อะไรคือ ‘ปานามา เปเปอร์ส’ (Panama Papers)

นิยาม ปานามา เปเปอร์ส’ : ปานามา เปเปอร์ส (Panama Papers) คือชื่อที่เรียกขานข้อมูลลับของลูกค้าของบริษัทมอสสัคฟอนเซคา หรือคือการสืบสวนเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลของบริษัทมอสสัคฟอนเซคา ลูกค้าบริษัทผ่านข้อมูลที่รั่วไหลออกมา
            เรื่องราวเมื่อปีที่แล้ว มีผู้มอบข้อมูลของบริษัทมอสสัคฟอนเซคา (Mossak Fonseca) แก่สื่อ ซุดดอยต์เชอ ไซตุง (Süddeutsche Zeitung: SZ) 
มอสสัคฟอนเซคาเป็นบริษัทกฎหมาย สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศปานามา ก่อตั้งมาแล้วเกือบ 40 ปี ทำธุรกิจเป็นที่ปรึกษาการเงิน รับจดทะเบียนบริษัทนอกอาณาเขต (offshore company) ช่วยปกปิดธุรกรรม ข้อมูลของบริษัทเงาของลูกค้า ปกปิดเงินฝากทรัพย์สินที่เก็บในต่างประเทศ ไม่ว่าจะพฤติกรรมเหล่านี้จะผิดกฎหมายหรือไม่ เริ่มด้วยการปกปิดชื่อจริงลูกค้า รวมถึงการกระทำที่อยู่ภายใต้บริหารจัดการของรัฐบาล เป็นธุรกรรมซ่อนเร้น
SZ ได้รับข้อมูลหลายรอบ ล่าสุดมีข้อมูลของมอสสัคฟอนเซคาถึง 11.5 ล้านชิ้น ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นอีเมล์ ไฟล์ PDF ไฟล์ภาพ เป็นข้อมูลช่วงทศวรรษ 1970 ถึง 2016 Ramon Fonseca หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทมอสสัคฟอนเซคา ระบุว่าข้อมูลที่รั่วไหลนั้นเป็นข้อมูลที่ถูกแฮกจากต่างประเทศ
ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่มีค่ามากเพราะเป็นข้อมูลลับจากแหล่งที่สังคมโลกยากจะรับรู้ ให้ความเข้าใจว่า ธนาคาร บริษัทกฎหมาย บริษัทจัดการสินทรัพย์ดำเนินเรื่องที่ “ปิดลับ” แก่นักการเมือง คนทุจริตคอร์รัปชัน นักค้ายาเสพติด คนที่มีชื่อเสียงในสังคมอย่างไร
ในเวลาต่อมา SZ ร่วมมือกับเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (International Consortium of Investigative Journalists: ICIJ) เพื่อศึกษาและนำเสนอข้อมูล ตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวราว 400 คนจากองค์กรสื่อ 100 แห่ง กว่า 80 ประเทศทั่วโลกร่วมกันทำงานชิ้นนี้

ลำพังการมีบริษัทนอกอาณาเขตไม่ผิดกฎหมายแต่ประการใด มีประโยชน์ในการทำธุรกรรมระหว่างบริษัท แต่การปกปิดชื่อเจ้าของตัวจริงเป็นเหตุน่าสงสัย ทำไมต้องมีลับลมคมในเช่นนี้
ในบางกรณีเป็นการปกปิดชื่อเจ้าของหรือใช้ชื่อตัวแทน ที่ส่อว่าเจ้าของตัวจริงคือผู้นำประเทศ ผู้มีตำแหน่งสำคัญ เป็นเศรษฐีใหญ่ รวมทั้งพวกอาชญากร เกี่ยวข้องกับการทุจริตภาครัฐ เงินงบประมาณ ช่วยประเทศที่ถูกคว่ำบาตรสามารถเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตร

