Group of 77 (G-77)

กำเนิดและบทบาทของ Group of 77 : Group of 77 (G-77) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 1964 ด้วยประเทศผู้ร่วมก่อตั้งทั้งหมด 77 ประเทศ ทั้งหมดเป็นประเทศกำลังพัฒนา ปัจจุบัน (2015) มีสมาชิกทั้งสิ้น 134 ประเทศ ถือเป็นองค์กรสังกัดสหประชาชาติ และเป็นองค์กรของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในสหประชาชาติด้วย
            จุดแข็งประการหนึ่งของกลุ่มคือการมีจำนวนสมาชิกมากกว่าเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศจีนเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มด้วย
ในช่วงทศวรรษ 1950-60 เป็นช่วงที่มีประเทศเกิดใหม่จำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นอดีตอาณานิคม หลายประเทศกำลังเริ่มสร้างประเทศ มีอำนาจต่อรองน้อย ในขณะที่ชาติมหาอำนาจพยายามครอบงำทางการเมือง กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจึงรวมกันก่อตั้ง “กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” (Non-Aligned Movement: NAM) เพื่อต้านแรงกดดันจากชาติมหาอำนาจทั้งเรื่องความพยายามที่จะครอบงำ และกำลังขัดแย้งรุนแรงด้วยเหตุสงครามเย็น
NAM จึงตั้งขึ้นด้วยเหตุผลการเมืองระหว่างประเทศเป็นหลัก
            แต่หลังจากนั้นไม่นาน เริ่มตระหนักว่าประเด็นเศรษฐกิจมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าการเมืองระหว่างประเทศ เนื่องจากหลายประเทศเดิมเป็นอาณานิคม แม้ประกาศอิสรภาพแล้วแต่ระบบเศรษฐกิจยังอิงกับประเทศเจ้าอาณานิคม อยู่ในสภาพเสียเปรียบ จึงหวังปลดปล่อยตัวเองให้พ้นจากการครอบงำทั้งจากรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ เป็นที่มาของ G-77

            ในปี 1974 G-77 เสนอระเบียบเศรษฐกิจนานาชาติแบบใหม่ (New International Economic Order: NIEO) เนื่องจากเห็นว่าระเบียบการค้าระหว่างประเทศที่มีอยู่เป็นระบบซึ่งประเทศกำลังพัฒนาเสียเปรียบ ขาดดุลการค้า ก่อปัญหาภายในมากมาย จึงต้องปฏิรูประบบเสียใหม่ ทั้งยังอ้างว่าระเบียบการค้าที่มีอยู่เกิดขึ้นในช่วงที่หลายประเทศยังไม่เกิดจึงไม่เป็นธรรมต่อพวกเขา ระเบียบการค้าโลกจะต้องสะท้อนความต้องการของประเทศที่กำลังพัฒนาด้วย ความมั่งคั่งจะต้องไม่กระจุกตัวที่บางประเทศเท่านั้นควรกระจายแก่ประเทศอื่นๆ ให้เท่าเทียมกว่านี้
            แนวคิดของ NIEO ตั้งอยู่บนทฤษฎีพึ่งพา (dependency theory) นายทุนของชาติอุตสาหกรรมควบคุมกฎการค้าเพื่อให้ประเทศอื่นๆ ยากจน อยู่ในฐานะต้องพึ่งพาประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการกดราคาสินค้าเกษตร สินแร่ต่างๆ ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมมีราคาสูงกว่ามาก ประเทศกำลังพัฒนาต้องขายของถูกแต่ซื้อของแพง เป็นโครงสร้างเศรษฐกิจพึ่งพาที่ไม่เท่าเทียมกัน
            G-77 NAM และ UNCTAD ร่วมกันเป็นแกนนำผลักดัน NIEO แต่ไม่เป็นผล

