จากโอบามาแคร์สู่การเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ

อีกครั้งหนึ่งที่กฎหมายระบบประกันสุขภาพของประธานาธิบดีบารัก โอบามาที่มีชื่อเต็มๆ ว่า Patient Protection and Affordable Care Act (PPACA) บางคนเรียกว่า Affordable Care Act (ACA) หรือที่นิยมเรียกติดปากว่าโอบามาแคร์ (Obamacare) กลายเป็นประเด็นการต่อสู้ทางการเมืองอีกครั้ง
            หากพิจารณาประเด็นต่อสู้จะเห็นว่าก็ยังคงเป็นประเด็นเดิมๆ ประเด็นถกเถียงพื้นฐานคือ เป็นหน้าที่ของสังคมหรือไม่ที่จะต้องปกป้องผู้มีรายได้น้อยจนถึงขั้นส่งผลเสียต่อประเทศ รัฐบาลกำลังริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือไม่ หลายคนไม่เห็นด้วยกับหลักการดังกล่าว นายจอห์น โบเนอร์ (John Boehner) วุฒิสมาชิกและโฆษกพรรครีพับลิกันกล่าวว่าพรรคกำลังทำหน้าที่เพื่อดำรงไว้ซึ่ง “ความยุติธรรมแก่ชาวอเมริกันทุกคน”
            ถ้าจะพูดถึงข้อดี พระราชบัญญัติดังกล่าวช่วยให้คนยากจนอีกหลายหมื่นหลายแสนคนสามารถซื้อกรรมธรรม์ประกันสุขภาพในราคาถูกกว่าเดิม ช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถซื้อกรรมธรรม์ประกันสุขภาพใหม่ที่ให้สิทธิประโยชน์ในการรักษาสุขภาพมากกว่าเดิมโดยที่รัฐบาลใช้งบประมาณอุดหนุนบางส่วน ประธานาธิบดีโอบามาชี้ว่าการผ่านงบประมาณระบบประกันสุขภาพนั้นเป็นเรื่องร้ายแรงเท่าชีวิต “แต่ละปีชาวอเมริกันนับหลายหมื่นคนต้องจบชีวิตเพราะเขาไม่สามารถชำระค่าประกันสุขภาพ”
            ปัญหาติดอยู่ที่โครงการดังกล่าวกับโครงการสวัสดิการอื่นๆ ทำให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระมากขึ้นทุกขณะในยามที่รัฐบาลขาดดุลเรื่อยมา และกำลังเผชิญแรงกดดันว่าหนี้สาธารณะกำลังจะเลยเพดานตามที่กฎหมายกำหนดคือ 16.7 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว
            ณ วันนี้จึงมีปัญหาสองเรื่องใหญ่คือโอบามาแคร์กับเพดานหนี้สาธารณะ แต่เรื่องโอบามาแคร์ลดตัวกลายเป็นประเด็นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับประเด็นหนี้สาธารณะ และจะต้องมีข้อสรุปภายวันที่ 17 ตุลาคมเนื่องจากถึงวันครบกำหนดชำระหนี้ หากร่างงบประมาณยังไม่ผ่าน จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สหรัฐขาดการชำระหนี้
ปัญหาหนี้สาธารณะที่ซ้ำซาก:
            เป็นเวลานานแล้วชาวอเมริกันคุ้นเคยกับปัญหาการใช้จ่ายของรัฐบาลกลาง การต่อสู้เรื่องอัตราภาษี ควรลดหรือควรเพิ่ม ควรขึ้นภาษีคนรวยหรือคนจน ต้องแก้ปัญหาขาดดุลหรือจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ เหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับทุกรัฐบาล และถกเถียงกันอยู่ตลอดเวลาว่าควรบริหารประเทศอย่างไร บ่อยครั้งที่รัฐบาลใหม่เริ่มต้นด้วยการพูดว่าจะลดการขาดดุลแต่สุดท้ายคือหนี้สินสาธารณะเพิ่มสูงขึ้นอีก
            เมื่อเดือนสิงหาคม 2011 รัฐบาลอเมริกันเกือบต้องขาดชำระหนี้มาครั้งหนึ่งแล้ว เนื่องจากพรรครีพับลิกันตั้งเงื่อนไขว่าทุกดอลลาร์ที่ปรับขึ้นเพดานหนี้สาธารณะจะต้องปรับลดงบประมาณในจำนวนที่เท่ากัน เหตุการณ์ครั้งนั้นลงเอยด้วยสองพรรคบรรลุข้อตกลงก่อนถึงกำหนดชำระหนี้เพียงสองวัน โดยที่รัฐบาลกำหนดแผนปรับลดรายจ่ายจำนวน 9 แสนล้านดอลลาร์ ($900 billion) ในช่วง 10 ปีข้างหน้า และจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อวางแผนปรับลดการขาดดุลอีก 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 10 ปีดังกล่าวด้วย แต่ไม่กี่เดือนต่อมาคณะกรรมาธิการสลายตัวไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใดๆ
