นายกหลี่ เค่อเฉียงกับความพยายามสานสัมพันธ์จีน-เวียดนาม

เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมานายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ ตั้งใจสานสัมพันธ์ในสามด้านคือ ความร่วมมือทางทะเล ความร่วมมือบนบกและความร่วมมือทางการเงิน นายกฯ หลี่กล่าวว่าความร่วมมือทั้งสามด้านจะช่วยให้ความสัมพันธ์สองประเทศเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จากความเห็นต่างสู่ความร่วมมือ ความร่วมมือทวิภาคีไม่เพียงสร้างผลประโยชน์แก่ประชาชนทั้งสองประเทศ ยังส่งเสริมสันติภาพ การพัฒนาและความมั่งคั่งของภูมิภาคด้วย
            ด้านนายเหงวียน เติ๋น สุง (Nguyen Tan Dung) นายกรัฐมนตรีเวียดนามกล่าวเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคี พร้อมจะทำงานร่วมกับจีนผ่านการติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูง สร้างความไว้วางใจทางการเมือง เพิ่มความร่วมมือทั้งทางทะเล ทางบกและความร่วมมือทางการเงิน และความร่วมมือในประเด็นระดับภูมิภาคและระดับโลก
ความร่วมมือ 3 ด้าน:
            ในการเยือนคราวนี้สองประเทศได้ประกาศความร่วมมือ 3 ด้าน สรุปสาระสำคัญดังนี้
            1. ความร่วมมือทางทะเล
            จีนเห็นว่าข้อพิพาททะเลจีนใต้เป็นปัญหาหลักเพียงข้อเดียวที่เป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ สองฝ่ายเห็นร่วมกันที่จะจัดการปัญหาอย่างเหมาะสม ระวังที่จะไม่ให้กระทบต่อความสัมพันธ์สองประเทศ ยึดมั่นปฏิบัติตาม “ข้อตกลงว่าด้วยหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการแก้ไขประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับทะเล” ตามที่ได้ลงนามเมื่อปี 2011จะควบคุมไม่ให้ข้อพิพาทลุกลามบานปลาย รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกับกระทรวงเกษตรของทั้งสองฝ่ายจะพูดคุยผ่านสายด่วนถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น สองฝ่ายจะปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea หรือ DOC) อย่างเคร่งครัด และพยายามหาข้อสรุปในการจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (code of conduct for the South China Sea หรือ COC) โดยยึดหลักฉันทามติ
            ในด้านความร่วมมือทางทะเล นายกฯ หลี่คาดหวังว่าภายในหนึ่งปีสองฝ่ายจะบรรลุข้อตกลงการพัฒนาเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ (Beibu Bay) ความร่วมมือพัฒนาทะเลจีนใต้ร่วมกันจะเป็นวิธีแก้ไขข้อพิพาทที่มีอยู่ เปลี่ยนจากข้อพิพาทกลายเป็นการสร้างผลประโยชน์ร่วม ข้อสรุปที่ได้คือในปีนี้จะเริ่มทำการสำรวจร่วมน่านน้ำปากอ่าวเป่ยปู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม

            2. ความร่วมมือบนบก
            ในด้านการค้าการลงทุน สองประเทศจะพยายามปรับการค้าทวิภาคให้สมดุล ตั้งเป้าเพิ่มการค้าระหว่างกันให้ได้ถึงปีละ 6 หมื่นล้านดอลลาร์ก่อนสิ้นปี 2015 (ข้อมูลทางการเวียดนามชี้ว่าปี 2012 การค้าทวิภาคีอยู่ที่กว่า 4.1 หมื่นล้านดอลลาร์)
            ในด้านการเชื่อมต่อ ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงเรื่องโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ตาม “แผนพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าเวียดนามกับจีน ระยะ 5 ปี 2012-2016” ในการเยือนของนายกฯ หลี่ครั้งนี้ได้ข้อสรุปว่าสองฝ่ายจะจัดตั้งทีมทำงานร่วมเพื่อศึกษาความร่วมมือดังกล่าว โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างทางหลวงเชื่อมจังหวัดลางเซิน (Lang Son) กับกรุงฮานอย (Hanoi) เร่งศึกษาเส้นทางระหว่างมงไค (Mong Cai) กับฮาลอง (Ha Long) และเร่งรัดศึกษาโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อเมืองหลาวกาย (Lao Cai) ฮานอยและไฮฟอง (Hai Phong)
            อันที่จริงแล้วโครงการเหล่านี้ไม่ใช่โครงการใหม่ เช่น โครงการก่อสร้างทางหลวงเชื่อมจังหวัดลางเซินกับกรุงฮานอย เดิมมีแผนว่าจะทำให้แล้วเสร็จภายในปี 2020 แต่จากสถานการณ์ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนของการตั้งคณะศึกษาร่วมเท่านั้น โครงการจึงไม่น่าจะแล้วเสร็จทันปี 2020