กรณีความไม่ชอบมาพากลที่ปรากฏ :
            ในที่จะนำเสนอเพียง 2 กรณี
            กรณีแรก ไอซ์แลนด์
ข้อมูลจากปานามา เปเปอร์สชี้ว่า Sigmundur Davíð Gunnlaugsson นายกรัฐมนตรีไอซ์แลนด์กับภรรยาร่วมกันเป็นเจ้าของบริษัท Wintris เมื่อปี 2007 ก่อนที่ Gunnlaugsson จะขายหุ้นของตนในราคา 1 ดอลลาร์แก่บริษัท Palsdottir เมื่อ 31 ธันวาคม 2009 วันสุดท้ายที่กฎหมายไอซ์แลนด์มีผลบังคับใช้ Gunnlaugsson จะต้องเปิดเผยข้อมูลของบริษัท Wintris เพื่อป้องกันเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
            ข้อมูลของสื่อ Süddeutsche Zeitung ระบุว่าอีกประเด็นที่เป็นปัญหาคือนายกฯ Gunnlaugsson รัฐมนตรีการคลัง Bjarni Benediktsson และรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย Ólöf Nordal พัวพันกับบริษัทนอกอาเขตหลายแห่งที่ทั้ง 3 คนไม่ยอมเปิดเผยชื่อ
เป็นเหตุให้พรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติไม่ไว้วางใจนายกฯ ประชาชนออกมาชุมนุมประท้วง นายกฯ Gunnlaugsson ตัดสินใจลาออก ขอให้ประธานาธิบดีมีคำสั่งยุบสภา จัดเลือกตั้งใหม่ทันทีหลังมีข่าวพัวพัน เจ้าตัวยืนยันไม่ได้ทำอะไรผิด พร้อมอธิบายที่มาที่ไปต่อสาธารณชน
เป็นผู้นำระดับประเทศคนแรกที่ได้รับผลแระทบจากปานามา เปเปอร์ส

            กรณีที่ 2 ประธานาธิบดีปูติน
            ในปานามา เปเปอร์สไม่มีชื่อประธานาธิบดีปูติน และไม่คิดว่าจะมีชื่อ เนื่องจากคนระดับนี้จะไม่ให้ชื่อตัวเองปรากฏ จะอาศัยบุคคลที่ไว้วางใจซึ่งมักจะเป็นเพื่อนสนิท ผู้ร่วมงานใกล้ชิด การสืบสวนจึงใช้วิธีเชื่อมโยงธุรกรรมที่ต้องสงสัยของคนสนิทปูตินว่าเป็นส่วนหนึ่งของความไม่ชอบมาพากลของประธานาธิบดีปูติน
หลักการข้อนี้สามารถใช้กับผู้นำประเทศคนอื่นๆ เนื่องจากต้องคอยปกป้องชื่อเสียงของตัวเองโดยเฉพาะผู้นำประเทศสำคัญๆ คนเหล่านี้จึงอยู่ในสภาพลอยตัวเหนือปัญหา คงเหลือแต่ประเทศเล็กอย่างไอซ์แลนด์ที่มีชื่อของตัวเองในสมัยที่ยังไม่เป็นนายกรัฐมนตรี

