Group of Twenty (G20)

Group of Twenty (G20) คือการประชุมเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจการเงินของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้ากับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging economies) สมาชิกประกอบด้วยสมาชิกของกลุ่ม G7 อันได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ แคนาดา และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ ตุรกี และสหภาพยุโรป รวม 20 ประเทศ (สหภาพยุโรปถือว่าเป็น 1 ประเทศ)
G20 ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นคนละกลุ่มกับ G20 อีกกลุ่มที่สมาชิกประกอบด้วยประเทศกำลังพัฒนาล้วนๆ ตั้งขึ้นสมัยการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบที่ 9 หรือรอบโดฮา (Doha Round) เริ่มต้นเมื่อปี 2001 สมาชิกของกลุ่มหลังนี้ไม่แน่นอน เข้าๆ ออกๆ มีข้อมูลว่ามีสมาชิก 21 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา โบลิเวีย บราซิล จีน ชิลี คิวบา อียิปต์ กัวเตมาลา อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก ไนจีเรีย ปากีสถาน ปารากวัย ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ แทนซาเนีย เวเนซูเอลา อุรุกวัย ซิมบับเว และไทย เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ผลักดันการเจรจาสินค้าเกษตรนำโดยบราซิลกับอินเดีย เรียกร้องให้สหรัฐกับยุโรปลดอุดหนุนการผลิตสินค้าเกษตรภายในประเทศ เป็นฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับขั้วสหรัฐกับพันธมิตรยุโรป
G20 ที่จะนำเสนอต่อไปนี้คือกลุ่มที่มีสมาชิก G7 รวมอยู่ด้วย
รู้จัก G20:
G20 คือเวทีการประชุมของกลุ่ม ประธานกลุ่มจะสลับหมุนเวียนในหมู่สมาชิก มีวาระ 1 ปี และจะมีระบบที่เรียกว่า "Troika" เป็นกลไกสนับสนุนการทำงานของประธานประจำปี เนื่องจากกลุ่มไม่มีสำนักงานเลขาอย่างเป็นทางการ
ระบบ "Troika" ประกอบด้วยประเทศที่เป็นประธานในขณะนี้ ประเทศที่เป็นประธานเมื่อปีก่อนและที่จะเป็นในปีหน้า รวม 3 ประเทศ
การประชุม G20 เริ่มครั้งแรกเมื่อปี 1999 เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย (วิกฤตต้มยำกุ้ง) เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารของชาติสมาชิก ต่อมาในปี 2008 เป็นจุดเริ่มต้นของการประชุมระดับผู้นำประเทศ

เป้าหมายพื้นฐานของการประชุมคือต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างสมดุล แข็งแกร่งและยั่งยืน ส่งเสริมการสร้างงาน ควบคุมระบบการเงินเพื่อลดความเสี่ยง ป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤต พัฒนาโครงสร้างระบบการเงินระหว่างประเทศ

ด้วยลักษณะสมาชิกที่ประกอบด้วยประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว (G7) กับกลุ่มประเทศที่กำลังจะไปได้ดี กลุ่มมีสัดส่วนเศรษฐกิจโลกถึงร้อยละ 75 และคิดเป็นร้อยละ 85 ของจีดีพีโลก เท่ากับเป็นการประชุมเศรษฐกิจโลกโดยดึง 20 ประเทศจากทั้งหมด 193 ประเทศทั่วโลก เป็น 20 รัฐบาลที่มีผลต่อเศรษฐกิจโลก
ด้วยหวังว่าการประชุมของ 20 ประเทศนี้จะช่วยรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินโลกที่เกิดวิกฤตครั้งใหญ่น้อยเป็นระลอกๆ อีกประเด็นที่หลายคนเป็นห่วงคือ หากเกิดวิกฤต บางรัฐบาลอาจเลือกใช้นโยบายกีดกันการค้า กระทบต่อการค้าเสรีทั่วโลก G20 เป็นอีกเวทีเพื่อการหารือป้องกันภาวะดังกล่าว