            ต่อมาในกลางทศวรรษ 1980 ทางกลุ่มหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนจากต่างชาติ ขอลดหนี้หรือยกเลิกหนี้ ลดหย่อนภาษีสินค้าส่งออก ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (generalized system of preferences: GSP) คือหนึ่งในผลงานของ G-77 ที่ได้รับการกล่าวขวัญมากที่สุด สามารถเจรจากับประเทศพัฒนาแล้วเพื่อลดภาษีสินค้าส่งออกของประเทศกำลังพัฒนา ได้ข้อตกลงว่าสินค้าบางอย่างจากประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับการลดหย่อนภาษีโดยพิจารณาเป็นรายประเทศ
            ปัจจุบันเป้าหมายสำคัญของ G-77 ยังเป็นเรื่องเศรษฐกิจ และได้ขยายเป้าหมายสู่ประเด็นอื่นๆ ในทุกด้าน

            ประธานกลุ่ม (Chairman) คือผู้มีบทบาทสำคัญที่สุด ทำหน้าที่เป็นโฆษกของกลุ่ม ตำแหน่งประธานจะสลับเปลี่ยนหมุนเวียนตามภูมิภาคที่แบ่งออกเป็น 3 เขต ได้แก่ แอฟริกา เอเชียแปซิฟิก และลาตินอเมริกากับคาริเบียน ตำแหน่งประธานมีวาระ 1 ปี
            การประชุมที่สำคัญที่สุดคือการประชุมที่เรียกว่า “The South Summit” สถานที่จัดประชุมจะสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนตามภูมิภาคเช่นกัน อีกการประชุมที่สำคัญคือการประชุมประจำปีระดับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ (The Annual Meeting of the Ministers for Foreign Affairs of the Group of 77) ที่จะจัดควบคู่การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ณ กรุงนิวยอร์ก กลายเป็นหนึ่งในการประชุมกลุ่มย่อยที่สำคัญที่สุดของสหประชาชาติ
            ทุกวันนี้ การประชุมของ G-77 เป็นเวทีที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนากำหนดจุดยืนร่วมกัน พร้อมๆ กับที่แต่ละประเทศมีความร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เป็นการส่วนตัว มีความร่วมมือในระดับภูมิภาคที่ตนสังกัด

ข้อเสนอปรับปรุงสหประชาชาติจาก G-77 :
            กันยายน 1997 G-77 ได้ข้อสรุปปรับปรุงสหประชาชาติ เป็นมุมมองข้อคิดที่น่าสนใจ G-77 เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่าการดำเนินงานของสหประชาชาติสะท้อนความต้องการของประชาชนในประเทศกำลังพัฒนามากน้อยเพียงใด หรือว่านับวันสหประชาชาติยิ่งถูกควบคุมกำกับโดยชาติมหาอำนาจ สหประชาชาติควรเป็นองค์กรเพื่อยับยั้งอำนาจที่ต้องการครอบครองความเป็นเจ้าไม่ว่าจะด้านการเมือง เศรษฐกิจ เป็นองค์กรที่ทำเพื่อสมาชิกทุกประเทศไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก
            การที่ประเทศพัฒนาแล้วพยายามจำกัดบทบาทสหประชาชาติ รักษาองค์กรระหว่างประเทศที่ดูแลเศรษฐกิจโลกอย่างสถาบันจาก Bretton Woods, WTO, Group of 7 และ OECD เท่ากับเป็นการกีดกันสหประชาชาติไม่ให้ดูแลเศรษฐกิจทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญ รวมทั้งประเด็นการเมืองอันเนื่องจากนโยบายของสถาบันเหล่านั้นด้วย ผลลัพธ์คือการกีดกันบทบาทของประเทศกำลังพัฒนา สวนทางกับเจตจำนงของสหประชาชาติ สมัชชาควรมีบทบาทกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลก

            ประเทศพัฒนาแล้วพยายามผลักดันให้สหประชาชาติเล็กลง ให้งบประมาณเฉพาะประเด็นที่พวกเขาสนใจ เห็นได้ชัดว่าพวกเขาพยายามลดบทบาทสมัชชา ควบคุมสหประชาชาติไปในทิศทางที่เอื้อประโยชน์ต่อชาติที่พัฒนาแล้ว
สมัชชาควรมีบทบาทในลงมติการคว่ำบาตรประเทศใดประเทศหนึ่ง อีกทั้งไม่ควรที่ประเทศหนึ่งประเทศใดจะคว่ำบาตรประเทศอื่นโดยปราศจากข้อมติสหประชาชาติ
            ประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศพยายามผลักดันให้สหประชาชาติใช้ประเด็นสิทธิมนุษยชนเพื่อแก้ไขโครงการรัฐบาลและการเมืองของประเทศที่มีปัญหา เป็นการบั่นทอนหลักอธิปไตยชาติขัดแย้งหลักการของสหประชาชาติ
            ในอนาคตจะต้องสหประชาชาติโปร่งใสกว่านี้ เป็นพหุสังคมและประชาธิปไตย กระบวนการตัดสินใจต้องยึดหลักประชาธิปไตยมากกว่าที่เป็นอยู่

วิเคราะห์ ข้อเสนอปรับปรุงสหประชาชาติจาก G-77 :
          ประการแรก การต่อสู้เพื่อปรับปรุงสหประชาชาติ
            เมื่อพิจารณาแนวคิดการพัฒนาปรับปรุงสหประชาชาติของกลุ่มต่างๆ ข้อเสนอและข้อโต้แย้งแนวทางการปรับปรุงชี้ให้เห็นถึงการต่อสู้แข่งขันทั้งระดับระหว่างกลุ่มกับภายในกลุ่ม ชี้ให้เห็นถึงความขัดแย้งของเวทีโลกไม่ว่าประเด็นการครอบงำของชาติมหาอำนาจ ประเทศที่พัฒนาแล้ว ความพยายามเพิ่มอิทธิพลของตนเองในสหประชาชาติ ผลักดันให้ไปในทิศทางที่เอื้อต่อกลุ่มตน ประเทศตนเป็นหลัก
            ทั้งหมดสะท้อนความเป็นไปของสหประชาชาติที่เป็นอยู่จริงในขณะนี้

          ประการที่ 2 บริบทเปลี่ยนไปและซับซ้อนกว่าเดิม
            จากข้อเสนอปรับปรุงสหประชาชาติของ G-77 บ่งบอกมุมมองที่แตกต่างระหว่างกลุ่มประเทศกำลังพัฒนากับประเทศที่พัฒนาแล้ว ผลประโยชน์ที่ขัดแย้ง
แนวคิดของ NIEO ที่นำเสนอในทศวรรษ 1970 ตั้งอยู่บนทฤษฎีพึ่งพา เห็นว่าโครงสร้างระบบเศรษฐกิจโลกมาจากการจัดวางของประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นโครงสร้างที่ประเทศกำลังพัฒนาเสียเปรียบ ต้องพึ่งพาประเทศที่พัฒนาแล้ว ขายของถูกแต่ซื้อของแพง จึงเรียกร้องแก้ไขระบบเศรษฐกิจโลก
ในเวลาต่อมา G-77 ได้ปรับยุทธศาสตร์เน้นส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ ทำให้เศรษฐกิจระหว่างประเทศพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันมากขึ้น ในแง่หนึ่งแม้จะยังเสียเปรียบ แต่เร่งให้เศรษฐกิจเติบโต ประเทศพัฒนาทางวัตถุอย่างรวดเร็ว
            และพัฒนามาเป็นยุคโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน ที่ประชาชนจำนวนมากมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้น แต่ช่องว่างความมั่งคั่งถีบห่างมากขึ้นเช่นกัน พร้อมกับปัญหาใหม่ความท้าทายใหม่อีกหลายประเด็น