บทความหนึ่งของ Süddeutsche Zeitung อ้างข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เพื่อสนับสนุน เช่น ยกคำพูดของ Paul Krugman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลที่ชี้ว่าประธานาธิบดีปูตินเป็นตัวอย่างของ “ระบบทุนนิยมพวกพ้อง (Crony Capitalism) ขั้นสูงสุด” รัสเซียในปัจจุบันอยู่ภายใต้ระบอบ “โจราธิปไตย” (Kleptocracy) ผู้ปกครองใช้อำนาจเยี่ยงโจร ฉ้อฉลผลประโยชน์ประเทศ ส่วน Vladislav Inozemtsev นักเศรษฐศาสตร์อีกท่านระบุว่ารัสเซียในปัจจุบันเป็นระบบศักดินาใหม่ (Neofeudal System) พวกพ้องของปูตินได้ส่วนแบ่งบ้านเมือง ผลประโยชน์ของประเทศคนละส่วนสองส่วน
ข้อมูลจากเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (International Consortium of Investigative Journalists: ICIJ) ชี้ว่าเงินที่เชื่อมโยงกับประธานาธิบดีปูตินมีถึง 2,000 ล้านดอลลาร์ พวกพ้องปูตินบางคนอาจใช้บริษัทเงาเป็นที่โอนเงินให้กับใครบางคนเพื่อแลกกับการได้สัมปทานโครงการรัฐ
            ข้อมูลที่ปรากฏระบุว่านาย Sergey Roldugin เพื่อนสนิทของประธานาธิบดีปูติน เป็นหนึ่งในหัวใจของความไม่ชอบมาพากล ด้านประธานาธิบดีปูตินออกโรงโต้ว่ารู้สึกภาคภูมิใจกับเพื่อนคนนี้ “เขาใช้เงินที่มาจากรายได้เกือบทั้งหมดไปกับการซื้อเครื่องดนตรีต่างประเทศและนำกลับมาที่รัสเซีย” เป็นนัยว่านาย Roldugin ไม่ได้ทำอะไรผิด
สื่อ RT ของรัสเซียรายงานอ้างข้อมูลจาก WikiLeaks ระบุว่าปานามา เปเปอร์สเป็นผลงานที่ได้รับการสนับสนุนจาก US Agency for International Development (USAID) กับนาย George Soros เพื่อบ่อนทำลายชื่อเสียงของประธานาธิบดีปูติน พฤติกรรมทำนองนี้ไม่ใช่ของใหม่ รัฐบาลสหรัฐทำเช่นนี้กับรัสเซียในสมัยสงครามเย็น
            การปรากฏตัวของปานามา เปเปอร์สก่อให้เกิดแนวรบสงครามข่าวสารอีกด้าน บางคนตั้งข้อสงสัยว่าทำไมผู้นำรัสเซีย จีน จึงเป็นตัวเอกของเรื่อง ข้อพึงตระหนักคือข้อมูลที่ปรากฏยังมีข้อสรุปใดๆ

วิเคราะห์องค์รวม :
          ประการแรก โลกแห่งธุรกรรมในเงามืด
            ทุกวันนี้การมีบริษัทนอกอาณาเขตหรือบริษัทเงาไม่ผิดกฎหมายในตัวเอง บริษัทเอกชนใช้บริษัทนอกอาณาเขตเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ ติดต่อการค้า ไม่ได้มุ่งหวังหลีกเลี่ยงกฎหมาย ทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็ถูกวิพากษ์ว่าหลายบริษัทใช้เป็นช่องทางหลีกเลี่ยงภาษี
            ที่ผิดกฎหมายแน่นอนคือบริษัทเหล่านี้เอื้อประโยชน์แก่พวกอาชญากร ผู้ก่อการร้าย เอื้อให้กลุ่มเหล่านี้เติบใหญ่ ยากแก่การปราบปราม

            ในอีกด้านหนึ่ง ลูกค้าของมอสสัคฟอนเซคาไม่ใช่บุคคลธรรมดา แต่เป็นพวกเศรษฐี บริษัทขนาดใหญ่ รวมทั้งคนที่มีตำแหน่งสูงในวงราชการ เป็นนักการเมืองคนสำคัญของประเทศ คนเหล่านี้ใช้บริษัทเงาเป็นที่เก็บรักษาทรัพย์สมบัติ ไม่ว่าจะได้มาโดยผิดกฎหมายหรือไม่ จ่ายภาษีตามกฎหมายหรือไม่
            บริษัทเงาจึงเป็น “ตู้เซฟ” ของชนชั้นอำนาจ
ถ้าการปราบปรามพวกอาชญากร ผู้ก่อการร้ายเป็นเรื่องยากยิ่ง การจัดการชนชั้นอำนาจจะยากยิ่งยากกว่าเพียงใด