และหารือประเด็นอื่นๆ ที่มีความสำคัญต่อทั้ง 2 กลุ่ม
ตัวอย่างประเด็นพูดคุยเช่น หารือเรื่องปัญหาขาดดุลของสหรัฐที่เรื้อรังยาวนานหลายปี หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ในการนี้จีนเป็นประเทศหนึ่งที่ได้ดุลจากสหรัฐจำนวนมหาศาล หากเศรษฐกิจสหรัฐมีปัญหาย่อมส่งผลต่อจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เป็นที่ทราบกันว่ารัฐบาลสหรัฐเป็นผู้กู้รายใหญ่ ตัวเลขจากทางการจีนระบุว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2015 จีนถือครองพันธบัตรอเมริกา 1.2703 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นและสูงสุดนับจากเดือนมิถุนายน 2014 ส่วนญี่ปุ่นลดการถือครอง ตัวเลขเมื่อเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 1.2149 ล้านล้านดอลลาร์ ณ วันนี้จีนถือครองพันธบัตรอเมริกามากที่สุด
หากสหรัฐจะแก้ปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัด รัฐบาลมีทางเลือกไม่มาก เช่น ลดการใช้จ่ายภาครัฐ ใช้งบประมาณสมดุล ขึ้นภาษี ขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือใช้หลายวิธีร่วมกัน แต่วิธีการเหล่านี้บั่นทอนเศรษฐกิจทั่วโลก ประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่จะต้องกระตุ้นการบริโภคภายในทดแทนการส่งออก อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น
            ในอนาคตหากเศรษฐกิจจีนเติบใหญ่และประสบปัญหา วาระการหารือจะเป็นเรื่องของจีนเช่นกัน

G20 กับโครงสร้างระบบการเงินโลก:
            G20 โดดเด่นขึ้นมากในปี 2008 กลายเป็นผู้มีบทบาทนำต่อการแก้วิกฤตการเงิน 2008 ไม่แพ้องค์กรระหว่างประเทศหลักๆ อย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
            ในขณะนั้นหลายฝ่ายเป็นห่วงว่าวิกฤตจะลุกลามบานปลายกลายเป็นวิกฤตทั่วโลก ไม่ต่างจาก Great Depression สมัยต้นทศวรรษ 1930 เหตุการณ์ในปลายปี 2008 ต่อเนื่อง 2009 เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เต็มด้วยเรื่องที่ไม่คาดฝันและไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรอีก นำสู่คำถามว่าระบบการเงินเศรษฐกิจโลกมีความมั่นคง มีเสถียรภาพมากเพียงไร
            เสถียรภาพของระบบการเงินโลกเป็นประเด็นถกเถียงมานานแล้ว ในขณะที่เศรษฐกิจโลกเจริญเติบ ผู้คนมากมายได้ประโยชน์ นับวันระบบจะซับซ้อนและปริมาณเม็ดเงินที่ไหลเวียนทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับความผันผวนตามสถานการณ์โลก ระบบการเงินต้องอยู่คู่โลก แต่ระบบควบคุมตรวจสอบระดับระหว่างประเทศอ่อนแอ ขาดองค์กรระหว่างประเทศที่มีอำนาจควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่ผ่านมามีผู้เสนอแนวคิดหลายอย่างเกี่ยวกับ “โครงสร้างระบบการเงินโลก” (international financial architecture: IFA) แนวคิดเรื่อง IFA เริ่มต้นเมื่อเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เป็นประเด็นสำคัญหนึ่งที่ถกในเวที G20 และเอ่ยถึงซ้ำอีกเมื่อเกิดวิกฤต 2008
            การที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลสหรัฐเป็นฝ่ายเรียกร้อง เห็นว่าเป็นภาวะที่นานาชาติต้องเข้ามาช่วยแก้ไขสถานการณ์ ถ้ามองในมุมสหรัฐคือช่วยยับยั้งไม่ให้วิกฤตย่ำแย่กว่านี้ ถ้ามองในมุมนานาชาติคือลดผลกระทบที่อาจร้ายแรงกว่านี้หากไม่ยื่นมือเข้าช่วย ทั้งหมดนี้คือรักษาการค้าเสรี ให้กำลังซื้อจากสหรัฐฟื้นตัว เป็นเรื่องของการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
            สถานการณ์ในระยะนี้ซับซ้อนขึ้นอีก เมื่อหลายประเทศในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา นำโดยจีนกับพวกกำลังหารือที่จะสร้างระบบการเงินโลกใหม่ องค์กรใหม่ๆ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบใหม่
            ในอนาคตจะเกิดระบบการเงินใหญ่น้อยซ้อนกันหรือไม่

