‘Descendants of the Sun’ ละครประชาสัมพันธ์

สองสามเดือนที่ผ่านมาละครโทรทัศน์เกาหลี (หรือที่เรียกติดปากว่า ‘ซีรีย์เกาหลี’) เรื่อง ‘Descendants of the Sun’ กลายเป็นข่าวดัง ได้รับความนิยมในเกาหลีใต้และอีกหลายประเทศ ประธานาธิบดี ปาร์ค กึน-เฮ (Park Geun-hye) ถึงกับเอ่ยปากชม
พระเอกเป็นร้อยเอกหนุ่มสังกัดหน่วยรบพิเศษ มักถูกส่งไปเพื่อปฏิบัติการสำคัญๆ ฝ่ายนางเอกเป็นแพทย์หญิงผู้มีความสามารถ เหตุการณ์นำพาให้ทั้งคู่รู้จักกัน ได้ร่วมภารกิจ พัฒนาความสัมพันธ์กลายเป็นคู่รักในที่สุด แต่ละตอนมีทั้งบทบู๊ บทตลก บทรักบทโศก คละเคล้ากันไป ดำเนินเรื่องทิ้งท้ายอย่างชวนให้ติดตาม โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างพระเอกกับนางเอกว่าจะลงเอยอย่างไร พระเอกที่ต้องเสี่ยงชีวิตอยู่เสมอจะจบลงด้วยการเป็นร่างในผ้าห่อศพหรือจะลงเอยด้วยบท “แฮปปี้เอ็นดิ้ง”
            ถ้ามองในแง่ “การโฆษณาประชาสัมพันธ์ การปลูกฝังค่านิยม” ละครเรื่องนี้ทำหน้าที่ได้อย่างดีเลิศ (แม้คนดูบางคนอาจไม่สังเกตหรือไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้)
การโฆษณาประชาสัมพันธ์และการปลูกฝังค่านิยม :
            เนื้อหาหลายส่วนของละคร ‘Descendants of the Sun’ เป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์และการปลูกฝังค่านิยม มีประเด็นน่าสนใจดังนี้
            ประการแรก ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ละครเกาหลีใต้ที่นำเสนอเรื่องราวปัจจุบันหลายเรื่องนำเสนอเรื่องที่พัวพันกับเกาหลีเหนือในปัจจุบัน แม้ไม่ตรงความจริงทั้งหมด (ปกติจะไม่ตรงความจริงทั้งหมดอยู่แล้วเพราะเป็นละคร) หลายเรื่องหยิบยกประเด็นร่วมสมัย เช่น อาวุธนิวเคลียร์ การก่อการร้าย กลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ ในละครเรื่องนี้เอ่ยถึงการปะทะประปรายระหว่างชายแดน 2 ประเทศ การเจรจารวมชาติ การให้ญาติ 2 ฝั่งได้พบกัน
ละครจึงให้ความรู้แก่ผู้ชมโดยปริยายโดยเฉพาะแก่คนรุ่นใหม่นับสิบล้านร้อยล้านคน

ตอนหนึ่งของ ‘Descendants of the Sun’ หยิบยกประเด็นนายทหารนอกวินัยของกองทัพเกาหลีเหนือ ออกคำสั่งมิชอบ สั่งการให้ทหารคนหนึ่งเป็นมือปืนรับจ้างแก่กลุ่มอาชญากร จึงเกิดเรื่องราวที่ทหารเกาหลีเหนืออีกคนต้องเข้าขัดขวาง ยอมเสี่ยงชีวิตด้วยความรักชาติ
ในท้องเรื่องยังเอ่ยถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูง นักการเมืองเกาหลีใต้บางคนผู้คิดถึงผลประโยชน์ส่วนตัว ละครไม่ได้ให้น้ำหนักเรื่องนี้มากนัก เพียงแต่หยิบยกชี้ให้เห็นความจริง (เรื่องที่สังคมรับรู้ทั่วไปรู้อยู่แล้ว) ที่สุดแล้วประธานาธิบดีเกาหลีใต้คือเสาหลักผู้ยึดมั่นอุดมการณ์ ดำเนินการทุกอย่างถูกต้อง ต่างจากเจ้าหน้าที่บางนายที่ฉ้อฉล รักตำแหน่งมากกว่าผลประโยชน์ประเทศ
อีกส่วนที่ดีของเรื่องคือยกย่องเชิดชูทหารของทั้ง 2 ฝ่าย มองว่าต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตน เป็นทหารผู้รักชาติยิ่งชีพ อดทนต่อคำสั่งที่มิชอบ แต่เมื่อถึงขั้นแตกหักจะเลือกบนพื้นฐานความถูกต้อง ทหารของทั้ง 2 ประเทศต่างสำแดงตนว่าเป็น “นักรบผู้กล้า” “ทหารที่มีระเบียบวินัย” และไม่ทิ้งอุดมการณ์ ความชอบธรรม
            สังเกตว่าบุคคลที่ถูกตำหนิคือ นายทหาร เจ้าหน้าที่ระดับสูงบางคนของทั้ง 2 ประเทศ การมีคนไม่ดีในกลุ่มถือเป็นเรื่องปกติทั่วไป ที่สำคัญคือเชิดชูให้เกียรติกองทัพโดยรวม
            นี่คือการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่ดีของกองทัพ ส่งเสริมความสัมพันธ์กองทัพ 2 ประเทศ

