โฉมหน้าความงาม โฉมหน้าสังคมนิยมจีน

Hao Lulu ผู้ปรับโฉมใน 5 เดือน Hao Lulu อายุ 24 ปีเข้าทำศัลยกรรมพลาสติก หลังผ่าตัด 10 กว่าครั้งทั้งใบหน้าและส่วนอื่น ในเวลา 5 เดือนกลายเป็นสาวงามโฉมใหม่
Hao Lulu กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ผู้ชายหลายคนชอบบุคลิกลักษณะนิสัยส่วนตัวของเธอ แต่ก็มีผู้ชายจำนวนมากที่ไม่สนใจเพราะให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอกผู้หญิง ตอนนี้ผู้ชายทุกประเภทชอบเธอ และมั่นใจตัวเองขึ้นมาก เพราะมั่นใจว่าสวย
            ค่านิยมจีนในอดีตให้ความสำคัญกับการสืบตระกูล จึงมีตำราว่าด้วยการดูแลสุขภาพชายหญิง เพื่อให้มั่นใจว่าจะกำเนิดบุตรที่สุขภาพแข็งแรง เกิดตำรับยาบำรุงสารพัดชนิด แต่เพียงการมีบุตรแข็งแรงไม่พออีกต่อไป สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าหรืออาจมากกว่าคือเรื่องความสวยงาม
            ในยุคประธานเหมา ชายและหญิงใส่ชุดสีเทาหรือน้ำเงินเข้ม การแต่งหน้าตาทา สวมเครื่องประดับล้วนเป็นเรื่องต้องห้าม จึงไม่ต้องเอ่ยถึงศัลกรรมพลาสติกเพื่อความงาม ถือเป็นพฤติกรรมต่อต้านอุดมการณ์คอมมิวนิสต์
แรงผลักดัน เหตุผลที่ต้องงาม :
            การประทินโฉมเป็นองค์ความรู้ที่มีในหลายประเทศ รวมทั้งจีน แต่นับจากเปิดประเทศ โฉมหน้าความงามก็เปลี่ยนไป ลักษณะการแต่งหน้าได้รับวัฒนธรรมตะวันตก เน้นความทันสมัย เข้ากับความเป็นเมืองสมัยใหม่
วิธีการแต่งหน้าอย่างหนึ่งคือการทำศัลยกรรมพลาสติก เป็นเทคโนโลยีตะวันตก สถานเสริมความงามจีนได้รับเครื่องมืออุปกรณ์ วัสดุจากต่างประเทศ จีนเป็นลูกค้ารายใหญ่ระดับโลก เริ่มจากทำตา 2 ชั้น ต่อด้วยส่วนจมูก จากนั้นเทคนิคเสริมความงามอื่นๆ เข้ามาเป็นระลอก เช่น การทำโบท็อกซ์ (Botox) การฉีดเสริมสวย (filler injections) ความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นเป็นอีกปัจจัยให้คนอยากทำ

ในอดีต หญิงสาวที่ต้องการแสดงตัวให้โดดเด่นจะอาศัยวิธีเข้าอุตสาหกรรมเต้นรำ การแสดง ผู้หญิงส่วนน้อยที่ได้รับคัดเลือก เมื่อสังคมเปิดสู่โลกภายนอก การแต่งหน้าแต่งตัวเปิดโอกาสแก่ทุกคน
            งานวิจัยของ Allergan ที่ทำใน 16 ประเทศ (รวมทั้งจีน) ให้ข้อสรุปว่าร้อยละ 74 หวังที่จะสวยเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง ร้อยละ 37 เพื่อพาร์ทเนอร์ ร้อยละ 15 เพื่อเพื่อน เหตุการณ์สำคัญในชีวิตที่ต้องทำตัวให้สวยมากที่สุดคือวันแต่งงาน รองมาคือกำลังหางานใหม่ หรืออยู่ระหว่างเริ่มสัมพันธ์กับแฟนใหม่