มหาอำนาจเศรษฐกิจกำลังเคลื่อน:
            ก่อนหน้าจะมี G20 เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐเป็นผู้สร้างและควบคุมระบบการเงินโลก ประเทศกำลังพัฒนาเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เรียกร้องให้แก้ไขแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลกมักเป็นตัวอย่างที่ถูกเอ่ยถึง
ประเทศพัฒนาแล้วรวมกลุ่มของตนเองเพื่อหารือประโยชน์ของกลุ่ม ดังเช่น G7 แต่ G20 เป็นการรวมสมาชิก G7 กับประเทศกำลังพัฒนาที่มีพลังอำนาจเศรษฐกิจสูงหรือกำลังก้าวขึ้นมา
            กำเนิด G20 นอกจากบ่งชี้ปัญหาของเศรษฐกิจสหรัฐยังบ่งชี้ถึงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจการเงินโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง กลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีอำนาจต่อรองมากขึ้น

            การประชุมรอบปี 2009 ที่เมืองพิตส์เบิร์ก ที่ประชุมเห็นด้วยที่จะขยายบทบาทของกลุ่มให้เป็นศูนย์กำหนดนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ยังคงวนเวียนอยู่กับการวางระบบเศรษฐกิจการเงินโลก ยกระดับการตรวจสอบควบคุมที่มีมาตรฐาน ป้องกันการกีดกันการค้า เสริมสร้างเสถียรภาพของระบบ สร้างระบบเตือนภัยเศรษฐกิจร่วมกับ IMF
            การประชุมในปี 2009 ชาติสมาชิกเห็นชอบเรื่องการปฏิรูปปรับปรุงระบบการตรวจสอบติดตามความเสี่ยงต่อการเงินโลก ส่งเสริมความโปร่งใส การหนีภาษี การช่วยเหลือการเงินแก่ประเทศที่กำลังประสบปัญหาโดยเฉพาะที่ยุโรป สามารถระดมเงินถึง 750 พันล้านดอลลาร์เพื่อการดังกล่าว
            แผนปฏิรูปเหล่านี้สะท้อนว่าแม้ชาติตะวันตกก็ยอมรับว่าต้องปฏิรูปตนเอง ต้องควบคุมตนเอง

            ทุนนิยม การค้าเสรีมีข้อเสียหลายประการ แต่ไม่อาจปฏิเสธว่าหลายประเทศได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ รายได้ต่อหัวของหลายประเทศเพิ่มสูงขึ้น ผู้คนมากมายมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้ในเวลา 30 ปีความยากจนลดลง ข้อมูลของธนาคารโลกปี 2010 บ่งชี้ว่ากลุ่มคนยากจนที่สุดของโลก (extreme poverty) ลดลงจากร้อยละ 52 เหลือร้อยละ 26
            มาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั่วไปดีขึ้น