            อีกประเด็นสำคัญที่ต้องเอ่ยถึงคือ ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปฏิบัติการลับ (Covert Action) เป็นการดำเนินการอย่างหนึ่งที่มีอยู่เสมอ ในสมัยสงครามเย็น รัฐบาลสหรัฐไม่คิดทำสงครามเต็มรูปแบบกับสหภาพโซเวียต แต่ใช้อำนาจหลายอย่างรวมทั้งปฏิบัติการลับเพื่อบ่อนทำลายสหภาพโซเวียตกับพวกอย่างต่อเนื่อง ในทำนองเดียวกันสหภาพโซเวียตใช้ปฏิบัติการลับกับฝ่ายสหรัฐเช่นกัน
ในโลกปัจจุบัน แทบทุกประเทศมีปฏิบัติการลับ โดยเฉพาะประเทศที่แสวงหาอำนาจและมีทรัพยากรมาก Will Fitzgibbon ชี้ว่าหน่วยสืบราชการลับอย่าง CIA คือลูกค้ารายสำคัญของบริษัทอย่างเช่นมอสสัคฟอนเซคา เพราะปฏิบัติการของพวกเขาต้องอำพรางตัวเอง ข้อมูลที่รั่วไหลออกจากมอสสัคฟอนเซคามีชื่อของหัวหน้าหน่วยสืบราชการลับซาอุดิอาระเบีย และชื่อของบุคคลที่น่าจะเป็นสายลับของอีกหลายประเทศ
ปฏิบัติการลับมีส่วนสำคัญในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ แต่เรื่องเหล่านี้ไม่เป็นข่าวหรือไม่ค่อยเป็นข่าว เพราะปกปิด บริษัทเงาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกปฏิบัติการลับเหล่านั้น
และถ้ามีรัฐบาลประเทศใดที่จะ “ซื้อตัว” นักการเมือง บุคคลสำคัญของอีกประเทศก็น่าเชื่อว่าจะใช้บริการจากบริษัทประเภทนี้

            ประการที่ 2 โลกแห่งความมืดที่ได้รับการสนับสนุนและปกป้อง
            จากการที่บริษัทเอกชนมีความจำเป็นและได้ประโยชน์มหาศาลจากบริษัทนอกอาณาเขต มีลูกค้าชั้นดีอย่างพวกอาชญากรข้ามชาติ ผู้ก่อการร้ายสากล เป็น “ตู้เซฟ” ของมหาเศรษฐี ชนชั้นอำนาจ บริษัทเงาเป็นเครื่องมือความมั่นคงของรัฐ จึงคาดการณ์ได้ว่าบริษัทอย่างมอสสัคฟอนเซคายังเป็นที่ต้องการของตลาด ได้รับความคุ้มครองจากรัฐ รัฐหนึ่งอาจต่อต้านแต่อีกรัฐจะปกป้อง
            เป็นเหตุผลว่าจะเป็นโลกในเงามืดที่จะยังคงอยู่ต่อไป

