คนต่างด้าวอพยพ Migrant กับ Immigrant

สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในยุโรปคือผู้อพยพหลายแสนคนกำลังเดินทางเพื่อขอลี้ภัยหรือต้องการหางานทำ คนเหล่านี้มาจากหลากหลายที่ทั้งคนแอฟริกาจากหลายประเทศในทวีปแอฟริกา (ไม่เฉพาะลิเบีย) คนจากยุโรปตะวันออก คนจากภูมิภาคตะวันออกกลาง เอเชีย เช่น ชาวซีเรีย อัฟกานิสถาน คนเหล่านี้มาด้วยเหตุผลที่เหมือนและแตกต่างกัน รัฐบาลในหมู่ประเทศอียูไม่อาจปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยสงครามดังเช่นปฏิบัติต่อแรงงานต่างด้าว ผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย รวมถึงนโยบายของแต่ละประเทศต่อผู้อพยพเหล่านี้ การทำความเข้าใจต้องเริ่มจากสามารถจำแนกแยกแยะคนเหล่านี้ก่อน
Migrant :
            ไม่มีนิยามที่ตรงกัน โดยทั่วไป Migrant หมายถึง คนต่างด้าว คนต่างสัญชาติที่อพยพย้ายถิ่นไปยังอีกประเทศหนึ่ง คนเหล่านี้ไม่ใช่นักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจที่ไปอยู่ต่างประเทศในช่วงระยะเวลาไม่นาน คนต่างด้าวอพยพต้องการอยู่ระยะยาว สหประชาชาตินิยามว่าอยู่นานกว่า 1 ปี อาจถาวรหรือไม่ถาวร ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด จะได้เป็นผู้ลี้ภัยในประเทศที่ 3 หรือถูกส่งตัวกลับ หลายคนมาไม่ใช่เพราะเผชิญสงครามกลางเมืองแต่เพื่อหางานทำเป็นแรงงานต่างด้าว
            ปัจจุบันการย้ายถิ่นมีมากขึ้น ทั้งย้ายเข้าและออก คนจากประเทศที่พัฒนาแล้วย้ายไปอยู่ประเทศกำลังพัฒนาเช่นกัน เช่น ไปด้วยเหตุผลเรื่องหน้าที่การงาน หวังใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่ง
            บ่อยครั้งคำๆ นี้ถูกใช้ในความหมายเดียวกับคนต่างด้าวย้ายถิ่น (Immigrant) ผู้ขอลี้ภัย (Asylum) ในขณะที่บางคนใช้แยกกันเพราะต้องการเจาะจงความหมายระหว่างแรงงานต่างด้าวกับผู้ขอลี้ภัย

Immigrant :
            คนต่างด้าวย้ายถิ่น (Immigrant) หมายถึง คนต่างชาติที่ไปอีกประเทศเพื่อเป้าหมายบางอย่าง เช่น หนีภัยสงคราม หางานทำ หรือเดินทางไปเพื่อรวมตัวกับญาติพี่น้องที่อยู่ก่อนแล้ว คนเหล่านี้ตั้งใจไปอยู่เป็นระยะเวลานาน (ทั้งแบบถูกกฎหมายกับผิดกฎหมาย) จำนวนมากลงหลักปักฐานกลายเป็นพลเมืองในประเทศใหม่ ในขณะที่อีกส่วนคาดหวังจะกลับประเทศบ้านเกิดในอนาคต บางคนเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่าง 2 ประเทศ ส่วนแรงงานต่างด้าวต้องกลับประเทศเมื่อวีซาหมดอายุ
ความแตกต่างระหว่าง Migrant กับ Immigrant คือ Immigrant มุ่งปักหลักในถิ่นฐานใหม่อย่างถาวร อย่างไรก็ตามบางคนใช้ 2 คำนี้ในความหมายเดียวกัน เช่น คนต่างด้าวย้ายถิ่นอาจเดินทางไปมา 2 ประเทศ มีที่อาศัยทั้ง 2 ประเทศ
คนต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมือง (undocumented immigrants) หมายถึงคนต่างด้าวย้ายถิ่นที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย รวมทั้งพวกที่วีซาหมดอายุ เป็นปัญหาแก่หลายประเทศที่เป็นจุดหมายของคนเหล่านี้ และมักเป็นเหยื่อของพวกอาชญากร

