ข้อเสนอ 7 ยุทธศาสตร์ผลักดันสัมพันธ์จีน-อาเซียน

ในวาระครบรอบ 10 ปีความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์จีน- อาเซียน (China-Asean strategic partnership) นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนได้บรรยายสรุปความสัมพันธ์สองฝ่ายว่าปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอเซียน และอาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับสามของจีน สิ้นปี 2012 การค้าระหว่างสองฝ่ายสูงถึงกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็นห้าเท่าของเมื่อ 10 ปีก่อน ปีที่แล้วประชาชนสองฝ่ายเดินทางไปมาหาสู่ถึง 15 ล้านคน คิดเป็น 4 เท่าของ 10 ปีก่อน นักท่องเที่ยวชาวจีนคิดเป็นอันดับสองของนักท่องเที่ยวอาเซียนทั้งหมด โดยสารด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำกว่าพันเที่ยวต่อสัปดาห์
ข้อเสนอ 7 ยุทธศาสตร์ของจีน:
            ในโอกาสการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-จีนครั้งที่ 16 ภายใต้การประชุมสุดยอดอาเซียนประจำปี 2013  นายกฯ หลี่นำเสนอข้อเสนอ 7 ประการหรือ 7 ยุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มขยายความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียน ดังนี้
            ข้อแรก ยึดมั่นสร้างความสัมพันธ์เป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน จีนพร้อมที่จะปรึกษากับอาเซียนเพื่อลงนามในสนธิสัญญาเพื่อนบ้านที่ดี มิตรภาพและความร่วมมือ (treaty on good-neighbourliness, friendship and cooperation) เป็นการเสริมสร้างรากฐานทางการเมืองสู่ความไว้เนื้อเชื่อใจ ให้ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์อยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย สองฝ่ายผูกพันอย่างเหนียวแน่น
            ข้อสอง เพิ่มการแลกเปลี่ยนและเพิ่มความร่วมมือด้านความมั่นคง โดยปรับปรุงกลไกประชุมรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมจีน-อาเซียน (Asean-China Defence Ministers’ Meeting) ให้จัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อเพิ่มความร่วมมือด้านการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ ความมั่นคงทางไซเบอร์ การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ การบังคับใช้กฎหมายร่วม และความมั่นคงนอกรูปแบบ (Non-traditional Security) อื่นๆ
            ข้อสาม ปรับยกระดับเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน (China-ASEAN Free Trade Area หรือ CAFTA) เพิ่มขยายการค้าการลงทุนเสรีระหว่างกัน กำหนดเป้าหมายปริมาณการค้าระหว่างกัน 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2020
            ข้อสี่ เร่งสร้างระบบเชื่อมโยงติดต่อ เสนอจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian infrastructure investment bank) เนื่องจากชาติสมาชิกอาเซียนบางประเทศต้องการการสนับสนุนทางการเงินเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
            ข้อห้า ขยายความร่วมมือด้านการเงินและการป้องกันความเสี่ยงต่างๆ เพิ่มปริมาณและขยายกรอบการแลกเปลี่ยนเงินตราแบบทวิภาคี ขยายโครงการนำร่องกระบวนการชำระเงินและส่งมอบสินค้าจากการซื้อขายข้ามประเทศด้วยสกุลเงินท้องถิ่น ขยายความร่วมมือความริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation) ใช้สมาคมธนาคารนานาชาติจีน-อาเซียน (China-ASEAN Inter-Bank Association) ให้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น