            ประการที่ 2 การโฆษณาธุรกิจ กิจการเอกชน
            ละครกับโฆษณาเป็นธุรกิจที่ต้องไปด้วยกัน มีโฆษณาในละครไม่ใช่สิ่งผิด มีทั้งการโฆษณาด้วยวิธีแนบเนียนกับแบบที่เด่นชัดมาก
            ในละครใช้รถยนต์ของบริษัทเกาหลีรายหนึ่ง แต่ละฉากจะใช้รถยนต์แต่ละรุ่นแตกต่างกัน มีฉากที่แสดงเทคโนโลยีการขับขี่ มีฉากที่คู่รักคู่หนึ่งพากันไป “โชว์รูมของจริง” เพื่อเลือกซื้อรถ ทั้งคู่เดินวนรอบรถ แสดงให้เห็นรถรุ่นดังกล่าวชัดเจน พร้อมลงเอยว่าฝ่ายชายขอสั่งซื้อทันทีเพราะฝ่ายหญิง “ตอบรักฝ่ายชาย”
            ในท้องเรื่องพระเอกกับนางเอกนัดพบที่ร้านกาแฟหลายครั้ง แต่ละครั้งจะแสดงชื่อร้านอย่างเด่นชัด สินค้าอื่นๆ ที่ให้เห็นชื่อชัดเจน เช่น เหล้า

            ละครพิถีพิถันในการแสดงทิวทัศน์อันงดงาม ทั้งวิวทะเล วิวธรรมชาติต่างๆ เป็นการโฆษณาส่งเสริมการท่องเที่ยว ละครเกาหลีกลายเป็นปัจจัยกระตุ้นให้คนอยากไปเที่ยวเกาหลีสักครั้ง ไม่แปลกใจที่ประธานาธิบดีปาร์คกล่าวอย่างเจาะจงถึงละครเรื่องนี้ว่าเป็นดั่ง ทูตเกาหลีด้านการท่องเที่ยว สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของประเทศ ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันส่งเสริมอุตสาหกรรมละครต่อไป
ตัวอย่างประชาสัมพันธ์อื่นๆ เช่น นางเอกในท้องเรื่องมีอายุ 30 ปีมักใส่กระโปรงสั้นในชุดลำลอง เท่ากับเป็นการแสดงแฟชันกระโปรงสั้น ใบหน้าแต่งด้วยเครื่องสำองค์อยู่เสมอ มีข่าวว่าสาวจีนหลายคนแต่งกายเลียนแบบนางเอก ใช้เครื่องสำอางเกาหลี เฉพาะลิปสติกยี่ห้องที่นางเอกใช้ยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 360 เปอร์เซ็นต์

