่ได้ผล สถานการณ์เลวร้ายลงกว่าเดิม

ยกระดับต่อต้านกาตาร์ :
ไม่ว่ากาตาร์จะอธิบายอย่างไร ขั้วซาอุฯ ยืนยันดังเดิม อีกทั้ง Adel Al-Jubeir รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศซาอุฯ เผยว่าประเด็นกาตาร์เป็นเรื่องเก่าที่หมักหมมหลายปีแล้ว ยังคงสนับสนุนองค์กรบางแห่ง ผู้ก่อการร้ายบางคน ไม่ยอมแก้ไขตามที่ตกลงไว้
 ย้อนหลังปี 2014 การสนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิมเคยกลายเป็นเรื่องใหญ่ครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อผนวกกับนโยบายจัดระเบียบตะวันออกกลางล่าสุด น่าเชื่อว่ารอบนี้ฝ่ายซาอุฯ จะไม่ยอมให้เรื่องจบง่ายๆ ล่าสุดเอ่ยถึงการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

ม้รายได้ส่วนใหญ่มาจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียม รัฐบาลกาตาร์มีวิสัยทัศน์พัฒนาเมืองหลวงโดฮา (Doha) จนกลายเป็นเมืองที่สวยงาม ทันสมัย มีชื่อเสียงระดับโลก โดฮากลายเป็นจุดเด่นของภูมิภาค พร้อมกับพัฒนาเป็นศูนย์กลางคมนาคมทางอากาศ หวังเป็นศูนย์กลางการเงินภูมิภาค ทุกวันนี้บริษัทเอกชนนานาชาติเปิดสำนักงานที่นี่ กาตาร์จึงเป็นศูนย์กลางของบรรดาบริษัทนานาชาติ
            การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจย่อมส่งผลต่อบรรดาธุรกิจเอกชนนานาชาติ ทั้งยังกระทบต่อบรรยากาศการค้าการลงทุน บั่นทอนเศรษฐกิจของชาติอาหรับทั้งหมด เป็นแรงกดดันต่อฝ่ายซาอุฯ หากจะใช้วิธีนี้

            การปิดล้อมน่านน้ำน่านฟ้าสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย ประชาชนแห่ซื้อสินค้ากักตุนจนบางตัวขาดตลาด มีการติดต่อนำเข้าอาหารกับน้ำจากอิหร่าน ตุรกีและประเทศอื่นๆ ทันที
            ข้อมูลจากธนาคารโลกชี้ว่าเมื่อปี 2015 กาตาร์นำเข้าอาหารถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ 1 ใน 3 มาจากซาอุฯ กับ UAE ด้านอิหร่านเสนอพร้อมที่จะขายทั้งอาหารและน้ำ การขนส่งทางเรือใช้เวลาเพียง 12 ชั่วโมง ปี 2015 อิหร่านส่งออกสินค้าสู่กาตาร์ 102 ล้านดอลลาร์ ส่วนหนึ่งเป็นอาหาร

กาตาร์น่าจะยังคงอยู่ได้ เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่มาจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และสามารถใช้การส่งออกน้ำมันเป็นอาวุธ ด้วยการขายในราคา “มิตรภาพ” (ราคาต่ำกว่าตลาด) ส่งผลต่อระดับราคาน้ำมันตลาดโลกที่ต่ำอยู่แล้วให้ต่ำลงไปอีก ประเทศที่รับซื้อส่วนใหญ่อยู่แถบเอเชียแปซิฟิก
            อันที่จริงการปิดล้อมทางเศรษฐกิจไม่น่าจะได้ผล ถ้าจะได้ผลจริงต้องมีข้อมติจากคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ให้ทุกประเทศคว่ำบาตร แต่ข้อมตินี้ไม่น่าจะเกิด
            กาตาร์ (อิหร่าน 2) ไม่น่าจะถูกคว่ำบาตรแรงเท่าอิหร่าน