            3. ความร่วมมือทางการเงิน
            สองฝ่ายตกลงสร้างเครือข่ายความมั่นคงทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ เน้นการจัดการวิกฤตเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศ ให้มีการแลกเปลี่ยนเงินตราแบบทวิภาคี (bilateral currency swap) กระบวนการชำระเงินและส่งมอบสินค้าจากการซื้อขายข้ามประเทศ (settling cross-border trade) ด้วยสกุลเงินท้องถิ่น ข้อสรุปจากการประชุมคือจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อศึกษาความร่วมมือทางการเงิน

วิเคราะห์องค์รวม:
            การเยือนเวียดนามช่วยให้ความสัมพันธ์สองประเทศดีขึ้น ผู้นำประเทศต่างเห็นด้วยที่จะเพิ่มความไว้เนื้อเชื่อใจทางการเมือง แลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ระดับสูง รักษาบรรยากาศสงบเรียบร้อยในทะเลจีนใต้ ความไว้เนื้อเชื่อใจทางการเมืองยังเป็นประเด็นสำคัญที่สองฝ่ายต้องพยายามอีกต่อไป ไม่เพียงเฉพาะระดับเจ้าหน้าที่ ยังรวมถึงระดับประชาชนทั่วไป
            น่าชื่นชมว่านายกฯ หลี่ได้พยายามสานสัมพันธ์กับเวียดนามด้วยตนเอง การเยือนของจีนเป็นการเยือนระดับผู้นำประเทศในรอบ 10 ปี สองประเทศยังมีประเด็นข้อพิพาทที่หาข้อสรุปไม่ได้ จึงตกลงร่วมมือเฉพาะส่วนที่ทำได้ ขยายผลประโยชน์ร่วมให้มากพร้อมกับลดความเห็นต่างให้เหลือน้อยที่สุด ความเห็นต่างเป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือ การร่วมสำรวจน่านน้ำปากอ่าวเป่ยปู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมเป็นกรณีตัวอย่างของความร่วมมือเชิงรูปธรรม ส่วนที่เหลือเป็นเพียงการศึกษาวางแผนร่วมกัน

            เรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้คือเศรษฐกิจจีนนับวันยิ่งเติบโต โลกมีแนวโน้มเชื่อมต่อมากขึ้น จีนดำเนินนโยบายเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการเมืองกับประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งเวียดนาม ดังนั้นสองประเทศมีแนวโน้มสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการเมืองมากขึ้น หากมองด้วยสายตาการมีอิทธิพลต่อกันเวียดนามกังวลว่าจีนจะส่งอิทธิพลต่อตนมากขึ้นในอนาคต
            ความกังวลที่จีนจะครอบงำเวียดนามคือความกังวลเดิมๆ ย้อนหลังประวัติศาสตร์นับร้อยนับพันปีที่จีนมักมีอิทธิพลเหนือเวียดนามในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ในขณะที่เวียดนามผ่านร้อนผ่านหนาวจากความพยายามต่อสู้เพื่อความเป็นไทต่อทุกชาติรวมทั้งจีน
            นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าผลจากขนาดเศรษฐกิจระดับการพัฒนาที่แตกต่างและความไม่ลงรอย ทำให้จีนไม่สามารถดำเนินนโยบายต่อเวียดนามตามที่ตนต้องการ เวียดนามสูญเสียโอกาสที่น่าจะได้จากความสัมพันธ์กับจีน แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งชาวเวียดนามบางส่วนเห็นว่าเป็นอีกครั้งที่สามารถสกัดอิทธิพลของจีน รักษาความเป็นอิสระของประเทศ เป็นตัวแทนของการต่อสู้เพื่อความเป็นไทของเวียดนาม

            จีนมีทางเลือกหันไปสร้างความสัมพันธ์กับประเทศอื่น แต่ก็เกรงว่ามหาอำนาจอื่นจะร่วมมือกับเวียดนาม หากเวียดนามจำต้องร่วมมือกับประเทศใดประเทศหนึ่ง เช่นในการพัฒนาเศรษฐกิจ จีนย่อมเห็นว่าการร่วมมือกับจีนดีกว่าแน่นอน การเยือนเวียดนามของนายกฯ หลี่เป็นหลักฐานแสดงความพยายามของจีนได้เป็นอย่างดี
            ที่สุดแล้ว เวียดนามยังต้องมีความสัมพันธ์กับจีนต่อไป เพียงแต่ต้องรักษาระยะห่างจากจีน ยิ่งกังวลว่าจะถูกครอบงำมากเพียงไร ก็จะยิ่งพยายามพาตัวให้ออกห่างมากเท่านั้น แสดงออกเป็นรูปธรรมผ่านการร่วมมือกับประเทศอื่นๆ
            สิ่งที่จีนทำได้และควรทำคือการแสดงออกถึงความจริงใจอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับที่จีนในปัจจุบันดำเนินนโยบายเป็นเพื่อนบ้านที่ดี ร่วมมือในส่วนที่เวียดนามเห็นด้วย ให้เป็นการตัดสินใจที่มาจากเวียดนามอย่างแท้จริง

