2015 โรฮีนจาคืนชีพ

ไม่มีข้อมูลเบื้องหน้าเบื้องหลังว่าทำไมประเด็นโรฮีนจากลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง เรื่องที่รับรู้ทั่วไปคือรัฐบาลไทยปราบปรามผู้ลักลอบพาผู้อพยพโรฮีนจาเข้าประเทศครั้งใหญ่ พร้อมกับที่สื่อนานาชาติประโคมข่าวผู้อพยพทางเรืออย่างต่อเนื่อง ตามด้วยองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลายแห่ง ที่สุดรัฐบาลสหรัฐก็ปรากฏตัว Antony J. Blinken รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเดินทางไปหารือกับรัฐบาลเมียนมาร์
ทุกประเทศผลักดันผู้อพยพ ปัญหาแทรกซ้อน :
            การปราบปรามผู้ลักลอบพาผู้อพยพเข้าเมืองทำให้สื่อนานาชาติประโคมข่าวรัฐบาลไทย มาเลเซียและอินโดนีเซียผลักดันเรือมนุษย์กลับทะเล
            เช่น ทางการมาเลเซียรายงานพบผู้อพยพจากเมียนมาร์กับบังคลาเทศกว่า 1,000 คนพยายามเข้าประเทศโดยผิดกฎหมายที่เกาะลังกาวี ทางการนำตัวไปยังสถานที่กักตัว
            ไม่กี่วันต่อมาเจ้าหน้าที่มาเลย์คนหนึ่งกล่าวว่าทางการได้ผลักดันเรือบรรทุกโรฮีนจา 500 คนออกจากฝั่งหลังให้น้ำมันกับอาหาร  เรือดังกล่าวอยู่ตอนเหนือของรัฐปีนัง
Wan Junaidi Jaafar รัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า “เราได้ปฏิบัติต่อพวกเขาโดยมนุษยธรรมแล้ว ไม่สามารถให้พวกเขาทะลักขึ้นฝั่งแบบนี้” “ต้องส่งสารให้รู้ว่าพวกเขาไม่เป็นที่ต้อนรับ” ปัจจุบันมาเลเซียมีผู้ลี้ภัยทั้งหมดราว 150,000 คน ราว 50,000 คนเป็นโรฮีนจา
เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย Fuad Basya โฆษกกลาโหมกล่าวว่า ได้ผลักดันเรือลำหนึ่งที่ “เต็มด้วยคนสกปรก กลิ่นตัวเหม็น บางคนกรีดร้อง” หลังจากให้น้ำ อาหาร ยาและเชื้อเพลิง เรือลำดังกล่าวอยู่ที่ชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของอาเจะห์ (Aceh)
การปราบปรามขบวนการลักลอบพาผู้อพยพเข้าเมือง การผลักดันเรือไม่ให้เข้าฝั่งจึงก่อให้เกิดปัญหาแทรกซ้อน กระบวนการลักลอบพาคนเข้าเมืองติดขัด เรือหลายลำต้องลอยกลางทะเลไม่สามารถขึ้นฝั่ง ผู้อพยพหลายพันคนติดอยู่กลางทะเล
กลุ่มสิทธิมนุษยชนเริ่มเรียกร้องให้รัฐบาลในภูมิภาคช่วยเหลือผู้อพยพ 6,000-8,000 ที่กำลังลอยเรือกลางทะเล Phil Robertson รองผู้อำนวยการ Human Rights Watch สาขาเอเชียกล่าวว่า ไทย มาเลเซียและอินโดนีเซียทำให้สถานการณ์โรฮีนจาวิกฤตหนักกว่าเดิม “ด้วยนโยบายใจไม้ไส้ระกำ (cold-hearted) ผลักเรือมนุษย์ชุดใหม่ออกไป ทำให้หลายพันชีวิตต้องเสี่ยงอันตราย”
19 พฤษภาคม แถลงการณ์ร่วมระหว่างสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) สำนักงานสหประชาชาติข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน (OHCHR) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติ เพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานและการพัฒนา (SRSG) เรียกร้องให้ผู้นำประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทยให้ความคุ้มครองผู้อพยพและผู้ลี้ภัยที่ติดอยู่บนเรือในอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามัน โดยนำพวกเขาขึ้นฝั่ง สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้คือการช่วยชีวิต คุ้มครองสิทธิมนุษยชน และการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ต้นตอปัญหาอยู่ที่ใด :
            นับจากผู้อพยพโรฮีนจากกลายเป็นประเด็น ประเทศในภูมิภาคเอ่ยถึงการประชุมร่วมเพื่อหาทางออก Wan Junaidi Jaafar รัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทยเห็นว่าจะต้องจัดประชุมนานาชาติเพื่อเชิญประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น บังคลาเทศ เมียนมาร์ สหรัฐและอียูเข้าร่วมประชุมเพื่อหาทางออกเรื่องนี้ “เราต้องการพูดกับประเทศต้นตอว่าพวกเขาต้องไปพูดกับคนของตนให้กลับประเทศ เพราะมาเลเซียไม่สามารถต้อนรับพวกเขา”
เป็นที่รู้กันว่าประเทศส่วนใหญ่กล่าวโทษรัฐบาลเมียนมาร์ เอ่ยถึงการไม่ยอมรับโรฮีนจาเป็นพลเมือง ซึ่งเป็นเรื่องจริง เป็นปัญหาสิทธิมนุษยชนจริง

ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง Zaw Htay ผู้อำนวยการสำนักงานประธานาธิบดีเมียนมาร์ (director of the office of Myanmar's president) กล่าวว่า “เราไม่อาจยอมรับข้อกล่าวหาจากบางฝ่ายที่ว่าเมียนมาร์เป็นต้นตอของปัญหา” ก่อนหน้านี้ Zaw Htay กล่าวว่าหลายประเทศกำลังโยนความผิดให้รัฐบาลเมียนมาร์ พยายามเบี่ยงประเด็นการค้ามนุษย์ การใช้คนเป็นทาส พร้อมกับชี้ว่า “การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุดคือการที่เจ้าหน้าที่ทุจริต พัวพันการค้ามนุษย์และสมคบคิดกับพวกผู้ค้า”
Ye Htut รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสารของเมียนมาร์ (Information Minister) ชี้ว่าปัญหาที่เกิดเป็นปัญหาการค้ามนุษย์ “บางคนกล่าวว่าคนเหล่านี้พยายามหนีจากยะไข่ที่เกิดความขัดแย้ง แต่เราไม่เห็นด้วย” “ผู้ค้ามนุษย์พาคนเหล่านี้เข้าประเทศไทยและอินโดนีเซีย นี่เป็นเรื่องการค้ามนุษย์ ในฐานะเป็นสมาชิกหนึ่ง (ของอาเซียน) และประชาคมนานาชาติ เราต้องทำงานแก้ปัญหานี้ร่วมกัน” จุดยืนของเราคือ ขอให้จำแนกสถานะของคนเหล่านี้ ว่ามาจากเมียนมาร์หรือไม่ ถ้าพิสูจน์ว่าจริง รัฐบาลพร้อมพาตัวกลับ

คนบังคลาเทศปะปนกับโรฮีนจาจากเมียนมาร์ :
ประเด็นผู้อพยพโรฮีนจาครั้งนี้ซับซ้อนขึ้นเนื่องจากมีคนบังคลาเทศผสมด้วย อีกทั้งมีประเด็นว่าโรฮีนจาเหล่านั้นเป็นคนที่มาจากบังคลาเทศหรือเมียนมาร์
ตามข้อมูลของ UNHCR เฉพาะไตรมาสแรกของปีนี้ พวกโรฮีนจากับบังคลาเทศราว 25,000 คนพยายามลักลอบเข้าประเทศทางเรือ มากเป็น 2 เท่าของช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน อย่างน้อยครึ่งหนึ่งเป็นโรฮีนจา ที่เหลือเป็นชาวบังคลาเทศ ทั้งยังมีประเด็นว่าเป็นโรอีนจาที่มาจากเมียนมาร์หรือจากบังคลาเทศ
ถ้ามองย้อนหลัง มีผู้ประเมินว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ชาวโรฮีนจาราว 120,000 คนได้อพยพหนีออกจากประเทศทางเรือ ไปสู่ประเทศอื่นๆ
Zaw Htay ผู้อำนวยการสำนักของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ยืนยันว่ารัฐบาลจะรับผิดชอบคนที่เป็นพลเมืองของตนเท่านั้น ไม่ใช่คนบังคลาเทศ และอธิบายว่า “โรฮีนจาบางคนมาจากบังคลาเทศ ไม่ใช่ความรับผิดชอบเขาเรา”
ก่อนหน้านี้ Karishma Vyas นายตำรวจลังกาวี มาเลเซีย ให้ข้อมูลว่าจาก 1,158 คนที่เพิ่งถูกกักตัวพบว่า 672 คนเป็นชาวบังคลาเทศ อีก 486 คนเป็นโรฮีนจาจากเมียนมาร์
ไม่ว่าคนเหล่านี้มาจากที่ใด ในไม่ช้าจะได้คำตอบชัดเจนขึ้น ในเบื้องต้นไม่อาจปฏิเสธว่ามีคนบังคลาเทศรวมอยู่ในเรือลำเดียวกับโรฮีนจา