จะเกิดสงครามหรือใช้กำลังทหารหรือไม่ :
            ในขณะที่ขั้วซาอุฯ เพิ่มแรงกดดัน Sheikh Mohammed bin Abdulrahman Al Thani รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศประกาศว่ากาตาร์จะไม่ยอมแพ้ต่อแรงกดดันจากเพื่อนบ้านอาหรับ จะไม่ยอมสูญเสียอิสระในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ

            การตัดสัมพันธ์ทางการทูต การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ แม้บั่นทอนกาตาร์ แต่รัฐบาลกาตาร์น่าจะยังคงอยู่ต่อได้ ทางเลือกอีกทางที่จะคิดถึงคือทำให้เรื่องยุติแม้จะต้องเสียเลือดเนื้อ เป็นทางเลือกสุดท้ายแต่เป็นทางเลือกที่จะคิดถึงเสมอ
            กาตาร์เป็นประเทศเล็กมีเนื้อที่ราว 11,500 ตร.กม. (ประเทศไทยราว 513,000 ตร.กม เล็กกว่าประเทศไทย 44 เท่า) ประชากร 2.26 ล้านคน (ข้อมูล 2016) มีพรมทางบกติดต่อกับซาอุฯ เพียงประเทศเดียว ที่เหลือล้อมรอบด้วยอ่าวเปอร์เซีย
3 เหล่าทัพรวมกันมีกำลังพลเพียง 11,800 นาย แม้อาวุธที่ใช้ค่อนข้างทันสมัยแต่ไม่อาจเทียบกับซาอุฯ ที่มีกำลังพลรวม 227,000 นาย และมีอาวุธทันสมัยเช่นกัน

            ประเด็นสำคัญที่ควรเอ่ยถึงคือ กาตาร์เป็นที่ตั้งศูนย์บัญชาการส่วนล่วงหน้า US Central Command (CENTCOM) รวมทั้งเป็นที่ตั้งของฐานทัพอากาศสหรัฐที่เมือง Al-Udied ทางตอนใต้ของประเทศด้วย รายงาน The Military Balance 2017 ระบุว่าปกติมีกำลังพลประจำราว 8,000 นาย พร้อมเครื่องบินรบสารพัดชนิด รวมทั้ง B-52 เครื่องบินลำเลียงพลขนาดใหญ่ ทั้งนี้ยังไม่นับกองทหารสหรัฐที่ประจำการในประเทศใกล้เคียง กองเรือที่ 5 ที่ประจำอยู่ย่านนี้
            ฐานทัพสหรัฐในกาตาร์จึงเป็นทั้งกำแพงป้องกันประเทศอันทรงพลังและเป็นมีดจ่อคอหอยในเวลาเดียวกัน

            ถ้าจะทำสงครามเต็มรูปแบบคงใช้วิธีที่รุนแรงและรวดเร็ว เผด็จศึกให้เร็วที่สุด ทำลายรัฐบาลกาตาร์หรือบีบให้ยอมจำนน ซึ่งไม่เกินขีดความสามารถของสหรัฐ แต่มีข้อจำกัดว่าสหรัฐมีข้อตกลงทางทหารกับกาตาร์ การจะทำการใดๆ ต้องรอบคอบ และอาจจะก่อความขัดแย้งกับหลายประเทศรุนแรง
            จะใช้วิธีนี้หรือไม่ขึ้นกับการตัดสินใจของรัฐบาลทรัมป์ ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจต้องมีการหารือลับกับทุกฝ่ายหากคิดจะเคลื่อนพล