ผลประโยชน์จากละครและข้อควรระวัง :
            ประการแรก ความเพลิดเพลิน
            ความจริงพื้นฐานคือผู้ชมเลือกดูบนพื้นฐานความสนุกเพลิดเพลิน ต่อให้เนื้อหาละครดีเพียงใด มีข้อคิดดีๆ มากเพียงไร หากผู้ชมไม่สนใจ อย่างมากจะดูเพียงครั้งเดียวและเลยผ่านไป หันไปดูช่องอื่นแทน มีละครอื่นๆ ให้เลือกมากมาย ในทางกลับกันผู้ชมที่ประทับใจเพียงรายเดียวจะช่วยประชาสัมพันธ์ด้วยปากต่อปาก ยิ่งบางคนมีสื่อในมือ (สื่อโซเชียลมีเดีย) ผู้ชมจึงเป็นเครื่องขยายความนิยมที่มีประสิทธิภาพ
            ละคร ‘Descendants of the Sun’ สามารถดึงดูดผู้ชมหลายสิบหลายร้อยล้านคน ทั้งจากเกาหลีใต้ คนจีนและอีกหลายสิบประเทศทั่วโลก เฉพาะจีนประเทศเดียวละครเรื่องนี้มีจำนวนคลิกเข้าชมกว่า 2.4 พันล้านครั้งนับจากเริ่มฉายเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของละครเกาหลีในจีน (สามารถดูผ่านอินเตอร์เน็ต มีทั้งซับไทย ซับอังกฤษ ฯลฯ) จำนวนผู้ชมที่ล้นหลามบ่งบอกความสำเร็จ

            ประการที่ 2 ได้ความรู้ข้อคิด
            ละครให้ความรู้มากมายตั้งแต่ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 เกาหลี การปฏิบัติงานของหน่วยรบพิเศษ ระเบียบวินัย เห็นถึงภาระอันหนักอึ้งของแพทย์ในยามฉุกเฉิน การตัดสินใจที่มีผลต่อความเป็นความตาย แม้ไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด บางคนอาจโต้แย้งรุนแรง แต่โดยรวมถือเป็นการให้ความรู้ในระดับทั่วไป
            ข้อคิดหลักคือ อุดมการณ์ทหารที่จะต้องเชื่อฟังคำสั่ง รักษาความสงบสุข สันติภาพ พระเอกรักษาความลับราชการได้อย่างดีเยี่ยม ไม่เอ่ยปากพูดสักนิดแม้อยู่กับนางเอกสองต่อสอง ในขณะที่นางเอกตอกย้ำจรรยาบรรณของแพทย์ที่จะต้องทำหน้าที่รักษาผู้ป่วยทุกคนสุดความสามารถ ไม่ว่าเขาจะเป็นคนชาติใด เป็นผู้ร้าย เป็นอาชญากร แพทย์ต้องทำหน้าที่แพทย์ ส่วนการปราบปรามเป็นหน้าที่ของทหาร
            การเป็นทหารที่ดีไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความมุ่งมั่น พร้อมที่จะจากบ้านจากคนรัก ตระหนักว่าชีวิตอยู่ในอันตราย เป็นผู้เสียสละความสุขส่วนตนเพื่อความร่มเย็นของชาติ
            การเป็นแพทย์ที่ดีไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน แพทย์เห็น “ความตาย” มากกว่าทหารถือปืน บางครั้งต้องตัดสินใจว่า “จะให้ใครรอด จะให้ใครตาย” เป็นภาระอันหนักอึ้งทั้งทางร่างกายและจิตใจ

            ประการที่ 3 การประชาสัมพันธ์ที่ควรระมัดระวัง
            มีบางกรณีที่ควรระมัดระวัง เช่น นางเอกเป็นคนหน้าตาดี แต่ยังขาดความมั่นใจเมื่อพบพระเอกในเวลาที่ไม่ได้แต่งหน้า เป็นการให้ความสำคัญที่ “ใบหน้า” มากเกินไปหรือไม่
            พระเอกกับนางเอกเจอกันหลายครั้งในร้านกาแฟ เป็นร้านหรูมีระดับ อาจกลายเป็นค่านิยมให้ผู้คนนัดพบกันในร้านกาแฟหรูๆ ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพชีวิตจริงของคนทั่วไป
            ในเรื่องมีค่านิยมดื่มเหล้า เหล้าที่ดื่มเป็นเหล้าเฉพาะของคนเกาหลีเรียกว่า “โซจู” (Soju) มีลักษณะใสเหมือนวอดก้า มีหลายดีกรี ตั้งแต่ 20 ดีกรีไปจนถึง 45 ดีกรี ว่ากันว่าในชีวิตจริงเป็นที่นิยมของคนเกาหลี
            การมีฉากดื่มเหล้ามากมาย ดื่มในทุกโอกาสทั้งดีใจ เสียใจ พระเอกกับเพื่อนนัดดื่ม 3 วัน 3 คืน ฉลองได้พักผ่อน เมาจนหัวราน้ำ นางเอกที่ตามมาทีหลังก็ดื่มกับเขาด้วย สุดท้ายเมาไม่ได้สติเช่นกัน การที่ตัวเอกในละครดื่มจนเมามายเช่นนี้เป็นการส่งเสริมค่านิยม “ดื่มหนัก” แก่สังคม
            นอกจากนี้ ยังมีฉากที่เป็นการดื่มระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิง คนเหล่านี้คือแพทย์ ทหารหญิง
            หวังว่าฉากดื่มเหล้าจะไม่ใช่ส่วนหนึ่งในแผนโฆษณาของบริษัทขายเหล้า

