จุดอ่อนของฮันติงตันใน The Clash of Civilizations (1)

ในแวดวงวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ น้อยคนที่ไม่รู้จักหนังสือ “การปะทะกันระหว่างอารยธรรมและการจัดระเบียบโลกใหม่” (The Clash of Civilizations and the Remaking of World Order) ของเซมวล พี. ฮันติงตัน (Samuel P. Huntington)
            ในช่วงนั้นมีคำถามสำคัญว่าระเบียบโลกหลังสิ้นสุดสงครามเย็นจะเป็นอย่างไร สหรัฐควรอย่างตัวอย่างไร ฮันติงตันชี้ว่าโลกในอนาคตจะขัดแย้งรุนแรงด้วยเหตุผลความแตกต่างทางอารยธรรม เสนอว่ารัฐบาลสหรัฐควรมีบทความสำคัญต่อระเบียบโลกใหม่
ฮันติงตันเริ่มปะติดปะต่อร่างแนวคิดและนำเสนอครั้งแรกในการสอน Bradley Lecture ที่ American Enterprise Institute เมื่อตุลาคม 1992 ต่อมาตีพิมพ์เป็นบทความใน Foreign Affairs ฉบับ Summer 1993 ปรากฏว่ากลายเป็นประเด็นวิพากษ์อย่างกว้างขวางมากที่สุดของวารสาร Foreign Affairs นับตั้งแต่วารสารเริ่มตีพิมพ์เมื่อทศวรรษ 1940
หลังการเผยแพร่ดังกล่าว ฮันติงตันต้องรับมือกับการวิพากษ์ทั้งสนับสนุนและไม่เห็นด้วย จึงใช้เวลาอีกราว 3 ปีเพื่อแต่งเป็นหนังสือ ประกอบด้วยข้อมูลที่ค้นคว้าเพิ่มเติม ข้อมูลจากการสัมมนาจนแล้วเสร็จเป็นหนังสือเมื่อปี 1996 หนังสือดังกล่าวได้รับตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง แปลหลายภาษา
            บทความนี้จะวิพากษ์จุดอ่อนของ The Clash of Civilizations หลังฮันติงตันได้นำเสนอเมื่อราว 20 ปีที่แล้ว
สรุปแนวคิดของ The Clash of Civilizations :
The Clash of Civilizations ระบุว่าโลกในอนาคตจะไม่แบ่งแยกด้วยอุดมการณ์การเมืองเศรษฐกิจอีกต่อไป แต่จะแบ่งแยกด้วยวัฒนธรรม (culture) ซึ่งหมายถึงความเชื่อศาสนา (ไม่ใช่วัฒนธรรมในความหมายแบบกว้าง) การสิ้นสุดยุคสงครามเย็นไม่ได้ยุติความขัดแย้งโลก แต่เปลี่ยนมาเป็นความความขัดแย้งทางศาสนา และจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มนุษย์จะฆ่าฟันทำลายล้างกันด้วยเหตุนี้
            อธิบายว่าอัตลักษณ์วัฒนธรรมเป็นเครื่องบ่งบอกตัวตน เป็นปัจจัยผลักดันให้ประเทศรวมกลุ่มหรือต่อต้านกลุ่มอื่น มนุษย์จะสัมพันธ์บนพื้นฐานของความเชื่อศาสนา การจับขั้ว การรวมกลุ่มความร่วมมือเศรษฐกิจจะตั้งอยู่บนศาสนาเดียวกันหรือศาสนาที่เป็นมิตรต่อกัน เพราะความร่วมมือต้องตั้งอยู่บนความเชื่อใจ ความศรัทธาต่อศาสนาเดียวกันคือเครื่องมือสร้างความเชื่อใจที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างต่างอารยธรรมจะยังคงอยู่ แต่หากเป็นอารยธรรมเดียวกันจะมีความร่วมมือมากที่สุด ผู้คนจะร่วมมือทำธุรกิจด้วยเหตุผลทางศาสนา