เจ้าหน้าที่รัฐกับอาชญากรข้ามชาติ :
ไม่มีรัฐบาลใดสามารถต้อนรับผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย ดังนั้น เมื่อเผชิญเรือที่กำลังแล่นเข้าฝั่งจึงต้องผลักดันออกไป พร้อมกับประกาศไม่ต้อนรับคนเหล่านี้ จนกว่ารัฐบาลจะมีนโยบายใหม่ เช่น รับคนที่กำลังลอยเรือเพื่อมนุษยธรรม
ประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามคือ การพิจารณาเรื่องนี้ในแง่อาชญากรรมข้ามชาติ เมื่อเจ้าหน้าที่หย่อนยานในการเฝ้าระวัง (หรือแกล้งหย่อนยาน) ขบวนการลักลอบพาคนเข้าประเทศจะเห็นช่องทันที เปิดโอกาสแอบพาคนต่างชาติเข้าประเทศได้ดังเดิม

            การลักลอบพาคนเข้าเมืองกระทำเป็นขบวนการ มีเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ผนวกกับระบบสื่อสารอันทันสมัย ด้วยโทรศัพท์มือถือและวิทยุสื่อสาร ไม่แปลกใจที่เรือใหญ่แต่ละลำแล่นเข้ารับผู้โดยสารเป็นจุดๆ เหมือนรถโดยสารประจำทาง จนมีผู้โดยสารหลายร้อยคน มีพวกเรือเล็กวิ่งระหว่างฝั่งกับเรือใหญ่ เปรียบเหมือนมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถสองแถวเล็กที่วิ่งรับคนจากท้ายซอยไปส่งปากซอย
            ผู้อพยพที่มากับเรือใหญ่สามารถแวะลงจุดต่างๆ ตามตกลง มีเรือเล็กมารับเพื่อส่งขึ้นฝั่ง หรือแม้กระทั่งเมื่อคนขับเรือได้ข่าวจากฝั่ง เห็นท่าไม่ดีก็สามารถขอเรือเล็กมารับตนหนี
เป็นเครือข่ายระบบขนส่งมวลชนระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพไม่น้อย เพราะสามารถรับส่งผู้โดยสารตามจุด และหลีกเลี่ยงการตรวจจับ ดังข้อมูลว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาชาวโรฮีนจาราว 120,000 คนได้อพยพหนีออกจากประเทศไปสู่ประเทศอื่นๆ

            นี่คืออาชญากรรมข้ามชาติรูปแบบหนึ่งที่ประเทศในภูมิภาคนี้กำลังเผชิญ ภัยเป็นคุกคามรูปแบบใหม่ที่รัฐต้องตามให้ทัน ไม่สามารถมองแต่เรื่องสิทธิมนุษยชนเท่านั้น
และปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ขบวนการเฟื่องฟูเพราะเจ้าหน้าที่รัฐบางคนมีส่วน เกิดคำถามว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้หย่อนยานในหน้าที่หรือเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ค้ามนุษย์ บั่นทอนความมั่นคงของชาติ
ถ้าคิดให้ไกลสุดๆ หวังว่าคนกลุ่มนี้จะไม่เป็นเหตุชักศึกเข้าบ้าน