เกร็ดประวัติศาสตร์การอพยพย้ายถิ่น :
แต่ไหนแต่ไรมนุษย์ย้ายถิ่นเพื่อหนีภัย หนีความแห้งแล้งหรือหนาวเหน็บ อาจหมายถึงการแสวงหาพื้นที่ใหม่สำหรับสร้างชุมชนใหม่ ก่อตั้งประเทศ อเมริกาคือตัวอย่างประเทศที่คนยุโรปและอีกหลายประเทศย้ายเข้าไปเพื่อสร้างเมืองใหม่และกลายเป็นประเทศใหม่ในที่สุด
การเคลื่อนย้ายทาสในยุคค้าทาส ล่าอาณานิคม นักวิชาการบางคนจัดว่าพวกทาสเป็นผู้อพยพย้ายถิ่นเช่นกัน
ในยุคปัจจุบันการอพยพย้ายถิ่นหมายถึงการไปอยู่อีกประเทศหนึ่ง ที่มีรัฐบาลมีเจ้าของประเทศอยู่แล้ว สถานภาพคือการเป็นคนต่างด้าวย้ายถิ่นหรือเป็นผู้ลี้ภัย มักเกิดจากเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง รองมาคือเรื่องความปลอดภัยในชีวิต เสรีภาพในการนับถือศาสนา
            หลายคนคุ้นชินพวกแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศ คนที่เข้ามาด้วยเหตุผลเรื่องงานจะใช้วิธีเปรียบเทียบอัตราค่าแรงกับโอกาสที่จะได้งานทำ ดังนั้น ประเทศที่เศรษฐกิจดี ประเทศที่พัฒนาแล้วจึงเป็นจุดหมายของแรงงานต่างด้าว อย่างไรก็ตามบางประเทศอาจต้องการแรงงานไร้ฝีมือ แต่มิได้ต้องการให้แรงงานเหล่านี้อาศัยในประเทศอย่างถาวร
            ดังนั้น เมื่อพูดถึงคนต่างด้าวอพยพย้ายถิ่นในหลายบางกรณีจึงเป็นความสมัครใจ เป็นประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย เกิดขึ้นในยามปกติ (เช่น กรณีแรงงานต่างด้าว) ไม่จำต้องเป็นเรื่องการหนีภัยสงครามหรือภัยอื่นๆ ในขณะที่บางกรณีหมายถึงรุกรานยึดครอง เช่นกรณีอเมริกา แต่เลี่ยงใช้คำว่าอพยพย้ายถิ่นแทนคำว่ารุกรานคนท้องถิ่นดั้งเดิม

ประวัติศาสตร์คนต่างด้าวย้ายถิ่นอเมริกา :
            Rachel Cortes กับ Dudley Poston Jr. ให้ข้อมูลว่า ถ้ามองว่าคนอินเดียแดงกับชาวอลาสกาท้องถิ่นคือเจ้าของประเทศดั้งเดิม ตามสถิติปี 2000 ประชากรร้อยละ 98 ของอเมริกาจะเป็นคนต่างด้าวย้ายถิ่น (Immigrant) หรือลูกหลานของพวกเขา คนอินเดียแดงกับชาวอลาสกาดั้งเดิมมีเพียง 4.3 ล้านคนหรือราวร้อยละ 1.5 เท่านั้น คนเหล่านี้อาศัยในพื้นที่ตั้งแต่เมื่อ 40,000 ปีก่อน
            คนอังกฤษกลุ่มแรกมาตั้งถิ่นฐานที่เมือง Jamestown รัฐเวอร์จิเนียเมื่อปีค.ศ.1607 ทำมาหากินด้วยการปลูกยาสูบ และเนื่องจากเป็นงานที่ต้องอาศัยแรงงานมากจึงเป็นแรงผลักดันต้องการแรงงานทาส ทาสแอฟริกาคนแรกที่ซื้อขายในอเมริกาเกิดขึ้นที่เมือง Jamestown นี้เองเมื่อปี 1619 ในช่วงนี้การใช้ทาสแอฟริกายังน้อย เนื่องจากสามารถใช้พวกอินเดียแดงกับคนผิวขาวต่างด้าวที่เข้ามาเป็นแรงงาน แต่นับจากปี 1690 เป็นต้นมาทาสแอฟริกาเริ่มเป็นแรงงานหลัก และด้วยแรงงานทาสแอฟริกานี้เองทำให้อเมริกาในยุคบุกเบิกสามารถครองตลาดโลก และแม้ว่ารัฐบาลยกเลิกการค้าทาสในปี 1807 แต่ทาสยังคงดำรงอยู่ในประเทศต่อไปอีกเกือบ 6 ทศวรรษ จนกระทั่งสิ้นสงครามกลางเมือง (Civil War: 1861–1865)