            ข้อหก สร้างความร่วมมือทางทะเล กระชับความร่วมมือภาคเศรษฐกิจที่พึ่งพาทางทะเล (marine economy) อย่างเป็นรูปธรรม ร่วมสร้างเส้นทางสายไหมทางทะเลสำหรับศตวรรษที่ 21ผ่านความร่วมมือด้านการประมง การเชื่อมโยงทางทะเล การปกป้องสิ่งแวดล้อมและการวิจัยทางทะเล การค้นหาและกู้ภัยทางทะเล
            ข้อเจ็ด ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ร่วมกันวางแผนปฏิบัติการความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างจีน-อาเซียน (China-Asean Cultural Cooperation Action Plan) เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการศึกษา การแลกเปลี่ยนเยาวชน นักวิเคราะห์และสื่อมวลชน ส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยี การปกป้องสิ่งแวดล้อมและด้านอื่นๆ อันจะเพิ่มกระชับความร่วมมือฉันท์มิตรระหว่างสองฝ่าย

วิเคราะห์องค์รวม:
            ประการแรก ยุทธศาสตร์ใช้การพัฒนาเศรษฐกิจนำหน้าความสัมพันธ์
            แถลงการณ์ สุนทรพจน์ของฝ่ายจีนเต็มไปด้วยเนื้อหามุ่งหวังการพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างประโยชน์แก่ประชาชนทั้งสองฝ่าย ข้อเสนอ 7 ยุทธศาสตร์ใช้แนวทางดังกล่าวเช่นกัน แต่การพัฒนาเศรษฐกิจย่อมเชื่อมโยงสัมพันธ์กับมิติอื่นๆ ยิ่งผูกพันทางเศรษฐกิจมากเพียงไรย่อมผูกพันกับมิติอื่นๆ มากขึ้นเพียงนั้น
            ในแง่ของจีน เป้าหมายหลักของจีนขณะนี้คือการพัฒนาประเทศทุกด้าน เพื่อบรรลุเป้าหมายหลักดังกล่าวจำต้องมีบรรยากาศเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศที่เอื้อต่อการพัฒนาของจีน ไม่มีสิ่งใดมาขัดขวาง เช่น ความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านที่อาจนำสู่การกีดกันทางการค้าการเมืองระหว่างประเทศ ผลลัพธ์จากการพัฒนาของจีนย่อมเป็นประโยชน์ทั้งต่อเศรษฐกิจสังคมและการเมืองภายในประเทศ และต่อการเมืองระหว่างประเทศ
            ประการที่สอง การสัมพันธ์กับอาเซียนมีทั้งส่วนที่ง่ายกับส่วนที่ยาก
            แถลงการณ์ร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-จีนระบุว่าทุกฝ่ายเห็นพ้องกับข้อเสนอของจีนในการกระชับความสัมพันธ์อาเซียน-จีน แต่ความสัมพันธ์กับอาเซียนมีทั้งส่วนที่ง่ายกับส่วนที่ยาก ส่วนที่ง่ายคือชาติสมาชิกมีความสัมพันธ์กับจีนอยู่แล้ว หลายประเทศมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจใกล้ชิด ตัวเลขการค้าการลงทุนระหว่างกันชี้ชัดเรื่องดังกล่าว ส่วนที่ยากคือทุกประเทศมีฐานความสัมพันธ์เดิมกับประเทศอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว พิจารณาได้จากตัวเลขการค้าการลงทุนระหว่างกันเช่นเดิม หากมองว่าข้อเสนอของจีนคือสินค้าตัวหนึ่ง สินค้าใหม่ตัวนี้เพิ่งออกวางจำหน่ายในตลาด ในขณะที่ผู้บริโภคคุ้นเคยกับสินค้ายี่ห้ออื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว บางรายถึงกับจงรักภักดีต่อสินค้ายี่ห้ออื่น ดังนั้น สินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยความเพียรพยายามด้วยปัจจัยเงื่อนไขที่เกื้อหนุน จีนจะได้ส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มเติมไม่มากก็น้อย
            ประการที่สาม ประเด็นความไว้เนื้อเชื่อใจ