บทสรุป ความลงตัว :
            จุดที่น่ายกย่องมากที่สุดคือ “ความลงตัว” ของหลายมิติ ละครประสบความสำเร็จในเรื่องจำนวนผู้ชม อันหมายถึงบริษัทผู้สร้างละคร บริษัทโฆษณาสินค้าได้กำไร ทำให้ละครประเภทนี้คงอยู่ต่อไป การส่งเสริมค่านิยมบางอย่างที่ดีงามแก่สังคม ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (โดยเฉพาะเกาหลีเหนือ-ใต้) ส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยว คือการตอบสนองนโยบายรัฐบาล
            โดยรวมแล้วถ้ามองข้ามประเด็นความเพลิดเพลิน ละคร ‘Descendants of the Sun’ คือสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์และปลูกฝังค่านิยมที่ดีงามแก่สังคม การที่ประธานาธิบดีปาร์ค กึน-เฮถึงกับออกโรงชื่นชมด้วยตัวเอง เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าละครประสบความสำเร็จอย่างสูง รัฐบาลต้องการให้มีละครทำนองนี้อีก การปรากฏตัวของท่านยังเป็นการทำหน้าที่ช่วย “ประชาสัมพันธ์” อีกแรงหนึ่ง
            ถ้าประเทศใดจะเลียนแบบเทคนิควิธีการ คงไม่มีปัญหาลิขสิทธิ์แต่ประการใด
17 เมษายน 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7101 วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ.2559)
-----------------------------
บรรณานุกรม:
1. (2nd LD) Park: 'Descendants of the Sun' exemplary case of cultural enhancement. (2016, April 11). Yonhap. Retrieved from http://english.yonhapnews.co.kr/national/2016/04/11/67/0301000000AEN20160411005952315F.html
2. Alex E. venson. (2556, มีนาคม 16). เรื่องเหล้า (โซจู). บันทึกจากความทรงจำ. Retrieved from http://i-thumb.blogspot.com/2013/03/blog-post_16.html
3. Descendants of the Sun. (2016). KBS World. Retrieved from http://kbsworld.kbs.co.kr/programs/program_view.php?no=&lang=en&search_tag=&genre=&pg_seq=990
4. Descendants of the Sun. (2016). Kodhit. Retrieved from http://www.kodhit.com/descendants-of-the-sun
5. Do you have ‘Song Joong-ki sickness’ yet? Why Asia fell for ‘Descendants of the Sun’. (2016, April 11). The Malay Mail Online/AFP. Retrieved from http://www.themalaymailonline.com/showbiz/article/do-you-have-song-joong-ki-sickness-yet-why-asia-fell-for-descendants-of-the
6. Kang Seung-woo. Song Joong-ki to promote Korean food overseas. (2016, April 11). The Korea Times. Retrieved from http://www.koreatimes.co.kr/www/news/nation/2016/04/116_202375.html
7. Lee , Jiyeun. (2016, April 12). China's Fascination With TV War Drama Is Poised to Draw Tourists to Korea. Bloomberg. Retrieved from http://www.bloomberg.com/news/articles/2016-04-11/china-s-fascination-with-tv-war-drama-is-poised-to-draw-tourists-to-korea
-----------------------------