            ทุกรัฐบาลทุกพรรคการเมืองพูดถึงการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ แต่ผลลัพธ์เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย หนี้สิ้นมีแต่จะพอกพูน

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากไม่ขึ้นเพดาน:
            กระทรวงการคลังสหรัฐนำเสนอรายงานฉบับหนึ่งเมื่อต้นเดือนตุลาคม ชี้ว่าประเทศไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ แต่หากเกิดขึ้นจะส่งผลเสียหายใหญ่หลวง ค่าเงินจะลดลง อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบทั่วโลกเป็นลูกโซ่ และอาจเกิดวิกฤตการเงิน เศรษฐกิจถดถอยเหมือนเช่นปี 2008 หรืออาจเลวร้ายกว่านั้น
            รายงานยังบรรยายสถานการณ์ย้อนหลังในปี 2011 เพื่อเตือนความจำว่าในช่วงนั้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกับภาคธุรกิจลดต่ำลงมาก (ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงร้อยละ 22 ภาคธุรกิจลดลงร้อยละ 3) ตลาดเงินอยู่ในภาวะตึงเครียด การจ้างงานลดลง รัฐบาลถูกปรับลดเครดิต หุ้นตกและมีความผันผวนอย่างรุนแรง เป็นเช่นนี้นานหลายเดือน
            ผลกระทบต่อตลาดเงินส่งผลโดยตรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประชาชนจำนวนมากที่ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ หลายครอบครัวกับธุรกิจหลายแห่งจับจ่ายใช้สอยด้วยเงินที่มาจากการกู้ยืม ดังนั้น ราคาหุ้นที่ลดต่ำลงกับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นจะกดดันให้ครอบครัวกับธุรกิจลดการใช้จ่าย เหตุการณ์เมื่อเดือนสิงหาคม 2011 ส่งผลกระทบเป็นเวลาหลายเดือน การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนมีความสำคัญเพราะคิดเป็นร้อยละ 70 ของจีดีพี
            การปิดหน่วยงานภาครัฐบางส่วนบางหน่วยงานที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้กระทบต่อเศรษฐกิจเช่นกัน มีผู้ประเมินว่าหากหน่วยงานรัฐที่ปิดบางส่วนนั้นปิดนานถึง 1 สัปดาห์จะทำให้จีดีพีลดลงร้อยละ 0.25 ถ้านานกว่าจะอาจส่งผลถึงขั้นทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
            สถานการณ์จึงอยู่ในภาวะล่อแหลมและอาจเกิดผลกระทบรุนแรงเพราะมีสองเรื่องรวมกันคือการปิดหน่วยงานภาครัฐกับการผิดนัดชำระหนี้
            รวมความแล้วกระทรวงการคลังพยายามชี้ว่าไม่อาจปล่อยให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้โดยเด็ดขาด กล่าวอีกนัยหนึ่งคือจำต้องขึ้นเพดานหนี้สาธารณะ และรัฐบาลกับฝ่ายค้านจะต้องตกลงเรื่องโอบามาแคร์ให้ได้ด้วยเพราะสองเรื่องถูกฝ่ายการเมืองจับผูกโยงเข้าด้วยกัน

สองพรรคต่างกันเพียงในรายละเอียด:
            จุดยืนล่าสุดของพรรครีพับลิกันคือเสนอให้ปรับเพดานหนี้สาธารณะบนเงื่อนไขว่าต้องปรับแก้โอบามาแคร์ ซึ่งอาจจะเป็นการเลื่อนโครงการดังกล่าวออกไปหรือลดขนาดลง (ขึ้นกับการเจรจา) เนื่องจากเห็นว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น นายมิช แมคคอนแนลวุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันกล่าวว่าประธานาธิบดีโอบามาจะต้อง “เอาจริงเอาจังกับการใช้จ่ายและเป็นเวลาที่ดีที่จะแก้เพดานหนี้” ส่วนนายจอห์น โบเนอร์กล่าวว่า “คนอเมริกันไม่สนับสนุนเพิ่มเพดานหนี้หากรัฐบาลไม่ลดการใช้จ่ายด้วย”
            ท่าทีของพรรครีพับลิกันกำลังชี้ว่ารัฐบาลโอบามาคือผู้ต้องรับผิดชอบต่อการก่อหนี้สาธารณะ ในขณะที่ตนเป็นผู้พยายามแก้ไขปัญหา
            ทางด้านประธานาธิบดีโอบามาเห็นด้วยกับการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะเช่นกัน แต่บนเงื่อนไขที่แตกต่างกันคือต้องปรับขึ้นเพดานหนี้โดยไม่มีเงื่อนไข ถ้าต้องลดการขาดดุลด้วยการปรับลดงบประมาณ จะต้องขึ้นภาษีควบคู่ไปด้วยซึ่งหมายถึงเน้นการขึ้นภาษีคนรวยที่พรรครีพับลิกันไม่เห็นด้วย
            หากมองเรื่องนี้ในแง่การต่อสู้ทางการเมือง นี่คือหนึ่งในสนามต่อสู้ที่สำคัญ สองพรรคต่างกล่าวหาอีกฝ่ายว่าเป็นตัวก่อหนี้สาธารณะ ขัดขวางการพัฒนาประเทศ ที่ผ่านมาจึงไม่มีฝ่ายใดยอมรับและพยายามโยนความผิดให้อีกฝ่ายหนึ่ง แต่ทั้งสองพรรคเห็นด้วยกับการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะให้สูงขึ้นอีก

รัฐบาลยังรับมือและแก้ไขได้ ขึ้นกับความกล้าหาญของฝ่ายการเมือง:
            นายจอห์นสัน (Johnson) กับควาก (Kwak) ย้ำเตือนหลักการพื้นฐานที่สำคัญว่า “เราต้องจ่ายเงินเพื่อสิ่งที่เราต้องการ ไม่ว่าจะต้องจ่ายเดี๋ยวนี้หรือในอนาคต” รัฐบาลใดก็ตามที่ขาดความรับผิดชอบด้านการคลังจะพบปัญหาใหญ่เมื่อเกิดภาวะวิกฤต อย่างไรก็ตามในระยะนี้พันธบัตรอเมริกายังแข็งแกร่งมาก อัตราดอกเบี้ยต่ำ รัฐบาลไม่มีปัญหาการขายพันธบัตร (กู้ยืม) แต่อย่างไร ดังนั้นการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะน่าจะเป็นปัญหาน้อยกว่าการผิดนัดชำระหนี้ และเชื่อว่ารัฐบาลโอบามาได้เตรียมการรองรับไว้แล้ว เหมือนกับเรื่องการปิดหน่วยงานรัฐที่ได้เตรียมการล่วงหน้ามาก่อน
            เพียงแต่ต้องพึงระลึกเสมอว่าหนี้สาธารณะขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจอเมริกาเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไปเรื่อยๆ ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะลดลง สามารถรองรับภาระงบประมาณเพื่อใช้จ่ายด้านสวัสดิการต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น ในทางตรงข้ามหากเศรษฐกิจอ่อนแอ ดอกเบี้ยจะสูงขึ้น รัฐบาลขาดดุลมากขึ้น ภาระการคลังเพิ่มขึ้น ดัชนีตลาดเงินตลาดทุนทรุดตัว ประชาชนลดการบริโภค ธุรกิจชะลอการลงทุน ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ให้เศรษฐกิจอ่อนแอลงไปอีก
            สถานการณ์จึงเปรียบเสมือนเดิมพันที่รัฐต้องชนะอย่างเดียวคือเศรษฐกิจจะต้องเติบโตไปเรื่อยๆ
            อันที่จริงนักวิชาการบางคนเชื่อว่ารัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาขาดดุลงบประมาณ สามารถปฏิรูประบบภาษีและระบบการใช้จ่ายเพื่อลดช่องว่างงบประมาณ ทั้งนี้ขึ้นกับความกล้าหาญของฝ่ายการเมือง ประเด็นคือการขึ้นภาษีทำให้เสียคะแนนเสียง พรรครีพับลิกันไม่เห็นด้วยกับการขึ้นภาษีคนรวย ส่วนพรรคเดโมแครตไม่เห็นด้วยกับการขึ้นภาษีคนจนกับชนชั้นกลาง ทำนองเดียวกับการปรับลดอัตรากำลัง ลดการจ้างพนักงาน ลดสวัสดิการข้าราชการ เพราะทั้งหมดเกี่ยวข้องกับคะแนนเสียงทางการเมือง จึงยังไม่มีพรรคใดที่อยากลงมือแก้ปัญหาจริงๆ ได้แต่แก้ไขตามสถานการณ์ แก้ไขบางส่วน