            ในบรรดาอารยธรรม 7-8 แห่งที่แบ่งไว้นั้น ชี้ว่าอนาคตจะเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างอารยธรรมตะวันตกกับอิสลาม ทั้งนี้ไม่ใช่ปัญหาจาก “การนำเอาหลักการอิสลามมาปฏิบัติใช้อย่างถูกต้อง” (Islamic fundamentalism) หรือ “พวกยึดมั่นในหลักการอิสลาม” เท่านั้น แต่คือการมีปัญหากับอิสลาม (หมายถึงอิสลามในความหมายครอบคลุม) เหตุเพราะต่างเห็นว่าตนเป็นอารยธรรมที่สูงส่งกว่า
เนื้อหาหนังสือพยายามนำเสนอว่าต่างฝ่ายต่างรังเกียจมาดร้ายอีกฝ่าย สถานการณ์เช่นนี้กำลังรุนแรงขึ้นและจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อธิบายความขัดแย้งระหว่างประเทศในปัจจุบันเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศมุสลิมกับประเทศที่นับถือคริสต์ (แทนที่จะใช้หลักผลประโยชน์แห่งชาติตามตำราทั่วไป) ความขัดแย้งครอบคลุมทุกประเด็น ตั้งแต่เรื่องดินแดน การแพร่ขยายอาวุธร้ายแรง สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย น้ำมัน การอพยพย้ายถิ่น ก่อการร้ายอิสลาม และการแทรกแซงจากตะวันตก

ฮันติงตันยึดอารยธรรมตะวันตกโดยมีสหรัฐเป็นแกนหลักของโลก เห็นว่าเป็นผู้รักษาระเบียบโลก ทำให้โลกมีเสถียรภาพ สหรัฐต้องแสดงบทบาทรับผิดชอบต่อการรักษาและพัฒนาอารยธรรมนี้ เนื่องจากมีพลังอำนาจสูงสุดในหมู่ประเทศร่วมอารยธรรม และเนื่องจากพลังอำนาจสหรัฐลดน้อยถอยลง ประเทศต่างๆ ในหมู่อารยธรรมตะวันตกโดยเฉพาะยุโรปตะวันตกจะต้องให้ความร่วมมือทุกมิติ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะชาติตะวันตกนับถือศาสนาคริสต์ ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แนวทางของตะวันตกเป็นแนวทางที่ถูกต้อง และเป็นสากล (universalism)
            หลักคิดของฮันติงตันสรุปรวบยอดได้ว่า โลกกำลังแบ่งด้วยศาสนา ในอนาคตศาสนาจะเป็นตัวแทนประเทศ เป็นตัวแทนกลุ่มประเทศหรือที่ใช้คำว่าอารยธรรม ความสัมพันธ์และความขัดแย้งทั้งสิ้นตั้งอยู่บนเหตุผลเรื่องศาสนาเป็นหลัก เข้าถ้ากันได้ก็จะร่วมมือกัน ถ้าเข้ากันไม่ได้ก็จะขัดแย้งกัน ถึงขั้นทำสงครามระหว่างอายธรรม

โลกตะวันตกปัจจุบันไม่ได้เชื่อมโยงกันด้วยศาสนา :
ฮันติงตันกล่าวถูกต้องว่าแต่เดิมนั้นผู้นับถือคริสต์มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
การพิจารณาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของผู้นับถือคริสต์ อาจเริ่มต้นตั้งแต่การก่อตัวของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire) เริ่มเมื่อค.ศ.313 จักรพรรดิคอนสแตนตินรับศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำอาณาจักร จากนั้นค.ศ.395 จักรพรรดิโรมประกาศให้ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำอาณาจักรโรมัน แต่ผู้นำศาสนาไม่มีบทบาทเทียบเท่าจักรพรรดิ ในสมัยนั้นผู้คนเมืองต่างๆ ในยุโรปจึงนับถือคริสต์ มีความเป็นเอกภาพผ่านศาสนา
เหตุการณ์สำคัญอีกครั้งเกิดเมื่อค.ศ.751 กษัตริย์เปแปงสถาปนาตัวเองเป็นกษัตริย์ ทำพิธีขึ้นครองราชย์โดยสันตะปาปาเป็นผู้มอบตำแหน่ง ผู้สวมมุงกฎ เป็นกษัตริย์องค์แรกของอาณาจักรแฟรงค์ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยสันตะปาปา
ในยุคนั้นนักบวชมีอิทธิพลต่อประชาชนและผู้ปกครองทุกระดับ ผู้คนเชื่อคำสอนของนักบวชอย่างเคร่งครัด