            คนฟิลิปปินส์คือชาวเอเชียกลุ่มแรกๆ ที่ย้ายถิ่นมาอเมริกาตั้งแต่ปีค.ศ. 1763 คนเหล่านี้เป็นกะลาสีเรือ ตั้งชุมชนของตนเองที่ Louisiana (ปัจจุบันยังคงอยู่)
            ชาวจีนเป็นอีกกลุ่มที่เข้ามามากในยุคตื่นทอง (California Gold Rush) เมื่อปลายทศวรรษ 1840 มีชาวจีนราว 288,000 คนในอเมริกาในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งเดินทางกลับจีนหลังสิ้นยุคตื่นทอง การเข้ามาของคนจีนกดดันค่าแรงของคนอเมริกันเพราะคนจีนไม่เลือกงาน ส่งผลต่อการเมืองสังคมภายในประเทศ จึงเกิดกฎหมายไม่รับคนจีนเข้าทำงาน และห้ามคนจีนย้ายถิ่นฐานเข้าอเมริกา กฎหมายเหล่านี้ยกในปี 1943 เมื่อจีนเป็นพันธมิตรสหรัฐในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

พวกผิวดำที่ย้ายถิ่นเข้าอเมริกาไม่ใช่พวกนิโกรจากแอฟริกาในยุคค้าทาสเท่านั้น (ถ้าเรียกคนกลุ่มนี้ว่าคนต่างด้าวเข้าเมือง) คนผิวดำย้ายเข้าอเมริกาหลายช่วง บางส่วนมาจากประเทศแถบคาริเบียน ลาตินอเมริกาและจากแอฟริกาหลังยุคอาณานิคม
ในยุคชาตินิยมหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 คนผิวดำจำนวนมากหนีสงครามกลางเมืองเข้ามาในอเมริกา เช่น จากไนจีเรีย กานา กาบูเวร์ดี (Cabo Verde) เอธิโอเปีย เอริเทรีย (Eritrea) โซมาเลียและซูดาน
ตั้งแต่ปี 1965 เป็นต้นมา คนผิวดำที่ย้ายเข้ามาส่วนใหญ่เป็นพลเมืองจากประเทศในแถบคาริเบียน
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติบ่งชี้ว่าคนผิวดำที่อพยพเข้ามาทีหลังมีฐานะเศรษฐกิจดีกว่าพวกผิวดำที่มาตั้งแต่สมัยค้าทาส ทั้งๆ ที่คนกลุ่มหลังพูดภาษอังกฤษสู้กลุ่มที่มาอยู่ก่อนไม่ได้ คนลาตินอเมริกาปัจจุบันส่วนใหญ่ย้ายถิ่นเข้าอเมริกาด้วยเหตุผลเศรษฐกิจเป็นหลัก ต้องการงานทำ มีรายได้มากขึ้น ส่วนผู้ประกอบการในอเมริกาต้องการแรงงานราคาถูก จึงตอบสนองความต้องการซึ่งกันและกัน ท่ามกลางแรงต้านของบางกลุ่มที่เห็นว่าแรงงานต่างด้าวกดค่าแรงของคนอเมริกัน ภาษีส่วนหนึ่งใช้กับคนเหล่านี้ ส่วนผู้ที่สนับสนุนเห็นว่าระบบเศรษฐกิจจำต้องมีแรงงานจำพวกนี้ เร่งให้เศรษฐกิจเดินหน้า

