ตรรกะของรัฐบาลทรัมป์ ใครใช้อาวุธเคมีในซีเรีย

การโจมตีซีเรียด้วยขีปนาวุธเมื่อวันที่ 6 เมษายนกลายเป็นข่าวดังต่อเนื่อง ในทางวิชาการเป็นกรณีศึกษาให้เข้าใจนโยบายและการดำเนินนโยบายรัฐบาลทรัมป์ ควรคิดกำหนดล่วงหน้าว่ารัฐบาลนี้จะอยู่อีกอย่างน้อยเกือบ 4 ปีเต็ม มีผลต่อความเป็นไปของโลกไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ สังคม กระทั่งเรื่องภาวะโลกร้อน เป็นกรณีศึกษาสำคัญช่วยให้เข้าใจระบบความคิด การใช้ตรรกะ จากการศึกษามีประเด็นสำคัญพร้อมข้อวิพากษ์ ดังนี้
ตรรกะของรัฐบาลทรัมป์ :
          ประการแรก ลงโทษเพราะสังหารพลเรือน ใช้อาวุธเคมี
            แถลงการณ์จากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) เมื่อวันที่ 6 กล่าวอย่างชัดเจนว่า ผู้นำซีเรีย บาชาร์ อัลอัสซาด (Bashar al-Assad) โจมตีพลเรือนด้วยอาวุธเคมี ไม่มีข้อโต้เถียงใดๆ ว่ารัฐบาลซีเรียใช้อาวุธเคมี ละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธเคมีของสหประชาชาติ (Chemical Weapons Convention)
            แม้การปราบปรามผู้ก่อการร้ายสำคัญที่สุด รัฐบาลทรัมป์มีนโยบายต่อต้านรัฐบาลซีเรีย สนับสนุนฝ่ายต่อต้านสายกลาง สนับสนุนพวกเคิร์ดซีเรีย ไม่นานนี้ส่งทหารเข้ารบทางภาคพื้นดินนับร้อยนับพันนายเพื่อสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน
            ประเด็นคือต้องเข้าใจว่าการโจมตีด้วยขีปนาวุธเมื่อวันที่ 6 เมษายนเป็นนโยบายใหม่อีกข้อที่แตกต่างนโยบายเดิมๆ นั่นคือโจมตีกองทัพอัสซาดโดยตรง (แม้กล่าวว่าจะเป็นการโจมตีเพียงครั้งเดียว) เหตุผลหลักคือรัฐบาลอัสซาดใช้อาวุธเคมีโจมตีพลเรือน ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ หากไม่มีเหตุการณ์ใช้อาวุธเคมีก็จะไม่มีการยิงขีปนาวุธ
            รัฐบาลทรัมป์กล่าวโทษรัฐบาลซีเรียละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ แต่การโจมตีซีเรียคือละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ละเมิดกฎบัตรสหประชาติอย่างร้ายแรง เท่ากับทำสงครามรุกรานซีเรีย ถ้ารัฐบาลทรัมป์ยึดถือกฎหมายระหว่างประเทศจริง ทำไมไม่นำเรื่องสู่สหประชาชาติ ใช้กลไกของสหประชาชาติ เป็นระบบที่วางไว้เพื่อสันติภาพ ความมั่นคงโลก
            เท่ากับว่ารัฐบาลทรัมป์กำลังเขียนกฎหมายระหว่างประเทศขึ้นใหม่ เขียนเองใช้เอง ลงโทษผู้กระทำผิดด้วยตัวเอง ไม่สนใจว่าประเทศใดหรือใครจะคิดเห็นอย่างไร