ความเป็นเอกภาพของผู้นับถือคริสต์ยังสะท้อนผ่านยุคล่าอาณานิคม
ค.ศ.1493 เมื่อโคลัมบัสกลับถึงสเปนหลังพบเส้นทางสู่โลกใหม่ กษัตริย์ João II แห่งโปรตุเกสแสดงความไม่พอใจ ส่งเรือไปตามทิศตะวันตกบ้าง เพื่อแสดงให้เห็นว่าเส้นทางเดินเรือใหม่ทั้งหมดเป็นสิทธิ์ของตนเท่านั้น (ตามบัญชาของศาสนจักร) กษัตริย์ Ferdinand กับพระนาง Isabella แห่งสเปนจึงนำเรื่องร้องเรียนศาสนจักร
สันตะปาปาอะเล็กซานเดอร์ที่ 6 (Alexander VI) ให้คำตัดสิน มีบัญชามอบเส้นทางเดินเรือ สิทธิ์ทางการค้า แผ่นดิน เกาะต่างๆ แก่กษัตริย์ Ferdinand กับพระนาง Isabella และลูกหลานของท่านสืบไป หากพระองค์ทรงพบตามเส้นทางทิศตะวันตกกับทิศใต้ เพื่อ “ขยายความเชื่อของคาทอลิก” ผู้ใดละเมิดจะถูกบัพพาชนียกรรม (excommunication) ขับออกจากความเป็นศาสนิกชน
            เนื่องจากทั้งกษัตริย์โปรตุเกสกับสเปนต่างศรัทธาในสันตะปาปาจึงยอมรับคำตัดสิน ต่อมาได้ทำสนธิสัญญาทอร์เดสซิลลาส (Treaty of Tordesillas) ผลลัพธ์คือทวีปอเมริกาเป็นของสเปนเกือบทั้งหมด ยกเว้นบราซิล ส่วนโปรตุเกสจะมุ่งไปทางอินเดียกับเอเชีย
จุดเริ่มต้นที่ตะวันตกยึดครองอาณานิคมทวีปอเมริกาจึงมาจากบัญชาของสันตะปาปา กษัตริย์มีความชอบธรรมเต็มเปี่ยมที่จะส่งทหารเข้าครอบครองดินแดนของชนพื้นเมืองที่กราบไหว้รูปเคารพ เนื่องด้วยสันตะปาปาได้มอบดินแดนเหล่านั้นแก่กษัตริย์แล้ว
ภายใน 3 ปีสเปนสามารถยึดครองอาณาจักรแอซเท็ก (Aztec) อันยิ่งใหญ่ จากนั้นรุกรานอาณาจักรมายัน (Mayan) และอินคา (Inca) กวาดทองคำ เงิน ของมีค่ากลับประเทศ ช่วยให้สเปนในยุคนั้นเป็นมหาอำนาจ

เรื่องราวเหล่านี้ เป็นประเด็นศาสนาโดยตรง พวกคาทอลิกเชื่อมั่นในตัวสันตะปาปา โดยเฉพาะกษัตริย์ยอมรับที่ทรงบัญชา แต่ในเวลาต่อมาศาสนจักรคาทอลิกยกเลิกบัญชาดังกล่าว ปัจจุบันไม่มีแนวคิดทำนองนี้อีกแล้ว
(ถ้าใช้มุมมองทางการเมือง สเปนต้องไปทางตะวันตกเพราะโปรตุเกสยึดครองเส้นทางตะวันออก เลียบชายฝั่งแอฟริกาตะวันตกอ้อมแหลม Good Hope ไปสู่อินเดียแล้ว)