            ประเด็นที่อาเซียนกังวลคือบทบาทในอนาคตของจีน นายกฯ หลี่ตอบว่าเป็นธรรมดาที่จะมีข้อกังวลดังกล่าว ประวัติศาสตร์ชี้ว่าชาติมหาอำนาจพยายามแสวงหาความเป็นเจ้า และจีนเป็นประเทศสำคัญในภูมิภาคเอเชีย แต่เหตุการณ์ในศตวรรษที่ 21 แตกต่างจากอดีต ทุกประเทศแสวงหาสันติภาพกับการพัฒนา จีนกำลังมุ่งไปสู่ทิศทางนี้ และไม่มีเหตุผลที่จะเปลี่ยนจากเส้นทางดังกล่าว จีนยึดหลักว่า “จงอย่ากระทำต่อผู้อื่นในสิ่งที่ตนไม่อยากให้ผู้อื่นกระทำต่อตัวเอง” จีนเคยผ่านประสบการณ์ทุกข์ยากจากยุคอาณานิคมและการรุกรานของชาติตะวันตก จีนในยุคปัจจุบันต่อต้านลัทธิเจ้าโลกและการเมืองเชิงอำนาจ จีนไม่มีประเพณีแสวงหาความเป็นเจ้าหรือขยายอาณาจักร ตลอดหลายพันปีที่ผ่านมาจีนปฏิบัติต่อเพื่อนบ้านด้วยมิตรภาพ ถือว่าสันติภาพมีคุณค่าสูงสุด และแสวงหาความสมานฉันท์ในความหลากหลาย ดังนั้นจึงไม่มีทางที่จีนจะดำเนินตามแบบแผนแสวงหาความเป็นเจ้าหลังจากที่ประเทศเข้มแข็ง
            นายกฯ หลี่กล่าวอีกว่าในฐานะเป็นสมาชิกของครอบครัวใหญ่เอเชีย อนาคตของจีนเชื่อมโยงใกล้ชิดกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค จีนต้องการบรรยากาศการอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านด้วยสันติและมีเสถียรภาพ ต้องการมีสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน ต่างได้รับประโยชน์จากความร่วมมือ และพร้อมจัดการความแตกต่างและการไม่เห็นตรงกัน
            แถลงการณ์ร่วมจีน-อาเซียนหลังการประชุมระบุว่าอาเซียนตอบสนองข้อเสนอของจีนเรื่องการทำ สนธิสัญญาเพื่อนบ้านที่ดี มิตรภาพและความร่วมมือ ด้วยความขอบคุณและขอรับไปพิจารณาเป็นตัวอย่างสะท้อนลักษณะอาเซียนที่มีความหลากหลายภายในตัวเอง สะท้อนการใช้หลักฉันทามติและกลไกถ่วงดุลความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ทำนองเดียวกับที่อาเซียนตกลงที่จะเพิ่มความร่วมมือด้านความมั่นคงกับจีน แต่เรื่องจัดประชุมรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมจีน-อาเซียนอย่างไม่เป็นทางการตามที่จีนเสนอมานั้น อาเซียนเห็นว่าอาจจัดประชุมในอนาคตเมื่อเหมาะสม
            ประการที่สี่ ดูความสำเร็จที่ระดับทวิภาคี
            ข้อเสนอ 7 ยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลจีนตั้งใจสัมพันธ์กับอาเซียนใน 10 ปีข้างหน้าไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ทางการจีนได้นำเสนอผ่านวาระต่างๆ มาแล้ว มีการพูดคุยหารือในระดับทวิภาคีเรื่อยมา บัดนี้เป็นได้รวมเป็นชุดยุทธศาสตร์ที่ประกาศต่ออาเซียน เป็นนโยบายเพิ่มเติม กรอบนโยบายหลักที่จีนหวังจะผลักดันให้สำเร็จใน 10 ปีข้าง
            ดังนั้นไม่ว่าอาเซียนจะตอบตกลงหรือไม่ ชาติสมาชิกหลายประเทศอยู่ระหว่างการหารือความร่วมมือเหล่านี้อยู่แล้ว ความร่วมมือระดับทวิภาคีหรือระหว่างหลายประเทศอาเซียนกับจีนน่าจะเป็นเป้าหมายที่จีนมุ่งหวังจะประสบผลสำเร็จจริงๆ
            มีเรื่องน่าสนใจว่าในเวลาไม่ถึงสองสัปดาห์ผู้นำจีนสองท่านเดินทางเยือนชาติสมาชิกอาเซียนรวมถึง 6 ประเทศ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเยือนอินโดนีเซีย มาเลเซีย ก่อนเข้าร่วมการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคหรือเอเปคเมื่อวันที่ 7-8 ตุลาคม นายกฯ หลี่เข้าประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนกับการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกระหว่างวันที่ 9-10 ตุลาคม แล้วเยือนบรูไน ไทย และเวียดนาม รวมแล้วสองผู้นำจีนเยือนทั้งหมด 5 ประเทศจากอาเซียน 10 ประเทศ (ประเทศที่ไม่ได้เยือนในรอบนี้ คือ ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ สิงคโปร์และฟิลิปปินส์) สาระเนื้อหาการเยือนเกี่ยวข้องกับ 7 ยุทธศาสตร์ดังกล่าว
