ถ้าทรัมป์เป็นหุ่นเชิดต่างชาติ แล้วนักการเมืองอื่นๆ เป็นด้วยหรือไม่

ข้อกล่าวหาว่าทรัมป์ถูกรัสเซีย “ซื้อตัว” เข้มข้นมากขึ้น เมื่อสังคมเห็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่รายงานร่วมของ 3 องค์กรรัฐใช้ คือรายงานลับจากอดีตสายลับอังกฤษนาม Christopher Steele จัดทำในฐานะสายลับเอกชน เจ้าหน้าที่หน่วยสืบราชการลับหลายคนยืนยันว่า Steele เป็นมืออาชีพ บางคนยกย่องว่าเป็น เจมส์ บอนด์ (James Bond) ที่มีอยู่จริง
เว็บไซต์ BuzzFeed เป็นผู้เปิดเผยเอกสารดังกล่าว ด้านทรัมป์กับทางการรัสเซียชี้ว่าข้อมูลจาก BuzzFeed ปราศจากมูลความจริง
เนื้อหาเอกสารลับ :
            เอกสารลับที่ตั้งหัวข้อ ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ตกลงร่วมมือกับรัฐบาลรัสเซีย (และอื่นๆ อีกหลายฉบับ) มีสาระสำคัญว่ารัฐบาลรัสเซียพยายามสร้างสัมพันธ์และช่วยทรัมป์เป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว ชี้ว่าประธานาธิบดีปูตินสั่งการโดยตรง เป้าหมายคือสร้างความแตกแยกทั้งภายในสหรัฐและพันธมิตรของสหรัฐ โดยเฉพาะพันธมิตรยุโรป เพื่อล้มระบบระเบียบโลกปัจจุบัน เปลี่ยนให้เป็นระบบถ่วงดุลระหว่างมหาอำนาจ (Great Power politics) ดังในสมัยศตวรรษที่ 19
            นอกจากนี้ ประธานาธิบดีปูตินเห็นว่าที่ควรร่วมมือด้วยเพราะทรัมป์เป็นพวกที่ต่อต้านระบอบอำนาจเก่าในสหรัฐ

            รายงานอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวหลายแห่งที่เชื่อถือได้ บางคนเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการต่างประเทศ บางคนเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยข่าวกรอง หรือเคยเป็นมาก่อน ฯลฯ
            หลายปีที่ผ่านมาทีมงานวงในของทรัมป์ได้รับข้อมูลข่าวสารจากรัฐบาลรัสเซียเป็นระยะๆ รวมทั้งเรื่องพรรคคู่แข่ง (เดโมแครท) หนึ่งในนั้นคือฮิลลารี คลินตัน

            เอกสารระบุชัดว่าการลักลอบขโมยข้อมูลอีเมลจากพรรคเดโมแครทเป็นความร่วมมือจากทีมงานทรัมป์กับทางการรัสเซีย แลกกับการที่ทรัมป์จะไม่หยิบยกประเด็นรัสเซียแทรกแซงยูเครนขึ้นมาหาเสียง ข้อมูลอีกชุดระบุบว่าฝ่ายทรัมป์กับรัสเซียหารือความร่วมมือด้านพลังงาน แลกกับการยกเลิกคว่ำบาตรรัสเซียจากกรณียูเครน มีการพบปะหลายครั้งทั้งก่อนและหลังจากปล่อยอีเมลสู่สาธารณะ
            ฝ่ายรัสเซียพยายามหว่านล้อมด้วยข้อเสนอทางธุรกิจ โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ยังไม่ยอมรับข้อตกลง
            นอกจากนี้ รัสเซียยังใช้วิธีขู่กรรโชก (blackmail) เพื่อให้ทรัมป์ยอมรับข้อตกลง ด้วยการจัดฉาก ให้ทรัมป์ดูโชว์ลามกชุดหนึ่งในช่วงที่พักรัสเซีย ณ โรงแรมดังกล่าวเจ้าหน้าที่ได้แอบบันทึกเหตุการณ์ทุกอย่างไว้ ทั้งภาพและเสียง

