อีกมุมมองของปมสังหารยัสเซอร์ อาราฟัต

ข่าวนักวิทยาศาสตร์จากห้องทดลองในสวิสเซอร์แลนด์ได้พิสูจน์และมีข้อสรุปที่เชื่อได้ว่านายยัสเซอร์ อาราฟัต (Yasser Arafat) อดีตผู้นำองค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ (Palestinian National Authority หรือ PA) เสียชีวิตเพราะถูกลอบวางยาพิษด้วยสารพอโลเนียม-210 ทำให้ประเด็นปมสังหารนายอาราฟัตได้รับการวิพากษ์อย่างกว้างขวางอีกครั้ง
            ในบรรดาการวิเคราะห์ทั้งหมด อิสราเอลเป็นประเทศที่ต้องสงสัยมากที่สุดด้วยเหตุผลสำคัญดังต่อไปนี้
            ประการแรก อิสราเอลมีความตั้งใจมานานแล้ว
            นายอาราฟัตเป็นเป้าหมายการสังหารมานานแล้วไม่ต่างจากแกนนำกลุ่มอื่นๆ ในปาเลสไตน์เนื่องจากทางการอิสราเอลมีนโยบายชัดเจนว่าต้องการกำจัดแกนนำที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายต่ออิสราเอล นายอาราฟัตจึงเป็นเป้าหมายใหญ่และสำคัญยิ่งเพราะเป็นถึงประธานองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ตั้งแต่ปี 1968 จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปี 2004 ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มฟาตาห์ (Fatah) ในปี 1956
            ในมุมมองของอิสราเอล ทางการอิสราเอลเห็นว่าเป็นนายอาราฟัตเป็นภัยคุกคามความมั่นคงอิสราเอลโดยตรง ในปี 1985 นายเอเรียล ชารอน (Ariel Sharon) ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมกล่าวว่า “การก่อการร้ายถูกกระตุ้น ประสานงานและนำทิศทางด้วยคนๆ เดียวคือยัสเซอร์ อาราฟัต ประธานองค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์”
            ตัวอาราฟัตเองเคยเล่าว่าเขารอดจากความพยายามสังหารเขามาแล้วกว่า 40 ครั้ง เช่น ในปี 1985 เขารอดหวุดหวิดเมื่อเครื่องบินรบอิสราเอลโจมตีศูนย์บัญชาการของเขาที่ตูนิเซีย การโจมตีครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 73 คน ในเดือนธันวาคม 2001 ขีปนาวุธอิสราเอลโจมตีศูนย์บัญชาการที่เมือง Ramallah เขารอดหวุดหวิดอีกครั้งเนื่องจากสามารถหนีเข้าไปหลบในที่ปลอดภัยได้ก่อน

            ประการที่สอง หลักฐานจากคณะรัฐมนตรี 2003
            มีข้อมูลว่าในปี 2003 คณะรัฐมนตรีอิสราเอลภายใต้นายเอเรียล ชารอน นายกรัฐมนตรีอนุมัติการสังหารโดยไม่ผ่านการไต่สวน รัฐบาลมีนโยบาย “สังหารเป้าหมายเฉพาะ” ที่คาดว่าเป็นหัวหน้าผู้ก่อการร้าย นาย MK Haim Ramon ผู้แทนราษฎรจากพรรคแรงงานอิสราเอลกล่าวว่า “ชารอนต้องการให้อาราฟัตสาบสูญไป เพื่อให้ปาเลสไตน์ได้ผู้นำสายกลางเข้ามาแทนที่”
            ในเดือนสิงหาคม 2003 นาย Shaul Mofaz รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอิสราเอลประกาศว่า “เราจะสังหารอาราฟัตด้วยวิธีการและเวลาที่เราเลือก”
            มติกับนโยบายของรัฐบาลชารอนดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากแผนตอบโต้ Second Intifada หรือ Al-Aqsa Intifada (เริ่มต้นในเดือนตุลาคม 2000 สิ้นสุดในปี 2004) มุ่งกำจัดแกนนำและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายอันส่งผลทำให้พลเรือนอิสราเอลเสียชีวิตจำนวนหลายร้อยคน