            ความกังวลที่ว่าในอนาคตชาติสมาชิกอาเซียนบางประเทศจะมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับจีนมากกว่าบางประเทศ อาเซียนจะมีความแตกต่างหลากหลายมากกว่าเดิมจึงมีโอกาสเป็นจริงไม่มากก็ไม่น้อย

            ข้อเสนอ 7 ยุทธศาสตร์เป็นแนวทางและแผนรูปธรรมที่จีนตั้งใจจะสัมพันธ์กับอาเซียนในอีก 10 ปีข้างหน้าหรือ 10 ปีที่จีนเรียกว่าเป็น ปีเพชรต่อเนื่องจาก 10 ปีก่อนที่จีนถือว่าเป็นปีทองจากนี้ไปเป็นช่วงเวลาของการติดตามความสำเร็จของยุทธศาสตร์ดังกล่าว ดูจากความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะระดับทวิภาคี เช่น การก่อสร้างโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงจีนกับอาเซียน
            ในแง่มุมของอาเซียน เป็นเรื่องที่ต้องย้ำเตือนว่าอาเซียนจะได้รับประโยชน์มากที่สุดหากอาเซียนเข้มแข็งในตัวเอง หากอาเซียนเข้มแข็งวาระอาเซียนย่อมแข็งแกร่ง และสามารถร่วมกำหนดวาระเอเชียตะวันออกร่วมกับประเทศอื่นๆ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองยั่งยืนร่วมกัน
13 ตุลาคม 2013
(แก้ไข 15 ตุลาคม 2013)
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 6187 วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2556
และได้รับการเผยแพร่ผ่าน สำนักประชาสัมพันธ์เขต กรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2556, http://region4.prd.go.th/ewt_news.php?nid=38959&filename=index
สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2556, http://www.thaizhong.org/index.php?option=com_content&view=article&id=3965:-7-&catid=63:articlespecialorther-cat&Itemid=100)
------------------------
บรรณานุกรม:
1. Li raises seven-pronged proposal on promoting China-ASEAN cooperation. Xinhua. http://news.xinhuanet.com/english/china/2013-10/10/c_125503874.htm 10 October 2013.
2. Full text: Premier Li Keqiang Gives Joint Written Interview To Media from ASEAN Countries. Xinhua. http://news.xinhuanet.com/english/china/2013-10/08/c_125496903.htm 8 October 2013.
3. Joint Statement of the 16th ASEAN-China Summit on Commemoration of the 10th Anniversary of the ASEAN-China Strategic Partnership.http://www.asean.org/images/archive/23rdASEANSummit/7.%20joint%20statement%20of%20the%2016th%20asean-china%20summit%20final.pdf accessed 10 October 2013.
4. CHAIRMAN’S STATEMENT OF THE 16TH ASEAN-CHINA SUMMIT. 9 October 2013
Bandar Seri Begawan, Brunei Darussalam. http://www.asean.org/images/archive/23rdASEANSummit/chairmans%20statementfor%20the%2016th%20asean-china%20summit%20-%20final%203.pdf 10 October 2013.
5. China hopes for momentous treaty with ASEAN: Li. Xinhua. http://news.xinhuanet.com/english/china/2013-10/09/c_132783278.htm 9 October 2013.
6. Li plans to seek deeper trust with neighbors. China Daily. http://www.chinadaily.com.cn/china/2013livisiteastasia/2013-10/09/content_17016119.htm 9 October 2013.
-----------------------------