            นอกจากเหตุผลทางการเมือง ประเด็นสำคัญที่ควรนำมาพิจารณาคือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น เวียดนามมีความจำเป็นเร่งด่วนเพียงใดหรือเวียดนามต้องการชะลอโครงการ ต้องการเวลาพิจารณามากกว่านี้ จีนหวังว่าการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งจะเอื้อให้การส่งออกการลงทุนจากภาคใต้ของจีนสู่หลายประเทศในอาเซียน ประเด็นคือแล้วเวียดนามจะได้ประโยชน์จากระบบขนส่งดังกล่าวมากน้อยเพียงไร ในเมื่อเศรษฐกิจเวียดนามยังมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับจีน เวียดนามจะได้ประโยชน์จากการค้าการลงทุนมากน้อยเพียงไร
            ประเด็นถัดมาคือระบบเศรษฐกิจเวียดนามรองรับการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ หากการเชื่อมต่อสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อระบบเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วรุนแรง สินค้าจากจีนและอาเซียนที่หลั่งไหลเข้ามาสู่ตลาดเวียดนามจะกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศการผลิตของท้องถิ่นหรือไม่ เป็นประเด็นที่จำต้องพิจารณาและศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ
            ดังนั้น เมื่อพูดถึงความร่วมมือ พูดถึงผลประโยชน์ร่วม แน่นอนว่าทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ แต่เท่านี้อาจไม่เพียงพอ ต้องชัดเจนว่าความร่วมมือดังกล่าวเป็นการตอบสนองประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหลัก หรือตอบสนองผลประโยชน์ร่วมอย่างเท่าเทียมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาผลเสียที่อาจเกิดขึ้นว่าจะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจสังคมภายในอย่างไร การมุ่งมองแต่ผลดีอย่างเดียวย่อมปราศจากความรอบคอบและไม่สะท้อนความจริงทั้งหมด

            ความร่วมมือจะเกิดขึ้นได้จริง ถ้าเวียดนามเห็นชอบอย่างแท้จริงทั้งในเชิงหลักการและระยะเวลา
ตราบใดที่เวียดนามมีความต้องการน้อยกว่ายังไม่ได้ประโยชน์จากความร่วมมือเต็มที่ เมื่อนั้นเวียดนามย่อมไม่เห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนเมื่อเทียบกับจีน
            เป็นธรรมดาที่ประเทศเล็กกว่ามีอำนาจน้อยกว่าจะต้องกังวลเมื่อจะร่วมมือกับประเทศที่ใหญ่กว่า ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือคอยเตือนใจอยู่เสมอ ในโลกยุคปัจจุบันความร่วมมือย่อมก่อประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายหากได้พิจารณาบนผลประโยชน์ร่วมอย่างเท่าเทียม ได้ศึกษาผลดีผลเสียอย่างรอบคอบ และจะบรรลุผลได้โดยรวดเร็วเมื่อทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันที่จะยึดมั่นแนวทางดังกล่าว เวียดนามอาจต้องการเวลาเพื่อพิจารณาเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสของจีนที่จะแสดงความจริงใจดังที่นายกรัฐมนตรีจีนเยือนเวียดนามเพื่อสานสัมพันธ์ ผลความร่วมมือของสองประเทศจะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่การร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ต่อไป
4 พฤศจิกายน 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
-------------------
บรรณานุกรม:
1. ส่วนวิจัยธุรกิจ 2 ฝ่ายวิจัยธุรกิจ. ความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย. กุมภาพันธ์ 2553. http://www.exim.go.th/doc/newsCenter/9031.pdf accessed 22 October 2013.
2. Nguyen Khac Vien. 2552. เวียดนาม: ประวัติศาสตร์ฉบับพิสดาร. ต้นฉบับ Vietnam: A Long History. แปลโดย เพ็ชรี สุมิตร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพ: ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
3. China, Vietnam agree to deepen partnership along three tracks. Xinhua. http://news.xinhuanet.com/english/china/2013-10/13/c_132795280.htm 14 October 2013.
4. China, Vietnam agree to deepen partnership. Viet Nam News. http://vietnamnews.vn/politics-laws/246235/china-vietnam-agree-to-deepen-partnership.html 14 October 2013.
5. VN, China detail new partnership. Viet Nam News. http://vietnamnews.vn/politics-laws/246298/vn-china-detail-new-partnership.html 16 October 2013.
6. Chinese premier arrives in Hanoi for Vietnam visit. Xinhua. http://news.xinhuanet.com/english/china/2013-10/13/c_132794829.htm 13 October 2013.
7. Womack, Brantly. Edited by Ganguly, Sumit and Thompson, William. 2011. Asymmetric Rivals: China and Vietnam. Asian Rivalries: Conflict, Escalation, and Limitations on Two-level Games. USA.: Stanford University Press.
------------------