            Second Intifada หรือ Al-Aqsa Intifada เริ่มต้นเมื่อนายชารอนขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคลีคูต (Likud) เดินทางไปวิหาร Temple Mount หรือมัสยิด al-Aqsa Mosque อันศักดิ์สิทธิ์ของมุสลิมในกรุงเยรูซาเล็ม ก่อให้ชาวปาเลสไตน์พร้อมใจกันลุกฮือประท้วงทั่วประเทศ สองฝ่ายต่างใช้ความรุนแรงต่อกัน เกิดการปะทะกันหลายปี ฝ่ายปาเลสไตน์ใช้ระเบิดพลีชีพและอาวุธต่างๆ ทำให้ชาวอิสราเอลเสียชีวิตกว่า 900 คน ดังนั้น ต้นเหตุของการเสียชีวิตของชาวอิสราเอลและเหตุรุนแรงรอบนี้เกิดจากนายชารอนโดยแท้ และเชื่อกันว่าเมื่อท่านได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ จึงใช้ตำแหน่งอำนาจของตนสั่งสังหารนายอาราฟัตอีกครั้งอย่างจริงจังด้วยสารพิษพอโลเนียม-210

            ประการที่สาม ความต้องการดินแดน
            การสถาปนาประเทศขึ้นมาใหม่บนดินแดนอิสราเอลปัจจุบันเป็นความใฝ่ฝันสูงสุด เป็นความต้องการของชาวอิสราเอลมานับร้อยปี หลังจากที่ต้องระหกระเหิน ต้องทนทุกข์ในฐานะพลเมืองชั้น 2 ของหลายประเทศทั่วโลก
            แม้อิสราเอลจะก่อตั้งประเทศได้ แต่ความต้องการดินแดนเพิ่มเติมยังไม่จบสิ้น นักการเมืองหลายคนยึดมั่นแนวทางดังกล่าว การเข้ายึดครองพื้นที่ในฉนวนกาซา เขตเวสต์แบงก์ตะวันตกและเยรูซาเล็มตะวันออกเป็นหลักฐานที่สำคัญ
            ที่ผ่านมารัฐบาลอิสราเอลอ้างเหตุผลต่างๆ นานาเพื่อจะรักษาการยึดครองพื้นที่เหล่านี้ ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่ๆ ตกลงไว้แล้วว่าจะเป็นของรัฐปาเลสไตน์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต กว่า 4 ทศวรรษที่ผ่านมารัฐบาลอิสราเอลอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง ป้องกันการโจมตีโดยการก่อการร้ายจากกองกำลังต่างๆ ของปาเลสไตน์ อ้างว่าการสร้างที่อยู่ในอาศัยในเขตยึดครองไม่กระทบกระบวนการเจรจาสันติภาพกับปาเลสไตน์
            เกิดคำถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าทางการอิสราเอลหวังใช้การสังหารนายอาราฟัตเพื่อยั่วยุให้กิดความขัดแย้ง เพื่ออิสราเอลจะมีข้ออ้างในการยึดครองพื้นที่ดังกล่าวต่อไป สามารถขยายโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยในเขตยึดครองอย่างต่อเนื่อง แนวคิดนี้สอดคล้องกับคำพูดของนายชารอนที่แต่ไหนแต่ไรเขาประกาศในที่สาธารณะว่าตนมีนโยบายขยายอาณาเขตอิสราเอล (Greater Israel) ซึ่งหมายถึงการยึดครองเขตเวสต์แบงก์ ปฏิบัติต่อชาวปาเลสไตน์อย่างเข้มงวด
            ทุกวันนี้อิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพในขั้นสุดท้าย แต่ในสภาพดังกล่าวอิสราเอลเป็นฝ่ายได้ประโยชน์เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ได้ใช้ประโยชน์จากเขตยึดครองพื้นที่ๆ เป็นของปาเลสไตน์ โดยพฤตินัยแล้วบางส่วนของเขตพื้นที่เหล่านี้จึงมีค่าเท่ากับเป็นดินแดนของอิสราเอล นอกจากนี้ยังสามารถกดขี่ชาวปาเลสไตน์ กดดันให้สภาพเศรษฐกิจสังคมย่ำแย่

            ประการที่สี่ การทำลายองค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์