ถ้าไม่มีอาชญากรข้ามชาติเหล่านี้ พวกโรฮีนจา ชาวบังคลาเทศจะอยู่ในพื้นที่ต่อไป คงไม่ผิดนักถ้าจะสรุปว่าโรฮีนจากลายเป็นประเด็นอีกครั้งเพราะอาชญากรข้ามชาติ
โรฮีนจาเป็นพลเมืองเมียรมาร์หรือไม่เป็นประเด็นหนึ่ง แต่โรฮีนจาอพยพเข้าประเทศอื่นๆ อย่างผิดกฎหมายนั่นเป็นอีกเรื่อง แนวทางแก้ไขเป็นคนละเรื่องเช่นกัน ชาวบังคลาเทศที่พยายามข้ามน้ำข้ามทะเลคือกรณีที่ชัดเจน
            ทำนองเดียวกับที่รัฐบาลโอบามามัวแต่เอ่ยถึงปัญหาโรฮีนจาก็เป็นคนละเรื่องเช่นกัน

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
            เรื่องสำคัญที่ประชาชนควรเข้าใจคือ เรือมนุษย์โรฮีนจา เรือมนุษย์บังคลาเทศไม่ใช่เรื่องใหม่ คนเหล่านี้อพยพทางเรือต่อเนื่องหลายปีแล้ว การที่ประชาชนรับรู้ในช่วงนี้เพราะสื่อหลายประเทศช่วยกันประโคมข่าว ผสมโรงด้วยองค์กรสิทธิมนุษยชนชาติหลายกลุ่ม
            แต่ระดับเจ้าหน้าที่ ผู้มีหน้าที่รับรู้เรื่อยมา