โต้แย้งแทนทรัมป์ :
          ประการแรก ลำพังการพบปะระหว่างทีมงานไม่ใช่เรื่องแปลก
เอกสารลับระบุว่าทีมงานทรัมป์ได้พบปะเจ้าหน้าที่รัสเซียหลายครั้ง เป็นเช่นนี้มานานหลายปี ข้อกล่าวหานี้แม้ถูกต้อง แต่ไม่อาจสรุปว่าทรัมป์ “ขายชาติ”
ต้องเข้าใจว่าในแวดวงการเมืองทั้งในและระหว่างประเทศ มีการพบปะกันอยู่เสมอ ทั้งระดับผู้นำสูงสุดและระดับทีมงานเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะระดับทีมงานเจ้าหน้าที่จะมีการติดต่อหารืออยู่เสมอทั้งทางตรงทางลับ เพื่อการประสานงาน ป้องกันความเข้าใจผิด ฯลฯ
            การพบปะระหว่างทีมงาน 2 ประเทศไม่ได้หมายความว่าทั้งคู่กำลังซื้อหรือขายความลับเสมอไป บ่อยครั้งเป็นเพียงการพบปะสนทนาฉันท์เพื่อน เรื่องเป็นของความสัมพันธ์ส่วนตัว และแม้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลก็ไม่ได้แปลว่าพวกเขามีเจตนาขายชาติ เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลในกรอบที่ยอมรับได้
            ถ้าจะตัดสินว่าทรัมป์ “ขายชาติ” จริง ต้องแสดงหลักฐานที่มากกว่าเอกสารที่ปรากฎในขณะนี้

          ประการที่ 2 สังคมอเมริกันยึดมั่นศีลธรรมมากเพียงใด
ทรัมป์กับทางการรัสเซียปฏิเสธเรื่องคลิปฉาว แม้เกิดขึ้นจริงควรเข้าใจว่าทรัมป์ไม่ได้ขู่บังคับใคร ผู้หญิงเหล่านี้มีอาชีพทางนี้อยู่แล้ว หลายประเทศให้โสเภณีเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย บางประเทศไม่ยอมรับอาชีพโสเภณีแต่ยอมให้มีสถานบริการ ถ้าจะผิดคือในแง่ศีลธรรม คำถามตามมาคือสังคมอเมริกันยึดมั่นศีลธรรมมากเพียงใด โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศ หลายคนยอมรับการมีเพศสัมพันธ์เสรี
ถ้าวิเคราะห์เฉพาะตัวทรัมป์ ถ้าทรัมป์เกี่ยวข้องกับคลิปฉาวจริงก็ไม่น่าจะมีผลใดๆ เพราะคนทั่วไปค่อนข้างปักใจเชื่ออยู่แล้วว่าทรัมป์แม้มีภรรยาแล้วถึง 3 คน ยังเกี่ยวข้องการผู้หญิงอื่นๆ อีก ทรัมป์ชนะเลือกตั้งท่ามกลางข้อกล่าวหาว่ามีสัมพันธ์กับหญิงมากหน้าหลายตา ไม่เว้นแม้กระทั่งหญิงมีสามี
            แม้พิสูจน์ได้ว่าทางการรัสเซียเป็นผู้ฉากให้เกิดคลิปโชว์ลามกก็ไม่สามารถสรุปว่าทรัมป์ “ถูกซื้อตัวแล้ว”
ถ้าคิดให้ดี การใช้ตรรกะว่ารัสเซียสามารถขู่กรรโชกทรัมป์ด้วยคลิปโชว์ลามก เป็นเรื่องไม่มีน้ำหนักมากพอ ทรัมป์จะยอมเป็นหุ่นเชิด ยอมอยู่ใต้บงการรัสเซียเพียงเพราะคลิปดูโชว์ลามกเท่านี้เองหรือ สังคมอเมริกันให้น้ำหนักกับเรื่องนี้มากเพียงใด

ประการที่ 3 ข้อเสนอธุรกิจสุดพิเศษ
เอกสารระบุว่าฝ่ายรัสเซียพยายามหว่านล้อมด้วยข้อเสนอธุรกิจโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต่ทรัมป์ยังไม่ยอมรับข้อตกลง ถ้าทรัมป์รับข้อตกลงก็ไม่นับว่าผิดเสมอไป เพราะรัฐบาลใดๆ ย่อมสามารถมอบ “สิทธิพิเศษ” แก่บุคคลหรือผู้ประกอบการใดๆ ถ้าจะผิดก็ต้องเชื่อมโยงให้ได้ว่าทรัมป์รับข้อตกลงเพื่อแลกกับการขายชาติ
            รวมความแล้ว เอกสารลับพยายามทำให้เชื่อว่าทรัมป์ผิด ข้อโต้แย้งที่นำเสนอข้างต้นไม่มีเจตนาชี้นำว่าทรัมป์ผิดจริงหรือไม่ เพียงชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่นำเสนอขาดน้ำหนัก ไม่ว่าเอกสารดังกล่าวจะลับหรือไม่ลับ มาจากทางการสหรัฐ หรือสายลับเอกชนผู้ลือนาม