นับจากปี 2005 เป็นต้นมา ชาวเม็กซิโกเป็นคนต่างด้าวกลุ่มใหญ่ที่ย้ายถิ่นเข้ามาทำงานในอเมริกา คือคิดเป็นราวร้อยละ 30 ของจำนวนคนต่างด้าวย้ายถิ่นทั้งหมด ไม่ว่าชาวอเมริกันจะคิดเห็นอย่างไร คนเม็กซิโกเป็นแรงงานสำคัญเสมอมา ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) รัฐบาลสหรัฐขับไล่แรงงานเม็กซิโกออกจากประเทศราว 500,000 คนและอีก 200,000 คนที่สมัครใจกลับประเทศ ต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลสหรัฐกับเม็กซิโกมีข้อตกลงส่งแรงงานเข้าอเมริกาตามโครงการที่ชื่อว่า Bracero นโยบายรับหรือผลักดันคนต่างด้าวออกออกจึงขึ้นกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
คนต่างด้าวอพยพ (Migrant) ต่างจากคนต่างด้าวย้ายถิ่น (Immigrant) ตรงที่คำหลังให้ความหมายเชิงการย้ายถิ่นถาวรมากกว่า ทั้ง 2 คำไม่เน้นเหตุผลของการย้ายถิ่น
คำว่าผู้ขอลี้ภัย (Asylum) คือคนต่างด้าว ต่างสัญชาติที่แจ้งความจำนงต่อรัฐบาลขอเป็นผู้ลี้ภัย ด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง เช่น ถูกกดขี่ข่มเหง หนีภัยสงคราม
            ส่วนผู้ลี้ภัย (Refugees) หมายถึง ผู้ขอลี้ภัยที่ได้รับอนุญาตแล้ว ดังนั้น คนต่างด้าวอพยพหรือคนต่างด้าวย้ายถิ่นบางคนอาจกลายเป็นผู้ลี้ภัยในที่สุด ถ้ารัฐบาลประเทศปลายทางยอมรับการลี้ภัยของเขา
            การอพยพย้ายถิ่น เป็นแรงงานต่างด้าว เป็นผู้ลี้ภัย เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายประเทศรับคนเหล่านี้เป็นประจำทุกปี กลุ่มประเทศอียูเป็นอีกกลุ่มที่รับผู้ลี้ภัยทุกปี มีแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศทุกปีทั้งแบบถูกกฎหมายผิดกฎหมาย ดังนั้น รัฐที่รับคนเหล่านี้จึงมีระบบมีกลไกรับมืออยู่แล้ว เพียงแต่ในระยะนี้มีผู้อพยพเข้ามาจำนวนมากกว่าปกติ เกิดเหตุการณ์อันกลายเป็นข่าว กลายเป็นที่สนใจที่วิพากษ์อย่างกว้างขวาง
            การอพยพเคลื่อนย้ายคนจำนวนมากเกิดขึ้นเสมอในทุกยุคทุกสมัยของประวัติศาสตร์ เหตุผลรวบยอดสรุปได้เพียงคำเดียวว่า “เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” ในการนี้รวมถึงการรุกรานแย่งดินแดน เช่น กรณีก่อตั้งประเทศอเมริกาที่นักวิชาการบางคนพยายามอธิบายว่าคือการแปลงคนต่างด้าวย้ายถิ่นหรือลูกหลานของพวกเขาเป็นพลเมือง (citizen) การนำคนต่างชาติมาเป็นทาส (บังคับให้คนต่างด้าวย้ายถิ่น) บริบทปัจจุบันแตกต่างจากสมัยก่อนตรงที่พื้นที่มีเจ้าของหมดแล้ว จึงเกิดผู้เข้าเมืองถูกกฎหมายกับผิดกฎหมาย ผู้เข้ามาต้องขออนุญาตเพื่อเป็นผู้ลี้ภัย เป็นแรงงานต่างด้าว
20 กันยายน 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6892 วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ.2558, http://www.ryt9.com/s/tpd/2255023)
------------------------
บรรณานุกรม:
1. Anderson, Bridget., & Blinder, Scott. (2015, August 25). Who Counts as a Migrant? Definitions and their Consequences. The Migration Observatory. Retrieved from http://www.migrationobservatory.ox.ac.uk/sites/files/migobs/Briefing%20-%20Who%20Counts%20as%20a%20Migrant.pdf
2. Cortes, Rachel Traut., & Poston, Dudley L. Jr. (2008). Immigration to North America. In International Encyclopedia of the Social Sciences. (2nd Ed. (9 vol. set. pp. 576-580). USA: The Gale Group.
3. Düvell, Franck. (2008). Immigration. In Encyclopedia of Social Problems. (2 Vol Set, pp. 477-478). USA: SAGE Publications.
4. Hein, Jeremy. (2008). Refugee. In International Encyclopedia of the Social Sciences. (2nd Ed. (9 vol. set. pp.125-127). USA: The Gale Group.
5. Parrillo, Vincent N. (2008). Undocumented immigrants, United States. In Encyclopedia of Social Problems. (2 Vol Set, pp. 972-974). USA: SAGE Publications.
6. Rivas-Rodriguez, Maggie. (2008). Immigrants, Latin American. In International Encyclopedia of the Social Sciences. (2nd Ed. (9 vol. set. pp. 570-572). USA: The Gale Group.
7. Shan, Hongxia. (2008). Immigration. In International Encyclopedia of the Social Sciences. (2nd Ed. (9 vol. set. pp. 581-583). USA: The Gale Group.)
--------------------------------