อิรักกับประชาธิปไตยในความเปลี่ยนแปลง

ทำไมบางประเทศที่ปกครองด้วยประชาธิปไตย สังคมจึงเจริญรุ่งเรือง สงบเรียบร้อย ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข แต่ทำไมบางประเทศที่ใช้การปกครองเดียวกัน โครงสร้างการปกครองคล้ายกันแต่ไม่ได้ผลดี ทั้งๆ ที่โลกก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ สังคมโลกมีความเจริญก้าวหน้ามากกว่าอดีต แต่หลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางกับแอฟริกาเหนือที่เปลี่ยนการปกครองจากอำนาจนิยมมาสู่ประชาธิปไตยพบว่ามีปัญหา สังคมไม่ได้รับผลดีจากระบอบประชาธิปไตยดังที่หวัง
            ประเทศอิรักคือหนึ่งในประเทศที่กำลังกล่าวถึง เดือนเมษายน 2003 กลายเป็นวันประวัติศาสตร์ของประเทศอิรัก เมื่อกองทัพอเมริกันยาตราทัพเข้ากรุงแบกแดกโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซ็น ชาวอิรักจำนวนไม่น้อยดีใจเมื่อเห็นระบอบซัดดัมล่มสลาย แต่จนบัดนี้กว่า 10 ปีแล้วที่อิรักยังล้มลุกคลุกคลานกับระบอบประชาธิปไตย สังคมเต็มด้วยความแตกแยกและการเกิดเหตุร้ายรายวัน
            บทเรียนสำคัญที่ได้คือ การจะเป็นประชาธิปไตยได้หรือไม่นั้นขึ้นกับปัจจัยแวดล้อมหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องของค่านิยม วัฒนธรรมของสังคม อุปสรรคประชาธิปไตยของอิรักคือ สังคมยังยึดมั่นกับกลุ่มศาสนา กลุ่มอำนาจ กลุ่มเชื้อชาติ มากกว่าการยึดมั่นในความเป็นชาติร่วมกัน ชาวอิรักส่วนใหญ่ผูกพันกับกลุ่มทางสังคมมากกว่า และกลุ่มเหล่านี้ไม่มีเจตจำนงที่จะร่วมผูกพันเป็นชาติ
            ก่อนที่กองทัพสหรัฐฯ จะถอนตัวออกจากอิรัก ในตอนนั้นประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุชคิดแต่เพียงว่าขอให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็เป็นพอ เพื่อที่จะกองทัพสหรัฐฯ จะถ่ายโอนอำนาจให้รัฐบาลอิรักชุดใหม่ทำหน้าที่รับผิดชอบบริหารประเทศ ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าเรื่องที่รัฐบาลบุชให้ความสำคัญจริงๆ คือการถอนทหารออกโดยเร็ว หรืออย่างน้อยต้องไม่เข้าพัวพันกับการรบในอิรักต่อไป เนื่องจากรัฐบาลบุชกำลังเผชิญปัญหาสำคัญ 2 ประการคือ การสูญเสียงบประมาณมหาศาลกับข่าวแง่ลบจากการบาดเจ็บล้มตายของทหารอเมริกันที่เพิ่มแทบทุกวัน
สังคมต้องตัดสินใจเลือกแนวทางการปกครองประเทศ:
            ถ้ายึดมั่นว่าผลประโยชน์ของประชาชนสำคัญที่สุด ประชาชนคือเจ้าของอธิปไตย ประชาชนเจ้าของประเทศย่อมมีความชอบธรรมตัดสินเลือกรูปแบบ แนวทางการปกครองการต้องการ ขอเพียงการปกครองนั้นจะช่วยให้สังคมมีอารยะมากขึ้น ไม่ใช่การก้าวเข้าสู่ความเสื่อมถอย
            เรื่องที่ต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้คือไม่มีรูปแบบการปกครองใดที่สมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็นเชิงอุดมคติหรือในทางปฏิบัติ เพราะมนุษย์ไม่สมบูรณ์ คนจำนวนมากคิดถึงผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยซึ่งจัดว่าเป็นการปกครองที่มีข้อดีหลายประการอยู่ภายใต้หลักการข้อนี้เช่นกัน สองร้อยกว่าปีที่สหรัฐอเมริกาปกครองด้วยประชาธิปไตย ทุกวันนี้สังคมอเมริกันยังมีประเด็นถกเถียงมากมายถึงประชาธิปไตยของตนว่าควรเป็นอย่างไร ประธานาธิบดีควรมีอำนาจน้อยหรือมากกว่านี้ รัฐบาลกำลังมีอำนาจควบคุมสังคมมากเกินไปหรือไม่ ผู้แทนรัฐสภาได้ทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนจริงแท้เพียงใด
            ดังนั้น จึงไม่มีประเทศใดในโลกสามารถปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ตามอุดมคติ ซ้ำยังถกเถียงกันอยู่ว่าประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบคืออะไร ส่วนในภาคปฏิบัตินั้นทุกประเทศยอมรับว่าต่างมีนักการเมือง ผู้ปกครองที่ฉ้อฉล เพียงแต่จะมีมากหรือน้อยเท่านั้น