ติดสินบน ฉันท์มิตร หรือขู่กรรโชก :
            การขู่กรรโชกหรือกรรโชก (blackmail) มักเกิดควบคู่กับการติดสินบน
            ในกรณีทรัมป์อาจมองว่า เริ่มจากการที่ทางการรัสเซียหรือใครบางคนที่ติดต่อกับทรัมป์เสนอให้ดูโชว์ฟรี เป็นความจริงว่าผู้ชายหลายคนเห็นว่าเป็นเรื่องสนุกตามประสาผู้ชาย ไม่ได้ทำผิดอะไร (แค่ดูเฉยๆ ปกติเคยทำอะไรที่มากกว่าเพียงแค่ดูด้วยตา) 
            พวกที่มีพฤติกรรมรับสินบนเป็นประจำ อาจเห็นว่าคือส่วนหนึ่งของสินบน หรือเป็นรางวัลพิเศษที่มอบให้
บางคนอาจตีความว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย หลังทำธุรกิจกันมานาน หลังบรรลุตกลงธุรกิจ มักมีการเลี้ยงฉลอง บางครั้งลงเอยด้วยมอบบริการพิเศษ
ในบางสังคมอาจมองว่าเรื่องมอบบริการพิเศษเป็นเรื่องปกติที่ทำกันอยู่แล้วในแวดวงธุรกิจ เป็นเรื่องการสร้างมิตรภาพ ในแวดวงราชการก็ไม่น้อยหน้า

            โดยรวมแล้ว เรื่องราวที่ทางการรัสเซียพยายามสร้างสัมพันธ์กับทรัมป์ช่วยให้เห็นโลกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกมิติที่ตำราไม่เอ่ยถึง ทั้งๆ ที่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ การติดต่อระหว่างทีมงานหรือระดับเจ้าหน้าที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาแต่ไม่เป็นข่าว และมักมีเรื่องสินบนหรือความสัมพันธ์ฉันท์มิตรเข้าเกี่ยวข้อง
            บางคนอาจไม่คิดว่าการขู่กรรโชกเป็นเรื่องร้ายแรง บางคนคิดว่าจะไม่กลายเป็นประเด็นอื้อฉาว เพราะการติดสินบนเป็นการร่วมมือระหว่างผู้ให้กับผู้รับ ผู้ให้ยินดีที่จะมอบให้ ผู้รับพร้อมที่จะรับไว้ ถ้าจะมีคลิปหรือหลักฐานใดๆ ก็เพื่อป้องกันอีกฝ่ายผิดสัญญา (ไม่ใช่เพื่อเปิดโปงทุจริต)
            การทุจริตคอร์รัปชันที่ถูกเปิดโปงจึงมีน้อย ตรวจจับยาก โดยเฉพาะถ้าการทุจริตเกิดขึ้นที่ต่างแดน การทุจริตที่รัฐบาลเข้าเกี่ยวข้องด้วย

เป็นหุ่นเชิดรัสเซียผิด แต่เป็นหุ่นเชิดให้ประเทศอื่นๆ ไม่ผิด :
            จุดที่เบี่ยงเบนความคิด ทำให้หลายคนคล้อยตาม คือการใช้คำว่าเป็น “หุ่นเชิด” (puppet) แก่รัฐบาลรัสเซีย
            ถ้าพิจารณาให้ดี รัฐบาลต่างชาติหลายประเทศพยายามเสนอสัมพันธ์พิเศษกับผู้นำประเทศอยู่แล้ว เฉพาะกรณีทรัมป์ ในช่วงหาเสียงจนถึงล่าสุด นายกฯ อิสราเอล นายกฯ ญี่ปุ่น แม้กระทั่งผู้นำไต้หวัน ฯลฯ ได้พูดคุยส่วนตัวกับทรัมป์ ถามว่าทรัมป์ “ขายตัว” แก่ประเทศเหล่านี้ไปแล้วหรือไม่
กรณีที่ทรัมป์หยิบยกประเด็นนโยบายจีนเดียว (one-China policy) ขึ้นมายุแหย่จีน เชิดชูบทบาทไต้หวัน ทำไมไม่สืบสวนว่าทางการไต้หวันให้ผลประโยชน์ก้อนโตแก่ทรัมป์หรือไม่