            แม้นายอาราฟัตจะมีอายุถึง 75 ปีแล้วแต่ยังมีสุขภาพแข็งแรงพอสมควร มีฐานะเป็นผู้นำองค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ (PA) เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาเลสไตน์ จุดศูนย์รวมของกลุ่มต่างๆ จึงมีความเชื่อว่าหากปราศจากนายอาราฟัตกลุ่มต่างๆ จะแตกแยก อาจเกิดการต่อสู้กันเองอย่างรุนแรง ดังที่ผ่านมาก็มีการปะทะกันระหว่างกลุ่มฮามาสกับกลุ่มฟาตาห์ (Fatah) ในฉนวนกาซา หรือแม้กระทั่งกลุ่มฟาตาห์ที่นายอาราฟัตก่อตั้งกับมือก็มีปัญหาการแตกแยกภายในเป็นหลายกลุ่ม ในทางปฏิบัติแล้วนายอาราฟัตไม่สามารถควบคุมทุกรายละเอียด การแตกแยกและข่าวการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นอย่างดาษดื่นภายในองค์กรเป็นหลักฐานสำคัญ
            ความรุนแรงที่ขยายตัวจาก Second Intifada การก่อการร้ายด้วยระเบิดพลีชีพ ทำให้รัฐบาลชารอนอ้างว่านายอาราฟัตไม่มีความตั้งใจหรือไม่สามารถยับยั้งคนของตน เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เห็นว่าควรเปลี่ยนผู้นำ PA รัฐบาลชารอนจึงเริ่มดำเนินนโยบายโดดเดี่ยวนายอาราฟัตและป้ายสีว่าท่านเป็นศัตรูของโลกเสรี
            ความต้องการทำลายองค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์จึงมาจากเหตุผลที่ว่าองค์การประกอบด้วยกลุ่มย่อยๆ หลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีอุดมการณ์หลากหลายตั้งแต่เป็นพวกมุสลิมสุดโต่งจนถึงพวกฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ที่ผ่านมาการรวมตัวของกลุ่มเหล่านี้เป็นผลงานจากน้ำพักน้ำแรงจากความสามารถ บารมีเฉพาะตัวของนายอาราฟัตโดยแท้ หากกำจัดนายอาราฟัตจะทำให้กลุ่มเหล่านี้ไม่สามารถรวมตัวกันได้อีก PA จะอ่อนแอลงหรืออาจสลายตัว เมื่อถึงเวลานั้นอิสราเอลสามารถค่อยๆ เจรจาตกลงหรือกำจัดกลุ่มย่อยทีละกลุ่มได้โดยง่าย

            ประการที่ห้า การชะลอกระบวนการเจรจา
            ประเด็นที่ไม่ควรละเลยคือก่อนเกิด Second Intifada ในปลายปี 2000 แผนสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่เรียกว่า Camp David II ของประธานาธิบดีบิลล์ คลินตันเกือบจะได้ข้อยุติแล้ว (หากอิสราเอลบรรลุข้อตกลงสันติภาพขั้นสุดท้ายกับปาเลสไตน์ นั่นหมายความว่าสองฝ่ายจะมีเขตแดนชัดเจน อิสราเอลต้องถอนตัวจากพื้นที่ยึดครองทั้งหมด ปาเลสไตน์จะกลายเป็นรัฐอธิปไตย) แต่ด้วยการเยือนวิหาร Temple Mount หรือมัสยิด al-Aqsa Mosque ของนายชารอนเป็นชนวนก่อให้เกิดความรุนแรงรอบใหม่ การเจรจาจึงหยุดชะงักทันที
            ต่อมาในช่วงปี 2003 สันติภาพระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอลมีความเป็นไปได้มากขึ้นอีกครั้ง กลุ่มต่างๆ ในปาเลสไตน์มีเอกภาพและต้องการสันติภาพกับอิสราเอล รัฐบาลสหรัฐเริ่มดำเนินกระบวนการเจรจาอีกรอบ ในช่วงต้นปี 2004 เป็นช่วงเวลาที่หลายฝ่ายเห็นว่ารัฐปาเลสไตน์กำลังใกล้จะเป็นความจริง เหลือแต่บริบทที่เหมาะสมกับการตัดสินใจของผู้นำเท่านั้น แต่การเสียชีวิตอย่างกะทันหันของนายอาราฟัตทำให้กระบวนการเจรจาสันติภาพ การสถาปนารัฐปาเลสไตน์หยุดชะงักทันทีอีกครั้ง ต้องรอเริ่มต้นใหม่ด้วยผู้นำ PA คนใหม่ นั่นคือนายมะห์มุด อับบาส (Mahmoud Abbas)
            มีข้อมูลว่าเหตุผลส่วนหนึ่งที่นายอาราฟัตแต่งตั้งนายอับบาสเป็นนายกรัฐมนตรีปาเลสไตน์มาจากแรงกดดันของรัฐบาลจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช และไม่นานหลังการถ่ายโอนอำนาจสมบูรณ์เขาก็จะถูกวางยาพิษ
            ไม่ว่าเหตุผลเบื้องหลังของการเจรจาที่หยุดชะงักคืออะไร ผลที่ปรากฏคืออิสราเอลสามารถยึดครองพื้นที่บางส่วนและดำเนินโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยในพื้นที่ยึดครองต่อไป