            นักวิเคราะห์หลายคนให้ความเห็นว่าในกรณีของอิรักกับหลายประเทศในตะวันออกกลางกับแอฟริกาเหนือที่เกิดอาหรับสปริง ล้วนได้พิสูจน์แล้วว่าการชี้นำระบอบการปกครองจากต่างชาติ จากชาติตะวันตกสร้างปัญหาแก่ตน เพราะบรรดาประเทศผู้ชี้นำย่อมต้องพูดว่าให้ปกครองตามรูปแบบของตน ซึ่งได้พิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่าว่าแม้ประเทศเหล่านั้นอาจจะหวังดี แต่จนวันนี้ยังไม่เกิดผลดีแต่อย่างไร
            ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องตระหนักเสมอว่ารัฐบาลต่างชาติไม่ได้รับประกันความสำเร็จ และไม่อาจโทษที่ต่างชาติไม่รับประกันความสำเร็จด้วย
            สิ่งสำคัญคือประชาชนเจ้าของประเทศต้องตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากรูปแบบหนึ่งไปสู่อีกรูปแบบหนึ่งมีความเสี่ยงต่อผลที่จะเกิดขึ้นตามมา ไม่มีใครรับรู้ผลล่วงหน้า และไม่มีใครสามารถประกันได้ว่าผลจะออกมาดีเสมอไป ดังนั้น ก่อนการเปลี่ยนแปลงใดๆ คนในสังคมควรร่วมปรึกษาหารืออย่างรอบคอบรอบด้านเสียก่อน ไม่ควรอยู่ภายใต้การชี้นำของต่างชาติ
            ปัญหาในทางปฏิบัติคือ ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงมักเป็นช่วงเวลาที่สังคมกำลังวุ่นวาย อาจอยู่ระหว่างสงครามกลางเมือง ระหว่างการช่วงชิงอำนาจการปกครอง บ่อยครั้งจึงไม่อยู่ในบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ การปรึกษาหารือ ประเทศอิรักตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้

เป้าหมายที่จะเป็นประชาธิปไตยนั้นล้มเหลว:
            10 ปีหลังการโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซ็น อิรักยังไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง คำว่าประชาธิปไตยคือประชาธิปไตยในโครงสร้างเท่านั้น กลุ่มการเมืองมุ่งหวังผลประโยชน์ของพวกตนเป็นหลัก ไม่ได้เคารพสิทธิของกลุ่มอื่นๆ ไม่ต้องการแบ่งอำนาจหรืออยู่ร่วมกันตามระบอบประชาธิปไตย มีแต่การเอาประชาธิปไตยมาบังหน้าเพื่อเข้าถึงอำนาจ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง เกิดข้อกล่าวจากผู้นำสายซุนนีว่านายนูรี อัลมาลิกี (Nouri Al-Maliki) นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นมุสลิมชีอะห์พยายามรวบอำนาจและควบคุมทรัพยากรประเทศไว้กับตนเอง
            ผลที่ตามมาคือ ประเทศตอกย้ำการแตกออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือพวกซุนนี ชีอะห์ และชาวเคิร์ด เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มนิกายศาสนา กลุ่มอำนาจและเชื้อชาติ พวกชนเชื้อสายเคิร์ดพยายามแยกตัวปกครองตนเอง
            ความขัดแย้งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในสมัยประธานาธิบดีซัดดัม รัฐบาลสามารถควบคุมจำกัดขอบเขตความขัดแย้งให้อยู่ในวงจำกัด แต่เมื่อสิ้นระบอบซัดดัมและกองทัพอเมริกันถอนตัว รัฐบาลอิรักชุดใหม่ไม่สามารถรวบรวมประเทศให้เป็นเอกภาพอีกต่อไป เกิดความขัดแย้งทั้งจากเรื่องความเชื่อศาสนากับความต้องการแย่งชิงอำนาจของกลุ่มต่างๆ เป็นความขัดแย้งที่ไม่มีใครควบคุมได้ เกิดเหตุรุนแรงรายวันจากสารพัดวิธี ตั้งแต่ระเบิดพลีชีพ ระเบิดรถยนต์ กลุ่มกองกำลังติดอาวุธโจมตีประชาชนที่ไร้อาวุธ สหประชาชาติรายงานว่าเฉพาะปีนี้ (2013) มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 8 พันคน ในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 80 เป็นพลเรือน ประเทศจัดอยู่ในกลุ่มรัฐล้มเหลว (Failed State)