            ข้อเท็จจริงประการหนึ่งคือไม่มีใครรู้จำนวนที่แน่ชัดว่าในโลกนี้มีบริษัทอย่างมอสสัคฟอนเซคากี่แห่ง Ana Owens ที่ปรึกษาการเงินของ U.S. Public Interest Research Group (PIRG) ชี้ว่ามีหลายพันบริษัท เฉพาะในสหรัฐมีหลายร้อยหรือเป็นพันบริษัท ดังนั้น ถ้าชาวอเมริกันต้องการใช้บริการย่อมเชื่อได้ว่าพวกเขาจะใช้บริการกับบริษัทในประเทศ (เป็นเหตุผลว่าทำไมจึงมีนับร้อยนับพันบริษัท) และแน่นอนว่าทุกแห่งบอกว่าไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย
            ที่น่าคิดและเป็นไปได้คือหน่วยงานรัฐกับบรรษัทยักษ์ใหญ่เป็นผู้ก่อตั้ง เป็นเจ้าของบริษัทประเภทนี้เสียเอง เป็นวิธีปกปิดที่ได้ผลดีที่สุด
            คำอธิบายข้างต้นทั้งหมดคืออีกนิยามของ “ปานามา เปเปอร์ส”
10 เมษายน 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7094 วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ.2559)
------------------------------
บรรณานุกรม:
1. Blum, Petra., Obermaier, Frederik., & Obermayer, Bastian. (2016). Putin’s rich friends. Süddeutsche Zeitung. Retrieved from http://panamapapers.sueddeutsche.de/articles/56fec05fa1bb8d3c3495adf8/
2. Fitzgibbon, Will. (2016, April 5). Spies and Shadowy Allies Lurk in Secret With Help From Offshore Firm. International Consortium of Investigative Journalists. Retrieved from https://panamapapers.icij.org/20160405-spies-secret-offshore-companies.html
3. International Consortium of Investigative Journalists. (2016). Giant Leak of Offshore Financial Records Exposes Global Array of Crime and Corruption. Retrieved from https://panamapapers.icij.org/20160403-panama-papers-global-overview.html
4. Krach, Wolfgang. (2016). What needs to be revealed. Süddeutsche Zeitung. Retrieved from http://panamapapers.sueddeutsche.de/articles/5703bed9a1bb8d3c3495b668/
5. Leyendecker, Hans., Obermaier, Frederik., Obermayer, Bastian., & Wormer, Vanessa. (2016). The firm. Süddeutsche Zeitung. Retrieved from http://panamapapers.sueddeutsche.de/articles/56febf8da1bb8d3c3495adec/
6. Leffler, Melvyn P. (2007). For the Soul of Mankind: The United States, the Soviet Union, and the Cold War. New York: Hill and Wang.
7. Lizzie Dearden. (2016, April 5). Iceland elections: Prime Minister asks President to dissolve parliament amid Panama Papers controversy. The Independent. Retrieved from http://www.independent.co.uk/news/world/europe/iceland-elections-prime-minister-asks-president-to-dissolve-parliament-amid-panama-papers-a6969601.html
8. Obermaier, Frederik., & Obermayer, Bastian. (2016). A storm is coming. Süddeutsche Zeitung. Retrieved from http://panamapapers.sueddeutsche.de/articles/56fec0cda1bb8d3c3495adfc/
9. Obermaier, Frederik., Obermayer, Bastian., Wormer, Vanessa., & Jaschensky, Wolfgang. (2016). About the Panama Papers. Süddeutsche Zeitung. Retrieved from http://panamapapers.sueddeutsche.de/articles/56febff0a1bb8d3c3495adf4/
10. Panama Papers law firm: 'We were hacked from abroad’. (2016, April 6). France24/AFP. Retrieved from http://www.france24.com/en/20160406-panama-papers-mossack-fonseca-law-firm-says-hacked-abroad
11. Putin denies Panama papers corruption charges. (2016, April 7). TASS. Retrieved from http://tass.ru/en/politics/868043
12. Schuppe, Jon. (2016, April 6). Why Are Americans Not Included in the Panama Papers? NBC News. Retrieved from http://www.nbcnews.com/storyline/panama-papers/why-are-americans-not-included-panama-papers-n551081
13. Sigurdardottir, Ragnhildur. (2016, April 5). UPDATE 4-Iceland PM steps down after Panama Papers tax scandal. Reuters. Retrieved from http://www.reuters.com/article/panama-tax-iceland-idUSL5N1783KQ
14. Thousands demand Iceland Prime Minister David Gunnlaugsson resign over 'Panama Papers' revelations. (2016, April 5). Deutsche Welle. Retrieved from http://www.dw.com/en/thousands-demand-iceland-prime-minister-david-gunnlaugsson-resign-over-panama-papers-revelations/a-19163797
15. US government, Soros funded Panama Papers to attack Putin – WikiLeaks. (2016, April 7). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/338683-wikileaks-usaid-putin-attack/
-----------------------------