            ข้อดีอย่างหนึ่งคือความขัดแย้งการโต้เถียงที่ยืดเยื้อทำให้ประชาชนได้รับรู้ปัญหา เนื่องจากสังคมอเมริกันที่มีเสรีภาพทางสื่อค่อนข้างมาก ในแง่จิตวิทยาทำให้ประชาชนยอมรับสภาพที่เกิดขึ้น ส่วนรัฐบาลได้ตรวจสอบกระแสความคิดเห็นของประชาชนอย่างต่อเนื่อง รู้ว่าควรดำเนินการอย่างไรจึงเกิดผลดีที่สุด เพราะเรื่องราวทั้งหมดจะโทษฝ่ายการเมืองอย่างเดียวก็ไม่ได้ ประชาชนมีส่วนอย่างมากเช่นกัน ผลสำรวจชี้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐลดการขาดดุลด้วยการลดการใช้จ่ายภาครัฐ แต่ไม่ต้องการให้ลดโครงการสวัสดิการซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดแย้งในตัวเอง
            ที่สุดของเรื่องนี้น่าจะลงเอยด้วยการประนีประนอมสองฝ่าย ปรับลดขนาดโอบามาแคร์ลงบางส่วน ลดการใช้งบประมาณลงบ้างเพื่อให้ผ่านร่างกฎหมายงบประมาณ โอบามาแคร์เริ่มต้นดำเนินการ สองพรรคตัดสินใจเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะอีกเล็กน้อย และพยายามแสดงให้เห็นว่าต่างได้ทำหน้าที่ของตนสุดความสามารถแล้ว
ตุลาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 6180 วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2556
และได้รับการเผยแพร่ผ่าน US Watch” โดย กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ, http://uswatch.mfa.go.th/uswatch/th/article/detail.php?article=1758)
----------------
บรรณานุกรม:
1. Gawande, Atul. State of Health. The New Yorker. 7 October 2013.
2. US shutdown: White House talks fail to end deadlock. BBC. http://www.bbc.co.uk/news/world-us-canada-24378831 3 October 2013.
3. Obama to Republicans: Reopen the government. USA Today. http://www.usatoday.com/story/news/politics/2013/10/01/obama-statement-health-care-government-shutdown/2900767/ 1 October 2013.
4. U.S. Department of The Treasury. Potential Macroeconomic Impact of Debt Ceiling Brinkmanship. http://www.scribd.com/doc/173042648/Potential-Macroeconomic-Impact-of-Debt-Ceiling-Brinkmanship accessed 3 October 2013.
5. Obama digs heels in, refuses to negotiate debt ceiling. Reuters. http://news.yahoo.com/obama-says-refusal-lift-debt-ceiling-hurt-economy-170716116--business.html 15 January 2013.
6. Johnson, Simon and Kwak, James. 2012. White House Burning: The Founding Fathers, Our National Debt, and Why It Matters to You. New York: Pantheon Books.
7. Conti-Brown, Peter and Skeel, David. (Editors). 2012.  When States Go Broke: The Origins, Context, and Solutions for the American States in Fiscal Crisis. USA: Cambridge University Press.
8. Jones, Handel. 2010. CHINAMERICA: The Uneasy Partnership that Will Change the World . USA: McGraw-Hill.
-------------------