            กว่า 9 ปีแล้วนับจากวันที่นายยัสเซอร์ อาราฟัตเสียชีวิต ผู้เกี่ยวข้องหลายคนชี้ว่าอิสราเอลต้องรับผิดชอบแต่ที่ผ่านมาทางการอิสราเอลปฏิเสธเรื่อยมาว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของนายอาราฟัต อีกทั้งข้อมูลการตรวจสอบมีเพียงข้อสรุปว่าท่านน่าจะเสียชีวิตด้วยพอโลเนียม-210 ไม่อาจสรุปว่าใครเป็นผู้ลงมือ การวิเคราะห์มูลเหตุจูงใจข้างต้นเป็นการคาดคะเนตามข้อมูลที่ปรากฎ ตามหลักวิชาการในแนวทางหนึ่งเท่านั้น ยังมีการวิเคราะห์อีกหลายแนวทาง ยังมีข้อมูลและเงื่อนงำอื่นๆ อีกมาก เช่น ทำไมรัฐบาลฝรั่งเศสไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร รัฐบาลสหรัฐมีส่วนรู้เห็นหรือไม่ เกี่ยวข้องกับคนใกล้ชิดนายอาราฟัตหรือไม่ ปมสังหารนายยัสเซอร์ อาราฟัตจึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ได้อีกนานเท่านาน
17 พฤศจิกายน 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6222 วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2556)
-------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ตั้งแต่ยุคโบราณมนุษย์รู้จักยาพิษ นำมาใช้เป็นอาวุธเรื่อยมา และเมื่อความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้นมนุษย์เริ่มคิดค้นสารพิษใหม่ที่ร้ายแรงกว่าสารพิษที่พบตามธรรมชาติ พอโลเนียม-210 คือตัวอย่างสารพิษที่มนุษย์แสวงหามานานแล้ว นั่นคือสารพิษหรือยาพิษที่ไร้สีไร้กลิ่นไร้รส ไม่มีทางเยียวยาที่ได้ผลดี ตรวจจับไม่ได้ (ยากแก่การตรวจจับ) ผู้เสียชีวิตมักเป็นบุคคลพิเศษ บุคคลสำคัญทางการเมือง พอโลเนียม-210 จึงเป็นยาพิษสมัยใหม่ที่คิดค้นมาเพื่อจัดการบุคคลเหล่านี้
2. ปริศนาการตายของยัสเซอร์อาราฟัต (Ookbee)
ยัสเซอร์ อาราฟัต เป็นบุคคลสำคัญของโลก ได้ชื่อว่าเป็นผู้ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาเลสไตน์ ชีวิตของท่านตั้งแต่วัยหนุ่มเต็มด้วยการต่อสู้ ฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการ มีผู้พยายามสังหารท่านหลายครั้ง แต่สามารถหลบรอดคมห่ากระสุนอย่างหวุดหวิด จนกระทั่งคืนวันที่ 12 ตุลาคม 2004 ท่านล้มป่วยกะทันหันอย่างรุนแรงในบ้านพักของท่านเอง ผู้เชี่ยวชาญบางคนเห็นว่าท่านเสียชีวิตด้วยพอโลเนียม-210
สนใจอีบุ๊ค คลิกที่รูป
บรรณานุกรม:
1. Lendman, Stephen. Did Israel Kill Arafat? Global Research. 8 November 2013. http://www.globalresearch.ca/did-israel-kill-arafat/5357306
2. Chossudovsky, Michel. The Assassination of Yasser Arafat was Ordered by The Israeli Cabinet: “We will Choose the Right Way and the Right Time to Kill Arafat.” Global Research. 7 November 2013. http://www.globalresearch.ca/the-assassination-of-yasser-arafat-was-ordered-by-the-israeli-cabinet-we-will-choose-the-right-way-and-the-right-time-to-kill-arafat/5357121
3. Stokes, Jamie. (Editor). 2009. Encyclopedia of The Peoples of Africa and the Middle East. New York: Infobase Publishing.
4. Mattar, Philip. 2004. The Encyclopedia of the Modern Middle East and North Africa. 2nd Edition. USA: Thomson Gale.
-------------