          ประการที่ 2 ถ้ารัฐบาลสหรัฐบอกว่าใช่ก็คือใช่
            ถ้ามองจากมุมสหรัฐ การที่ประธานาธิบดีทรัมป์กล้าออกคำสั่งโจมตีน่าจะมีเหตุผลชอบธรรมรองรับ ความชอบธรรมนี้รวมถึงเป็นความชอบธรรมที่เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องเท็จ สร้างเรื่องขึ้นมาเอง
            ทำเนียบขาวได้ส่งตัวแทนเจ้าหน้าที่ระดับสูงชี้แจงสื่อ ย้ำว่าเป็นข้อมูลลับบางส่วนที่เปิดเผยได้ เช่น บัญชีสื่อโซเชียลมีเดีย วีดีโอ รายงาน ภาพ ตัวอย่างเหยื่อที่รับได้พิษซาริน (sarin) กับก๊าซทำลายประสาทที่ยังไม่ระบุว่าคือชนิดใด การโจมตีเริ่มเวลา 6.55 น. ตามเวลาท้องถิ่น ด้วยเครื่องบินรบ SU-22 จากฐานบิน Shayrat ของซีเรีย ราว 20 นาทีต่อมาก็เริ่มมีรายงานผู้รับพิษ พิษนั้นไม่ได้มาจากการโจมตีด้วยระเบิดแล้วโดนคลังอาวุธเคมี ยืนยันว่าหลักฐานที่อ้างถึงไม่ได้สร้างขึ้นเอง รัฐบาลยังคงได้ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อยๆ
            ดังที่ได้นำเสนอในบทความก่อนว่า การใช้อาวุธเคมีในซีเรียเป็นเรื่องเก่าที่เกิดขึ้นนับสิบครั้งแล้ว บางครั้งโทษรัฐบาลอัสซาด บางครั้งโทษฝ่ายต่อต้าน ผู้ก่อการร้าย

            การกล่าวหารัฐบาลซีเรียใช้อาวุธเคมีครั้งที่รัฐบาลโอบามาแสดงความขึงขังมากที่สุดคือ การใช้ก๊าซซาริน (sarin) เมื่อสิงหาคม 2013 มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,400 ราย ครั้งนั้นรัฐบาลโอบามาชี้แจงว่ามีหลักฐานมากมาย ทั้งภาพจากดาวเทียม ภาพวีดีโอ สามารถดักฟังการสนทนาของเจ้าหน้าที่ระดับสูงซีเรียที่พูดว่า “ยืนยันว่าได้ปล่อยอาวุธเคมีแล้ว" ในตอนนั้นประธานาธิบดีปูตินเรียกร้องให้สหรัฐนำหลักฐานดังกล่าวมาพิสูจน์ในสหประชาชาติ
            จากบัดนั้นจนบัดนี้ รัฐบาลสหรัฐไม่เคยแสดงหลักฐานเหล่านั้นเลยไม่ว่าจะต่อสาธารณะหรือต่อสหประชาชาติ แต่กลายเป็นประเด็นที่มีผลร้ายแรงและสืบเนื่องจนบัดนี้คือ รัฐบาลสหรัฐตั้งแต่โอบามาจนถึงทรัมป์ต่างถือว่ารัฐบาลอัสซาดคือผู้ใช้อาวุธเคมีครั้งนั้น

            การจะลงโทษใครเป็นโจรผู้ร้าย ต้องมีพยานหลักฐานที่ศาลยอมรับ ลำพังคำพูดว่าใครเป็นโจรหรือบอกว่ามีหลักฐานแต่ไม่แสดงต่อศาลย่อมไม่นับว่าเป็นหลักฐาน สิ่งที่รัฐบาลโอบามาทำคือพูดอย่างเดียว พูดว่ามีพยานหลักฐานมากมายแต่ไม่ยอมนำมาแสดง
            เหตุใช้อาวุธครั้งล่าสุดเมื่อ 4 เมษายน รัฐบาลทรัมป์ยังไม่แสดงหลักฐานให้องค์กรกลางพิสูจน์
            คำชี้แจงจากทำเนียบขาวย้ำว่าก๊าซพิษมาจากตัวระเบิด ไม่ได้เกิดจากระเบิดไปโดนคลังอาวุธเคมี ถ้ารัฐบาลสหรัฐมั่นใจหลักฐานของตนมาก ทำไมจึงไม่ยอมเปิดเผยต่อสาธารณะ ให้ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติเข้าตรวจสอบยืนยันหลักฐานเหล่านี้ เพื่อแก้ข้อครหาว่าหลักฐานที่นำเสนอมาจากการสร้างขึ้นมาเองหรือไม่ เช่น เครื่องบินรบ SU-22 เข้าโจมตีก่อน 7.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น
            พฤติกรรมเช่นนี้เท่ากับว่าขอเพียงรัฐบาลทรัมป์คิดว่าเป็นเช่นไร ควรทำอย่างไร ก็จะลงมือกระทำตามที่ตนเห็นชอบ และสรุปเอาเองว่ามีความชอบธรรมที่จะทำเช่นนั้น เช่นนี้ควรนับว่าเป็นพฤติกรรมของประเทศอารยะหรือ