ในการนี้ประเทศที่โดดเด่นมากที่สุดคือกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกกับเอเชียใต้ โดยเฉพาะจีนกับอินเดีย ใช้นโยบายส่งเสริมการส่งออกเป็นตัวเร่งอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ และได้ผลอย่างดี
            วิกฤตการเงิน 2008 ทำให้นักวิชาการหลายคนชี้ว่าอำนาจเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยอย่างเด่นชัด เทียบกับที่บางประเทศโดยเฉพาะจีน อินเดีย บราซิลกำลังก้าวขึ้นมา เริ่มวิเคราะห์กันแล้วว่าระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่เป็นโทษต่อสหรัฐมากกว่า จีนจะเป็นชาติมหาอำนาจเศรษฐกิจแทนที่สหรัฐในที่สุด บางคนคิดไปไกลว่าจะเกิดความวุ่นวายในช่วงเปลี่ยนผ่านดังเช่นสมัยต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อสหรัฐก้าวขึ้นมาแทนอังกฤษ
            การเติบโตทางเศรษฐกิจ การเกินดุลการค้าของจีนต่อสหรัฐทำให้จีนโดดเด่นเป็นพิเศษ เสียงของจีนในเวทีโลกเด่นดังขึ้นทุกวัน ทั้งนี้ต้องขอบคุณระบบทุนนิยม การค้าเสรี

            อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางส่วนตั้งคำถามว่าจีนจะเกินดุลได้อีกกี่ปี ในเมื่อมีข้อมูลว่าความสามารถการแข่งขันนับวันจะลดน้อยลง อัตราค่าแรงสูงขึ้น
            รายได้ที่สูงขึ้นเพิ่มการบริโภคในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ มีผลต่อจีดีพี ดังนั้น ในอนาคตเศรษฐกิจจีนจะพึ่งพาการบริโภคจากภายในประเทศมากขึ้น
อนาคตของจีนกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จะโชติช่วงยั่งยืนยังเป็นคำถามให้ถกกันเสมอ ทิศทางการเติบโตจะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจการเงินใหม่ที่จีนกับพวกกำลังพัฒนา
เรื่องเหล่านี้จะปรากฏในการประชุมของ G20

ปีนี้ (2015) ตุรกีเป็นเจ้าภาพ วาระการประชุมนอกจากประเด็นเศรษฐกิจแล้ว ยังหารือเรื่องอื่นๆ เช่น ความขัดแย้งในซีเรีย ปัญหาผู้อพยพ เป็นการใช้เวทีหารือประเด็นร้อนตามความเหมาะสม ขยายบทบาทของ G20 แต่ยังถือว่าเป็นการการประชุมที่ให้ความสำคัญกับเสถียรภาพการเงินเศรษฐกิจเช่นเดิม
15 พฤศจิกายน 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 6948 วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2558)
---------------------------
บรรณานุกรม:
1. Cacheux, Jacques Le. (2011). The International Monetary Fund (IMF). In International Encyclopedia of Political Science. (1244-1248). USA: SAGE Publications.
2. China's holdings of U.S. Treasuries rise for third month. (2015, July 17). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/2015-07/17/c_134419649.htm
3. Clark, Cynthia L. (Ed.). (2011). Barack Obama’s Remarks on Recovery Act of 2009. In The American economy: a historical encyclopedia. (Rev. ed.). California: ABC-CLIO, LLC.
4. Dicken, Peter. (2011). Global Shift, Sixth Edition: Mapping the Changing Contours of the World Economy (6 Ed.). New York: The Guilford Press.
5. Elson, Anthony. (2011). Governing Global Finance: The Evolution and Reform of the International Financial Architecture. New York: Palgrave Macmillan.
6. G20 2015 Turkey. (2015). G20 Members. Retrieved from https://g20.org/about-g20/g20-members/
7. Hoekman, Bermard. (2009). Doha Round. In The Princeton Encyclopedia of the World Economy. (pp. 293-299). New York: Princeton University Press.
8. Li, David Daokui. (2015). The future of the Chinese economy. In Routledge Handbook of the Chinese Economy. (pp.324-342). Oxon: Routledge.
9. Oatley, Thomas. (2012). Global Economic Issues. In Encyclopedia of Global Studies. (Vol. 2., pp.660-667). USA: SAGE Publications.
-------------------------------