          ประการที่ 3 ทำเพื่อประโยชน์ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาหรือ
            การดำเนินการของ G-77 ดูราวกับว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้ร่วมมือร่วมใจอย่างมีเอกภาพ ผลักดันวาระของพวกเขาดังที่ปรากฏ ในอีกมุมหนึ่งเกิดคำถามว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีเอกภาพจริงหรือ มากน้อยเพียงใด ในเมื่อแต่ละประเทศยังพยายามแสวงหาความช่วยเหลือจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ต่างหวังรับการลงทุนจากต่างชาติ เร่งการส่งออก เจรจาต่อรองผลประโยชน์ทั้งทางตรงทางลับกับประเทศที่พัฒนาแล้ว
            ในด้านหนึ่ง G-77 เป็นเวทีแสดงท่าทีจุดยืนร่วม ในขณะเดียวบางประเทศอาจใช้เป็นเครื่องเพื่อต่อรองผลประโยชน์ให้กับตัวเองเท่านั้น เป็นอีกเหตุผลว่าทำไมกลุ่มจึงมีผลงานน้อย

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
            บรรดารัฐบาลของ G-77 พยายามชี้ว่าปัญหาอันเนื่องจากการเอารัดเอาเปรียบของประเทศที่พัฒนาแล้ว นายทุนข้ามชาติที่ขูดรีด เป็นต้นเหตุให้ประเทศกำลังพัฒนายากจน เกิดปัญหาภายในมากมาย สหประชาชาติเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่สะท้อนการเอารัดเอาเปรียบดังกล่าว สหประชาชาติไม่ได้ดูแลผลประโยชน์ของประชาชนในหมู่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างเต็มที่
            เรื่องเหล่านี้เป็นจริงไม่มากก็น้อย

            ในอีกมุมหนึ่งเป็นเรื่องจริงเช่นเดียวกันว่า ผู้นำหลายประเทศของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนากดขี่ขูดรีดคนในประเทศเดียวกัน
            ถ้าเรามองทั้งโลก มีประเทศร่ำรวยกับยากจน ถ้ามองในระดับประเทศมีคนมั่งมีกับยากจน มีความไม่เท่าเทียมกันเช่นกัน
            ที่สำคัญกว่านั้นคือในแง่แนวคิด เป้าหมายการพัฒนาผิดพลาดหรือไม่ ที่มุ่งแต่ฐานะทางเศรษฐกิจ มุ่งพัฒนาสะสมวัตถุ ทำให้ทั้งโลกจ้องจะแย่งชิงเพื่อครอบครองความมั่งคั่ง วัตถุสิ่งของ
การปฏิรูปต้องปฏิรูปที่หลักคิดก่อน ถ้าหลักคิดผิดก็จะยังวนเวียนอยู่ในวงวันแห่งปัญหา ความทุกข์ยากไม่สิ้นสุด
4 ตุลาคม 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6906 วันอาทิตย์ที่ ตุลาคม พ.ศ.2558, http://www.ryt9.com/s/tpd/2265596)
------------------------------
บรรณานุกรม:
1. Braveboy-Wagner, Jacqueline Anne. (2007). Group of 77. In Encyclopedia of Governance. (pp.400-401). USA: SAGE Publications.
2. DK. (2010, April 17). BANDUNG SPIRIT. Retrieved from http://www.bandungspirit.org/spip.php?article4
3. Grieb, K. J. (2008). New International Economic Order (NIEO). In Encyclopedia of the United Nations (2nd Ed.). (pp.309-310). USA: Facts On File.
4. Kegley, Charles W., & Blanton, Shannon L. (2011). World Politics: Trend and Transformation, (2010-2011 Ed.). MA: Wadsworth Publishing.
5. Phipps, Peter. (2012). Neocolonialism. In Encyclopedia of Global Studies. (Vol. 2., pp.1232-1236). USA: SAGE Publications.
6. The Group of 77. (2015). A Commentary on "Renewing the United Nations: A Programme for Reform": A policy brief prepared by the South Centre at the request of the Group of 77. Retrieved from http://www.g77.org/doc/policy%20brief.htm
7. The Group of 77. (2015). About the Group of 77. Retrieved from http://www.g77.org/doc/
--------------------------------