          ประการที่ 3 ตายด้วยอาวุธเคมีเป็นเรื่องต้องห้าม
            สงครามกลางเมือง 6 ปี มีผู้เสียชีวิต 2 แสนกว่ารายและยังคงเพิ่มสูงขึ้น แม้กองทัพอัสซาดจะพยายามทำสงครามกับกองกำลังฝ่ายต่อต้าน ผู้ก่อการร้าย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพลเรือนคือเหยื่อของสงครามกลางเมือง ความจริงคือราวกึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นพลเรือน ในจำนวนนี้เป็นเด็กกว่าหมื่นคน ยอดผู้เสียชีวิตรวมถึงผู้เสียชีวิตจากอาวุธเคมีที่กล่าวหาไปมานับสิบๆ ครั้ง
            รัฐบาลโอบามาประกาศว่าต้องโค่นล้มระบอบอัสซาดด้วยเหตุผลหลักคือ รัฐบาลอำนาจนิยมอัสซาดปราบปรามและเข่นฆ่าประชาชนที่ชุมนุมอย่างสงบ จึงสนับสนุนฝ่ายต่อต้านสายกลาง กลายเป็นสงครามยืดเยื้อ
            ในช่วงหาเสียงทรัมป์ยอมรับการคงอยู่ของระบอบอัสซาด เพราะเห็นว่าภัยคุกคามที่ร้ายแรงกว่าคือผู้ก่อการร้าย IS/ISIL/ISIS ไม่ใช่ระบอบอัสซาด

            แต่เมื่อเกิดเหตุใช้อาวุธเคมี 4 เมษายน มีผู้เสียชีวิตราว 80 ราย เป็นเด็กเกือบ 30 ราย ประธานาธิบดีทรัมป์ถึงกับกล่าวว่าต้องเปลี่ยนนโยบายแล้ว สั่งโจมตีฐานบิน เป็นการเตือนไม่ให้ใช้อาวุธเคมีอีก รับไม่ได้ที่เห็นเด็กๆ ผู้บริสุทธิ์ต้องจบชีวิตอย่างทุกข์ทรมาน
            คำถามคือ สิ่งที่ทำช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตหรือไม่ ช่วยยุติสงครามกลางหรือไม่ ถ้ายังยืนยันสนับสนุนฝ่ายต่อต้านทำสงครามล้มรัฐบาล สงครามจะดำเนินต่อไป ผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นอีก ไม่ว่าจะเสียชีวิตด้วยอาวุธเคมีหรือด้วยวิธีอื่นใด
            ตรรกะของทรัมป์คือการเสียชีวิตด้วยก๊าซพิษน่าสงสารกว่าการตายด้วยวิธีอื่น คนซีเรียจะตายได้วิธีการใดก็ได้ ขอเพียงไม่ตายด้วยอาวุธเคมี
          จะตายเพิ่มอีกกี่หมื่นกี่แสนก็ได้ ขอย้ำอีกครั้งว่าถ้าไม่ตายด้วยอาวุธเคมีก็เป็นเรื่องยอมรับได้
            นี่คือตรรกะอันแปลกประหลาดของรัฐบาลทรัมป์