ปี 2010 มูลค่าอุตสาหกรรมศัลยกรรมพลาสติกของจีนสูงถึง 48,000 ล้านดอลลาร์ (300 พันล้านหยวน หรือ 1.68 ล้านล้านบาท) เป็นรองแค่อุตสาหกรรมที่อยู่อาศัย ยานยนต์ การท่องเที่ยวและของใช้ฟุ่มเฟือยเท่านั้น
ผู้หญิงโดยเฉลี่ยจะใช้เงิน 35 ปอนด์ต่อเดือนสำหรับเรื่องความงาม ประเทศที่สูงสุดคือจีน ใช้ถึง 80 ปอนด์ต่อเดือน เกาหลีใต้ใช้ 60 ไทย 45 ประเทศที่ใช้ต่ำสุดได้แก่ เนเธอร์แลนด์ 17 แคนาดา 19 ส่วนสหรัฐใช้ 32 ปอนด์อยู่ในระดับกลาง กลุ่มประเทศยุโรปมักจะใช้จ่ายน้อยกว่าเอเชีย
ถ้าคิดจากฐานรายได้ ชาวตะวันตกมีรายได้สูงกว่าเอเชีย ยิ่งทำให้เข้าใจว่าสตรีเอเชียใช้เงินในสัดส่วนที่สูงกับความสวยความงาม น่าคิดว่าถ้าคนยุโรปเป็นพวกวัตถุนิยม ไม่ให้ความสำคัญกับจิตใจ งานวิจัยของ Allergan กำลังบอกว่าพวกเอเชียเป็นวัตถุนิยมมากกว่าหรือไม่ ความเข้าใจว่าคนเอเชียไม่ใช่พวกวัตถุนิยมเป็นความเข้าใจที่ล้าสมัยแล้วใช่หรือไม่

การทำศัลยกรรมไม่ใช่เรื่องของสตรีโสดเท่านั้น หญิงจีนจำนวนมากเริ่มทำศัลยกรรมครั้งแรกในวัย 30 เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนยิ่งมีความต้องการมากขึ้น เพื่อต่อสู้กับริ้วรอย ความเปลี่ยนแปลงทางสรีระ บางคนทำเพราะหวังได้งานที่ดี หญิงมีการศึกษาสูงแต่ไม่มั่นใจใบหน้าตนเองจึงได้ศัลยกรรมเป็นเครื่องช่วย จีนมีประชากรมหาศาล ตลาดแรงงานแข่งขันรุนแรง ต้องมั่นใจว่าเก่งว่า สวยกว่า
            Caroline Van Hove ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความงาม กล่าวว่า ไม่มียุคใดที่สตรีให้ความสำคัญกับความงามบนใบหน้ามากเท่าปัจจุบัน ความงามบนใบหน้าเป็นเหมือนนามบัตรที่ติดตัวตลอดเวลา

ชนชั้นมี “โอกาสสวยมาก” กับ “โอกาสสวยน้อย” :
            เมื่อความสวยซื้อได้ เป็นที่ต้องการของผู้อยากสวยและผู้อยากคบคนสวย สาวจีนหลายคนจึงหวังที่จะ “สวยขึ้น” ด้วยอำนาจเงิน หลายคนคิดว่าความสวยเพิ่มโอกาสแก่ชีวิตที่ดีกว่า ไม่แปลกใจที่หลายคนเห็นว่าการลงทุนเพื่อความงามเป็นเรื่องคุ้มเงินคุ้มเวลา
            เป้าหมายคอมมิวนิสต์คือสังคมไร้ชนชั้น แต่ทิศทางสังคมจีนกำลังมุ่งสู่ชนชั้น “รวย” กับ “จน” ความงามของสตรีเป็นภาพสะท้อนการมีชนชั้นและกำลังแรงมากขึ้น ผู้ที่ “ฐานะดีกว่า” ย่อมมีโอกาส “สวยกว่า” และถ้าเชื่อว่าหญิงงามมักจะคู่กับชายร่ำรวยมีอำนาจ หญิงงามจะเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มักปรากฏในหมู่ชนชั้นร่ำรวยมีอำนาจ