            วิธีที่เป็นไปได้มากกว่าคือการใช้หน่วยปฏิบัติพิเศษ จู่โจมยึดอำนาจ อาจทำควบคู่กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลกาตาร์ เพื่อให้ดูดีชอบธรรม แล้วจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่นิยมซาอุฯ กับอเมริกา
            แต่วิธีนี้ไม่ง่ายและจะนองเลือด เนื่องจากตุรกีมีข้อตกลงทางทหารกับกาตาร์ ตุรกีมีฐานทัพในกาตาร์เหมือนสหรัฐ ปกติมีทหารประจำการเพียง 150 นาย รัฐบาลตุรกีเพิ่งประกาศว่ากำลังจะเพิ่มเป็น 3,000 นาย ชี้แจงว่าส่วนหนึ่งเพื่อการซ้อมรบร่วม การเคลื่อนไหวดังกล่าวย่อมชี้ว่ารัฐบาลตุรกีกำลังทำตามสัญญาที่จะส่งกองทัพช่วยคุ้มครองกาตาร์
นอกจากนี้สื่อ Al Arabiya ของซาอุฯ รายงานว่ามีกระแสข่าวกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (Islamic Revolutionary Guard Corps: IRGC) ได้เข้ามาให้การปกป้องผู้นำกาตาร์แล้ว
            ไม่ว่าปฏิบัติพิเศษจะสำเร็จหรือไม่ การนองเลือดคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่
            การจะใช้วิธีนี้หรือไม่ให้ดูว่ามีการพูดถึงฝ่ายต่อต้านรัฐบาลกาตาร์หรือไม่ มีการชุมนุมประท้วงภายในหรือไม่ เหล่านี้เป็นสัญญาณว่าอาจเกิดการยึดอำนาจด้วยความช่วยเหลือจากต่างชาติ

            ไม่ว่ารัฐบาลสหรัฐ ซาอุฯ กับพวกจะตัดสินใจอย่างไร สิ่งที่กระทำส่งสัญญาณต่อโลก อาจเป็นเวลาที่ระเบียบโลกจะต้องปรับเปลี่ยนให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน
            อีกประเด็นที่ควรครุ่นคิดคือ โอกาสการเผชิญหน้าระหว่างอิหร่านกับขั้วซาอุฯ ด้วยประเด็นใหม่ ความเป็นไปของกาตาร์จะเป็นเหตุให้ 2 ฝ่ายต้องเผชิญหน้าหรือไม่ เมื่อถึงเวลานั้นมหาอำนาจต่างๆ จะตัดสินใจอย่างไร

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
            ระบอบประชาธิปไตยส่งเสริมพหุสังคม เพราะเห็นว่าพลเมืองแต่ละคนมีคุณค่า ไม่ว่าโดยพื้นเพเป็นคนเชื้อชาติใด มีความรู้สูงหรือต่ำ เป็นผู้ดีมีสกุลแค่ไหน นับถือศาสนาความเชื่อนิกายใด
            การพูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าสังคมห้ามเปลี่ยนแปลง สังคมควรปรับปรุงพัฒนาสู่ความเป็นอารยะยั่งยืนบนพื้นฐานสันติวิธี

            แต่ความเป็นไปของโลกบางส่วนไม่ได้เป็นเช่นนั้น ในอดีตพวกนาซีต้องการสร้างสังคมอุดมคติด้วยการใช้กำลัง ต้องการส่งเสริมเชื้อชาติอารยัน หรือการสร้างวงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพาของญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
            สังคมโลกไม่ควรสนับสนุนแนวคิด "เปลี่ยนแปลงโดยใช้กำลัง" ถ้าของสิ่งนั้น อุดมการณ์ แนวคิดนั้นดีจริง ผู้คนจะยอมรับโดยไม่จำต้องบังคับขู่เข็ญ ไม่ต้องใช้กำลังแม้แต่น้อย