ผลของการใช้ตรรกะแบบทรัมป์ :
            บางคนอาจคิดว่าการโจมตีเพื่อตอบสนองเป้าหมายระยะสั้น ซึ่งน่าจะเป็นเช่นนั้น ในอีกมุมหนึ่ง ผลการโจมตีไม่ใช่เรื่องที่ผ่านมาแล้วผ่านไป มีผลสืบเนื่องระยะยาว ดังนี้
          ประการแรก ยืนยันฝ่ายเดียวต่อเนื่อง
            เรื่องแปลกแต่จริงคือ แม้ปากจะบอกว่ามีหลักฐานมากมาย มีข้อสรุปชัดเจนว่ารัฐบาลอัสซาดใช้อาวุธเคมี แต่ไม่ยอมแสดงหลักฐาน สวนทางกับความเห็นบางประเทศ ความคิดเห็นของหลายคน ได้แต่พูดยืนยันอยู่เรื่อยๆ พฤติกรรมเช่นนี้จึงเป็นการ "ยืนยันฝ่ายเดียว" อย่างต่อเนื่อง
            เริ่มจากรัฐบาลโอบามา บัดนี้คือรัฐบาลทรัมป์ รวมเป็น 2 รัฐบาลแล้ว

          ประการที่ 2 ลดทอนบทบาทสหประชาชาติ
            ถ้าเทียบกับกรณีอิรัก อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (weapons of mass destruction: WMD) กลายเป็นประเด็นสำคัญตั้งแต่หลังสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก (1990-1991) ในสมัยของประธานาธิบดีจอร์จ เอช.เอ็ม. บุช (George H. W. Bush - บิดาของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช) คณะมนตรีความมั่นคงมีมติให้อิรักต้องปลอด WMD ทุกชนิด
            เนื่องจากมีเรื่องการตรวจสอบ WMD จากคณะมนตรีความมั่นคง และดำเนินเรื่อยมาหลายปี จึงกลายเป็นประเด็นเมื่อได้ข้อสรุปที่ทุกฝ่ายยอมรับว่าอิรักไม่มี WMD ตามที่รัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู. บุชกล่าวอ้าง รัฐบาลสหรัฐหลอกลวงประชาคมโลกด้วยหลักฐานที่เชื่อถือไม่ได้ ทำให้หลงเชื่อเช่นนั้น

            แต่เรื่องการใช้อาวุธเคมีในซีเรีย รัฐบาลสหรัฐพยายามลดทอนการตรวจสอบจากสหประชาชาติ เมื่อเกิดเหตุใช้อาวุธเคมีล่าสุดคือโจมตีทันที ไม่ต้องรอการพิสูจน์จากสหประชาชาติ

          ประการที่ 3 สร้างนโยบายจากความเท็จ
            ไม่ว่าประเทศอื่น คนอื่นๆ ในโลกจะคิดเห็นอย่างไร รัฐบาลสหรัฐยืนยันความคิดความเข้าใจของตนเองว่ารัฐบาลอัสซาดใช้อาวุธเคมี (รัฐบาลทรัมป์อ้างการใช้สมัยสมัยโอบามาด้วย) และรัฐบาลสหรัฐจะเอ่ยถึงเรื่องนี้เสมอ เมื่อให้เหตุผลว่าทำไมรัฐบาลอัสซาดจึงเป็นภัยคุกคามต่อประเทศตนเอง ต่อภูมิภาคและโลก นี่คือการสร้างนโยบาย การดำเนินโยบายของรัฐบาลสหรัฐในกรณีซีเรีย

            ณ ช่วงนี้รัฐบาลทรัมป์กล่าวว่าไม่คิดจะโจมตีกองทัพซีเรียอีก ไม่คิดโค่นล้มรัฐบาลอัสซาดด้วยกำลัง แต่ไม่มีใครประกันว่ารัฐบาลสหรัฐจะถือเช่นนี้ตลอดไป เมื่อถึงวันนั้นจะยกเหตุผลที่ต้องทำสงครามล้มล้างรัฐบาลซีเรียด้วยสารพัดเรื่อง หนึ่งในนั้นคือรัฐบาลซีเรียเคยใช้อาวุธเคมี