            นักวิชาการบางคนอธิบายความเป็นชนชั้นในจีนสมัยใหม่เริ่มต้นเมื่อสิ้นยุคประธานเหมา เมื่อปี1978 เป็นยุคที่จีนเริ่มเปิดประเทศต้อนรับการลงทุนจากนานาชาติ เปิดโอกาสให้ประชาชนเลือกงาน การเลื่อนตำแหน่งขึ้นกับความสามารถ รัฐยอมให้ปัจเจกเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ฐานะความเป็นอยู่ของปัจเจกมีความแตกต่างมากขึ้น เกิดชนชั้นทางเศรษฐกิจสังคม ระหว่างผู้ใช้แรงงานกับผู้บริหาร บางคนกลายเป็นผู้ประกอบการผู้มั่งมี
            ข้อมูลวิจัยบางชิ้นพูดถึงปัญหาชนชั้นว่า ชนชั้นกลางค่อนข้างพอใจกับฐานะทางสังคมเศรษฐกิจของตน ส่วนชนชั้นล่างไม่พอใจ โดยเฉพาะฐานะเศรษฐกิจ เห็นว่ารัฐบาลยังอ่อนในการแก้ปัญหานี้ ประเด็นความเหลื่อมล้ำสำคัญไม่แพ้ประเด็นการทุจริตคอร์รัปชัน
            มีข้อมูลว่าตั้งแต่เศรษฐกิจจีนพัฒนาเติบโตอย่างรวดเร็ว ก่อให้สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำ ชาวชนบทกว่า 700 ล้านคนยังอยู่ในสภาพยากจนแบบชนบท พวกที่อยู่ในเมืองจะมีรายได้สูงกว่า พวกที่อยู่ในเมืองยังแบ่งเป็นพวกที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี กับพวกแรงงานกรรมกรรายได้ต่ำ สภาพเช่นนี้เป็นแรงกดดันทางสังคมการเมืองที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามลดช่องว่างรายได้ ช่วยเหลือชาวนาและผู้ยากไร้ แต่ยังไม่เป็นที่พอใจ

            สำหรับหญิงชายที่นิยมความงาม อาจเกิดชนชั้นระหว่าง “พวกมีโอกาสสวยมาก” กับ “พวกมีโอกาสสวยน้อย” แทรกอยู่ในความเป็นชนชั้นที่มีอยู่เดิม ตอกย้ำความไม่เท่าเทียม ตรงข้ามกับนโยบายรัฐที่พยายามแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียม
            ความงามที่ไม่เท่าเทียม คือภาพสะท้อนโฉมหน้าสังคมนิยมจีนในปัจจุบันและอนาคต

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
            ความเป็นไปของหนุ่มสาวปัจจุบันสะท้อนความแตกต่างระหว่างอดีตกับปัจจุบัน และคาดการณ์อนาคต หน้าตาคนจีนในอนาคตจะต่างจากสมัยประธานเหมาและประธานเติ้งอย่างแน่นอน
            แม้ทุกวันนี้พรรคยังประกาศรักษาอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ คงเป้าหมายสร้างสังคมไร้ชนชั้น สภาพที่เป็นจริงคือ นับจาก 1978 จนถึงปัจจุบัน สังคมจีนถอยห่างจาก “สังคมไร้ชนชั้น” มากขึ้นตามลำดับ ตีตัวออกห่างจากเป้าหมายอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ดั้งเดิม
            มีคำถามว่า ถ้าคนจีนเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ยึดถือประโยชน์ส่วนตนมากขึ้น (เห็นแก่ตัวมากกว่าส่วนรวม) พวกเขาจะให้ความสำคัญกับการปกครองแบบประชาธิปไตยตะวันตกมากขึ้นหรือไม่ คำตอบคือไม่ เพราะพวกเขา ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์การปกครองมากกว่าระบอบการปกครอง บางคนอาจยึดติดรัฐอำนาจนิยมมากขึ้น ถ้าหากรัฐเช่นว่าสามารถตอบสนองความต้องการของพวกเขา
            จีนในปัจจุบันมีลักษณะเช่นนี้ คือ หลายคนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีความสุขสบายจากวัตถุ ทั้งหมดเป็นผลจากระบอบการปกครองปัจจุบันที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยตะวันตก ดังนั้น ผู้ที่ให้ความสุขแก่พวกเขาคือรัฐบาลคอมมิวนิสต์ต่างหาก นี่คือรูปธรรมที่จับต้องได้ในยุคสมัยของเขา
            ถ้ายึดว่าประชาชนเป็นผู้ตัดสินความสำเร็จ ความสำเร็จของระบอบการปกครองอยู่ที่ผลลัพธ์ที่ประชาชนจับต้องได้ ประเมินได้ มากกว่าทฤษฎีตามตำราหรือแบบอย่างต่างประเทศที่ห่างไกล