            หลายคนชอบพูดถึงสงครามโลกครั้งที่ 3 ที่จะคร่าชีวิตผู้คนมหาศาล อันที่จริงแล้วแม้ไม่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ไม่เกิดสงครามนิวเคลียร์ หากยึดถือการเปลี่ยนแปลงโดยใช้กำลัง ปฏิเสธพหุสังคม เช่นนั้นโลกจะเต็มด้วยการฆ่าฟัน ปั่นป่วนวุ่นวายไม่รู้จบ เช่นนี้ควรเรียกว่าเป็นสงครามทำลายล้างด้วยหรือไม่ (ต่างกันที่ค่อยๆ ดำเนินไปทีละประเทศ ทีละส่วน)
พลเมืองโลกทุกคนควรเข้าใจและยึดถือปฏิบัติเรื่องเหล่านี้อย่างถูกต้อง
11 มิถุนายน 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7520 วันอาทิตย์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2560)
---------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
เป็นที่สงสัยกันมากว่าอะไรคือสาเหตุความขัดแย้งระหว่างขั้วซาอุฯ กับกาตาร์ อะไรคือเหตุผล บทความนี้นำเสนอคำตอบเหล่านี้โดยอาศัยการวิเคราะห์ทั้งแบบธรรมดากับแบบซับซ้อน เหตุผลพื้นฐานคือเพื่อความมั่นคง ความเป็นผู้นำของซาอุฯ สหรัฐฯ ต้องการคงอิทธิพลในภูมิภาค ฯลฯ ส่วนเหตุผลแบบซับซ้อนคือรัฐบาลซาอุฯ กับสหรัฐฯ ไม่ได้หวังผลอิหร่านเท่านั้น ที่ต้องการจริงๆ คือการจัดระเบียบโลกมุสลิมทั้งมวล
บรรณานุกรม:
1. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา. (2016). ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับรัฐกาตาร์. Retrieved from http://www.thaiembassy.org/doha/th/other/2647/32895-
2. Al-Arian, Abdullah. (2017, June 8). Analysis: Qatar-Gulf crisis: Who are the 'terrorists'? Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/indepth/features/2017/06/analysis-qatar-gulf-crisis-terrorists-170607062029222.html
3. Billion-dollar Qatari food market on tap. (2017, June 6). Tehran Times. Retrieved from http://www.tehrantimes.com/news/414020/Billion-dollar-Qatari-food-market-on-tap
4. Cabinet reassures citizens, residents; calls on to ignore biased media campaigns. (2017, June 5). Gulf Times. Retrieved from http://www.gulf-times.com/story/552226/Cabinet-reassures-citizens-residents-calls-on-to-i
5. Central Intelligence Agency. (2016). Qatar. In The World Factbook. Retrieved from https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/qa.html
6. International Institute for Strategic Studies (IISS). (2017). The Military Balance 2017. USA: Routledge.
7. Iran Revolutionary Guards ‘protecting Qatar’s Sheikh Tamim inside his palace’. (2017, June 7). Al Arabiya. Retrieved from http://english.alarabiya.net/en/News/gulf/2017/06/07/Iran-s-Revolutionary-Guards-protecting-Qatari-emir-inside-palace-.html
8. McKernan, Bethan. (2017, June 6). Donald Trump appears to back Saudi Arabia in Qatar stand off with Gulf states. The Independent. Retrieved from http://www.independent.co.uk/news/world/middle-east/donald-trump-saudi-arabia-qatar-us-diplomatic-gulf-uae-bahrain-egypt-emirates-yemen-a7775386.html
9. Measures against Qatar taken with ‘great pain,’ says Saudi foreign minister. (2017, June 7). Arab News. Retrieved from http://www.arabnews.com/node/1111431/middle-east
10. Qatar in talks with Turkey and Iran to provide food and water. (2017, June 7). Al Arabiya. Retrieved from http://english.alarabiya.net/en/News/gulf/2017/06/07/Qatar-has-enough-grain-supplies-in-market-to-last-four-weeks.html
11. Qatar 'not prepared to change its foreign policy'. (2017, June 9). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/2017/06/qatar-fm-ready-surrender-170608142453812.html
12. UAE supports statements of Bahrain and Saudi Arabia on Qatar. (2017, June 5). Gulf News. Retrieved from http://gulfnews.com/news/uae/uae-supports-statements-of-bahrain-and-saudi-arabia-on-qatar-1.2038529
13. Ulrichsen, Kristian Coates. (2014). Qatar and the Arab Spring. New York: Oxford University Press.
-----------------------------