            ประธานาธิบดีโอบามาอาจคิดว่าสามารถหลีกเลี่ยงส่งทหารอเมริกันไปรบในสมรภูมิซีเรีย ประธานาธิบดีทรัมป์อาจคิดว่าการถล่มด้วยขีปนาวุธ 60 ลูกไม่น่าจะมีผลอะไรมาก แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น สิ่งที่ทำกลายเป็นการตอกย้ำว่าต้องกำจัดรัฐบาลอัสซาดให้จงได้ ไม่ว่าศึกนี้จะต้องยืดเยื้ออีกกี่ปี คนต้องตายเพิ่มอีกกี่แสน
16 เมษายน 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7464 วันอาทิตย์ที่ 16 เมษายน พ.ศ.2560)
--------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
2 วันหลังข่าวการใช้อาวุธเคมีที่ Idlib ทางตอนเหนือของซีเรีย มีผู้เสียชีวิตราว 80 ราย รัฐบาลทรัมป์สรุปทันทีว่าคือฝีมือของกองทัพรัฐบาลซีเรีย จึงโจมตีสนามบินแห่งหนึ่งด้วยขีปนาวุธ เรื่องสำคัญและร้ายแรงคือประธานาธิบดีทรัมป์สั่งการทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้ใช้อาวุธเคมี พยายามอธิบายให้เห็นภาพเด็กๆ ผู้บริสุทธิ์ที่ต้องจบชีวิตอย่างทุกข์ทรมาน ไม่คำนึงว่าการโจมตีของตนละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติ กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ว่าสหรัฐสามารถโจมตีประเทศใดๆ ก็ได้โดยไม่ต้องมีหลักฐาน ไม่ต้องมีเหตุผลที่นานาชาติยอมรับ
บรรณานุกรม:
1. About 2 millions and half killed and wounded since the beginning of the Syrian Revolution. (2015, October 16). Syrian Observatory for Human Rights. Retrieved from http://www.syriahr.com/en/2015/10/about-20-millions-and-half-killed-and-wounded-since-the-beginning-of-the-syrian-revolution/
2. Braude, Joseph. (2003). The New Iraq. New York : Basic Book.
3. Chulov, Martin., Shaheen, Kareem. (2017, April 5). Syria chemical weapons attack toll rises to 70 as Russian narrative dismissed. The Guardian. Retrieved from https://www.theguardian.com/world/2017/apr/04/syria-chemical-attack-idlib-province
4. Diamond, Jeremy. (2015, October 25). Trump: World would be '100%' better with Hussein, Gadhafi in power. CNN. Retrieved from http://edition.cnn.com/2015/10/25/politics/donald-trump-moammar-gadhafi-saddam-hussein/
5. Remarks by President Obama in Address to the United Nations General Assembly. (2013, September 24). The White House. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/09/24/remarks-president-obama-address-united-nations-general-assembly
6. Russia's Vladimir Putin challenges US on Syria claims. (2013, August 31). BBC. Retrieved from http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-23911833
7. Starr, Barbara. (2017, April 13). US intelligence intercepted communications between Syrian military and chemical experts. CNN. Retrieved from http://edition.cnn.com/2017/04/12/politics/us-intelligence-syrian-chemical-weapons/index.html
8. The White House. (2013, August 21). “Government Assessment of the Syrian Government’s Use of Chemical Weapons on August 21, 2013”. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/08/30/government-assessment-syrian-government-s-use-chemical-weapons-august-21
9. The White House. (2017, April 6). Statement by President Trump on Syria. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/the-press-office/2017/04/06/statement-president-trump-syria
10. The White House. (2017, April 11). Background Press Briefing on Syria, 4/11/2017. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/the-press-office/2017/04/11/background-press-briefing-syria-4112017
11. Trump details ‘America first’ foreign policy views, threatening to withdraw troops from Japan, South Korea. (2016, March 27). The Japan Times. Retrieved from http://www.japantimes.co.jp/news/2016/03/27/world/politics-diplomacy-world/trump-details-america-first-foreign-policy-views-threatening-withdraw-troops-japan-south-korea/#.Vvh-wtJ97IV
-----------------------------