ครั้งที่ทรัมป์กล่าวปราศรัยหาเสียงกับชาวอเมริกันที่นิยมอิสราเอล ทรัมป์พูดถึงนโยบายที่เอื้อประโยชน์อิสราเอลเต็มที่ เนื้อหาปราศรัยของทรัมป์เรื่องข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านใกล้เคียงกับคำพูดของนายกฯ เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) ทำไมรัฐบาลโอบามาไม่ตั้งคำถามว่าทรัมป์ถูกอิสราเอล “ซื้อตัว” ไปแล้วหรือไม่ ทั้งๆ ที่เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่าผู้จัดงาน The American Israel Public Affairs Committee (AIPAC) เป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อประเทศอิสราเอลโดยตรง
บางคนถึงกับสรุปว่ารัฐบาลอิสราเอลมีอิทธิพลต่อรัฐบาลอเมริกันมาก เป็นเหตุผลว่าหลายนโยบายที่ประชาชนต้องการอย่างหนึ่ง แต่รัฐบาลทำอีกอย่าง เช่น ชาวอเมริกันต้องการให้คว่ำบาตรสินค้าอิสราเอล แต่รัฐบาลไม่เห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครท

            ถ้าอธิบายในเชิงวิชาการ ในแวดวงการเมืองอเมริกา การล็อบบี้เป็นเรื่องปกติ กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ รวมถึงกลุ่มที่เป็นตัวแทนต่างชาติหรืออิงต่างชาติ พยายามล็อบบี้นักการเมืองทุกคนทุกพรรค ตำรารัฐศาสตร์อเมริกาสอนว่านี่คือประชาธิปไตย
            ดังนั้น ถ้าจะพูดว่ารัฐบาลรัสเซียพยายามซื้อตัวทรัมป์ ทำไมไม่พูดว่าทุกกลุ่มผลประโยชน์ทั้งในและนอกประเทศพยายามซื้อตัวนักการเมือง บรรดาส.ส., ส.ว.
            สังคมควรพิจารณาให้ถ่องแท้ ไม่ยึดติดแค่ประเด็นทรัมป์เป็นหุ่นเชิดให้ใครหรือไม่
22 มกราคม 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7380 วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ.2560)
-----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ทรัมป์กำลังจะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีท่ามกลางเสียงโจมตี เสียงวิพากษ์วิจารณ์ ที่ถูกนำเสนออย่างไม่หยุดหย่อนตั้งแต่ช่วงหาเสียงจนปัจจุบัน หลายคนชี้ว่าเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนจะเป็นต้นเหตุพาให้ทรัมป์ถูกเข้ากระบวนการถอดถอนออกจากตำแหน่ง กระแส Impeachment กำลังดังมากขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังไม่ได้สรุปว่าทรัมป์จะทำผิดจริงหรือไม่ ราวกับว่าทุกอย่างถูกกำหนดไว้แล้ว
บรรณานุกรม:
1. Barrett, Wayne. (2016). Trump: The Greatest Show on Earth : The Deals, the Downfall, the Reinvention. New York: Regan Arts.
2. Bensinger, Ken., Elder, Miriam., Schoofs, Mark. (2017, January 13). These Reports Allege Trump Has Deep Ties To Russia. BuzzFeed. Retrieved from https://www.buzzfeed.com/kenbensinger/these-reports-allege-trump-has-deep-ties-to-russia?utm_term=.ww9qvwkMl#.cmBX4WLpv
3. Kornblum, William., Julian, Joseph. (2012). Social Problems (14th Ed.). USA: Pearson Education.
4. Lee, Kurtis. (2017, January 15). What we know about Christopher Steele, the British ex-spy who wrote the controversial Trump dossier. Los Angeles Times. Retrieved from http://www.latimes.com/world/europe/la-fg-trump-russia-spy-2017-story.html
5. McManus, Doyle. (2015, March 3). Herzog: Netanyahu's speech to Congress has politics written all over it. Los Angeles Times. Retrieved from http://www.latimes.com/opinion/op-ed/la-oe-mcmanus-netanyahu-speech-iran-politics-20150304-column.html
6. The American Israel Public Affairs Committee. (2016). Our Mission. Retrieved from http://www.aipac.org/en/about/mission
7. Trump blasts ‘sleazebag operatives’ for ‘Russian dossier’ release, pledges hacking report in 90 days. (2017, January 13). RT. Retrieved from https://www.rt.com/usa/373578-trump-promises-hacking-report/
-----------------------------