            ไม่ว่าเรื่องนี้จะลงเอยอย่างไร เป็นการถูกต้องจะที่หารือเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน ต้องยอมรับว่าต้นตอปัญหายากจะแก้ไข ไม่ว่าจะที่เมียนมาร์หรือบังคลาเทศ สิ่งที่ทำได้แน่นอนคือรัฐต้องเข้มงวดต่อต้านอาชญากรข้ามชาติ เพราะเป็นภาพสะท้อนความมั่นคงจากภัยคุกคามรูปแบบใหม่อื่นๆ เรื่องเหล่านี้ “ใกล้ตัว” กว่าโรฮีนจามากนัก
            ถ้ามองในระดับภูมิภาค อาเซียนกำลังเป็นประชาคมอาเซียนในสิ้นปีนี้ อาเซียนมีแผนรับมือภัยคุกคามรูปแบบใหม่ คราวนี้ทั่วโลกจะได้พิสูจน์ว่าอาเซียนที่กำลังรวมเป็นหนึ่งนั้นเป็นอย่างไร แผนต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติมีประสิทธิภาพแค่ไหน
            วันที่ 29 พฤษภาคมนี้คงเห็นภาพแจ่มชัดยิ่งขึ้น
24 พฤษภาคม 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6773 วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2558)
-----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
            การทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้สามารถเริ่มต้นด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์ประเทศพม่า ตั้งแต่ยุคโบราณกาลจนถึงปัจจุบัน เหตุการณ์ในอดีตได้ถักทอร้อยเรื่องราวของโรฮีนจาที่เกี่ยวข้องกับผู้ปกครอง เกี่ยวข้องกับหลายประเทศ หลายเหตุการณ์แม้กระทั่งยุคล่าอาณานิคม สงครามโลกครั้งที่ 2 จนพม่าเปลี่ยนชื่อประเทศ กลับมาปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง
            ข้อเขียนชิ้นนี้นำเสนอเรื่องราวตั้งแต่ชนพื้นเมืองอาระกันยังไม่ถูกเรียกว่าโรฮีนจา เข้าสู่ความขัดแย้งหลายระลอก จนพม่าประกาศเอกราช เกิดการปฏิวัติ รัฐบาลทหารกำหนดว่าใครเป็นพลเมือง พร้อมกับเหตุผลข้อโต้แย้ง ประเด็นถกเถียงและคาดการณ์อนาคต
2. 10 คำถาม โรฮีนจา” (Ookbee)
            ประเด็นโรฮีนจา (Rohingya) เกี่ยวข้องกับประเทศไทยและชาติสมาชิกอาเซียนอีกหลายประเทศโดยตรง มีผลต่อความเป็นไปของเมียนมาและกระทบต่อทั้งภูมิภาค เป็นเรื่องเก่าหลายทศวรรษ (หรือหลายศตวรรษ) และคงจะอยู่คู่กับอาเซียนอีกนาน จึงเป็นประเด็นที่ควรศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้
            ข้อเขียน “10 คำถาม โรฮีนจา” มุ่งตอบคำถามหรือนำเสนอประเด็นสำคัญๆ ที่ผู้สนใจควรทราบ เป็นความรู้พื้นฐานสู่การทำความเข้าใจ การวิเคราะห์ในระดับที่สูงขึ้น
            “10 คำถาม โรฮีนจา” จะตอบคำถามหรือนำเสนอ 10 ข้อ 10 ประเด็น เริ่มจากการเรียกชื่อ ควรเรียก “โรฮีนจาหรือโรฮินญา” อธิบายต้นกำเนิดโรฮีนจา เป็นชาวเบงกาลีหรือไม่ เหตุผลเบื้องหลังรัฐบาลเมียนมาไม่ถือโรฮีนจาเป็นพลเมือง จากนั้นอธิบายเหตุปะทะเมื่อปี 2012 ซึ่งเป็นจุดเริ่มของความสนใจรอบใหม่ ความเกี่ยวข้องของขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ ปัญหาชุมชนโรฮีนจาซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่อาจมองข้าม นโยบายและท่าทีของรัฐบาลเมียนมา โอบามาและมาเลเซีย สอดแทรกด้วยการวิเคราะห์ประเด็นสำคัญ ช่วยตอบโจทย์อนาคตของโรฮีนจา อนาคตประชาธิปไตยเมียนมาซึ่งมีผลกระทบต่ออาเซียนทั้งหมด
สนใจอีบุ๊ค คลิกที่รูป
บรรณานุกรม:
1. Barron Laignee., Aung, Nyan Lynn. (2015, May 15). Can Myanmar, and the region, continue to ignore the crisis? Myanmar Times. Retrieved from http://www.mmtimes.com/index.php/in-depth/14478-can-myanmar-and-the-region-continue-to-ignore-the-crisis.html
2. Indonesia to 'turn back Rohingya' boats. (2015, May 12). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/2015/05/150512045951738.html
3. Malaysia detains hundreds of migrants arriving on boats. (2015, May 11). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/2015/05/150511065720103.html
4. Malaysia Turns Away Boat With More Than 500 Migrants. (2015, May 13). The New York Times/AP. Retrieved from http://www.nytimes.com/aponline/2015/05/13/world/asia/ap-as-rohingya-boat-people.html
5. Malaysia, Indonesia agree to offer temporary shelter to 7,000 migrants. (2015, May 20). The Star. Retrieved from http://www.thestar.com.my/News/Nation/2015/05/20/Anifah-Malaysia-Indonesia-7000-migrants/
6. Myanmar says it's not to blame for migrant crisis. (2015, May 17). Hindustan Times/AFP. Retrieved from http://www.hindustantimes.com/world-news/myanmar-says-it-s-not-to-blame-for-migrant-crisis/article1-1348032.aspx
7. Weng, Lawi. (2015, May 18). Burma Says ‘Boat People’ Crisis Not Caused by Rohingya Strife.
The Irrawaddy. Retrieved from http://www.irrawaddy.org/burma/burma-says-boat-people-crisis-not-caused-by-rohingya-strife.html
8. United Nations High Commissioner for Refugees. (2015, May 19). แถลงการณ์ร่วมระหว่าง UNHCR OHCHR IOM และSRSG ในเรื่องการค้นหาและการกู้ชีพในทะเล การนำขึ้นฝั่ง และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย และผู้อพยพที่ตอนนี้มีความจำเป็นที่จะต้องช่วยชีวิตพวกเขาในอ่าวเบงกอล และทะเลอันดามัน. Retrieved from https://www.unhcr.or.th/th/news/joint_statement
---------------------------------