            ความหล่อความงามในรูปลักษณ์ภายนอกไม่ใช่เรื่องผิด ธรรมชาติมนุษย์สนใจความงามอยู่แล้ว สิ่งที่สวยงามย่อมดีกว่าความอัปลักษณ์ ทุกคนใช้ความพยายามไม่มากก็น้อยทำให้ตัวเองหล่อหรือสวย แต่รูปลักษณ์ภายนอกคือปัจจัยสำคัญที่สุดหรือ ทำไมดารานักแสดงหลายคู่จึงแยกทาง อยู่ร่วมกันได้ไม่นาน ทั้งๆ ที่พวกเขาสวยหล่อ ฐานะดี มีชื่อเสียงในสังคม
            รูปลักษณ์ภายนอกแม้สร้างความประทับแรกพบ แต่ไม่ใช่เครื่องชี้ขาดว่าคือคนที่เหมาะกับตำแหน่งงาน คนที่ควรคบหาลึกซึ้ง หรือคิดจะครองคู่ถาวร
            ในกรอบที่กว้างขึ้น ครอบครัวคือรากฐานสังคม ความมั่นคงของครอบครัวมีผลต่อความมั่นคงของชาติ ดังนั้น ประเทศไม่อาจไม่สนใจเรื่องค่านิยมความสวยความงาม
ในอนาคตหากจีนประสบปัญหารุนแรง อาจไม่เป็นเหตุให้จีนเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตย แต่ราชวงศ์เก่าจำต้องสิ้นสุด เพื่อความชอบธรรมที่ราชวงศ์ใหม่จะก่อเกิด
25 ธันวาคม 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7353 วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2559)
--------------------------
บรรณานุกรม:
1. Allergan. (2016). The Changing faces of beauty: a global report. Retrieved from http://origin-qps.onstreammedia.com/origin/multivu_archive/ENR/Changing-Faces-of-Beauty-Report-FINAL-INT-0361-2016h.pdf
2. Hao Lulu's Plastic Surgery Transformation. (2014, July 13). hubpages.com. Retrieved from http://hubpages.com/entertainment/Hao-Lulus-Plastic-Surgery-Transformation
3. Jie, Chen. (2013). A Middle Class Without Democracy: Economic Growth and the Prospects for Democratization in China. New York: Oxford University Press.
4. Jones, Handel. (2010). CHINAMERICA: The Uneasy Partnership that Will Change the World. USA: McGraw-Hill.
5. Kesselman, Mark., Krieger, Joel., & Joseph, William A.(2010). Introduction to Comparative Politics (5th Ed.). USA: Wadsworth.
6. Qureshi, Noman Ahmed. (2014, May). DO THE FACTS SPEAK FOR THEMSELVES: Why Chinese Spending their hard-earned Money for Plastic/Cosmetic Surgery? External Influence or Reflection on Beauty and Race in World. International Journal of Scientific and Research Publications (Volume 4, Issue 5). Retrieved from http://www.ijsrp.org/research-paper-0514/ijsrp-p2969.pdf
7. Shirk, Susan L. (2007). China: Fragile Superpower: How China's Internal Politics Could Derail Its Peaceful Rise. New York: Oxford University Press.
-----------------------------