            ในด้านสังคม พบว่าชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนไม่ได้ดีขึ้น อัตราคนว่างงานยังคงเพิ่มมากขึ้น ประชาชนต้องกินต้องใช้แต่ประเทศไม่ได้ผลิตอะไรออกมา ระบบบริการสังคมขาดแคลน ไม่มีประสิทธิภาพและยังไม่เห็นว่าจะดีขึ้นในอนาคตอันใกล้

            ชาวอิรักหลายคนเห็นว่าการเข้ามาของกองทัพสหรัฐฯ อันนำสู่การเปลี่ยนการปกครองไม่ได้ดีอย่างที่พวกเขาหวังไว้ หลายคนผิดหวังเพราะผลลัพธ์สุดท้ายไม่ได้ช่วยให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม ความยากจน ความอดอยากยังคงพบได้ทั่วไป ประเทศเปลี่ยนจากผู้นำเผด็จการหนึ่งคนสู่การมีผู้นำเผด็จการหลายคน ชาวอิรักบางคนพูดว่า “พวกเราเป็นเหยื่อของความขัดแย้งระหว่างนักการเมือง” และ “พวกเขาคุกคามกันเอง แต่พวกเราตาย ชาวบ้านมักเป็นเหยื่อเสมอ”

            10 ปีที่กองทัพสหรัฐฯ บุกโค่นล้มระบอบซัดดัม ช่วยสถาปนารัฐประชาธิปไตยอิรัก พบว่าจนบัดนี้อิรักยังไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพียงแต่มีชื่อว่าเป็นประชาธิปไตย มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่กลายเป็นรัฐล้มเหลวที่ประกอบด้วยหลายกลุ่มอำนาจที่พยายามแย่งชิงผลประโยชน์ ประเทศไร้ความสงบสุข มีการต่อสู้ภายในประเทศ มีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นประจำ ก่อให้เกิดคำถามมากมายว่าอิรักในวันนี้ดีกว่ายุคซัดดัมหรือไม่ อะไรคือการปกครองที่ดี และจะพาอิรักออกจากสถานการณ์วุ่นวายในขณะได้อย่างไร ซึ่งบางคนเสนอว่าต้องยึดหลักนิติธรรม ต่อต้านการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ แก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ให้ประเทศอยู่ในบรรยากาศที่ทุกภาคส่วนสามารถทำงานได้ตามปกติ และทั้งหมดนี้ประชาชนอิรักไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดต้องออกมาแสดงพลัง กำหนดอนาคตของตนเอง
21 ธันวาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ได้รับการเผยแพร่ผ่าน ศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2556, http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1306)
-------------------
บรรณานุกรม:
1. Allawi, Ali A. 2007. The Occupation of Iraq: Winning the War, Losing the Peace. USA: Yale University Press.
2. Five myths about Iraq. The Washington Post. http://www.washingtonpost.com/opinions/five-myths-about-iraq/2013/03/15/f7a62a40-8772-11e2-9d71-f0feafdd1394_story.html. 16 March 2013.
3. A crisis for Iraq — and the Middle East. The Washington Post. http://www.washingtonpost.com/opinions/a-crisis-for-iraq--and-the-middle-east/2013/05/05/f197bcbe-b363-11e2-bbf2-a6f9e9d79e19_story.html. 6 May 2013.
4. Different feelings on 10th anniversary of Saddam's downfall.  Aswat Al Iraq. http://en.aswataliraq.info/(S(frap54ijmcirfn45saoqssfd))/Default1.aspx?page=article_page&id=152954&l=1. 9 April 2013.
5. Shanker, Thom. On Sunday Talk Shows, U.S. Officials Defend Iraq Policy”. New York Times. http://www.nytimes.com/2003/09/14/international/middleeast/14CND-POLI.html.
Accessed 14 September 2003.
6. Ismael, Tareq Y. and Haddad, William W. 2004. Iraq: The Human Cost of History.USA: Pluto Press.
7. UN Casualty Figures for November 2013. United Nations Iraq. http://www.uniraq.org/index.php?option=com_k2&view=item&id=1394:un-casualty-figures-for-november-2013&Itemid=633&lang=en. Accessed 10 December 2013.
8. Ghanim, David. 2011. Iraq's Dysfunctional Democracy. USA:  Praeger.
-----------------------