            แต่นับจากหลังยุคกลาง เริ่มในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ การฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) และความเสื่อมของศาสนจักร จนเกิดการปฏิรูปศาสนา (Reformation) เกิดนิกายโปรเตสแตนท์ ทำให้จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เริ่มเสื่อม บรรดาเจ้าเมือง กษัตริย์หลายพื้นที่ไม่ยอมรับอำนาจสันตะปาปาจึงแยกตัวออกจากศาสนจักรและขัดแย้งถึงขั้นทำสงคราม
            สงครามระหว่างกษัตริย์กับศาสนจักรโรมันคาทอลิกดำเนินอยู่นานนับร้อยปี ในที่สุดเกิดสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย (Peace of Westphalia) เมื่อค.ศ.1648 ยุติอำนาจฝ่ายโลกของศาสนจักร เกิดรัฐสมัยใหม่ (Modern State) ที่อำนาจอธิปไตยของรัฐไม่ได้อยู่ใต้ศาสนจักรอีกต่อไปและสืบเนื่องจนถึงทุกวันนี้
            ความเข้าใจสำคัญคือนับจากสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย อำนาจกษัตริย์หรือผู้ปกครองประเทศในโลกตะวันตกไม่ขึ้นกับผู้นำศาสนาอีกต่อไป เมื่อพัฒนาเป็นระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่จะแยกศาสนาออกจากอำนาจรัฐ พูดให้ชัดคือไม่ยอมให้ศาสนามีอำนาจเหนือรัฐ นี่คือระบอบการปกครองของโลกตะวันตกในยุคปัจจุบัน (และใช้กันทั่วไปในประเทศที่เป็นระบอบประชาธิปไตย)
            ถ้าพูดเฉพาะประเทศสหรัฐ นับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อนก็ประกาศหลักการชัดว่าไม่ให้ศาสนามีอิทธิพลครอบรัฐ บางคนให้เหตุผลว่าเนื่องจากผู้ย้ายถิ่นดั้งเดิมเป็นผู้หนีสภาพรัฐที่อุปถัมภ์ศาสนา หรือมีศาสนาประจำชาติ อันเป็นบ่อเกิดความขัดแย้งในยุโรปสมัยกลาง จึงกำหนดแยกรัฐออกจากศาสนา
            ดังนั้น ด้วยระบอบการปกครองปัจจุบัน โลกตะวันตกจึงไม่ได้อยู่ใต้อำนาจศาสนา รัฐธรรมนูญไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้น การสรุปว่าโลกตะวันตกจะเชื่อมโยงลึกซึ้งด้วยศาสนาจึงไม่ถูกต้อง
            การที่ฮันติงตันพยายามแบ่งโลกให้เป็นขั้วตามศาสนา อาจถูกตีความว่าต้องการให้ศาสนามีอิทธิพลเหนืออำนาจรัฐฝ่ายโลก หรือไม่ก็หวังใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือแบ่งแยกโลก แบ่งความเป็นมิตรกับศัตรูแบบเหมารวม เป็นอีกครั้งที่อำนาจรัฐแสวงหาประโยชน์จากศาสนา
 สิงหาคม 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7213 วันอาทิตย์ที่ สิงหาคม พ.ศ.2559)
--------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
บทความนี้วิเคราะห์การหาเสียงของทรัมป์ในประเด็น “อิสลามหัวรุนแรง” ที่เชื่อมโยงกับแนวนโยบายของพรรครีพับลิกัน เชื่อมโยงกับแนวคิดการปะทะกันระหว่างอารยธรรมของฮันติงตันที่นับวันจะเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น (หรือถูกชักนำให้เข้าใจ) ในความขัดแย้งระหว่างศาสนาคริสต์กับอิสลาม ไม่ว่ารัฐบาลสหรัฐจะยอมรับหรือไม่ว่าคือส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์แม่บท
บรรณานุกรม:
1. Berkin, Carol., Miller, Christopher L., Cherny, Robert W., & Gormly, James L. (2012). Making America: A History of the United States. (6th Ed.). USA: Wadsworth, Cengage Learning.
2. Bown, Stephen R. (2011). 1494: How a Family Feud in Medieval Spain Divided the World in Half. Canada: Douglas & McIntyre.
3. Heidler, David S., Heidler, Jeanne T. (2004). Daily Life in the Early American Republic, 1790-1820: Creating a New Nation. USA: Greenwood Press.
4. Huntington, Samuel P. (1996/2011). The Clash of Civilizations and the Remaking of World Order. New York: Simon & Schuste.
5. Ginsberg, Benjamin., Lowi, Theodore J., Weir, Margaret., Tolbert, Caroline J., & Spitzer, Robert J. (2015). We the People: An Introduction To American Politics. (Tenth Essentials Edition). NY.: W. W. Norton & Company.
6. Pelikan, Jaroslav. (2005). CHRISTIANITY: CHRISTIANITY IN WESTERN EUROPE. In Encyclopedia of Religion (2nd Ed., pp.1678-1694). USA: Thomson Gale.
7. Sherwood, Yvonne. (2014). Comparing the ‘Telegraph Bible’ of the Late British Empire to the Chaotic Bible of the Sixteenth Century Spanish Empire: Beyond the Canaan Mandate into Anxious Parables of the Land. In In the Name of God: The Bible in the Colonial Discourse of Empire (pp5-62).The Netherlands: Koninklijke Brill NV.
8. Srinivas, Tulasi. (2012).Clash of Civilizations Thesis. In Encyclopedia of global religion. (pp.233-234). USA: SAGE Publications.
-----------------------------